ยายดื้อป้อนกล้วยทารก

สุดเศร้า! ยายดื้อป้อนกล้วยทารก เกิดมาแค่ 10 วันก็ต้องจบชีวิต

Alternative Textaccount_circle
event
ยายดื้อป้อนกล้วยทารก
ยายดื้อป้อนกล้วยทารก

สุดยื้อ ทารกแรกเกิดที่เกิดมาเพียง 10 วันก็ต้องจากโลกนี้ไป สาเหตุจาก ยายดื้อป้อนกล้วยทารก ถึงจะเสียใจแต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว

ยายดื้อป้อนกล้วยทารก

“ก็ฉันเลี้ยงแกมาแบบนี้” “ตอนแกตัวเท่านี้ไม่เห็นเป็นไรเลย” “ใคร ๆ ก็เลี้ยงแบบนี้” สารพัดคำพูดจากความเชื่อโบราณที่ต้องการป้อนอย่างอื่น นอกเหนือจากนมแม่ให้กับทารก จนกลายเป็นเหตุการณ์น่าสะเทือนใจ เช่นเดียวกับอุทาหรณ์ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อคุณยายดื้อดึงที่จะป้อนกล้วยบดให้กับทารกอายุเพียง 10 วัน จนกลายเป็นเรื่องราวน่าเศร้า

เว็บไซต์เดอะคัฟเวอร์เรจของมาเลเซีย นำเสนอข่าวที่ถูกแชร์กันอย่างถล่มทลายในโซเชียลมีเดีย เปิดเผยเรื่องราวของคุณยายท่านหนึ่ง ที่ป้อนกล้วยบดให้กับหลานแทนน้ำนมแม่ โดยเฟซบุ๊ก Lia Imelda Siregar ได้โพสต์เรื่องราวนี้ว่า คนสมัยก่อนคิดว่าการป้อนกล้วยบดทารกไม่เป็นไร แต่สมัยนั้นไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลงที่อันตราย อย่างกรณีคุณยายคนนี้ที่ดื้อป้อนกล้วยบดให้หลานอายุเพียง 10 วัน ทำให้เสียชีวิต

ในรายงานข่าวบอกไว้ว่า ทารกแรกเกิดรายนี้กินกล้วยบดเป็นเวลา 10 วัน จนทารกถ่ายอุจจาระออกมาเลือด พร้อมกับกลิ่นฉุนรุนแรง จึงรีบส่งตัวไปยังห้องฉุกเฉิน แต่ไม่นานอาการของทารกตัวน้อยก็ทรุดหนัก เกิดภาวะช็อค มีเลือดออกทางจมูก ปาก และทวารหนัก จนแพทย์ยื้อชีวิตทารกน้อยไว้ไม่ไหว สิ้นใจในที่สุด

ยายดื้อป้อนกล้วยทารก
ยายดื้อป้อนกล้วยทารก

ตัวคุณยายเองในตอนแรกก็ยังไม่อยากจะเชื่อว่า การป้อนกล้วยบดเป็นสาเหตุให้หลานชายสุดที่รักต้องเสียชีวิต เธอเล่าว่า ทุกครั้งที่หลานชายร้องหิวนมก็จะป้อนกล้วยบดให้ เพราะในสมัยก่อนก็ทำเช่นนี้กับลูกสาวของตัวเอง

คุณยายเล่าเรื่องนี้ด้วยน้ำตานองหน้าว่า รู้สึกเสียใจอย่างที่สุดกับสิ่งที่ทำลงไป แม้ว่าพยาบาลผดุงครรภ์จะเตือนแล้ว แต่ก็ยังดึงดันป้อนกล้วยบด โดยหลานชายเกิดมาด้วยน้ำหนักตัวแรกเกิด 1.8 กิโลกรัม แต่ผ่านไป 10 วัน น้ำหนักก็ลดลงเหลือ 1.3 กิโลกร้ม

แม้จะรู้สึกโศกเศร้าเสียใจและรู้สึกผิด แต่ก็สายเกินไป ชีวิตของทารกน้อยไม่อาจย้อนกลับมาได้ เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญให้กับปู่ย่าตายายที่ต้องการป้อนอาหารชนิดอื่นแทนนมแม่ เพราะลำไส้ของเจ้าตัวน้อยยังไม่พร้อมรับสิ่งใดนอกจากน้ำนม

ยายดื้อป้อนกล้วยทารก
ยายดื้อป้อนกล้วยทารก

ทารกควรกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน

องค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ แนะนำว่า ทารกควรกินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารชนิดอื่น เนื่องจากธรรมชาติได้สร้างให้นมแม่ มีสารอาหารครบถ้วน มีน้ำมากเพียงพอสำหรับเจ้าตัวน้อย นมแม่ยังย่อยง่ายดีต่อท้องเล็ก ๆ ของลูก นมแม่ยังสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของทารก ที่มีระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่

นมแม่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ช่วยให้ทารกเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง มีประโยชน์ต่อสมอง จอประสาทตา ส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย เด็กจึงเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะน้ำนมแม่ในระยะ 1-7 วันแรก ที่มียอดน้ำนมหรือหัวน้ำนม (โคลอสตรัม) อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หัวน้ำนม จึงเปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพิ่มภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด และหูอักเสบ

ผลเสียจากการป้อนอาหารก่อนวัยอันควร เป็นอย่างไร

ทารกอาจมีอาการผิดปกติ เช่น

  • ท้องอืด
  • อาหารไม่ย่อย
  • ท้องผูก
  • ท้องเสีย
  • แพ้อาหาร

ที่อันตรายยิ่งกว่านั้น ทารกยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลำไส้อุดตัน ดังนั้น ต้องรอเวลาให้เจ้าตัวน้อยมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงให้เริ่มมื้อแรก จากนั้นป้อนอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก และผลไม้ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ โดยมื้อแรก ๆ ควรให้อาหารในปริมาณน้อย มีความเหลว เจ้าตัวน้อยจะได้ค่อย ๆ ฝึกกลืน ดีต่อกระบวนการย่อย สำหรับช่วงเวลาในการให้อาหารเสริมชนิดใหม่ ควรให้ทารกลองในตอนเช้าหรือกลางวัน พร้อมกับสังเกตอาการหลังได้รับอาหารอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพ้อาหาร เมื่อลูกกินดีแล้ว ค่อยเพิ่มปริมาณและความเข้มข้นของอาหารเสริม

ทำไมคนโบราณใช้กล้วยเลี้ยงเด็กทารกได้

เพจความรู้สนุกๆแบบหมอแมว ได้โพสต์ในหัวข้อ ทำไมคนโบราณใช้กล้วยเลี้ยงเด็กทารกได้ แต่หมอแผนปัจจุบันไม่ค่อยอยากให้ใช้ โดยมีใจความสำคัญว่า กล้วยทุกชนิดที่เป็นกล้วยดิบ เนื้อกล้วยจะมีแป้งเป็นส่วนประกอบมากกว่าน้ำตาล มีส่วนที่ไม่สามารถย่อยได้ในทางเดินอาหารมนุษย์อยู่ในสัดส่วนที่สูง เมื่อกินไปแล้วจึงท้องผูก ท้องอืด ปวดท้องได้ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เป็นได้ ทารกซึ่งมีความสามารถในการย่อยแป้งน้อยกว่าผู้ใหญ่จึงเสี่ยงต่ออันตราย การเลือกกล้วยให้เด็กทารกกินของคนสมัยก่อนจะเป็นกล้วยสุกงอม สีเปลือกเป็นสีดำบ้างแล้ว เนื้อภายในนุ่มเละ บางคนยังเคี้ยวกล้วยก่อนป้อนทารก ทำให้เอนไซม์อะไมเลสจากน้ำลายช่วยย่อยแป้งในกล้วย แต่ปัจจุบันเลือกกล้วยสีเหลืองสวยงาม บางคนเลือกกล้วยหอมซึ่งมีแป้งที่ย่อยไม่ได้มากกว่ากล้วยน้ำว้า ทั้งยังไม่เคี้ยวกล้วยหรือข้าวในปากแล้วคายไปป้อนเด็กเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ทางเดินอาหารของทารกก็ยังไม่เหมือนกัน บางคนเริ่มย่อยได้ดีตั้งแต่อายุ 3 เดือน แต่บางคนไม่ กลายเป็นลำไส้อุดตันในที่สุด

อย่าลืมนะคะ ทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนจำเป็นต้องกินนมแม่อย่างเดียว เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ปลอดภัยกับลำไส้ กระเพาะน้อย ๆ ของเจ้าตัวน้อย และไม่ควรป้อนอาหารชนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายกับทารก

 

อ้างอิงข้อมูล : facebook.com/HmxMaew, thecoverage.my และ springnews

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ไขบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร ไขบนหัวทารก ดูแลอย่างไรให้หาย

มือ เท้า ปาก หน้าฝน ระบาดหนัก! เจอ 8 อาการนี้ต้องพาลูกไปหาหมอ

6จุดนวดมือลูก…กระตุ้นพลังสมองช่วย ระบบย่อยอาหาร

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up