สอนลูก "แพ้ให้เป็น"

แพ้ ภูมิคุ้มกันความผิดหวังที่แม่สร้างให้ลูกได้

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูก "แพ้ให้เป็น"
สอนลูก "แพ้ให้เป็น"

วัคซีนทางร่างกาย ลูกคงได้รับตามวัยมีภูมิคุ้มกันโรคไม่เคยขาด แล้ววัคซีนทางใจละ ปล่อยให้ลูก แพ้ บ้าง ภูมิคุ้มกันที่จะช่วยเขาให้อยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

แพ้ ภูมิคุ้มกันความผิดหวังที่แม่สร้างให้ลูกได้

คุณแม่คุณพ่อทุกคนคงไม่มีใครอยากเห็นลูกผิดหวัง เสียใจ คำว่า “แพ้ ” คำว่า “ล้มเหลว” คงไม่อยากให้เกิดขึ้นในชีวิตของเขาอย่างแน่นอน แม้แต่การแข่งขันกีฬาก็เป็นเรื่องปกติที่ เมื่อมีคนชนะ ก็ย่อมมีคนแพ้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่คงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพบความจริงที่ว่า ลูกต้องเผชิญความสมหวัง และความผิดหวัง ความล้มเหลวบ้างสักครั้งในชีวิต

เราไม่สามารถปกป้องดูแล ตีกรอบชีวิตของลูกไปได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเราจะช่วยให้ลูกของเราแข็งแกร่ง มีภูมิคุ้มกันจากภายในจิตใจ เพื่อพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่พวกเขาต้องเผชิญ

ใครกันทำให้ลูกเป็นโรค “แพ้ไม่เป็น”

พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกตัวเองเป็นที่หนึ่ง จงยอมรับมาเถอะว่า คุณเคยแอบช่วยเหลือลูกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อให้เขาได้รับชัยชนะเหนือคนอื่นสมใจ แต่ชัยชนะแบบนี้ที่ลูกได้มามันดีต่อเขาจริงหรือ

นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นมีส่วนให้คนเติบโตเป็นแบบนั้น จากการเลี้ยงดูที่เข้มงวด กดดัน คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป ลูกเรียนดี ลูกได้ที่ 1 พ่อแม่จะรักและภูมิใจมาก ทำให้เด็กรู้สึกตึงไม่ยืดหยุ่น ต้องการเป็นที่ 1 ให้พ่อแม่ภูมิใจ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเริ่มเข้าข่ายโรคแพ้ไม่เป็นแล้วหรือยัง นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการสำรวจตัวเองว่ามีอาการของการแพ้ไม่เป็นหรือไม่ไว้ดังนี้

ต้องสังเกตตัวเองว่า เราโมโหทุกครั้งหรือเปล่า กับทุกคนไหม แต่ถ้าเป็นกับคนคนเดียวนั้นถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ชอบหน้ากันเป็นพิเศษกับคนคนนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นกับทุกๆ คน ใครเตือนอะไรไม่ได้ โกรธ โมโห ขัดเคืองใจ มีความคิดในแง่ลบเสมอ ถ้าคุณเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าเข้าข่ายที่เป็นคนแพ้ไม่ได้ ยอมรับความจริงไม่เป็น

คุณพ่อคุณแม่ก็ลองปรับมาใช้ในการสำรวจลูกดูว่าเขามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ รุนแรงแค่ไหน เป็นกับใครบ้างหรือทุกคน การที่เราสามารถรู้ได้ทันก่อนว่าลูกเริ่มมีอาการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เราสามารถแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวได้ทัน ก่อนที่จะสายเกินไป

สอนลูก แพ้ ให้เป็น
สอนลูก แพ้ ให้เป็น

เสริมภูมิคุ้มกันความผิดหวัง ดัวยวัคซีน แพ้ อย่างฉลาด

ดร.ทามาร์ ชานสกี้ นักจิตวิทยาเด็ก ผู้เขียนหนังสือ Freeing Your Child from Negative Thinking ได้อธิบายถึงว่าเด็กยังไม่เข้าใจถึงความหมายของคำว่า ฟ้าหลังฝน แถมคิดไปเองว่าเมื่อเป็นผู้แพ้จะต้องแพ้ไปชั่วนิรันดร์ นั่นเป็นเพราะเป็นธรรมชาติของเด็ก จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะช่วยสอนให้ลูกรู้หลักความเป็นจริง และเก็บเกี่ยวแง่คิดจากการเป็นผู้แพ้ได้ จึงจะเรียกได้ว่า แพ้อย่างฉลาด นำบทเรียนคราวนี้มาเป็นตัวอย่างไม่ให้เราทำผิดพลาดซ้ำสอง ไม่กลัวที่จะริเริ่มทำสิ่งต่างๆ และพร้อมที่จะลุกกลับขึ้นมาสู้ต่อ ซึ่งเป็นทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็นกับลูกในอนาคต

เชื่อมั่นในตัวลูก เป็นสิ่งที่ลูกต้องการจากพ่อแม่

ก่อนเริ่มวิธีการอื่นใด สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรมีก่อนเลย คือ ความเชื่อมั่นในตัวลูก เพราะหากเราไม่เชื่อเสียก่อนแล้วว่า เขาสามารถทำสิ่งนั้นได้ด้วยตัวเอง ความรู้สึกห่วงของเราก็จะไปกระทบต่อความมั่นใจของลูกเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้พูดออกมาก็ตาม การดูอยู่ห่างๆ และเข้าไปให้กำลังใจ เมื่อลูกล้มเหลวเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การที่จะเข้าไปแทรกแซงโดยไม่ปล่อยให้ล้มเหลวเลย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะนอกจากจะทำให้เขารู้สึกว่าคุณไม่เชื่อมั่นในตัวเขาแล้ว ยังทำให้ลูกไม่กล้าที่จะทำอะไรท้าทาย เมื่อไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ

เลือกสถานการณ์ให้เหมาะแก่การสอน

การสอนลูกให้รู้จักกับความพ่ายแพ้ ล้มเหลว เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากเราเลือกสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าเดิม ดังนั้นการที่เราจะเลือกสถานการณ์แบบใดที่จะมาสอนลูกเรื่องนี้นั้น ควรดูที่ความสามารถตามวัยของลูกด้วยว่า เป็นสถานการณ์ที่เขาสามารถทำได้สำเร็จอยู่แล้ว เป็นภาระงานที่ไม่ยากเกินไปกว่าวัยที่ลูกจะทำได้ แต่ที่เขาทำไม่ได้นั่นเป็นเพราะว่าเขายังไม่ได้พยายามมากพอ เช่น การได้คะแนนเขียนคำศัพท์น้อย เพราะเขาไม่ยอมท่องศัพท์ก่อนล่วงหน้า

ให้คุณค่ากับพยายาม มากกว่าถ้วยรางวัล

หากลูกต้องเผชิญกับความผิดหวังในเรื่องที่ยากเกินกว่าความสามารถของเขา หรือพ่ายแพ้ในสิ่งที่ลูกก็ได้พยายามเต็มที่แล้ว สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ การชื่นชมในความพยายามของลูก ชื่นชมว่าลูกเป็นเด็กดี สุภาพ มีน้ำใจ อดทน พยายาม มากกว่าไปมองเปลือกข้างนอกว่าต้องได้ที่หนึ่งถึงจะดี เช่น ลูกอ่านหนังสือนานเพื่อสอบ พ่อแม่ชื่นชมที่ลูกอดทน ตั้งใจและพยายาม ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม่ก็ภูมิใจเสมอที่ลูกตั้งใจมากขนาดนี้

แพ้ แล้วก้าวร้าว
แพ้ แล้วก้าวร้าว

สอนให้ลูกรู้จักชื่นชมคนอื่น เพื่อละทิ้งนิสัยขี้อิจฉา

นิสัยของคนกลัวการแพ้นั้น มักจะนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และมักปกปิดความกลัวนั้นด้วยการหาเหตุผลอื่นมาตำหนิผู้อื่นที่ได้ดีกว่าตน ทำให้เขาไม่สามารถประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเองได้ถูกต้อง เมื่อเราไม่ยอมรับว่าตนเองว่ายังมีข้อบกพร่อง การที่จะพัฒนาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังคำพูดในเชิงเปรียบเทียบลูกตนเองกับคนอื่น โดยหวังว่าลูกจะได้มีตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาตนเอง หรือใช้คำพูดประชดประชัน รุนแรงเกินจริง เมื่องเขาพบกับความล้มเหลว ผิดหวัง เพราะตัวลูกเองอาจจะไม่ได้รู้สึกถึงความพ่ายแพ้แต่คำพูดของเราเองต่างหากที่ไปตอกย้ำความรู้สึกนั้น มาก ๆ เข้าก็ทำให้เขาเกิดการอิจฉา ไม่รู้จักชื่นชมคนอื่นจากใจจริง

ตามใจทุกเรื่อง อุปสรรคขัดขวาง อย่าทำ!

ลูกเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ้อนเก่ง พ่อแม่หลาย ๆ คนคงไม่สามารถเถียงได้ แต่การตามใจลูกทุกเรื่องนั้น เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะการตามใจลูกนั้น หมายถึง การที่เขาจะเคยชินกับความสมหวัง ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ยอมตามใจในตอนแรก แต่เมื่อเขาร้องไห้ โวยวาย เราก็ใจอ่อนยอมตามใจ ทำให้ลูกเรียนรู้วิธีการได้มาแบบผิด ๆ และไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดหวังแบบมีเหตุผล

กิจกรรมช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันความผิดหวังแก่ลูกน้อย

ในเมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำว่า แพ้ ให้ลูกไปได้ตลอด ลองมาหากิจกรรมที่ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าเรื่องแพ้ชนะ เป็นเรื่องปกติธรรมดากันดีกว่า

เสริมภูมิคุ้มกันการ แพ้
เสริมภูมิคุ้มกันการ แพ้
  1. นิทานช่วยจำลองให้เห็นภาพก่อนเผชิญของจริง เด็กกับนิทานเป็นของคู่กัน นิทานช่วยให้ลูกเห็นภาพเข้าใจในสิ่งยาก ๆ ได้ง่ายขึ้น การหานิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแพ้ชนะ สอนเรื่องน้ำใจนักกีฬา ความมุ่งมั่นมานะแม้จะแพ้ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการสอนการแพ้ชนผ่านเรื่องราวของตัวละครที่เด็ก ๆ ชอบ เช่น นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า นิทานเรื่องลูกหมูสามตัว
  2. ว้า!แย่จัง พ่อแม่แพ้ซะแล้ว หาเกมดี ๆ ที่ลูกสนใจ มาชักชวนให้เขาเล่นเกมกับคุณพ่อคุณแม่ นอกจากจะสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดีในการสอนลูกให้รู้จักแพ้ชนะอีกด้วย แต่ไม่จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องแกล้งแพ้เสมอไป การที่ชนะลูกบ้าง จะทำให้เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับ และลุกขึ้นสู้ใหม่ เมื่อเขาชนะ เขาก็จะเรียนรู้ว่าหากพยายามก็สามารถเอาชนะได้ และแม้แต่พ่อแม่ที่เป็นฮีโร่ของพวกเขา ก็มีวันที่จะแพ้เป็น
  3. กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ เกมกีฬามักมาคู่กับคำว่า แพ้ชนะ เสมอ ดังนั้นกีฬาจึงเป็นตัวช่วยที่ดีในการสอนลูกให้รู้จักเรียนรู้ในเรื่องนี้ได้ดี ไม่ว่าจะให้เขาได้ลองเล่นกีฬาที่ชอบ หรือไปนั่งเชียร์ทีมฟุตบอลทีมโปรดของคุณพ่อในเกมการแข่งขันฟุตบอลทั้งในจอ และสนามแข่งจริง ก็ทำให้เขาเข้าใจ และยอมรับการแพ้ชนะมากยิ่งขึ้น
  4. ประสบการณ์ของพ่อแม่ เรื่องจริงยิ่งกว่านิทาน การเล่าเรื่องความล้มเหลวของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟัง เช่น พ่อฝึกซ้อมหนักมากตอนนั้น แต่ก็ไม่ได้ติดทีมฟุตบอลโรงเรียน แต่พ่อก็ยังไม่เลิกเล่นนะจนขึ้นมหาวิทยาลัยก็ติดจนได้ เพราะการเล่าจากประสบการณ์จริงทำให้ลูกรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากกว่า โดยเฉพาะในเด็กที่เริ่มโต เข้าใจชีวิตมากกว่าเรื่องราวในนิทาน

พวกเขาจะสามารถข้ามผ่านเรื่องร้าย ๆ ของชีวิตไปได้ด้วยดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ที่พ่อแม่อย่างเรา มาช่วยกันสร้างเกราะป้องกันทางความคิดให้ลูกน้อยเสียก่อน เขาก็จะพร้อมเดินหน้าต่อไปในอนาคตแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องเริ่มที่ตัวของคุณพ่อคุณแม่เองก่อน ให้เข้าใจถึงคำว่าแพ้ของลูกเป็นเรื่องปกติ ธรรมดาของชีวิต ความคาดหวัง ความกดดันในตัวลูกก็คงน้อยลง รวมถึงคำพูดที่เลือกใช้ในการสื่อสาร จงท่องไว้ว่าเราจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก เราเชื่อว่าคุณทำได้

ข้อมูลอ้างอิงจาก 9ย่างเพื่อสร้างลูก / bangkokhospital.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

5 ขั้นตอนการดุลูก สอนลูกอย่างไร ไม่ทำให้ลูกพัฒนาการถดถอย

สอนลูกเข้าใจแพ้…ไม่ใช่เรื่องใหญ่

5 นิทานคุณธรรม ปลูกฝังให้ลูกทำดีได้ตั้งแต่เล็ก!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up