ลูกชอบตีหน้าแม่

ลูกชอบตีหน้าแม่ โตขึ้นจะก้าวร้าวไหมร่วมไขความลับเจ้าตัวเล็ก

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกชอบตีหน้าแม่
ลูกชอบตีหน้าแม่

ลูกชอบตีหน้าแม่ เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวหรือไม่ มาร่วมไขความลับของเจ้าตัวเล็ก ที่แรงไม่เล็กกันว่า เหตุใดลูกถึงชอบตี ดึงผม หยิก พ่อแม่กันนะ พร้อมแนวทางรับมือ

ลูกชอบตีหน้าแม่ โตขึ้นจะก้าวร้าวไหม? ร่วมไขความลับเจ้าตัวเล็ก!!

คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนประสบกับปัญหา ลูกชอบตีหน้าแม่ ลูกชอบตี หยิก คนอื่น บางครั้งทำไปเวลาโมโห ทะเลาะกับพี่น้อง เพื่อน หรือบางทีก็ทำไปเพราะเห็นเป็นเรื่องสนุก พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ของเด็กเล็กในวัยนี้ เป็นเรื่องที่น่าห่วงหรือไม่ โตไปลูกจะกลายเป็นเด็กก้าวร้าว แก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังหรือไม่ แล้วพ่อแม่ควรทำตัวอย่างไรดี

เด็กวัยขวบกว่าจนถึง 3 ขวบ ยังไม่เก่งในการแก้ปัญหา และยังมีทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาพูดกับผู้อื่นไม่ดีพอ เวลาโมโห ถูกคุกคาม เช่น แย่งของเล่นกัน ทะเลาะกัน บางคนใช้วิธีตี หยิก ข่วน เอาของเล่นฟาด บางคนใช้วิธีกัด บางคนตอนแรกไม่เป็น แต่เพิ่งมาเป็นตอนอยู่เนิร์สเซอรี่ เพราะเห็นเด็กคนอื่นกัดให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบ บางคนไม่ได้กัดเพราะโกรธแต่กัดเพราะคิดว่าเป็นการเล่นสนุก ดังนั้นผู้ใหญ่ไม่ควรเล่นแกล้งกัดกับลูก ขณะที่เด็กบางคนกัดเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ หรือ เคยทำครั้งแรกๆ แล้วผู้ใหญ่หัวเราะเห็นเป็นเรื่องสนุก จะทำให้เด็กวัยนี้เข้าใจผิดได้เช่นกัน

Quate จากเพจ หมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

ลูกชอบตีหน้าแม่ ลูกโมโห
ลูกชอบตีหน้าแม่ ลูกโมโห

การจะแก้พฤติกรรมเด็กที่ชอบตี ชอบกัด ชอบต่อย ชอบเตะนั้น สิ่งแรกคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจก่อนถึงสาเหตุที่ลูกทำลงไปก่อน อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าเด็กมีพฤติกรรมดังกล่าวด้วยความเข้าใจที่แตกต่างกัน การที่เราเข้าใจถึงสาเหตุ จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากขึ้น และอ่อนโยนกับลูกมากขึ้น

ธรรมชาติพฤติกรรมของเด็กแต่ละวัย

อายุต่ำกว่า 2 ปี : พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้จะเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น เนื่องจากเขาสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น และชอบที่จะทดลองทำพฤติกรรมต่าง ๆ แล้วสังเกตการตอบสนองของพ่อแม่ และคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไร จึงทำให้เรามักเห็นลูกในวัยนี้มีพฤติกรรมแปลก ๆ ตลก ๆ เพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ และมักทำพฤติกรรมนั้น ๆ ซ้ำเรื่อย ๆ

2-3 ปี : วัยที่มีพลังเหลือล้น จึงทำให้เขารู้สึกอยากทำนู่น อยากทำนี่ ด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นนักสำรวจโลกกว้างตัวยง แต่ด้วยความที่ร่างกายยังไม่โตพอ ไม่พร้อมทันใจเท่าความรู้สึกที่อยากทำ จึงทำให้เขารู้สึกอึดอัดที่ไม่สามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้ และจะรู้สึกโกรธที่มีคนมาคอยควบคุมไม่ให้ทำอีกด้วย ทำให้เราจะพบว่าบ่อยครั้งที่เด็กวัยนี้จะมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ทุบตี ต่อย เตะ ปาข้าวของ เป็นต้น

3-4 ปี : เริ่มเข้าสู่วัยที่สามารถสื่อสาร และใช้ภาษาได้มากขึ้น เริ่มเข้าใจอะไรได้มากขึ้นแล้ว ดังนั้น หากลูกเริ่มมีการแสดงออกทางอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้เค้ารู้ได้เหมือนกันว่าพฤติกรรมดังกล่าวที่เค้าทำไม่ถูกต้อง โดยการพูดเสียงแข็งแกมดุเล็กน้อย เช่น หากลูกขว้างสิ่งของลงพื้น คุณพ่อคุณแม่อาจพูดว่า “หากลูกทำอย่างนี้อีกครั้ง แม่จะโกรธแล้วนะ

ลูกชอบตีหน้าแม่ ลูกเรียกร้องความสนใจ
ลูกชอบตีหน้าแม่ ลูกเรียกร้องความสนใจ

ทำไมเด็กชอบตี??

  1. การตีของเด็ก เป็นเพียงพฤติกรรมปกติพฤติกรรมหนึ่ง เด็กไม่มีความหมายแฝงใด ๆ ไม่ได้คิดอะไรก่อนตี
  2. เด็กยังพูดไม่ได้ หรือไม่สามารถสื่อสารความคิดออกมาได้ทั้งหมด ว่าต้องการอะไร จึงใช้วิธีการตี เพราะเป็นพฤติกรรมที่ง่ายกว่า ไวกว่า ในการบอกความต้องการของตนเอง
  3. เด็กไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมไหน เป็นพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ หรือพฤติกรรมไหนที่สังคมไม่ยอมรับ ลูกไม่รู้ว่าไม่ควรตีคนอื่น
  4. เด็กต้องการคนสนใจ เวลาที่เด็กตี ผู้ใหญ่รอบตัวจะตอบสนองต่อเด็กทันที เช่น หยุดเม้าท์แล้วหันมาหาลูก เวลาร้องงอแงตีคนอื่น ลงไปนอนดิ้นกับพื้น แล้วจะได้ของที่ต้องการ เป็นต้น
  5. เมื่อเด็กเติบโตขึ้นและต้องเข้าสังคม เด็กบางคนอาจยังไม่คุ้น และไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ หรือบางครั้งอาจรู้สึกตื่นเต้นมากไปทำตัวไม่ถูกจึงแสดงออกด้วยการตี กัดหรือเตะ แต่ในบางครั้งหากลูกกัดคุณพ่อคุณแม่บ่อย อาจเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่าเขาอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เช่น คุณพ่อคุณแม่กำลังจะมีน้องใหม่อีกคน หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจเขา เป็นต้น

รับมืออย่างไร? เมื่อลูกชอบตี

การที่ลูกชอบตีหน้าแม่ ลูกชอบตีคนอื่น คงเป็นปัญหาหนักใจคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่ใช่น้อย วันนี้เรามีเคล็ดลับ ฉบับไม่ลับ มาฝากเพื่อหยุดปัญหาเด็กชอบตี

  • นิ่งสงบ 

เมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในวัยเด็กเล็กนั้น สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรตอบสนองต่อพฤติกรรมดังกล่าวเป็นอย่างแรก คือ การนิ่งสงบ ไม่ทั้งดุด่าว่ากล่าว หรือตะคอก และไม่ยอมให้ลูกตี

ลูกชอบโยนของ ลูกชอบตีหน้าแม่
ลูกชอบโยนของ ลูกชอบตีหน้าแม่
  • แรงมาไม่แรงกลับ 

แสดงความอ่อนโยนให้ลูกเห็น แม้ว่า ลูกชอบตีหน้าแม่ คุณหมอก็แนะนำให้ทำหน้านิ่ง ไม่ดุด่า ไม่ตีกลับ และทำพฤติกรรมที่ดีสอนให้ลูกเห็น เช่น จับมือลูกมาลูบหน้าแม่ แทนการตี แล้วบอกลูกว่า “ลูบหน้าแม่เบา ๆ แบบนี้ แม่ชอบมากกว่า” เป็นต้น

  • ยืนยัน ตอกย้ำ พฤติกรรมที่ต้องการ

ทุกครั้งที่ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลูกตีหน้าแม่ ลูกดึงผม ให้คุณใจเย็น แล้วบอกเขาทุกครั้ง ว่าไม่ให้ทำ บอกเขาไปเรื่อย ๆ ด้วยสีหน้าจริงจัง ไม่ยิ้ม ไม่เล่น ไม่พูดไปขำไป หรือหัวเราะเวลาที่ลูกตี การที่ให้พ่อแม่ทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่เจอพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของลูก เนื่องจากว่าเขาอยู่ในวัยที่ไม่สามารถรับรู้สิ่งใด ๆ ได้เต็มร้อย ตั้งแต่ครั้งแรก พ่อแม่ต้องป้อนข้อมูลย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ และจะจำที่สอนได้

  • Time out

หากลูกไปตีคนอื่น  ต้องเข้าห้ามทันทีที่เห็นลูกทำท่าจะทำร้ายผู้อื่น หรือ กำลังทำอยู่ ให้พูดว่า “ตีไม่ได้ เจ็บนะ” นำผู้กระทำแยกออกไปจากผู้ถูกกระทำ ให้ไปนั่งอยู่คนเดียว แล้วบอกว่า “นั่งอยู่ตรงนี้ สงบสติอารมณ์ จนกว่าแม่จะบอกให้ลุกออกมาได้” เรียกว่า การแยกเข้ามุมสงบ (Time out) นานประมาณ 1-2 นาที สำหรับเด็กอายุ 1-2 ขวบ

  • สอนทักษะในการเข้าหาผู้อื่น

เด็กวัยนี้บางครั้งตีคนอื่น เพราะขาดทักษะในการเข้าหาผู้อื่น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว อยากจะเล่นด้วยเท่านั้นเอง ให้สอนว่า ถ้าต้องการให้พี่เล่นด้วย ต้องพูดอย่างไร เช่น ขอเล่นด้วยคน ขอเล่นของเล่นของพี่หน่อยได้ไหม ผลัดกันเล่นได้ไหม ถึงจะพูดแบบที่สอนยังไม่ได้ แต่เขาจะพอเข้าใจ และ ลดพฤติกรรมเดิมได้ในที่สุด

เด็กกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้สังคม อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เด็กกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้สังคม อาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • ให้แรงเสริมในทางบวกกับพฤติกรรมที่ดี

ในเวลาที่ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ไม่ก้าวร้าว เล่นกับพี่ เล่นกับเพื่อน หรือคนอื่น ๆ ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ตี ไม่กัด ให้รีบชมเชยทันที เป็นการให้แรงเสริมในทางบวกกับพฤติกรรมที่ดี ลูกจะรู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่ แล้วเขาจะจำ และนำมาทำซ้ำ

  • ตีเพราะเรียกร้องความสนใจ ต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่คิดว่าการกัด การตีเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากพี่ จากพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ ให้ใช้วิธีแยกออกไปนั่งคนเดียวเช่นกัน แต่หากลูกมีพฤติกรรมอย่างนี้อีก คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ลูกทำนี้ไม่ดี และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ชอบเล่นแบบนี้ ด้วยการลุกออกจากตรงนั้นไป หรือหากเป็นเด็กที่เล็กมากให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนบรรยากาศพาลูกเล่นอย่างอื่น หรือชมบรรยากาศสวยงามรอบตัวแทน

  • สอนวิธีระบายความโกรธ

วิธีระบายความโกรธ โดยไม่ใช้การทำร้ายผู้อื่น เช่น การพูดบอกความรู้สึก “หนูโกรธนะ หนูไม่ชอบนะ” การเดินหนีเวลาที่ใครมาทำให้โกรธ การกระทืบเท้า หรือเอามือทุบหมอนเวลาที่โกรธ หรือ ให้มาบอกผู้ใหญ่เวลาที่ใครทำให้โกรธ เพื่อที่ผู้ใหญ่จะได้ช่วยแก้ปัญหาให้

  • เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก

พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาเวลาที่มีความขัดแย้งกับผู้อื่น ไม่แสดงความก้าวร้าวต่อคู่สมรส ต่อลูก หรือคนอื่นๆ เพราะเด็กๆ เลียนแบบความก้าวร้าวได้

สอนลูกสงบสติอารมณ์ กอด ให้เขาสงบ
สอนลูกสงบสติอารมณ์ กอด ให้เขาสงบ

เด็กส่วนใหญ่เลิกนิสัยนี้ได้ เมื่อเริ่มมีความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาพูดได้ดีขึ้น ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรกังวลจนเกินไป หรือไปทำพฤติกรรมที่รุนแรงแทนเสียเอง เช่น การตีลูกให้หยุดการตีหน้าพ่อแม่ หรือคนอื่น หากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งทำให้เด็กสับสนเข้าไปใหญ่ว่าแบบไหนกันแน่ที่เป็นพฤติกรรมที่ควรกระทำ แต่ถ้าลูกอายุเกิน 4 ขวบแล้ว ยังมีปัญหาชอบทำร้ายผู้อื่น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็ก

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bounty.com/www.facebook.com/DoctorMMFamily

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ทำไมลูกวัยนี้ชอบตีนักนะ

 

10 เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูก ก้าวร้าว พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ

14 ข้อสำคัญ เพื่อรับมือกับลูกน้อยที่เป็น “เด็กออทิสติก”

ลูกเก่งรอบด้าน แค่เพียงแม่ชวนลูก “นั่งสมาธิ”

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up