ดูดนม

เทคนิค 5 ดูดให้ทารก ดูดนม จากเต้าได้ดี ลูกแข็งแรง แม่น้ำนมเยอะ

Alternative Textaccount_circle
event
ดูดนม
ดูดนม

การให้นมลูกสำหรับแม่มือใหม่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม่ ๆ มือใหม่ที่อาจยังไม่รู้ว่าจะให้ลูกน้อย ดูดนม แม่อย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพ เอาลูกเข้าเต้าวิธีไหนจะทำให้ลูกดูดนมได้ดี กินนมอิ่ม ได้สารอาหารจากอกแม่ครบถ้วน และยังช่วยกระตุ้นให้แม่มีน้ำนมเร็ว น้ำนมมาเยอะ มาดูและลองใช้เทคนิคนี้กันค่ะ

เทคนิค 5 ดูดให้ทารก ดูดนม จากเต้าได้ดี ลูกแข็งแรง แม่น้ำนมเยอะ

โดยปกติสัญชาตญาณการดูดนมของทารก เมื่อคุณแม่อุ้มลูกให้อยู่ในวงแขนและกระชับเข้ามาแนบหน้าอก เต้านมของแม่จะอยู่ระดับแก้มลูกพอดี ทันทีที่แก้มของลูกแตะกับหัวนมแม่ ลูกน้อยก็จะส่ายหัวไปมาจนพบหัวนมและทารกจะมีปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งเป็นสัญชาตญาณให้หันหัวไปทางที่มีสิ่งมากระทบข้างแก้ม และอ้าริมฝีปากกว้างเข้าหาหัวนมแม่เพื่อดูดนมจากเต้าแม่และปล่อยหัวนมเองเมื่ออิ่ม ซึ่งทารกจะดูดนมประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน โดยอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ ทั้งนี้หากสังเกตว่าลูกดูดนมไปซักพักแล้วหลับขณะดูดนม ไม่มีการขยับปาก หรือดูดช้าลง คุณแม่สามารถกระตุ้นลูกน้อยให้กินนมด้วยการขยับเต้านม แล้วใช้มือบีบกดเต้าเบา ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมเข้าปาก ช่วยให้ลูกน้อยได้มีการดูดนมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะมีส่วนช่วยคุณแม่มือใหม่ให้มีน้ำนมมาเร็ว น้ำนมมามาก ด้วยเทคนิคดังนี้

ทารกดูดเต้า

1.ให้ทารกได้ดูดนมแม่เร็ว

“นมแม่” นั้นเรียกได้ว่าเป็นสารอาหารชั้นเยี่ยมสำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายลูกน้อยได้มีสุขภาพที่แข็งแรง รวมถึงสุขภาพจิตที่ดีจากการได้สัมผัสความอบอุ่นใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อจากอกแม่ทันทีที่คลอดออกมา โดยทั่วไปคุณหมอจะแนะนำให้ทารกได้ดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งแม่และลูกเป็นการช่วยให้เกิดการเริ่มต้นเชื่อมความรักความผูกพันที่ดีระหว่างแม่ – ลูกในครั้งแรกของกันและกันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในขณะที่ลูกน้อยอยู่บนอกแม่นั้นทารกอาจจะยังไม่ดูดนมแม่ทันที แต่ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวและซุกไซ้หาหัวนมแม่ตามสัญชาตญาณของทารกแรกเกิด และภายใน 20-70 นาที ทารกจะใช้ปากงับหัวนมแม่และพยายามดูดนมแม่ได้ในที่สุด

ซึ่งเมื่อทารกดูดนมแม่ได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อแม่และลูก ที่จะช่วยในกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ซึ่งช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนมออกจากท่อน้ำนม และช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดตัว ลดการตกเลือด ช่วยขับน้ำคาวปลา และทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลกตินที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมมาเร็ว เนื่องจากในขณะทื่ทารกดูดนมนั้นระดับฮอร์โมนโปรแลกตินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะเพิ่มสูงสุดหลังจากที่ทารกดูดนมได้ประมาณ 30 นาที

ชมคลิป หลังคลอด ควรจะให้ลูกดูดนมแม่เมื่อไหร่ โดยรศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ จากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

2.ให้ทารกได้ดูดนมบ่อย

ในช่วงแรกเกิดจนถึง 1 เดือนทารกควรได้ดูดนมแม่ทุกครั้งที่ต้องการ คุณแม่ควรให้ทารกได้ดูดนมบ่อย ๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยภายใน 24 ชั่วโมง ทารกควรได้ดูดนมแม่อย่างน้อย 8 ครั้ง คุณแม่สามารถให้ทารกดูดนมแม่อย่างสม่ำเสมอทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งในช่วงแรก ๆ หลังคลอดทารกมักหิวนมทุก 2-3 ชั่วโมง แต่หากทารกนอนหลับนานกว่า 3 ชั่วโมงก็อาจต้องปลุกลูกให้ตื่นมากินนม เมื่อลูกอายุเพิ่มมากขึ้นก็จะปรับตัวมากินนมในช่วงกลางวันมากกว่าช่วงกลางคืน ซึ่งการที่ทารกกินนมได้ดีก็จะช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย

3.ให้ทารกได้ดูดนมนาน

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ คือการให้ทารกได้ดูดเต้าทั้ง 2 ข้างเท่า ๆ กัน นานข้างละประมาณ 10-15 นาที โดยเริ่มดูดนมเต้าแรกจนเกลี้ยงเต้าก่อนแล้วจึงเปลี่ยนให้ลูกไปดูดนมอีกข้าง และมื้อต่อไปก็ให้เริ่มจากเต้าที่ลูกไม่ได้ดูดในครั้งหลังสุดก่อน เพื่อให้เต้านมได้รับการกระตุ้นมีน้ำนมออกมาเต็มที่ ทั้งนี้ในการย้ายเต้าให้ลูกมาดูดนมอีกข้าง ในขณะที่ลูกยังไม่ยอมปล่อยหัวนม คุณแม่ไม่ควรดึงลูกน้อยออกจากอกทันทีเพราะจะทำให้คุณแม่เจ็บหัวนมที่ลูกงับอยู่ ควรใช้นิ้วก้อยสอดเข้าไปตรงมุมปากเพื่อขวางแรงดูดระหว่างปากและลานหัวนม ลูกน้อยก็จะปล่อยปากให้คุณแม่เปลี่ยนเต้าดูดได้โดยง่าย

4.ให้ทารกได้ดูดนมอย่างถูกวิธี

การให้ลูกเข้าเต้าดูดนมอย่างถูกวิธี จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมแม่ไหลออกมาและทำให้ทารกสามารถรับปริมาณน้ำนมและสารอาหารจากนมแม่อย่างเต็มที่ ทั้งยังช่วยลดความเจ็บปวดที่บริเวณเต้านมของคุณแม่ ลดปัญหาลูกกัดหัวนม ป้องกันหัวนมอักเสบด้วยการให้ลูกดูดเต้าอย่างถูกวิธีเริ่มตั้งแต่

  • การอุ้มลูกเข้าเต้าให้ถูกท่า ท่าอุ้มให้นมที่จะช่วยให้ลูกเข้าเต้า ดูดและกลืนน้ำนมได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มลูกดูดนมในท่านั่ง ท่านอน หรือกึ่งนั่งกึ่งนอน คุณแม่ควรเลือกที่ถนัด ผ่อนคลายและเหมาะสมกับสภาวะของคุณแม่มากที่สุด แต่ไม่ว่าจะอุ้มลูกท่าไหนควรมีองค์ประกอบหลักคือ
    1) คุณแม่ใช้มือประคองรองรับลำตัวและศีรษะของลูกให้รู้สึกมั่นคง
    2) ให้ตะแคงลำตัวและศีรษะของลูกให้หันเข้าเต้าและลำตัวของลูกแนบชิดกับตัวแม่ สัญชาตญาณของทารกจะหันศีรษะไปหาหัวนมแม่และจะอ้าปากกว้าง เมื่อแม่เอาหัวนมแตะที่ริมฝีปากของทารกและพยายามสอดหัวนมให้เข้าไปลึกถึงลานนม ก็จะมีความกระชับแน่นระหว่างปากลูกกับลานหัวนม ช่วยให้ทารกได้ดูดนมง่ายและทำให้ไม่กลืนลมเข้าไปในท้องที่จะส่งผลต่ออาการท้องอืด
    3) ศีรษะ ไหล่และสะโพกของลูกควรอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน ขณะที่แม่อยู่ในท่าอุ้มให้นมลูก ควรมีหมอนหลาย ๆ ใบไว้รองหลัง รองแขนหรือวางบนตักรองรับตัวลูก ช่วยหนุนลูกให้สูงขึ้นมาถึงบริเวณเต้านม และให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมแม่พอดี ทั้งยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายขึ้น ไม่เกร็งหรือปวดแขนในขณะอุ้มให้นม
  • ท่าให้นมลูก โดยท่าอุ้มลูกดูดนมนั้นมีหลายท่า แต่ที่นิยม อาทิเช่น ท่าลูกนอนขวางบนตัก โดยการอุ้มลูกวางไว้บนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ ให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ มืออีกข้างประคองเต้านมไว้ ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ โดยใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านม มืออีกข้างรองรับต้นคอและท้ายทอยของลูกแทน ท่านี้เหมาะสำหรับนำลูกเข้าอมหัวนม จะช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ดี ท่าอุ้มลูกฟุตบอล โดยอุ้มลูกให้อยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย ขาชี้ไปทางด้านหลังของแม่ มือแม่จับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดลูกให้กระชับกับสีข้างแม่ ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก มืออีกข้างประคองเต้านมไว้ ท่านี้ใช้ได้ดีสำหรับ แม่ที่ผ่าท้องคลอด เพราะตัวของลูกจะไม่ไปสัมผัสกับท้องของแม่ที่มีรอยผ่าตัดอยู่ แม่ที่มีเต้านมใหญ่ หรือลูกที่ตัวเล็ก เพราะลูกจะเข้าอมงับเต้านมได้ดีกว่า และคุณแม่ที่คลอดลูกแฝด ซึ่งจะสามารถให้ลูกดูดนมจากทั้งสองเต้าพร้อม ๆ กันได้ และท่านอน โดยแม่และลูกน้อยนอนตะแคงเข้าหากัน แม่นอนศีรษะสูงเล็กน้อย หลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองตัวลูกให้ชิดลำตัวแม่ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านม ในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดี ก็สามารถขยับออกได้ ท่านี้เหมาะสำหรับแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง หรือใช้ท่านี้เวลาให้นมลูกตอนกลางคืน ก็จะช่วยให้คุณแม่ให้นมในท่าที่พักผ่อนได้ง่ายขึ้น (ข้อมูลจาก : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย)

ชมคลิป การอุ้มลูก…..ดูดนมแม่อย่างถูกวิธี จากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

  • ท่าดูดนมของทารก เพื่อให้ทารกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะที่ลูกดูดนมและได้รับปริมาณน้ำนมอย่างเพียงพอ คุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกน้อยดูดนมด้วยการใช้หัวนมสัมผัสที่บริเวณริมฝีปากด้านล่างของทารก เมื่อลูกอ้าปากให้กอดลูกแนบเข้ากับเต้านมและอมจนมิดลานหัวนม ขณะดูดจะรู้สึกได้ว่าลูกดูดแรงและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ และควรได้ยินเสียงกลืนนมเป็นจังหวะ

สังเกตง่าย ๆ ลูกดูดเต้าถูกต้องรู้ได้อย่างไร?

1) ทารกจะอมฐานของหัวนมด้านล่างได้มากกว่าฐานนมด้านบน โดยจะเห็นฐานนมด้านบนอยู่เหนือริมฝีปากของลูก ส่วนฐานนมด้านล่างจะถูกอมจนเกือบมิด

2) ทารกอ้าปากกว้าง ริมฝีปากบานออกเหมือนปากปลา แนบกับเต้านมของแม่

3) จมูก แก้ม และคางชิดกับเต้านมของแม่

4) ขณะที่ลูกดูดนม ลิ้นจะอยู่ใต้หัวนมและจะมีแรงกดบนลานหัวนมเพื่อบีบให้น้ำนมไหล

5) คุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บหัวนม แต่จะรู้สึกหัวนมถูกดูดเป็นจังหวะขณะที่ลูกน้อยกำลังดูดนม

ลูกดูดเต้า

5.ให้ทารกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า

ทารกที่ดูดนมจนเกลี้ยงเต้านั้นจะได้รับประโยชน์จากน้ำนมในส่วนหลังที่มีไขมันในปริมาณสูงมากถึง 2-5 เท่า ของน้ำนมส่วนหน้า ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างการพัฒนาของสมองและสายตา และมีน้ำย่อยไลเปสที่จะช่วยย่อยไขมันในขณะที่ทารกยังไม่สามารถสร้างน้ำย่อยเองได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยที่กินนมแม่ไม่มีอาการท้องผูก สำหรับน้ำนมส่วนหน้านั้นก็ให้ประโยชน์ไม่แพ้กันเพราะมีสารอาหารทั้งเกลือแร่ วิตามิน โปรตีน และน้ำตาล ดังนั้นการที่ทารกน้อยดูดนมจนเกลี้ยงเต้าทุกครั้งก็จะส่งผลดีต่อสมองและร่างกายทารก ช่วยให้ลูกอิ่มนาน ไม่หิวบ่อย นอนหลับได้นานขึ้น และมีน้ำหนักขึ้นสมวัย ในขณะเดียวกันหากลูกน้อยดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า ก็อาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวน้อย และอาจมีอาการท้องอืด ถ่ายอุจจาระปนน้ำบ่อยครั้งกว่าปกติ ซึ่งอาการที่ว่านี้จะหายไปเมื่อทารกดูดนมได้เกลี้ยงเต้า

เมื่อทารกดูดนมเกลี้ยงเต้าจะสังเกตได้จาก คุณแม่จะรู้สึกตึง ๆ และคัดเจ็บที่เต้านม เนื่องจากไม่มีน้ำนมไหลออกมาแล้ว และลูกน้อยจะหยุดดูด หลังให้ทารกดูดนมเสร็จจะรู้สึกว่าเต้านมนิ่มลง และอาการคัดเต้า เจ็บเต้านม ก็จะหายไป หรือใช้วิธีลองบีบเต้านมก็จะมีน้ำนมออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในส่วนของคุณแม่ที่ทารกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้าก็อาจจะรู้สึกว่ามีก้อนแข็ง ๆ อยู่ที่บริเวณเต้านม ซึ่งไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรจะกระตุ้นให้ลูกน้อยได้ดูดบ่อย ๆ และใช้มือนวดคลึงเบา ๆ เพื่อไม่ทำให้เกิดอาการเต้านมอักเสบหรืออุดตันได้

จะเห็นได้ว่าการให้ลูกดูดเต้าแม้จะเป็นเรื่องใหม่ของคุณแม่มือใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคุณแม่อย่างแน่นอน เนื่องจากนมแม่ถือเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับทารกแรกเกิดจนอายุได้ถึง 6 เดือนที่ควรจะได้รับ และเมื่อทารกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน สร้างภูมิต้านทาน ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของทารกน้อย และยังมีส่วนช่วยต่อการสร้างน้ำนมแม่ให้เพียงพอ ช่วยให้คุณแม่คลายกังวลกับปัญหากลัวว่าน้ำนมน้อยลงได้ด้วย.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.happymom.in.thwww.caringmybabies.comwww.thaibf.com

อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ :

พังผืดใต้ลิ้น ทารก สาเหตุทำลูกดูดนมแม่ยาก

ลูกติดเชื้อ เพราะดูดนมผิดวิธีจริงหรือไม่?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up