หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็ก

อ่วม WHO เผยโรคหัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกพุ่ง!!

Alternative Textaccount_circle
event
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็ก
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็ก

องค์การอนามัยโลกเผยยอดเด็กเสียชีวิตด้วยโรคหัด หัดเยอรมัน พุ่งกว่าสองแสนราย หัดเป็นโรคที่ติดต่อง่าย แต่ป้องกันง่าย ๆได้ด้วยวัคซีน ฉีดเมื่อไหร่อย่างไรมาดูกัน

อ่วม..WHO เผยโรคหัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกพุ่ง!!

เมื่อลมหนาวมาเยือน บอกถึงการมาของฤดูหนาว สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลกับการมาของลมหนาว คือ โรคระบาดต่าง ๆ ที่มากับหน้าหนาวโดยเฉพาะโรคหัด หัดเยอรมัน ที่แม้ว่าจะเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่มักจะพบบ่อยในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน (ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ถึงสิงหาคม) โรคหัด เป็นโรคที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสถิติที่ได้จากข้อมูลการรายงานจากองค์การอนามัยโลก WHO และ ศูนย์ควบคุมโลก CDC ของสหรัฐอเมริกา (2563) พบว่า โรคหัด (Measles) ได้คร่าชีวิตเด็ก ๆ ทั่วโลกประมาณ 207,500 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อโรคหัดทั่วโลกจำนวนสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ 869,770 รายในปีที่ผ่านมา

หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลก
หัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลก

เฮนเรียลตา ฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารของกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ UNICEF ระบุในแถลงการณ์ว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 นั้น โลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคหัด หัดเยอรมัน และโรคดังกล่าวก็ยังไม่ได้หายไป อันเนื่องมาจากประเทศต่าง ๆ ประสบความล้มเหลวในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคหัดที่มีประสิทธิภาพ และยิ่งมีการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้กับประชาชน

โดยประชาชนมากกว่า 94 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัดใน 26 ประเทศซึ่งได้ระงับการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด แม้ว่าการระบาดในประเทศนั้น ๆ ยังคงมีจำนวนมากก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการเสียชีวิตจากโรคหัดในปี 2562 เพิ่มขึ้น 50% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2559 ขณะที่มีผู้ติดเชื้อหัดเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก

วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันนั้น…สำคัญไฉน??

โรคหัด และหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่จะให้มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคนั้น เด็ก 95% ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างถูกต้อง และครบโดส มาดูกันว่าการฉีดวัคซีนป้องกันนั้นควรฉีดเมื่ออายุเท่าไหร่ และต้องฉีดเท่าไหร่จึงจะนับว่าครบโดส

วัคซีนป้องกันโรคหัด

โดยปกติวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นวัคซีนตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ ต้องฉีดให้เด็กทุกคนที่อายุระหว่าง 9 ถึง 12 เดือน ฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันโรคหัดได้ตลอดไป และให้ฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ปี วัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยว และชนิดที่รวมกับวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันและโรคคางทูม (MMR) ในเข็มเดียวกัน การขอรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวในประเทศไทย สามารถขอได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลทั่วไป

วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน
วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน

วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงในการคลุกคลีกับผู้ป่วย ซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาได้โดยง่าย และควรมีการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขจะมีการฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ทั้งหมด 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 2½ ปี แต่ในบางรายที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสกับโรค แพทย์อาจมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นภายในช่วง 6 เดือนแรก และฉีดเข็มที่ 2 ภายในอายุ 2½ ปี แต่ควรมีระยะเวลาห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน

ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ แต่หากไม่ได้รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการฉีดทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป และเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดกับทารกขณะอยู่ในครรภ์ สำหรับหญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจเลือด หรือระบบภูมิคุ้มกันโรคตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บุคคลบางกลุ่มควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายขึ้นได้ เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนีโอมัยซิน (Neomycin) แพ้เจลาติน (Gelatin) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติของเลือด หรืออยู่ในช่วงการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนบางราย เช่น อาการบวมแดงหรือระบมบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ปวดตามข้อ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง และอาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน

เลี่ยงได้เลี่ยง…มาทำความรู้จักกับโรคร้ายกัน

โรคหัด (Measles หรือ Rubeola) เกิด จากเชื้อไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus) พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โรคหัดเกิดได้กับทุกอายุ และพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2 ถึง 14 ปี แต่ไม่ค่อยพบในทารกที่อายุน้อยกว่า 6 ถึง 8 เดือนเนื่องจากทารกเหล่านี้มีภูมิต้านทานที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาด ของโรค นอกจากนี้ผู้ที่อาศัยอยู่รวมกันหนาแน่น หรือในศูนย์อพยพ วัด โรงเรียน ฯลฯ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคหัดได้

ผื่นแดง อาการโรคหัด
ผื่นแดง อาการโรคหัด

อาการของโรคหัด

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มมีอาการ ช่วงแรกอาการคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ก็ไม่ลด อ่อนเพลีย ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม บางรายอาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน หรืออาจชักจากไข้ ต่อมาผื่นจะขึ้นเริ่ม ลักษณะเฉพาะของโรคหัดคือมีไข้สูง 3 ถึง 4 วันแล้วจึงเริ่มมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด โดยเริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ผิวหนังโดยรอบอาจเป็นสีแดงระเรื่อ บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปทันทีแต่จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้น หลังจากผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก โรคหัดส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย

โรคแทรกซ้อน

มักพบในเด็กขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือ โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วง ซึ่งมักพบหลังผื่นขึ้น หรือเมื่อไข้เริ่มทุเลาแล้ว โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้คือ โรคสมองอักเสบ นอกจากนี้ขณะที่เป็นโรคหัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลงทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น

โรคหัดเยอรมัน (Rubella) เกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่า (Rubella) มักพบการระบาดในโรงเรียน โรงงาน สถานที่ ทำงาน และระบาดบ่อยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เชื้ออยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้อหัดเยอรมันอยู่ เชื้อนี้มีชีวิตอยู่ในร่างกายคนได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อแล้วจะยังไม่เกิดอาการทันที ใช้เวลาประมาณ 14 ถึง 21 วันจึงเริ่มเกิดอาการ อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากมักไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง แต่ถ้าสตรีมีครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมันในช่วงอายุครรภ์ 3 ถึง 4 เดือนแรก จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทารกในครรภ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาพิการ เช่น สมองฝ่อ หูหนวก ต้อกระจกตา โรคหัวใจ คนที่เคยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคนี้ไปตลอดชีวิต

หัดเยอรมันมีความคล้ายคลึงกับโรคหัด โดยมักมีอาการออกผื่น ไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโตเหมือนกัน แต่เป็นการติดเชื้อไวรัสคนละชนิดและมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ทั้งนี้ ในประเทศไทยอาจมีชื่อเรียกอื่นว่า โรคเหือด หรือโรคหัด 3 วัน

ไอ จาม มีน้ำมูก การแพร่เชื้อ หัดเยอรมัน
ไอ จาม มีน้ำมูก การแพร่เชื้อ หัดเยอรมัน

อาการของโรคหัดเยอรมัน

อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรกค่อนข้างมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้

  • มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส)
  • ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู
  • มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม และเมื่อผื่นหายมักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไป และมักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ไม่อยากอาหาร
  • เยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีอาการบวม
  • ปวดข้อ และข้อต่อบวม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการของโรคได้เช่นกัน อาการของโรคที่เกิดในเด็กจะร้ายแรงน้อยกว่าเมื่อเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้อาการของโรคจะคงอยู่ไม่นานประมาณ 2-3 วัน ยกเว้นในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมอาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ดังนั้น หากพบอาการคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่อาจส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้

โรคแทรกซ้อน

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขณะติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน โรคแทรกซ้อนที่พบได้คือ สมองอักเสบ ข้อนิ้วมื้อนิ้วเท้าอักเสบ ผู้หญิงที่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกที่เกิดมามีความพิการได้

วัคซีนป้องกัน หัดเยอรมัน ลดสถิติเสียงชีวิตเด็ก
วัคซีนป้องกัน หัดเยอรมัน ลดสถิติเสียงชีวิตเด็ก

การประกาศรายงานสถิติยอดเสียชีวิต และติดเชื้อของผู้ป่วยโรคหัด หัดเยอรมันของทางองค์การอนามัยโลก หรือWHO นั้นเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ทั่วโลกเฝ้าระวัง ตื่นตัว และหันมาสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะความจริงแล้วการป้องกันโรคหัด หัดเยอรมันเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลลัพธ์ที่ดี เพียงแค่ให้เด็กได้รับวัคซีนป้องกัน ก็จะมีผลคุ้มครองไปตลอดยังชั่วชีวิตของเขา ดังนั้นการที่ให้ทั่วโลกตระหนัก และช่วยกันหยุดยั้งสถิติการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลกจึงเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ โดยพ่อแม่สามารถทำได้ด้วยการไม่ละเลยในการพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่มีแจ้งในสมุดบันทึกสุขภาพของลูกน้อย เพียงเท่านี้เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหยุดยั้งสถิติโลกที่พุ่งนี้ให้ลดลงจนอาจกลายเป็นศูนย์เข้าสักวันก็เป็นได้

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก pobpad/today.line.me /สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

อ่านบทความดี ๆ ต่อคลิก

โรคหัดเยอรมัน อันตราย ที่คนท้องต้องระวัง ควรฉีดวัคซีนก่อนท้องนานแค่ไหน

“ฝึกลูกนอนคว่ำ” อันตราย! เสี่ยงขาดอากาศหายใจ

9 วัคซีนสำหรับผู้หญิง ที่จำเป็นต้องฉีด!

ไวรัส RSV ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ อันตรายรุนแรงได้คล้ายอาการ RSV ในเด็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up