เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น

เข้าใจธรรมชาติ เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น อีกเรื่องจำเป็นของพ่อแม่คน

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น
เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น

เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น – เด็กกับความอยากรู้อยากเห็นเป็นของคู่กัน เพราะพวกเขาเพิ่งมาอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้ไม่นาน ยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ที่พวกเขายังไม่รู้ และอยากรู้ สัญชาตญาณ สั่งให้เด็กๆ มุ่งมั่นในการแสวงหาสิ่งต่างๆ ในโลกใบใหม่นอกท้องคุณแม่ที่ยังมีอะไรน่าค้นหาอีกมากมาย หน้าที่ของพ่อแม่ คือ ต้องเข้าใจและสามารถกระตุ้นธรรมชาติของลูกให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการที่ดีสมวัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เข้าใจธรรมชาติ เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น อีกเรื่องจำเป็นของพ่อแม่คน

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมความอยากรู้อยากเห็นจึงเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นการกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดความอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่อายุยังน้อย คือหัวใจสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการที่ดีของเด็ก

จากการวิจัยของสมาคมวิทยาศาสตร์จิตวิทยาในสหราชอาณาจักร พบว่าความอยากรู้อยากเห็น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อ ผลการเรียนของเด็ก  นักวิจัยกล่าวว่า เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ และมักจะมองหาโอกาสสำรวจและค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ตามอาจมีเด็กหลายคนที่ไม่ได้รับการพัฒนาสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นได้ดีเท่ากับเด็กคนอื่นๆ บทบาทของพ่อแม่ในการจัดการกับปัญหานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่ต้องช่วยปลูกฝัง และตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นในการเรียนรู้โลกกว้างของลูกๆ อย่างเหมาะสม และต่อไปนี้ คือ 13 วิธี ที่น่าตื่นเต้น ในการปลุกความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ปกครองหลายคนอาจไม่เคยทำและไม่เคยรู้มาก่อน

1. เปลี่ยนกิจวัตรของลูก

เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก ๆ ที่จะต้องมีกิจวัตรประจำวัน แต่การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรบางอย่าง เล็ก ๆ น้อย ๆ  เป็นครั้งคราว สามารถกระตุ้นสมองให้คิดในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นได้  อาจเป็นอะไรที่ง่ายๆ เช่น การเปลี่ยนสบู่อาบน้ำแบบโฟมที่ลูกใช้อยู่ตามปกติเป็นสบู่แบบก้อน และปล่อยให้พวกเขาค้นพบเนื้อสัมผัสใหม่ๆ เล่นกับมัน และได้คิดตัดสินใจว่าพวกเขาชอบแบบไหนมากกว่า

2. ทำให้ลูกประหลาดใจ

ความประหลาดใจหรือการสร้างเซอร์ไพรส์ในเชิงบวก สามารถเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของเด็กได้ คุณสามารถทิ้งข้อความอรุณสวัสดิ์ไว้ใต้หมอน จัดกิจกรรมตามล่าหาของว่าง หรือชวนคนที่พวกเขาชอบมาทานอาหารกลางวัน และอย่าบอกพวกเขาจนกว่าคนที่คุณรักจะมาถึง

เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น
เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น

3. ไปรับลูกที่โรงเรียน แล้วพาไปเที่ยวแบบเซอร์ไพรส์

หากคุณสามารถลาหยุดงานได้ทั้งวัน แล้วปฏิบัติการ “ลักพาตัว” ลูกของคุณจากโรงเรียน เด็กๆ จะจดจำเหตุการณ์นี้ได้ตลอดชีวิต แจ้งคุณครูว่าขอความร่วมมือในการทำสิ่งนี้ถ้าเป็นไปได้  คุณสามารถใช้เวลาอย่างสนุกสนานร่วมกับลูก พาพวกเขาไปที่ร้านหนังสือในพื้นที่และกินไอศกรีมที่พวกเขาโปรดปราน ลูกของคุณจะมีช่วงเวลาที่แสนวิเศษ ที่พวกเขาจะนึกถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้เวลาจะผ่านไป แต่สิ่งที่สำคัญคือ คุณจะต้องบอกให้ชัดเจนว่าวันนี้ เป็นวันพิเศษอย่างไร อย่าลืมเช็คว่าพวกเขาจะไม่พลาดเรื่องอะไรที่สำคัญในวันนั้นที่โรงเรียนกับคุณครูด้วย

4. อบเค้กด้วยกัน

เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบเค้ก แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่รู้วิธีทำเค้ก การได้สัมผัสกับกระบวนการทำเค้ก ตั้งแต่เตรียมส่วนผสมไปจนถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาเป็นเค้กหน้าตาสวยงามน่าทาน อาจเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง และน่าตื่นเต้นมากสำหรับเด็ก ๆ หลายคน และยิ่งการได้ลงมือทำด้วยตัวเองจะยิ่งปลุกประสาทสัมผัสทั้งหมดของเด็กได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการได้ยิน วิธีการทำ การได้เห็นความเปลี่ยนแปลง สีสัน ได้สัมผัสพื้นผิวของเค้ก กลิ่นเค้กขณะอบ และการได้ชิมรสชาติของเค้กในที่สุด!

5. อ่านนิทานและเรื่องราวปลายเปิด

การอ่านนิทานก่อนนอนเป็นกิจกรรมที่ดีสำหรับเด็ก ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย  อย่างไรก็ตามการอ่านเรื่องราวเดิม ๆ อยู่เสมอ อาจทำให้เกิดความซ้ำซากจำเจได้ เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุกยิ่งขึ้น คุณสามารถเล่าเรื่องโดยใช้คำถามปลายเปิด เพื่อให้พวกเขาใช้จินตนาการในการจบเรื่องได้ วิธีอื่นที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วยนิทาน คือการขอให้พวกเขาตั้งชื่อนิทานเรื่องใหม่ กระตุ้นให้พวกเขาเริ่มเรื่อง หรือดำเนินการต่อ นอกจากนี้คุณยังสามารถค้นหาตอนจบที่แตกต่างกันสำหรับเรื่องราวเดียวกัน เพื่อดึงดูดความสนใจของพวกเขา และทำให้พวกเขาสนใจเพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไป

6. พร้อมที่จะตอบคำถามของลูก

เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเตาะแตะมักจะถามคำถามอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดหย่อน และบางครั้งก็เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก! สิ่งนี้พ่อแม่หลายคนคงเข้าใจดี เพื่อให้เราสามารถตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ได้ พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจ ว่าเหตุใดพวกเขาจึงถามคำถามนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อพวกเขาถามคุณว่า “ทำไมคุณต้องไปทำงาน” แท้จริงแล้วพวกเขาอาจไม่ต้องการฟังเหตุผล แต่พวกเขามีความปรารถนาที่จะใช้เวลาร่วมกับคุณมากขึ้น เพราะฉะนันการทำความเข้าใจความหมายในการถามที่แท้จริงของลูก จะช่วยให้คุณไขข้อสงสัยของพวกเขาด้วยคำตอบที่ดีและเหมาะสมกับวัยของลูกได้

เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น

7. กระตุ้นให้ลูกถามมากขึ้น

ความอยากรู้อยากเห็นเพียงเล็กน้อย สามารถนำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อลูกของคุณถามคุณว่า ‘ทำไมฝนถึงตก’ คุณสามารถอธิบายวัฏจักรของฝนให้พวกเขาฟัง และเมื่อสิ้นสุดการหาเหตุผลมาอธิบายลูกในประเด็นแรก คุณอาจพูดถึงลักษณะของน้ำฝนต่อโดยไม่ต้องอธิบายรายละเอียดมากมายนัก ซึ่งหากพวกเขาสนใจฟัง ก็อาจกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเพื่อสอบถามคุณเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนั้นได้ นี่เป็นเพราะถ้าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง เราจะไม่อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม แต่ทันทีที่เรารู้อะไรบางอย่างเพียงเล็กน้อย ความอยากรู้อยากเห็นของเราก็จะถูกหยิบขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดคำถามเพิ่มเติมได้!

8. เป็นคนถามคำถาม

การถามคำถามกับลูก ๆ ของคุณคุณจะช่วยกระตุ้นสมองของพวกเขา และทำให้พวกเขาได้ใช้ความคิดเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหา หรือเรื่องต่างๆ อย่าลืมขอให้พวกเขาให้เหตุผลกับคุณเสมอ และเตรียมพร้อมที่จะรับฟังคำตอบที่น่าสนใจของลูก โดยแนวคิดคำถามบางประการ เราอาจถามลูก ได้ดังนี้ :

“ คุณคิดว่าคุณเป็นเพื่อนที่ดีหรือเปล่า”

“ สถานที่โปรดของคุณอยู่ที่ไหนในโลก”

“ ถ้าคุณสามารถประดิษฐ์สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้นคุณจะประดิษฐ์อะไร?”

“ ถ้าคุณมีประเทศของตัวเอง จะเรียกชื่อว่าอะไร?”

9. พาลูกไปร้านอาหารพื้นเมือง

การค้นพบวัฒนธรรมใหม่ ๆ เป็นวิธีที่ดีในการรักษาความอยากรู้อยากเห็น และอาหารท้องถิ่นก็เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการค้นหาวัฒนธรรมใหม่ ๆ รสชาติ มารยาท และประเพณี และอื่นๆ ลองหาโอกาสพาลูก ๆ ของคุณไปรับประทานอาหารแสนอร่อยในร้านอาหารญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม หรือสเปนแม้ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบอาหารสไตล์เหล่านี้ก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูก

10. พาลูกไปเที่ยวและเยี่ยมชมสถานที่ใหม่ ๆ

ขอแนะนำอย่างยิ่ง! ให้พาบุตรหลานของคุณไปเที่ยวที่ต่างๆ ในประเทศ หรือต่างประเทศถ้ามีโอกาสในสักวันหนึ่ง เพื่อให้ลูกได้สัมผัสกับวัฒนธรรมใหม่ ๆ ได้เห็นสถานที่ที่หลากหลาย และพบปะผู้คนใหม่ ๆ  เหตุผลหลักประการหนึ่งที่เราเดินทางคือเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น และการเดินทางทำให้เราอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ดังนั้นการพาลูก ๆ เข้าสู่กิจกรรมที่น่าตื่นเต้นนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้พวกเขามีความสุขจากการเยี่ยมชมสถานที่ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย

เด็กวัยอยากรู้อยากเห็น

11. ส่งเสริมให้ลูกเรียนดนตรี

คุณอาจรู้อยู่แล้วหรือคิดอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องที่ดีถ้าลูกของคุณจะได้เรียนรู้วิธีการเล่นเครื่องดนตรี แต่คุณอาจไม่ได้คิดถึงเหตุผลที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังมัน

คุณรู้หรือไม่? ว่าดนตรีมีผลต่อสมองของมนุษย์อย่างไร? มนุษย์ส่วนใหญ่จะใช้สมองซีกขวาหรือซีกซ้ายมากกว่า แต่คนที่เรียนดนตรีมักจะใช้สมองทั้งสองซีก! สิ่งนี้ทำให้พวกเขาทำได้ดีขึ้นในการคิด ซึ่งหมายถึงความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ การมีความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้ลูกอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกรอบตัวมากขึ้น

12. สังเกตความสนใจส่วนตัวของลูก

เราทุกคนมีความสนใจที่แตกต่างกันและมีข้อพิสูจน์ว่าเรามีแนวโน้มที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เมื่อเราสนใจสิ่งเหล่านี้เท่านั้น ในฐานะพ่อแม่คุณอาจสังเกตว่าลูกของคุณชอบและไม่ชอบอะไรดังนั้นให้มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเขาในด้านความรู้ที่เขาชื่นชอบ

13. ปล่อยให้ลูกได้อยู่ในโลกของเด็ก

ในฐานะผู้ปกครองบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้ลูก ๆ ทำในสิ่งที่ต้องการ พวกเขามักต้องการทำสิ่งที่ผู้ใหญ่อาจรู้สึกว่ามันแปลกหรือไม่เหมาะสม แต่ตราบใดที่แนวคิดของพวกเขาไม่เป็นอันตราย ก็ควรปล่อยให้พวกเขาสำรวจโลกในแบบของตัวเอง ในช่วงอายุหนึ่งเด็กวัยเตาะแตะมีความปรารถนาที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง และขอแนะนำให้ปล่อยให้พวกเขาลองทำ การพูดว่า“ นั่นไม่ใช่วิธีที่คุณควรทำ” อาจส่งผลเสียต่อความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขา คุณควรปล่อยให้พวกเขาทำผิด และเรียนรู้ด้วยตัวเองจะดีกว่า

เด็กที่ได้รับการตอบสนองในความอยากรู้อยากเห็นอย่างเหมาะสม จะทำให้สมองของพวกเขา ได้รับกระตุ้นให้เกิดความคิดจินตนาการผ่านสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาได้เห็น ได้สำรวจและสัมผัส ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อการก่อให้เกิดทักษะความฉลาด ด้วย Power BQ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับเด็กยุคนี้ หลายด้านด้วยกัน  อาทิ  ความฉลาดทางสติปัญญา (IQ)    ความฉลาดในการคิดสร้างสรรรค์ (CQ)  ความฉลาดในการคิดเป็น (TQ) ความฉลาดในการเล่น (PQ)  เป็นต้น  เพื่ออนาคตที่ดีของลูก เรามาหมั่นสังเกตความอยากรู้อยากเห็นของลูก แล้วช่วยให้พวกเขาได้สำรวจและค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างมีความสุขกันเถอะค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : lifehack.org

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 วิธี ส่งเสริมความ “อยากรู้อยากเห็น” ของลูกน้อย

คุยเรื่องเพศกับลูก ต้องสอนยังไง จะเริ่มได้เมื่อไหร่ดี?

ให้ ลูกเล่นเลอะเทอะ บ้างสิดี! เลอะแบบนี้ ดีต่อพัฒนาการ!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up