โรคที่มากับหน้าฝน

6 โรคที่มากับหน้าฝน ในเด็กที่ต้องระวัง รู้เท่าทันป้องกันลูกป่วย

Alternative Textaccount_circle
event
โรคที่มากับหน้าฝน
โรคที่มากับหน้าฝน

เข้าสู่หน้าฝน อากาศในช่วงนี้จะเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี ส่งผลให้เกิด โรคที่มากับหน้าฝน โดยเฉพาะในเด็กที่ระบบภูมิต้านทานในร่างกายยังไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้ป่วยง่าย มาทำความรู้จักกับโรคที่แฝงมากับหน้าฝนที่เด็กมักเป็นกัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมรับมือและดูแลสุขภาพของลูกน้อยเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกป่วยกันค่ะ

6 โรคที่มากับหน้าฝน ในเด็กที่ต้องระวัง รู้เท่าทันป้องกันลูกป่วย

โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่

1.โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้เกือบทั้งปี แต่จะระบาดมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยพบไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทั่วไป เพียงแต่รับเชื้อมาจากสัตว์ เช่น นกหรือหมู หากร่างกายของคนที่ไม่เคยมีภูมิต่อโรคก็จะมีโอกาสที่จะติดและเป็นง่าย สามารถติดต่อกันได้ทางการหายใจ เมื่อไอหรือจาม เชื้อจะเข้าทางจมูกหรือปาก โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม เด็ก ๆ อาจได้รับเชื้อจากเพื่อนที่โรงเรียนได้ง่าย

สังเกตอาการ ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เด็กที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ตัวร้อน ปวดหัว รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก  มีน้ำมูกใส ๆ  หากมีอาการรุนแรงอาจมีโรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัดก็คือไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น

วิธีป้องกัน ไข้หวัดใหญ่

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ฉีควัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยแพทย์จะแนะนำให้ฉีดประมาณ 1- 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาด และหากลูกต้องไปโรงเรียนหรือออกนอกบ้านควรป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขอนามัย จะเป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี ในเด็กที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ควรให้หยุดพักรักษาตัว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อกระจายไปสู่คนอื่น

โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส

2.โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคยอดฮิตที่พ่อแม่คุ้นเคยกันตั้งแต่เมื่อตอนเป็นเด็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ (varicella zoster virus)เป็นโรคที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ติดต่อได้โดยการหายใจเอาฝอยละอองจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยเข้าไป หรืออาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับตุ่มน้ำที่ผิวหนังของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ คือ 1-2 วันก่อนผื่นขึ้นจนกระทั่งผื่นตกสะเก็ดหมด และระยะฟักตัวของโรคประมาณ 10-21 วัน แต่โดยเฉลี่ยคือประมาณ 14-17 วัน หลังจากได้รับเชื้อโรค หรือสัมผัสผู้ป่วย โดยทั่วไปจะพบอัตราการป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี มักจะพบในเด็กที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคนี้หรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่ตรงตามวัย บางรายเป็นตอนเด็ก หรือบางรายอาจเป็นตอนโต ซึ่งถ้าเป็นในตอนโตจะมีอาการและการขึ้นตุ่มที่รุนแรงกว่า และบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาวะของร่างกายด้วยเมื่อระบาดแล้วโรคจะติดต่อกันเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน

สังเกตอาการ อีสุกอีใส

หลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โรคอีสุกอีใสจะแสดงอาการภายใน 8-21 วัน เริ่มจากเด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีผื่นเริ่มจากลำตัว ใบหน้า และลามไปแขนขา บางรายอาจพบตุ่มในช่องปากและเยื่อบุต่าง ๆ ลักษณะผื่นตอนแรกจะเป็นผื่นแดง มักมีอาการคันร่วมด้วย และจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ เมื่อสังเกตว่าลูกมีอาการ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยรักษาด้วยยาต้านไวรัสซึ่งอาจทำให้ระยะการเป็นโรคสั้นลง ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงอาจให้ยาลดไข้กลุ่มพาราเซทามอล  อาจใช้ยาทาในการรักษา เช่น คาลาไมน์เพื่อบรรเทาอาการคัน หรือยารับประทานกลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกา เพราะอาจเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

วิธีป้องกัน อีสุกอีใส

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี สามารถเริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอน 4 ขวบ สำหรับผู้ใหญ่และเด็กอายุเกิน 12 ปี ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม พบว่าร้อยละ 99 ของผู้รับจะเกิดภูมิต้านทานต่อโรค ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจัดเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด นอกจากการฉีดวัคซีนแล้วการดูแลสุขภาพรักษาร่างกายลูกให้แข็งแรง ฝึกให้เด็กหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลังสัมผัสสิ่งของ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ สำหรับเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสควรหยุดเรียนและให้แยกตัวจากผู้อื่นจนกว่าผื่นตกสะเก็ดจะหมด

โรคตาแดง
โรคตาแดง

3.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง

โรคตาแดง (Conjunctivitis หรือ Pink eye) ถือว่าเป็นโรคติดต่อในอันดับต้น ๆ ที่พบได้บ่อยมากในกลุ่มเด็ก และระบาดอย่างยิ่งในช่วงหน้าฝน ซึ่งเกิดจากติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อไวรัส adenovirus ที่มาพร้อมกับโรคหวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง เช่น ไอ จาม หายใจรดกัน การใช้สิ่งของร่วมกัน การสัมผัสกับขี้ตาหรือน้ำตาที่ติดอยู่บนมือหรือสิ่งของคนที่ป่วยเป็นโรคตาแดง และเชื้อโรคชนิดนี้มักแพร่ระบาดได้ตามสถานที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันมาก ๆ จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายในโรงเรียนด้วย

สังเกตอาการ ตาแดง

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า ดวงตาของลูกมีความผิดปกติมีอาการตาขาวเป็นสีแดง ตาดูฉ่ำ ๆ เด็กขยี้ตา หรือกะพริบตาบ่อยกว่าปกติ หรือมีขี้ตาติดที่หัวตาหรือที่เปลือกตาโดยเฉพาะช่วงตื่นนอน นั่นคืออาการที่บ่งบอกถึงโรคตาแดงหรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ ในเด็กที่ติดเชื้อไวรัสจะมีอาการตาแดงอย่างรวดเร็ว ปวดเล็กน้อยในเบ้าตาเจ็บตา น้ำตาไหล รู้สึกคันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา เปลือกตาบวม อาจเกิดตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นบริเวณดวงตา ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาจะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน และอาจมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาทำให้ตาดูแดงจัด บางรายมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตและเจ็บ และมีโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ตาดำอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะหาย นอกจากนี้เด็กที่เป็นโรคตาแดงมักมีอาการของไข้หวัดมาก่อน เช่น เจ็บคอ มีไข้ เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน อาการของโรคตาแดงอาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ ในกรณีที่เป็นสองข้างจะเริ่มมีอาการที่ดวงตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามไปอีกข้างภายใน 2-3 วัน ระยะเวลาของโรคนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์

วิธีป้องกัน โรคตาแดง

โรคตาแดงเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากทั้งขี้ตาและน้ำตา และเนื่องจากโรคตาแดงไม่มียารักษาโดยตรง ในเด็กเล็กจะได้รับเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย การป้องกันไม่ให้ติดโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำได้โดยการหมั่นล้างมือให้บ่อยและสะอาด คุณแม่ต้องพยายามสอนให้ลูกอย่าขยี้ตา และเมื่อรู้ว่าลูกเป็นตาแดงควรให้เด็กหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตา เพราะจะทำให้อาการแย่ลงหรือทำให้ดวงตาอีกข้างติดเชื้อได้ ใช้กระดาษทิชชูชนิดนุ่มเช็ดขี้ตาหรือซับน้ำตาบ่อย ๆ แล้วทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิด และไม่ควรซื้อยาทาหรือยาหยอดตาเอง ควรพาลูกไปหาคุณหมอซึ่งคุณหมอจะตรวจวินิจฉัยและจ่ายยามาให้หยอดตา และอาการตาแดงของลูกนี้ก็จะดีขึ้นและหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งในระยะนี้ควรให้ลูกพักเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายสู่เพื่อนคนอื่น

โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก

4.โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปาก พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝนเกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) สามารถติดต่อได้ทางการไอ จาม สัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือสัมผัสทางอ้อม เช่น การสัมผัสผ่านของเล่น อาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ เป็นต้น มีระยะฟักตัวประมาณ 3 – 6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2 – 3 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1-2 สัปดาห์ หลังมีอาการ โดยโรคนี้มักจะพบมากในเด็กอนุบาลและประถม

สังเกตอาการ โรคมือเท้าปาก

อาการของโรคคือ เด็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2 – 3 วันจะมีผื่นแดงหรือ ตุ่มน้ำใสขนาดเล็กตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย แต่จะไม่มีอาการคัน และมีแผลร้อนในปากหลายแผล กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก ถ้าเป็นแล้ว เด็กบางคนจะรับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ เนื่องจากเจ็บปากมาก ในบางรายก็อาจไม่ยอมกลืนน้ำลาย ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นต้องระวังไม่ให้เด็กมีไข้สูงเกินไปจนอาจเกิดอาการชักได้ ดังนั้นหากสังเกตว่าเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งอาการไข้มักหายได้เองภายใน 3 – 7 วัน จากนั้นอาการอื่น ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และแม้จะดูว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม แต่โรคมือเท้าปากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่าเท้า  ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลไม่กี่จุดในลำคอหรืออาจมีตุ่มเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้าก็ได้ โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • ลูกมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม
  • บ่นปวดหัวมากจนทนไม่ไหว
  • มีอาการเพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ
  • ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน
  • มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่น ๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง
  • มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อย หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

วิธีป้องกัน โรคมือเท้าปาก

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาสุขอนามัยที่ดี ดื่มน้ำที่สะอาด รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และปรุงใหม่ สุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังและฝึกให้ลูกใช้ของใช้ส่วนตัวโดยไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ กระติกน้ำ ใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้งทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ หรือหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ควรรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็กและเครื่องใช้ส่วนตัวของลูก รวมทั้งถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงการให้ลูกคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคมือ เท้า ปากนี้ด้วย

โรค rsv
โรค rsv

5.โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เป็นอีกหนึ่งโรคที่เด็ก ๆ มักเป็นบ่อยในช่วงหน้าฝนโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด แต่เชื้อไวรัสนี้อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ ชื้อนี้ติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ติดเชื้อไวรัส RSV เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา หู จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ จับของเล่น จับสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งไวรัส RSV จะมีชีวิตยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมง โดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ เด็กเล็กสามารถรับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-6 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ

สังเกตอาการ RSV

อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV อาจคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา คือเด็กจะมีไข้ แต่ส่วนใหญ่ไข้จะไม่สูงนัก มีอาการไอ จาม หายใจลำบาก มีน้ำมูก ปวดหัว แต่มีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตเพิ่มเติมและสงสัยว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV คือ

  • ลูกมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว หายใจแรง มีเสียงหายใจครืดคราดหรือเป็นเสียงหวีด หายใจตื้นเร็ว สั้น ดูเหนื่อย หายใจลำบาก ปีกจมูกบานเวลาหายใจ
  • มีภาวะขาดน้ำ สังเกตจากเวลาลูกร้องไห้ งอแง แต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมา
  • มีอาการไข้สูงขึ้น ๆ ลง ๆ และมีน้ำมูกใส ๆ ไหลตลอดเวลา
  • มีอาการเบื่ออาหาร และอาการซึม
  • ไอรุนแรง จามบ่อย มีเสมหะมาก เสมหะสีคล้ำเขียว หรือสีเหลือง
  • ปลายนิ้ว เล็บ เริ่มเปลี่ยนสีเป็นเขียวคล้ำ ตัวลายเขียวจากการขาดออกซิเจน

หากลูกมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ในทันที เนื่องจาก ไวรัส RSV พัฒนาไปสู่โรคขั้นรุนแรงได้หากเชื้อลงไปสู่ระบบหายใจส่วนล่าง มันจะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม ทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตแต่ก็พบไม่มาก ซึ่งสาเหตุจากการเสียชีวิตเป็นเพราะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือเป็นเพราะการส่งผู้ป่วยมารักษาช้าเกินไป

ทั้งนี้สำหรับเชื้อไวรัส RSV มี 2 กลุ่มย่อย คือกลุ่ม A และ B ซึ่งมีความสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยครั้งแรกไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันอาการจะไม่รุนแรงมากเท่ากับในครั้งแรก

วิธีป้องกัน ไวรัส RSV

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ โดยทั่วไปการรักษาจะเป็นไปตามอาการที่ป่วย รวมถึงการดูแลเรื่องการหายใจและเสมหะ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ หรือพ่นยา ตามแต่อาการของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้  สำหรับการป้องกันโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้เด็ก ๆ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ทุกครั้ง หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น แยกการใช้ภาชนะส่วนตัว ป้องกันการติดเชื้อด้วยการใส่หน้ากากอนามัย หากลูกป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV คุณพ่อคุณแม่ควรแยกลูกเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อ ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์และรักษาให้หายดีเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ในเด็กบางรายถึงแม้จะหายแล้วก็ยังอาจมีอาการไอต่อเนื่องไปเป็นเดือนได้

ข้อมูล : www.khonkaenram.com

ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก

6.ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี เนื่องจากบริเวณแหล่งน้ำขังอันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่รุนแรงไม่มากนักไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

สังเกตอาการ ไข้เลือดออก

อาการที่สงสัยว่าลูกอาจจะเป็นไข้เลือดออกก็คือ อาการระยะแรกเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป มีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป กินยาลดไข้ไม่ลง ปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อหรือกระดูก มีอาการตาแดง หน้าแดง ปากแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นคล้ายผื่นของโรคหัด และอาจมีภาวะเลือดออกหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งมีลักษณะอาการเช่นเดียวกับโรคไข้เดงกี แต่ยังมีอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคไข้เลือดออก คือ

  • มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
  • หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบได้
  • ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวัน ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้ หน้ามืดและเป็นลม สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะช็อก หลังจากมีไข้สูง 2-7 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มคงที่ เมื่อผ่านไป 2-3 วัน จึงเข้าสู่ระยะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะมีแรงมากขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องดีขึ้น ระยะนี้มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่งจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

ดังนั้นหากสังเกตว่าลูกมีอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระยะแรก คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยว่าว่าลูกมีกลุ่มอาการตรงกับไข้เลือดออกหรือไม่และตรวจเลือดเพิ่มเติมต่อไป ไม่ควรรอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์

วิธีป้องกัน โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนหรือขามิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและใกล้เคียง เช่น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดปราศจากเศษวัสดุที่อาจมีน้ำขังได้ เช่น ขวดเก่า กระป๋องเก่า กระถางเก่า ฯลฯ ทำให้บ้านโปร่ง ไม่อยู่ในที่อับทึบ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังไม่ให้ยุงเข้าไปวางไข่ได้ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะ เช่น แจกัน ถ้วยรองตู้กับข้าว ทุกสัปดาห์ หรือเลี้ยงปลาในอ่างบัว เป็นต้น สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 9 ปี และเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว อาจพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกจากสายพันธุ์อื่น

โรคที่มากับฝน การป้องกัน

จะเห็นได้ว่าในหน้าฝนนั้นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคต่าง ๆ กับเด็ก ๆ ขึ้นได้ง่าย เมื่อคุณแม่รู้เท่าทันทราบถึงสาเหตุและสังเกตกับอาการที่ปกติ รวมถึงวิธีการป้องกันโรค ก็สามารถที่จะรับมือกับโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกเพื่อที่จะพามาหาคุณหมอได้ทันที เพราะถ้าวินิจฉัยโรคเร็ว ความรุนแรงของโรค และโอกาสที่รักษาให้หายจะมีแนวโน้มสูง อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันเบื้องต้นเพื่อไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นกับลูก คือการใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของลูก ฝึกให้ลูกได้หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่คนเยอะ ๆ ปล่อยให้ลูกได้เล่นได้ออกกำลังกายตามวัย สอนลูกให้มี HQ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพและพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่ดีของลูกต่อไปได้.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.bumrungrad.comwww.bangkokhospital.com

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

5 พาหะนำโรค หน้าฝน ภัยร้ายต่อสุขภาพลูกน้อย

 

วิธีดูแล เด็กเป็นไข้ อันตรายที่มากับหน้าฝน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up