สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว

สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว ปูหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว
สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว

ทำอย่างไรให้ลูกมั่นใจ สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว รู้จักล้มและลุกขึ้นสู้เสมอ สู่เส้นทางของความสำเร็จในชีวิต

สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว

ความกลัวเป็นพื้นฐานความรู้สึกสำคัญของมนุษย์ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความรู้สึกหวาดกลัวซ่อนอยู่ข้างในจิตใจเสมอ แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความกลัวที่เกิดขึ้นจากวัยเยาว์จะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบความกลัวไปเป็นเรื่องการใช้ชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น

จากความคาดหวังของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ย่อมส่งผลต่อความรู้สึก “กลัว” ของลูกเสมอ โดยงานวิจัยโครงการ “การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย” ที่สำรวจผู้ที่เกิดในปี 2539-2549 (อายุ 13-23ปี) ในเขต กทม. จำนวน 30 คน พบว่า วัยรุ่นรู้สึกกลัวความล้มเหลวและกลัวไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมของครอบครัว “เรื่องความสำเร็จในชีวิต” เด็กในกลุ่ม 13-15 ปี ยังมีความกลัวที่สำคัญอื่น ๆ เช่น กลัวพ่อแม่ไม่ภูมิใจและตนเองจะเป็นทุกข์เอง หรือกลัวหางานไม่ได้

สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากพื้นฐานของจิตใจ ที่ถูกปลูกฝังความกลัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ หากพ่อแม่เข้าใจและเลี้ยงลูกให้รู้จักล้มและลุกได้ตั้งแต่เล็ก จะช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าคิด กล้าลอง ไม่กลัวความล้มเหลว ซึ่งการไม่กลัวความล้มเหลวนี้เอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต

ความกลัวของเด็ก

เด็กจะรู้สึกกลัวก็ต่อเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย (insecurity) การแสดงความกลัวของเด็กจะเริ่มด้วยการร้อง และกระเถิบหนีตามธรรมชาติ ความกลัวมักมีสาเหตุสำคัญจากการเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่โดยทันทีหรือไม่คาดฝัน เช่น เด็กในวัย 1-3 ขวบ จะกลัวความมืด กลัวฝันร้าย ความกลัวยังถ่ายทอดจากผู้ใหญ่ได้ด้วย เช่น ผู้ใหญ่กลัวสิ่งไหน เด็กก็จะกลัวสิ่งนั้น หรืออาจเกิดจากผู้ใหญ่ที่หลอกเด็กทำให้เด็กกลัวไปเอง หากแบ่งความกลัวของเด็กจะแบ่งได้เป็น 4 ประเภท

  1. สัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กไปจนถึงสัตว์ใหญ่
  2. สถานการณ์น่ากลัว
  3. ธรรมชาติที่เด็กกลัว เช่น ฟ้าผ่า
  4. สิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น ผี ปีศาจ

ความกลัวจะขึ้นอยู่กับอายุและการเรียนรู้ ยิ่งรู้เยอะยิ่งกลัวมาก จะเห็นได้ว่าวัยทารกจะไม่ค่อยกลัวอะไร แต่เมื่อเติบโตรู้จักแยกแยะ หรือแม้แต่เริ่มมีจินตนาการ ความกลัวก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่เด็กก็ยังใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจขจัดความกลัวออกไปจากใจได้อยู่

สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว
สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว

อิทธิพลของการเรียนรู้ยังมีผลต่อความกลัวของเด็ก เช่น เด็กที่เคยถูกสุนัขกัดก็จะฝังใจจนกลัวสุนัข ความกลัวยังมาจากคำบอกเล่าของคนอื่น หรือจินตนาการของเด็กเอง โดยสัญชาตญาณแล้ว ปฏิกิริยาตอบสนองความกลัวจะพยายามหนีสิ่งที่กลัว จึงมักไม่เผชิญหน้าหรือกำจัดสิ่งที่กลัว อย่างไรก็ตาม หากหนีทุกครั้งจะทำให้เด็กขาดประสบการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการ การหนีสิ่งที่กลัวแสดงว่าเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจบางอย่าง ผู้ใหญ่ต้องอธิบายจะดีต่อตัวเด็กมากกว่า แต่ผู้ใหญ่มักจะตัดปัญหาด้วยการบอกให้เด็กหลบหลีกสิ่งที่กลัว

การแก้ปัญหาของผู้ใหญ่จึงมีผลสำคัญต่อความรู้สึกเด็กเมื่อเติบโตขึ้น ทำให้เด็กบางคนหวาดกลัวสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าสอนให้เด็กรู้จักสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จะทำให้เด็กหัดควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น ความรู้สึกกลัวจะค่อย ๆ หายไป ทั้งยังสามารถเอาชนะสถานการณ์ที่กลัวได้ด้วยตัวเอง เมื่อเด็กเอาชนะได้ก็จะรู้สึกภูมิใจ เสริมสร้างความมั่นใจ เรื่องนี้พ่อแม่จึงต้องคอยอยู่เคียงข้าง ปลอบโยน ให้กำลังใจ เพื่อผลักดันให้ลูกมีความกล้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่กลัว หรือฝึกการเผชิญหน้า ต้องพิจารณาความปลอดภัยและอันตรายของสิ่งนั้น ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด เช่น ให้เด็กที่กลัวความสูงเดินขึ้นที่สูง พ่อแม่ต้องระวังเรื่องความปลอดภัย อยู่ใกล้ชิดกับลูก แต่ก็ต้องให้กำลังใจเพื่อให้เด็กพิชิตความกลัวในใจไปให้ได้

สังเกต 3 สัญญาณ! ลูกกลัวความล้มเหลว กลัวไม่ประสบความสำเร็จ

  1. ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ หรือไม่ชอบการเริ่มต้นใหม่
  2. กลัวการเปลี่ยนแปลง เช่น กลัวการย้ายโรงเรียน กลัวการไปเจอเพื่อนใหม่ หรือกลัวที่จะทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
  3. ทำไม่ได้แล้วเลิกทำ

หากเด็กมีอาการเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าลูกกลัวความล้มเหลว ไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะกลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเด็กที่มีอาการกลัวแบบนี้ มักจะมีผลจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นสำคัญ

6 ข้อ ลองสำรวจตัวเอง คุณเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูกกลัวความล้มเหลวหรือไม่?

  1. เวลาลูกทำอะไรผิดพลาด เผลอตำหนิลูกหรือไม่
  2. คอยกดดันลูกให้เรียนหรือทำอะไรใหม่ ๆ และคาดหวังผลลัพธ์ให้ประสบความสำเร็จ
  3. แสดงสีหน้าหรือน้ำเสียงไม่พอใจ เมื่อลูกทำไม่ได้
  4. เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ทั้งเรื่องการเรียน บุคลิกภาพ หรือแม้แต่ความคิด
  5. มักจะชื่นชมเมื่อลูกสำเร็จ และคาดหวังความสำเร็จมากขึ้นเสมอ
  6. เมื่อลูกทำไม่ได้ แสดงท่าทีหงุดหงิด หรือให้ลูกเลิกทำหรือไม่

สิ่งที่พ่อแม่เลี้ยงดู ปลูกฝัง สั่งสอน จะสะท้อนตัวตนของลูกเสมอ หากพ่อแม่ยังคาดหวัง และกลัวอยู่ลึก ๆ ในใจว่า ลูกจะไม่ประสบความสำเร็จหรือกลัวว่าลูกจะล้มเหลว แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ลูกจะซึมซับมาและกลายเป็นเด็กขี้กลัว ไม่มีความกล้า ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง พ่อแม่จึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และมองความสำเร็จในชีวิตเสียใหม่เพื่อปลูกฝังให้ลูกสำเร็จในชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่สำเร็จตามความคาดหวังของพ่อแม่หรือมาตรฐานของสังคม

สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว
สอนลูกให้กล้า ไม่กลัวความล้มเหลว

เทคนิคสร้างความกล้าให้ลูกก้าวสู่ความสำเร็จ

  • พ่อแม่ควรปลูกฝังลูกว่า ความสำเร็จที่แท้จริงแล้วคือ ลูกได้เรียนรู้ เติบโต พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ความสำเร็จวัดไม่ได้ด้วยเงินทองหรือฐานะทางสังคม แต่วัดด้วยความภาคภูมิใจในตัวเอง มีความสุขในทุกวัน และสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อน
  • สนับสนุนให้ลูกลองทำสิ่งใหม่โดยไม่คาดหวังความสำเร็จ การเรียนรู้สิ่งใหม่ทำให้ลูกได้พัฒนา มีบทเรียนในชีวิต ค่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ทำให้ลูกกลายเป็นคนที่มีความคิด กล้าตัดสินใจมากขึ้น เมื่อลูกได้ลองทำสิ่งใหม่อย่าลืมชมเชยที่ลูกกล้าคิด กล้าลอง
  • ชื่นชมในความพยายามไม่ใช่ความสำเร็จ เมื่อลูกได้รางวัลให้ชื่นชมว่า ลูกตั้งใจมากเลยนะ ต้องพยายามมากเลยใช่ไหมถึงได้รางวัลนี้ ขอบคุณที่ลูกตั้งใจทำสิ่งนี้ แต่หลายครั้งที่พ่อแม่มักจะเผลอชื่นชมผลลัพธ์ของความสำเร็จนั้น เช่น ลูกได้รางวัลเรียนดี ก็ชื่นชมในรางวัลนั้นจนเผลอคาดหวังให้ลูกได้รางวัลไปเรื่อย ๆ เมื่อเด็กไม่ได้รางวัล ก็แสดงความรู้สึกผิดหวังเสียใจ สิ่งนี้จะส่งผลต่อความรู้สึกของลูกได้
  • ให้กำลังใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ คนเราต้องล้มแล้วลุกให้เร็ว การแพ้ไม่ใช่ความล้มเหลวแต่คือสิ่งที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง แก้ไขในข้อบกพร่อง เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในอนาคต
  • ฝึกลูกหัดคิด หัดแก้ปัญหาด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก หากลูกยังทำไม่ได้ ก็คอยบอกคอยสอน ไม่ใช่ทำแทนลูก เช่น การฝึกลูกผูกเชือกรองเท้า หากลูกใส่ไม่ได้ พ่อแม่หลายคนก็เลือกที่จะทำให้ จนลูกผูกเชือกรองเท้าเองไม่เป็นแทนที่จะสอนวิธีหรือให้คำแนะนำ ควรให้ลูกฝึกแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อลูกทำได้ลูกจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ความคิดของลูกก็จะเปลี่ยนไปเป็นอยากทำเอง อยากทำให้ได้ด้วยตัวเอง
  • สนุกกับสิ่งใหม่ที่ลูกทำได้ เด็ก ๆ เมื่อทำอะไรสำเร็จมักจะมาอวด มาให้พ่อแม่ชื่นชมเสมอ เช่น ภาพวาดหนูสวยไหมคะ แม่จ๋าหนูว่ายน้ำท่านี้ได้แล้วนะคะ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ถ้าโดนพ่อแม่หมางเมินหรือไม่สนใจ จะทำให้ลูกไม่อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ถ้าลูกเข้ามาผิดเวลา ในช่วงที่พ่อแม่ยุ่งอยู่ ต้องใจเย็น ๆ แล้วบอกลูกว่า ขอเวลา 10 นาทีนะคะ แล้วแม่จะไปดูภาพวาดของหนู
  • เลิกเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น หรือวิจารณ์ในสิ่งที่ลูกทำ เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ แล้วเด็กจะกลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าเริ่มทำสิ่งใหม่ กลัวโดนแม่ว่าถ้าทำไม่สำเร็จ จึงเลือกที่จะไม่ทำเสียเลย นานวันเข้าเด็กจะสูญเสียคุณค่าในตัวเอง
  • ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ ฝึกให้ลูกคุ้นเคยหรือเคยชินกับความผิดพลาด ความล้มเหลว เพราะการไม่ทำอะไรเลยย่อมไม่ผิดพลาด แต่ก็ไม่สร้างสิ่งใหม่ด้วยเช่นกัน เช่น ลูกประกวดวาดภาพแล้วไม่ได้รางวัล ก็คอยสังเกตว่าลูกรู้สึกอย่างไร เข้าไปปลอบและให้กำลังใจ พร้อมทั้งช่วยแนะนำให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น บอกลูกว่า ครั้งนี้ไม่เป็นไร เราฝึกกันใหม่ ครั้งหน้ามาประกวดกันอีกนะลูก
  • เจออุปสรรคต้องผ่านไปให้ได้ ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้ดั่งใจไปเสียทุกอย่าง เมื่อลูกผิดหวัง เสียใจ ให้ปลอบลูกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ อนุญาตให้ลูกเสียใจร้องไห้ ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งตลอดเวลา แต่ทุกปัญหาจะต้องผ่านไป สอนลูกให้รู้จักเรียนรู้ ให้กำลังใจเพื่อฝ่าฟันอุปสรรค
  • เปิดโอกาสให้ลูกคิด แสดงความเห็น รับฟังลูกเสมอ ถ้าเข้มงวดและสั่งลูกมากเกินไป ลูกจะคิดเองไม่เป็น จนถึงขั้นไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ มีผลต่อความรู้สึกกลัวความล้มเหลวและการไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ได้

การปลูกฝังลูกตั้งแต่เล็กให้กล้าคิด กล้าแสดงออก เสริมความมั่นใจด้วยกำลังใจจากพ่อแม่และคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ พาลูกไปทำเรื่องสนุก ๆ พบเจอเพื่อนใหม่ไปด้วยกัน เด็กจะค่อย ๆ กล้าขึ้น มั่นใจมากขึ้น และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

อ้างอิงข้อมูล : independent.co.uk, med.mahidol.ac.th, thematter.co และ fatherly

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

10 วิธีสอนลูกให้รับมือกับ “ความล้มเหลว” ในชีวิต

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

เผยผล ทดสอบ iq เด็กยุคใหม่ต่ำกว่าพ่อแม่!!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up