magic hold ไม่ทำ กระดูกสันหลังคด

Magic hold อุ้มท่านี้ลูกชอบ..ไม่ต้องห่วง กระดูกสันหลังคด

Alternative Textaccount_circle
event
magic hold ไม่ทำ กระดูกสันหลังคด
magic hold ไม่ทำ กระดูกสันหลังคด

ท่าอุ้ม Magic hold อุ้มแบบไหน ทำไมลูกถึงชอบ อุ้มแล้วหยุดร้องดีต่อระบบย่อยอาหาร หากอยากทำตาม แต่กังวลกลัวลูก กระดูกสันหลังคด หลังงอ มาหาคำตอบคลายกังวลกันดีกว่า

Magic hold อุ้มท่านี้ลูกชอบ..ไม่ต้องห่วง กระดูกสันหลังคด

เคยไหมเวลาเอาลูกเข้านอน กล่อมนอนเจ้าตัวน้อยอยู่นานสองนาน ลูกก็ไม่ยอมหลับเสียที  แต่พอเวลาอุ้มงอตัวจับให้เรอ กลับหลับคามือคุณพ่อคุณแม่ไปซะได้ ง่าย ๆ แบบนั้น เป็นเพราะอะไรกันนะ วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK ขออนุญาตหยิบยกประเด็นจากเพจ นมแม่แฮปปี้ ที่กล่าวถึงการอุ้มลูกแบบที่เรียกว่า Magic hold หรือ Colic hold หรือ Tiger in the tree แล้วแต่ใครจะเรียกชื่อแบบใด แต่จุดประสงค์หลักของท่าอุ้มที่มีชื่อทั้งสามแบบนั้นเหมือนกัน นั่นคือ การให้ทารกสบายตัว สบายท้อง ได้รับความรู้สึกอบอุ่นเหมือนดั่งอยู่ในท้องแม่ มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้คุณพ่อคุณแม่ได้ใช้สยบเจ้าตัวน้อย ให้หยุดร้องไห้ งอแงกัน

ให้ลูกนอนหงาย ร้องไห้งอแง
ให้ลูกนอนหงาย ร้องไห้งอแง

ท่าอุ้มมหัศจรรย์

ทารกชอบนอนงอเข่า หากเราลองสังเกตลูกในวัยทารกดูแล้ว จะเห็นได้ว่า เจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่นั้นมักจะนอนงอเข่า นอนคุดคู้ แต่พอเราจับลูกนอนเหยียดตรง เขามักนอนได้ไม่นาน นอนผวา เพราะให้ความเป็นจริงแล้ว ทารกยังคงเลียนแบบท่าเหมือนดั่งตอนที่อยู่ในท้องของแม่ หรือท่าคดตัวให้กระดูกสันหลังอยู่ในท่า C shape นั่นเอง

ท่าอุ้มแบบ Magic hold มีวิธี และหลักการจัดท่าลูกน้อย ดังนี้

  • อุ้มลูกนั่งตักของคุณพ่อ หรือคุณแม่
  • ใช้มือช้อนตัวลูกไว้ ให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำบนมือของคุณพ่อ หรือคุณแม่
  • มือประคองหัวที่ท้ายทอยของลูกไว้ ให้หน้าลูกหันไปทางด้านใดด้านหนึ่ง นอนซบลงบนแขนของเรา
  • จับขาลูกงอเข่าขึ้นมาชนถึงพุง แล้วใช้มือจับเข่าลูกให้งอไว้ ทำให้มือของเราจะอยู่ตำแหน่งที่ขวางหน้าอกลูก เหมือนสายสะพายนางงาม
ท่าอุ้มงอขาไม่ทำให้ กระดูกสันหลังคด
ท่าอุ้มงอขาไม่ทำให้ กระดูกสันหลังคด

อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองอุ้มลูกท่านี้ดู แล้วจะพบว่าส่วนใหญ่ลูกจะยอมสงบ ไม่ร้องไห้งอแง และช่วยให้ลูกเรอ ผายลม หรือขับถ่ายออกมาได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้าหากว่าลูกมีร้องไห้งอแงเพราะมีอาการท้องอืดมาก ๆ ก็สามารถอุ้มให้ก้นลูกอยู่ต่ำกว่าไหล่ อย่าให้ก้นสูงเท่าไหล่ ซึ่งท่านี้จะดีกว่าท่าอุ้มพาดบ่า ตรงที่ถ้าลูกแอ่น และเงยหน้ามาด้านหลัง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถขยับลูกมาใกล้ตัวชิดอกเรา ทำให้มีอกของคุณพ่อคุณแม่กั้นไว้ไม่ให้ลูกหงายหลังได้

นอกจากนี้ยังสามารถพาลูกเดิน โดยไม่เหวี่ยง ไม่แกว่งลูก แต่ตัวเราเองที่อุ้มลูกเดินโยกซ้ายขวา  ย้ายน้ำหนักจากเท้าซ้ายไปเท้าขวา เหมือน ballroom dancing เท่านี้ลูกก็เหมือนได้ขยับตัวไปมา ก็จะช่วยให้อาการท้องอืดของลูกคลายตัวลงได้ ทำให้ลูกเรอ และผายลมออกมาง่ายขึ้น เมื่อลูกสบายท้อง อาการร้องไห้โยเยก็จะลดลง

นอนงอขาหลับสบาย ไม่ห่วง กระดูกสันหลังคด
นอนงอขาหลับสบาย ไม่ห่วง กระดูกสันหลังคด

โดยหลักการสำคัญของท่าอุ้มแบบ Magic hold นี้คือ ท่านอนคว่ำ และงอขาลูกขึ้นมาชนพุง ทำให้กระดูกสันหลังลูกงอเป็นตัว C (C -shape) ซึ่งเป็นรูปทรงแบบเดียวกันกับท่าที่ลูกนอนขดตัวตอนอยู่ในท้องของคุณแม่ เขาจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย จึงสงบ นอนได้ไม่ผวา

อ่านต่อ แนะ 2 วิธีห่อตัวทารก สุดง่ายด้วยผ้าอ้อมเพื่อพ่อแม่มือใหม่โดยเฉพาะ

จาก C ถึง S พัฒนาการกระดูกสันหลังของลูกน้อย

จากข้อกังวลของคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องของการอุ้มลูกในท่า Magic hold แล้วจะทำให้ลูกหลังงอ กระดูกสันหลังคด หรือไม่นั้น หากมาดูข้อมูลของพัฒนาการของกระดูกสันหลังของเด็กทารกกันแล้ว จะสามารถตอบข้อสงสัย คลายกังวลในเรื่องนี้ไปได้อย่างแน่นอน

คำว่า “ยืนตัวตรง” นั้นหากพิจารณาถึงรูปทรงของกระดูกสันหลังของมนุษย์แล้วนั้นคงเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะกระดูกสันหลังของคนเรานั้นหากมองด้านข้างจะพบว่าไม่ได้มีรูปทรงเป็นเส้นตรงแต่อย่างใด แต่กลับมีรูปเป็นตัว S ที่ยาวขึ้นหากได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเป็นปกติ

c-shapeไม่ใช่ กระดูกสันหลังคด
c-shapeไม่ใช่ กระดูกสันหลังคด

เริ่มต้นที่ C-shape

เมื่อทารกแรกเกิดกระดูกสันหลังของเขาจะมีส่วนโค้งนูนเป็นรูปตัวอักษร C การเรียงตัวของกระดูกสันหลังนี้เรียกว่าเส้นโค้งปฐมภูมิและพัฒนาในขึ้นตั้งแต่ในมดลูกของแม่แล้ว เมื่อคลอดออกมาเป็นเด็กทารกแรกเกิด จึงยังไม่สามารถพยุงหัวและคอให้ตั้งขึ้นได้ จึงจะสังเกตได้ว่าทารกแรกเกิดมักจะงอขาขึ้นมา คดตัวนอนคุดคู้ เพราะเป็นท่าที่ทำให้เขารักษาแนวโค้งของหลังของตัวเองได้ ช่วยลดแรงกดที่กระดูกสันหลังและสะโพกการงอตัวของทารกเป็นรูปตัว C ยังเป็นท่าที่สงบที่สุดสำหรับลูกน้อยของคุณ เนื่องจากทำให้ใช้ออกซิเจนน้อยลง และประหยัดพลังงาน ทำให้ร่างกายจะเสียแคลอรี่น้อยลง  และช่วยให้การย่อยอาหารได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดสำหรับการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายอีกด้วย

เดินหน้าสู่ S-shape เริ่มจาก curve ส่วนบน

ช่วงวัย 2-3 เดือนลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพยายามเงยหน้า ชันคอขึ้นมามองรอบ ๆ ตัว นั่นคือพัฒนาการพัฒนากระดูกสันหลังของทารกไปสู่ตัว S โดยจะพัฒนาจากโค้งส่วนบนก่อน วิธีการที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกสามารถผ่านพัฒนากระดูกสันหลังในวัยนี้ไปได้ด้วยดี มีดังนี้

  • ให้ลูกได้นอนคว่ำ โดยมีคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ นอกจากจะคอยระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ลูกยังไม่สามารถช่วยตัวเองชันคอได้ดีพอแล้ว ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกอยากเคลื่อนไหว มองดูรอบ ๆ ตัว โดยคุณแม่อาจใช้ของเล่นมีเสียงช่วยเรียกความสนใจอีกแรงก็ได้
  • ให้ลูกรู้สึกสบายตัวก่อนอยากเรียนรู้ โดยสบายตัวทั้งภายในร่างกาย เช่น กินอิ่ม นอนพอ และปัจจัยภายนอก เช่น พื้นที่นอนคว่ำต้องเรียบ ไม่แข็งไป ใส่เสื้อผ้าที่ขยับตัวได้สะดวก หรืออาจไม่ต้องใส่เลยก็ได้ เพราะเขาจะได้คล่องตัว ไม่ลื่น
  • ตั้งเป้าฝึกลูกอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน โดยอาจแบ่งเป็นช่วง ๆ ช่วงเวลา 5-10 นาทีต่อครั้ง ไม่เร่งลูกจนเกินไป
s shape พัฒนาการกระดูกสันหลังสมบูรณ์
s shape พัฒนาการกระดูกสันหลังสมบูรณ์

เส้นโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเดินตัวตรง

กระดูกสันหลังโค้งสุดท้ายของพัฒนาการกระดูกสันหลัง คือ โค้งส่วนล่างที่เรียกว่า Lumbar Curve เส้นโค้งบั้นเอวเริ่มพัฒนาเมื่อลูกน้อยของคุณเริ่มคืบคลานและคลาน เพื่อให้เส้นโค้งบั้นเอวและกล้ามเนื้อโดยรอบพัฒนาอย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ ควรให้ลูกน้อยของคุณมีโอกาสคลานให้มากที่สุด เส้นโค้งบั้นเอวช่วยในการจัดท่าทางที่เหมาะสม ลูกน้อยของคุณแม่จะพัฒนากระดูกสันหลังได้สมบูรณ์ระหว่าง 12-18 เดือนเมื่อเขาสามารถเดินตัวตรงได้แล้ว

จากพัฒนาการกระดูกสันหลังทำให้เราสามารถตอบข้อกังวลของคุณพ่อคุณแม่ได้เลยว่า การที่เราอุ้มลูกแบบงอเข่าเข้าชิดพุงลูก แบบ Magic hold นั้นไม่ได้เป็นการทำให้กระดูกสันหลังคด หรือทำให้ลูกหลังงอแต่อย่างใด ซ้ำยังเป็นการดีต่อการพัฒนากระดูกสันหลังของลูกด้วยอีกต่างหาก ดังนั้น หากลูกมีอาการงอแง ร้องไห้โยเย นอกจากเราจะหาสาเหตุ และช่วยแก้ปัญหาที่ลูกร้องให้ได้แล้ว การอุ้มลูกแบบ C-shape ให้เขารู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับเจ้าตัวน้อยเวลางอแงได้ดีทีเดียว

อ่านต่อ แชร์ประสบการณ์ผ่าตัด กระดูกสันหลังคดในเด็ก ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

สิ่งที่จะขัดขวางการพัฒนากระดูกสันหลังของลูก 

หากคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าลูกจะมีกระดูกสันหลังคด หลังงอ เราควรทำให้ลูกสามารถพัฒนากระดูกสันหลังของเขาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะมาขัดขวางการพัฒนา ก็จะทำให้ร่างกายของลูกพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เหมาะสม ไม่ต้องกังวลกับท่าอุ้มงอขาของลูก เพราะถึงแม้ว่าเราจะจับลูกนอนเหยียดตรงสุดท้ายเขาก็จะกลับมาสู่ท่างอตัวดังเดิมอยู่ดี ดังนั้นมาดูสิ่งที่จะเป็นตัวขัดขวางการพัฒนากระดูกสันหลังของลูกกันดีกว่า

กระตุ้นพัฒนาการกระดูกสันหลังเริ่มตั้งแต่ทารก
กระตุ้นพัฒนาการกระดูกสันหลังเริ่มตั้งแต่ทารก
  1. การไม่ปล่อยให้ลูกมีอิสระในการเคลื่อนไหว ของเล่นบางอย่าง เช่น รถหัดเดิน หากเราวางลูกไว้แต่ในรถหัดเดิน เขาจะไม่มีโอกาสได้ขยับร่างกายด้วยตัวเอง การพัฒนากระดูกสันหลังของลูกก็จะไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจทำให้พัฒนาการของลูกน้อยล่าช้าหรือสร้างปัญหากระดูกสันหลังในระยะยาวได้
  2. เมื่อลูกน้อยของคุณอยู่ในท่านั่งก่อนที่เขาจะพร้อมสิ่งนี้จะทำให้น้ำหนักศีรษะของลูกอยู่บนกระดูกสันหลังทั้งหมด เมื่อกระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อโดยรอบยังไม่พัฒนาความแข็งแรงในการรองรับน้ำหนักนี้อย่างเหมาะสมอาจทำให้เสี่ยงต่อการเสื่อมของกระดูกสันหลังหรือมีปัญหากับอวัยวะรอบข้าง ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ของเล่น เช่น exersaucers จัมเปอร์ หรือที่นั่งสำหรับเด็กจนกว่าลูกของคุณจะนั่งได้ด้วยตัวเอง แม้กระทั่งเมื่อลูกน้อยของคุณสามารถพยุงตัวในท่านั่งได้แล้วควรใช้ของเล่นเหล่านี้ในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากลูกไม่มีอิสระในการเคลื่อนไหว ลูกน้อยของคุณยังมีกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวอื่น ๆ อีกมากมายที่จะต้องพัฒนา เช่น กล้ามเนื้อท้อง เพื่อช่วยส่งเสริมการคลานและการเดินในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก intellidancemethod.com / Pobpad.com / นมแม่แฮปปี้

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ท่าซุปเปอร์แมน ท่าเซิ้งกระติ๊บ ทำให้ลูกหยุดร้องไห้

ทารกนอนคว่ำ เสี่ยงหลับไม่ตื่น ไหลตายไม่รู้ตัว

ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้อง มีกี่ท่า?

6จุดนวดมือลูก…กระตุ้นพลังสมองช่วย ระบบย่อยอาหาร

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up