สอนลูกเอาตัวรอดจาก ไฟไหม้บ้าน

สอนลูกอย่างไรให้รอดชีวิตจาก ไฟไหม้บ้าน !!

Alternative Textaccount_circle
event
สอนลูกเอาตัวรอดจาก ไฟไหม้บ้าน
สอนลูกเอาตัวรอดจาก ไฟไหม้บ้าน

ไฟไหม้บ้าน คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมพร้อมรับมือ สูญเสียเพียงทรัพย์สิน แต่ชีวิตปลอดภัย มาสอนลูกให้รู้จักเอาตัวรอดกันเถอะ

สอนลูกอย่างไรให้รอดชีวิตจาก ไฟไหม้บ้าน !!

“ป๊อก ๆ ๆ ๆ  อากาศแห้งแล้ง ระวังฟืนไฟ ” สัญญาณเตือนไฟไหม้สุดแสนจะคลาสสิคที่คนสมัยก่อนคงเคยได้ยินกันบ้างยามค่ำคืน นับเป็นสัญญาณเตือนไฟไหม้รุ่นบุกเบิก แต่ก็เห็นผลกันได้อย่างดีไม่น้อยทีเดียว แม้ในสมัยปัจจุบันการเตือนภัยไฟไหม้ดังกล่าวจะค่อย ๆ จางหายไป เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้สัญญาณจับเตือนไฟไหม้ จับควันในตัวอาคารกันแล้ว แต่ความเสียหาย สูญเสียจากเหตุเพลิงไหม้ก็ยังคงไม่ได้น้อยลง ดังคำกล่าวที่ว่า “โจรขึ้นบ้านสิบครั้งไม่เท่า ไฟไหม้บ้านครั้งเดียว”

ไฟไหม้บ้าน อัคคีภัย
ไฟไหม้บ้าน อัคคีภัย

อัคคีภัย มหัตภัยร้ายที่ไม่เพียงแต่ทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของเราที่สะสมมาแล้ว ในบางครั้งหากโชคร้ายมากไปกว่านั้น อาจเกิดการสูญเสียชีวิตของคนในบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดเป็นแน่ ดังนั้นการป้องกันการเกิดเพลิงไหม้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนต้องตระหนัก และให้ความใส่ใจกัน แต่อีกซึ่งหนึ่งที่เราไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง นั่นคือ การเตรียมพร้อม เรียนรู้วิธีที่จะเอาตัวรอดจากสถานการณ์เพลิงไหม้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างน้อยเราก็จะสามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ด้วยแล้ว การให้เข้ารู้วิธีในการช่วยเหลือตัวเองเมื่อเกิดไฟไหม้บ้านเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก ลูกจะได้รู้วิธีดูแลตัวเองได้ก่อนที่ความช่วยเหลือจะเข้ามาได้ทัน

การซ้อมหนีไฟ ไม่ใช่แค่โรงเรียนเท่านั้น

การฝึกซ้อมดับเพลิงเป็นส่วนสำคัญของความปลอดภัยในโรงเรียน เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่ทุกคนต้องทำเมื่อเกิดเพลิงไหม้ เช่น ต้องเดินไปทางไหนจากห้องเรียนถึงจะถึงบันไดหนีไฟที่ใกล้ที่สุด เสียงกริ่งเตือนไฟไหม้เป็นแบบไหน เป็นต้น แต่ถ้าเกิดไฟไหม้ที่บ้านที่คุณอยู่ล่ะ? ลูกคุณรู้หรือไม่ว่าต้องทำอย่างไร? 

การฝึกซ้อมดับเพลิงในบ้าน

นอกจากการพูดคุยเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว จะเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีก ถ้าหากทุกคนในบ้านได้ร่วมกันฝึกซ้อมเช่นการฝึกซ้อมดับเพลิงที่โรงเรียน การฝึกซ้อมดับเพลิงที่บ้านจะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสที่จะรู้ว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไรในสถานการณ์จริง ในสถานที่จริง เพราะบ้านแต่ละคนมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป และไม่เหมือนกับที่โรงเรียนด้วย การให้ลูกได้ลองซ้อมหาทางหนีออกมาได้ ในกรณีฉุกเฉินเสียก่อน ก็จะทำให้คุณเห็นได้ว่าทุกคนสามารถออกจากบ้านได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยจริงหรือไม่ ติดขัดที่ส่วนใด และได้ทำการเช็คอุปกรณ์เตือนไฟไหม้ และสิ่งกีดขวางทางหนีไฟไปในตัวว่าพร้อมที่จะรับมือหากเกิดไฟไหม้บ้านขึ้นมาจริง ๆ โดยควรทำการฝึกซ้อมนี้ปีละสองครั้งทุกปี

ลองซ้อมหนีไฟในบ้าน
ลองซ้อมหนีไฟในบ้าน

กฎเกณฑ์ที่ดีในการดูว่าแผนหนีไฟที่วางไว้ใช้ได้หรือไม่ คือ ดูว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่อาศัยในบ้านสามารถออกมาจากบ้านได้อย่างปลอดภัย มายังจุดนัดพบหนอกอาคารบ้านได้ครบทุกคน ภายใน 3 นาทีหรือไม่ และคุณควรเพิ่มความท้าทาย โดยอาจลองใช้การจำลองรูปแบบสถานการณ์ใหม่ ๆ เพื่อดูว่าจะยังคงสามารถหนีออกมาได้ไหม เช่น แกล้งทำเป็นว่าประตูหน้าถูกปิดกั้น และไม่สามารถออกไปทางนั้นได้ เราจะมีแผนสำรองอย่างไร

แผนการหนีไฟของแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกัน เนื่องจากเด็กบางคนอาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว บางคนอาศัยอยู่ในอาคารสูง สมาชิกในบ้านแต่ละครอบครัวก็แตกต่างกัน บางบ้านมีผู้สูงอายุ บางบ้านมีเด็กอ่อน ดังนั้น คุณจะต้องพูดคุยเกี่ยวกับแผนการหลบหนีและเส้นทางหลบหนีของพวกคุณว่าบ้านเรามีแผนอย่างไรที่เหมาะสม โดยมีหลักการคร่าว ๆ ดังนี้ เริ่มกันเลย

ทางออกอยู่ไหน?

แผนการหลบหนีสามารถช่วยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวออกจากบ้านที่ไฟไหม้ได้อย่างปลอดภัย ความคิดที่จะได้รอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ภายนอกอย่างรวดเร็ว และปลอดภัยนั้น ในบางครั้งอาจเป็นเรื่องที่ช้าเกิน ดังนั้นจึงควรเรียนรู้ และจดจำทางเดินต่าง ๆ ในบ้านของคุณ ว่ามีทางออกกี่ทาง? สิ่งใดวางไว้ตำแหน่งไหน? เพราะควันจากกองไฟอาจทำให้ยากที่จะมองเห็นว่าสิ่งของต่าง ๆ อยู่ที่ไหน ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้จริง ควันไฟอาจทำให้เราหลงในบ้านตัวเองได้หากเราไม่สามารถจำทางได้อย่างขึ้นใจ นอกจากนั้นควันไฟยังอาจทำให้คุณมองหาสมาชิกคนอื่น ๆ ได้ยาก และเป็นการเสียเวลาหากมัวแต่ตามหากันและกัน ทางที่ดีจึงควรรู้สถานการณ์เฉพาะหน้าของตนเอง และพาตัวเองออกจากห้องของคุณให้ได้ และไปเจอกันทุกจุดนัดพบนอกบ้านที่ได้กำหนดไว้ในแผน ดังนั้นจึงเป็นความคิดที่ดีที่จะให้ครอบครัวของคุณวาดแผนที่แผนการหลบหนี อพยพให้ทุกคนไม่เว้นแม้แต่เด็กได้รับรู้ และลองซ้อมเดิน

ควรกำหนดทางออกเอาไว้หลายทาง เพราะอาจเป็นไปได้ว่าทางออกทางเดียวอาจถูกปิดกั้นด้วยไฟ หรือควัน ดังนั้นคุณควรหาทางสำรองทางอื่นเพิ่มด้วยว่าอยู่ที่ไหน และหากคุณอาศัยอยู่ในอาคารอพาร์ตเมนต์คุณจะต้องการทราบวิธีที่ดีที่สุดในการขึ้นบันได หรือทางออกฉุกเฉินอื่น ๆ

ระมัดระวัง เวลาลูกเล่นกับไฟ
ระมัดระวัง เวลาลูกเล่นกับไฟ

ระมัดระวัง และรอบคอบ คือสิ่งจำเป็น

สอนลูก และสมาชิกทุกคนไว้ว่า การมีสติ ไม่ตื่นตระหนก ระมัดระวัง และรอบคอบ คือสิ่งสำคัญในการเผชิญหน้ากับไฟ โดยเมื่อเกิดไฟไหม้บ้าน ควรทำตามลำดับขั้นตอน ดังนี้

  1. จดจำ และนำแผนที่แผนการการหนีไฟที่ได้วางไว้มาใช้
  2. รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ โดยอาจมีการวางหน้าที่ กำหนดคนไว้แต่แรก และควรเลือกคนที่มีอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศํพท์ สมาร์ทโฟน ใกล้ตัว และให้สมาชิกทุกคนจดจำเบอร์โทรฉุกเฉินให้ได้ขึ้นใจ เผื่อจำเป็นก็สามารถแจ้งเหตุร้ายได้ทุกคน
  3. หากอยู่ในห้องที่ประตูปิด เมื่อเกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าดับคุณต้องเพิ่มความรอบคอบ และระมัดระวังเพิ่มเติมบางขั้นตอนขึ้นอีกสักหน่อย
  • ตรวจดูว่ามีความร้อนหรือควันเข้ามาที่รอยแตกรอบ ๆ ประตูหรือไม่ เพื่อเป็นการตรวจสอบดูว่ากำลังมีไฟอีกด้านหนึ่งของประตูหรือไม่
  • หากเห็นควันไฟใต้ประตู – อย่าเปิดประตู!
  • หากไม่เห็นควันให้แตะประตู หากประตูร้อน หรืออุ่นมาก อย่าเปิดประตู!
  • หากไม่เห็นควัน  และประตูไม่ร้อน ให้ลองใช้นิ้วแตะลูกบิดประตูเบา ๆ ก่อน อย่าจับลูกบิดประตูด้วยมือเปล่าเป็นอันขาด เพราะว่า ความร้อนระอุของมันจะทำให้มือของคุณพองไหม้ได้ทันที ดังนั้น จงใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำ และหุ้มมือก่อนจะเปิด หรือปิด หรือถ้าขณะนั้นคุณใส่รองเท้า จงใช้เท้าถีบอย่างแรงเพื่อเปิดประตูก็น่าจะดีกว่า และที่สำคัญหากลูกบิดร้อน อย่าเปิดประตู!

เพราะหากเปิดประตูที่ร้อนที่สงสัยว่าอาจมีไฟลุกโชนอยู่ด้านหลังประตู ไม่ควรเสี่ยงเปิดประตูโดยทันที เพราะเพลิงอาจโหมออกมาจากห้องอย่างทันที ทันใด และอาจกลายเป็นเจ้าชาย ที่โดนมังกรยักษ์พ่นไฟ จนตัวไหม้เกรียม! วิธีที่ถูกต้องก็คือ เปิดประตูโดยใช้ผ้าชุบน้ำที่แนะนำไว้แล้วข้างต้น โดยให้ยืนอยู่หลังประตู แล้วค่อยๆแง้มประตูเข้าหาตัว เป็นการใช้ประตูบังตัวเรา จากไฟที่อาจพุ่งโพล่งออกมา

สอนวิธีรับมือจากควัน และไฟแก่ลูก

  • คลานอยู่ในระดับต่ำ สอนลูกว่าอย่าวิ่งฝ่าควันไฟ จริงอยู่ยามตกใจทุกคนคงทำไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการมีสติจึงสำคัญ  80% ของผู้ที่เสียชีวิตในกองเพลิงนั้นเกิดจากการขาดอากาศหายใจ และสำลักควัน เนื่องจากควันอันโขมงนั้น ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไอร้อน ที่จะลอยตัวอยู่ด้านบน ทำให้อากาศในระดับต่ำ ใกล้พื้นจะยังพอมีออกซิเจน ทำให้สูดควันเข้าไปได้น้อยกว่าเมื่อเราคลานอยู่ใกล้พื้น

    เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ช่วยดับ ไฟไหม้บ้าน
    เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ช่วยดับ ไฟไหม้บ้าน
  • บอกลูกว่าอย่าซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงหรือในตู้เสื้อผ้า เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพบได้ยาก
  • สอนลูกว่า ห้ามวิ่ง! หากมีไฟติดตามตัว ตามเสื้อผ้า มิฉะนั้นไฟจะยิ่งลามตามแรงวิ่ง และแรงลม วิธีที่ถูกต้องก็คือให้หยุดทิ้งตัวลงที่พื้นใช้มือปิดหน้าแล้วม้วน วิธีนี้จะตัดอากาศและดับเปลวไฟ วิธีง่ายๆในการจำสิ่งนี้คือ หยุดวางและม้วน!
  • ไฟฉายควรมีติดห้องเป็นสมบัติประจำตัวของทุกคน อันตรายเหลือเกินหากเราลุยฝ่าควันไฟในความมืด การมีไฟฉายก็เป็นตัวช่วยอย่างดีให้เรามองเห็นทางเวลาที่เจ้าหน้าที่ตัดไฟฟ้าลงยามไฟไหม้
  • หากต้องติดอยู่ในห้อง ก่อนที่ไฟจะลามเข้ามา สิ่งที่ต้องป้องกันไว้ก่อนก็คือควัน ควันไฟจะทะลักเข้ามาในห้อง จนเป็นภัยถึงแก่ชีวิตได้
    ดังนั้นจึงควรรีบหาทางป้องกัน หรือบรรเทาซะก่อน โดยการเอาผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หรือผ้าเช็ดตัวชุบน้ำให้เปียก แล้วอุดตามขอบประตู และตามช่องต่าง ๆ ในห้องเพื่อชะลอควันไฟ

ป้องกันก่อนเกิดไฟไหม้บ้านคือสิ่งที่ดีที่สุด

การป้องกันไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ตั้งแต่แรก เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความสูญเสียจากเพลิงไหม้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกไม่ให้เล่นกับไม้ขีดไฟ ไฟแช็ค และแหล่งอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดไฟ ควรให้เด็กอยู่ห่างจากเตาไฟ เทียน หรือสอนวิธีใช้แก่ลูกให้ใช้ด้วยความระมัดระวังมากที่สุด และควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด

เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ร้ายจะเกิดขึ้นในชีวิตเราเมื่อไหร่ หนทางที่ดีที่สุดในการลดโอกาสการสูญเสีย ซึ่งการสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดคงเป็นเรื่องของชีวิตบุคคลอันเป็นที่รัก หนทางนั้นคือ การเตรียมพร้อมไม่ประมาท การรู้จักวิธีรับมือหากเหตุร้ายต่าง ๆ จะเข้ามาเยือนเรา แม้ว่าเราจะระมัดระวังอย่างดีที่สุดแล้ว การสอนเด็กในเรื่องการรับมือกับเหตุร้าย อย่างเช่น ไฟไหม้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว หากเขาสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่ความช่วยเหลือจะมาถึงก็เป็นการช่วยลดโอกาสการสูญเสียได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้เขาตระหนักถึงอันตรายของไฟ ในช่วงเวลาที่เขาได้ซ้อมหนีไฟ ทำให้รู้จักคิดยับยั้งชั่งใจเวลาอยากเล่นซุกซนอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี / kidshealth.org

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

[เคล็ดลับดูแลบ้าน] 10 ข้อเตือนใจ ป้องกันไฟไหม้บ้าน (และสถานที่ที่มีเด็กอยู่)

ลูก “แพ้น้ำลายยุง” มีจริงไหม? อาการแบบไหนเรียกแพ้ยุง?

4 ข้อควรคำนึง เล่นกับลูก ให้สนุก-ปลอดภัย ช่วยลูกมีพัฒนาการที่ดีได้

อุทาหรณ์ ลูกถูกไฟช็อต จากสายชาร์จโทรศัพท์มือถือ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up