ฉันขอโทษ พ่อแม่บังคับลูก

ฉันขอโทษ คำพูดที่ควรมาจากใจ ไม่ใช่บังคับ

Alternative Textaccount_circle
event
ฉันขอโทษ พ่อแม่บังคับลูก
ฉันขอโทษ พ่อแม่บังคับลูก

ฉันขอโทษ คำพูดง่าย ๆ แต่หากได้มาด้วยความไม่เต็มใจ ย่อมก่อให้เกิดผลที่แก้ไขได้ไม่ง่ายเลย เมื่อพ่อแม่บังคับลูกขอโทษ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการอย่างไร

” ฉันขอโทษ ” คำพูดที่ควรมาจากใจ ไม่ใช่บังคับ!!

ในความเป็นพ่อแม่ ที่มีลูกเล็ก ทำให้เราลืมนึกไปว่า เด็กโตขึ้นทุกวัน และพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองในทุก ๆ วันเช่นกัน การเลี้ยงดู สั่งสอนลูกก็คงต้องปรับไปตามวัยของเขาด้วย การสอนลูกแบบชี้นำให้ทำตาม หรือบังคับให้ทำในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าถูกต้องแล้ว ใคร ๆ ก็ทำกัน เป็นไปตามพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ แต่ลืมนึกไปว่า ลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่สามารถเรียนรู้เรื่องเหตุผลแล้วนั้น ไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการบังคับให้เขาทำ

5 เรื่องที่พ่อแม่ชอบบังคับลูกทำ โดยไม่บอกเหตุผล!!

การบังคับใคร ๆ ย่อมไม่ชอบแน่นอนอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็เช่นกันใช่ไหม หากลองกลับกันให้เราเป็นคนถูกบังคับโดยไม่เต็มใจนั้น ไม่แน่ว่าเราอาจมีพฤติกรรมต่อต้านเสียมากกว่าลูกอีก ที่สำคัญมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กได้ออกมาเตือนว่า ” การบังคับลูกให้ทำ โดยไม่เต็มใจ อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการในวัยเด็ก”ก่อนเราจะมาดูกันว่าจะส่งผลเสียกันอย่างไรนั้น ลองมาดู 5 เรื่องที่พ่อแม่มักจะชอบบังคับให้ลูกทำตาม โดยไม่บอกเหตุผลกัน มาเช็กกันดูว่าเรากำลังเป็นพ่อแม่ที่มีพฤติกรรมอย่างนี้หรือไม่

1.บังคับให้ลูกโกหก 

การโกหก บางครั้งผู้ใหญ่ก็มักจะต้องทำเพื่อหน้าตาของสังคม หรือเพื่อปกปิดอะไรบางอย่างที่เราไม่อยากให้ผู้อื่นมารับรู้เรื่องส่วนตัว เพื่อความสนุก เพื่อความสบายใจของอีกฝ่าย หรือด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม แต่เมื่อการโกหกในลักษณะนี้ต่อหน้าลูก โดยเฉพาะเมื่อต้องการให้ลูกพูดเรื่องโกหกนั้นด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง หากเราสามารถกลับมาอธิบายเหตุผลถึงสิ่งที่เราทำได้ให้กับลูกฟัง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรละเลย ปล่อยผ่านไป ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การบอกเหตุผลจะช่วยให้เขาเข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนี้ให้เกิดน้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น หากเราจำเป็นต้องให้ลูกหยุดเรียนเพื่อไปทำธุระ แต่กลับบอกคุณครูว่าไม่สบาย เพราะเป็นการลาที่ง่ายกว่านั้น อาจทำให้เด็กซึมซับนิสัยที่ชอบโกหก และเลือกวิธีโกหกหากทำให้ง่ายขึ้นในอนาคตได้ คุณควรให้เหตุผลแบบตรงไปตรงมาเสียมากกว่า แม้ว่าจะยุ่งยากขึ้นก็ตาม

ฉันขอโทษ ควรพูดจากใจ เมื่อพร้อม
ฉันขอโทษ ควรพูดจากใจ เมื่อพร้อม

2. บังคับให้ลูกกิน แม้ว่าไม่หิว

ความเป็นห่วงเป็นใย ของพ่อแม่ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินของลูก เมื่อลูกกินข้าวได้น้อย พ่อแม่มักใช้เหตุผลถึงการห่วงปัญหาสุขภาพของลูก มาบังคับให้เขารับประทานอาหารเพิ่มเข้าไป โดยที่เขาไม่หิวแล้วก็ตาม การทำเช่นนี้อาจส่งผลในเรื่องพฤติกรรมการกินของลูกในอนาคต การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและหาปัญหาที่แท้จริงว่าเหตุใดลูกไม่เจริญอาหาร อาจเพราะอาหารไม่ถูกปากในมื้อนี้ ควรปล่อยเมื่อเขากินน้อยมื้อต่อไปลูกก็จะกินเยอะขึ้นเองเพราะความหิว หรือจัดตารางการกินให้เป็นเวลา ไม่มีขนมจุกจิกวางไว้ใกล้มือลูกให้เขาหยิบกินตลอดเวลา สิ่งนี้ก็ทำให้เขากินข้าวมื้อหลักได้น้อยเช่นกัน

3. บังคับให้ลูกขอโทษ โดยไม่บอกเหตุผล

การทำผิดพลาดของเด็กเป็นเรื่องธรรมดา และการทะเลาะกันของกลุ่มเด็กก็เป็นเรื่องที่ช่วยให้เขารู้จักเรียนรู้การเข้าสังคมเช่นกัน การที่พ่อแม่ไปตัดสินและบังคับให้ลูกขอโทษ โดยที่ไม่มีเหตุผล นั่นส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเขาอย่างมาก ซึ่งเราจะขอกล่าวต่อไป

4. บังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ทำได้ไม่ดี และไม่ชอบ

เด็กแต่ละคนมีความชอบและความถนัดที่แตกต่างกัน นั่นเป็นเหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูก ว่าลูกมีความสุขในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้เขาทำหรือไม่

5. บังคับให้ลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อน

การแบ่งปันควรเป็นสิ่งที่มาจากใจ การสอนให้ลูกมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันสิ่งของกับเพื่อน ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรบังคับให้เขาต้องแบ่งของ ในขณะที่ลูกไม่เข้าใจ และไม่อยากทำตาม วิธีที่ดีคือการทำให้ลูกเข้าใจว่าการแบ่งปันเป็นเรื่องที่ควรทำ และเมื่อลูกได้แบ่งปันแล้ว ลูกจะรู้สึกดี มีความสุข และทำให้ผู้รับได้มีความสุขไปด้วย จะเป็นการทำให้ลูกรู้สึกเต็มใจที่จะหยิบยื่นของให้คนอื่นเพราะเข้าใจความหมายของการแบ่งปันจริงๆ ไม่ใช่เพราะถูกคุณพ่อคุณแม่บังคับ

” ฉันขอโทษ “ คำพูดที่ควรมาจากใจ ไม่ใช่บังคับ !!

Kaylee วัย 3 ขวบและ Anna น้องสาววัย 2 ขวบของเธอกำลังเล่นตุ๊กตาอยู่ในห้อง ทันใดนั้นก็มีเสียงกรีดร้องแหลมสูงและคำพูดที่ร้ายแรง “มันเป็นของฉัน! มันเป็นของฉัน!” แม่รีบไป พบว่าเคย์ลีและแอนนากำลังชักเย่ออยู่กับตุ๊กตาตัวหนึ่ง Kaylee ลูกคนโต ดึงตุ๊กตาออกจากมือของน้องแอนนา แอนนาเริ่มร้องไห้ทันทีและเคย์ลีไม่สนใจ กลับหันไปเล่นตุ๊กตาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม่คุกเข่าลงเพื่อดูว่าแอนนาบาดเจ็บหรือไม่ จากนั้นพูดกับเคย์ลีว่า “หยุดทะเลาะกับน้อง ทำไมถึงทำแบบนี้ น้องตัวเล็กกว่า ลูกเป็นพี่และไม่ควรแย่งของเล่นของแอนนา ขอโทษน้องเดี๋ยวนี้ พร้อมทั้งทำตาเขียวใส่คนพี่ Kaylee พึมพำว่า “ ฉันขอโทษ ” Anna หยุดร้องไห้เมื่อได้ตุ๊กตาที่เธอต้องการ และ Kaylee ก็หยิบตุ๊กตาอีกตัว มาถึงจุดนี้คุณว่าครอบครัวนี้หมดปัญหาแล้วใช่ไหม?

ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน กับการ ขอโทษ
ปัญหาพี่น้องทะเลาะกัน กับการ ขอโทษ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยแนะนำว่าการบังคับให้เด็กขอโทษทั้งๆ ที่เธอไม่รู้สึกเสียใจนั้นไม่ใช่วิธีที่มีประโยชน์ และการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังอาจส่งผลเสียตามมาได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันสังเกต ประการหนึ่ง อาจส่งผลให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับความรู้สึก และการเห็นคุณค่าในตัวตนของลูก นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้เด็กเรียนรู้ว่า คำพูดไม่กี่คำ สามารถช่วยให้เขาออกจากสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจได้ โดยที่เด็กไม่เรียนรู้ในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และสิ่งที่สำคัญที่สุด และน่ากลัวที่สุดต่อจิตใจของลูกเมื่อเขาถูกบังคับให้ขอโทษ นั่นคือ การที่เด็กจะคิดว่าเขาไม่ได้รับความรัก และความเชื่อใจจากพ่อแม่ของตัวเอง

การบังคับให้พูด ” ฉันขอโทษ ” ทำให้ลูก…ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง

เมื่อคุณบังคับให้ลูกขอโทษ โดยที่ลูกไม่เต็มใจ นั่นเท่ากับเป็นการสอนให้ลูกไม่เข้าใจในการแสดงความรู้สึกของตนเองออกมา เพราะเขารู้สึกว่าไม่ผิด แต่ต้องแสดงออกมาว่าเป็นคนผิดด้วยการพูดคำว่า ” ฉันขอโทษ ” ทำให้ลูกเรียนรู้ว่าการโกหกเกี่ยวกับความรู้สึกตนเอง การเพิกเฉยต่อความรู้สึกตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ปัญหาไม่ได้จบลง กับเป็นระเบิดเวลาอยู่ภายในใจของลูกแทน นั่นทำให้เขาเริ่มไม่เห็นคุณค่าในตัวเองทีละน้อย ๆ จนหากลูกไม่สามารถจัดการกับความคิดแบบนี้ไปได้ อาจต้นเหตุให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต

เมื่อคุณบังคับให้ลูกขอโทษ ทำให้ลูก…แก้ปัญหาแบบขอไปที

เมื่อลูกพูดคำว่า ขอโทษ ไปแล้ว และเขาเห็นว่าเขาสามารถหลุดออกจากเหตุการณ์อันน่าอึดอัดใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเหตุการณ์นั้นรุนแรงไปจนถึงกระทั่ง พ่อแม่บังคับให้ลูกขอโทษ แต่เขายังไม่ยอมขอโทษจน คุณพ่อคุณแม่เองนั่นแหละกลายเป็นคู่ขัดแย้งแทนเสียเอง ไล่ต้อนให้ลูกพูดขอโทษให้จงได้ แบบนี้ทำให้เขายิ่งรู้สึกว่า คำพูดเพียงไม่กี่คำ สามารถหยุดความอึดอัดใจนั้นได้ ต่อไปลูกก็จะใช้วิธีแบบนี้ในการแก้ปัญหา โดยที่เขาจะไม่ได้เรียนรู้การปรับปรุงตัวเอง หรือสำรวจพฤติกรรมของตัวเอง และหาทางแก้ปัญหาที่แท้จริง เป็นเพียงคำพูดลมปากที่ไม่ได้มีความหมายแบบนั้นจริง ๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงไม่ต้องการพฤติกรรมของลูกแบบนี้แน่

บังคับให้ลูกขอโทษ ทำให้ลูก…สงสัยในความรักของพ่อแม่ที่มีต่อเขา

เมื่อพ่อแม่เข้าไปตัดสินปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกันของเด็ก โดยที่เราไม่ทราบรายละเอียดของการเผชิญหน้าระหว่างกัน พ่อแม่มักตั้งสมมติฐานว่าเข้าข้างคนที่ดูอ่อนแอกว่าเสมอ และเริ่มการบังคับให้ลูกอีกคนยอมรับผิด และขอโทษ นั่นเป็นเรื่องที่ผิดอย่างร้ายแรงเลยทีเดียว เพราะมันจะนำมาซึ่งความรู้สึกเสียใจ ไม่เข้าใจ และไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ถูกให้ขอโทษ โดยที่เขาไม่ได้รับเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่ถึงตัดสินอย่างนั้น ความรู้สึกจะกัดกินไปจนกลายเป็นว่าเขาจะสงสัยในความรักของคุณที่มีต่อเขา และอาจส่งผลต่อการพัฒนาความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองอีกด้วย

อ่านต่อ>> คำแนะนำจากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้านต่อประเด็นการบังคับลูกขอโทษ พร้อมเทคนิคการสอนให้ขอโทษจากใจ คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up