ย้ายสิทธิบัตรทอง

ย้ายสิทธิบัตรทอง ด้วยตนเอง ผ่าน 2 ช่องทาง สะดวก ง่าย

Alternative Textaccount_circle
event
ย้ายสิทธิบัตรทอง
ย้ายสิทธิบัตรทอง

30 บาทรักษาทุกโรค หรือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่ทำเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ คนไทยทุกคนจ่ายเพียงสามสิบบาทก็รับบริการรักษาโรคได้ โดยรัฐจัดสรรงบประมาณไปยังโรงพยาบาลตามจำนวนคน และแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า “บัตรทอง” ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถ ย้ายสิทธิบัตรทอง ด้วยตนเองได้แล้วนะคะ

ย้ายสิทธิบัตรทอง ด้วยตนเอง ผ่าน 2 ช่องทาง สะดวก ง่าย

สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ถือบัตร “บัตรทอง” ที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาล สามารถดำเนินการได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยทีมแม่ ABK ได้รวบรวมขั้นตอนย้ายสถานพยาบาลสิทธิบัตรทอง ผ่านช่องทางไลน์ และแอปพลิเคชั่น ของ สปสช. มาไว้ให้คุณแม่แล้วค่ะ

เงื่อนไข ย้ายสิทธิบัตรทอง เปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทอง

ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลสถานพยาบาลบัตรทอง มีเงื่อนไขที่ต้องตรวจสอบก่อนดังนี้ค่ะ

  • ผู้ใช้งานต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิว่าง
  • อายุ 15 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
  • ลงทะเบียนด้วยตนเองเท่านั้น ลงทะเบียนแทนบุคคลในครอบครัวไม่ได้ (ณ ปัจจุบัน)
  • เปลี่ยนหน่วยบริการได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี
ย้ายสิทธิบัตรทอง
บัตรทองดูแลสุขภาพคนไทย

วิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทองผ่านไลน์ สปสช.

ขั้นตอนง่าย ๆ เพื่อเปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านทาง Line@ มีดังนี้

  1. พิมพ์ @nhso ที่ช่องค้นหา หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเพิ่มเพื่อน
  2. ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อตกลง จากนั้นกด “ยอมรับ”
  3. กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดถัดไป
  4. ระบุข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีบัตรประชาชนไม่มีรหัสหลังบัตรจะต้องลงทะเบียนที่หน่วยรับบริการลงทะเบียน)
  5. ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จากนั้นกดถัดไป
  6. กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอรับ OTP และกดขอรับรหัส OTP
  7. กรอกรหัส OTP จากนั้นกดยืนยัน
  8. กดเลือกเมนู “ตรง” หากที่พักอาศัยตรงกับบัตรประชาชน
  9. ถ่ายรูปบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหลัง
  10. จากนั้นถ่ายรูปเซลฟี่ ตนเองกับบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหน้า จากนั้นกดอัพโหลด
  11. กรณีที่พักอาศัยไม่ตรงกับบัตรประชาชน ให้กดเลือกเมนู “ไม่ตรง”
  12. แนบหลักฐานการพักอาศัยปัจจุบัน เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ หนังสือรับรองเจ้าของบ้าน หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง จากนั้นกดอัพโหลด
  13. ระบบจะแสดงเครือข่ายบริการที่สามารถเลือกได้ จากนั้นให้กดเลือกเครือข่ายหน่วยบริการที่ต้องการ
  14. ระบบจะแสดงผลว่า ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้กดถัดไป
  15. สิทธิเกิดใหม่ทันที ที่เครือข่ายหน่วยบริการที่เลือกไว้
  16. เข้าเมนูตรวจสอบสิทธิ เพื่อดูรายละเอียดสิทธิที่เกิดใหม่
ย้ายสิทธิบัตรทอง
ย้ายสิทธิบัตรทองผ่านแอปฯ สปสช.

วิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทองผ่านแอปฯ สปสช.

หลังจากโหลดแอปฯ แล้ว ให้ดำเนินการดังนี้

  1. กดเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ ระบบจะแสดงผลที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

ถ้าที่อยู่ปัจจุบันตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน เลือกเมนู “ตรง” ถ่ายรูปบัตรประชาชนโดยใช้กล้องหลัง ถ่ายรูปเซลฟีคู่กับบัตรประชาชนโดยใช้กล้องหน้า

ถ้าที่พักอาศัยไม่ตรงกับบัตรประชาชนเลือกเมนู “ไม่ตรง” และแนบหลักฐานการพักอาศัยปัจจุบัน เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือหนังสือรับรองเจ้าของบ้าน หรือสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง ระบุที่อยู่ปัจจุบัน

  1. ระบบจะแสดงเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถเลือกได้
  2. กดเลือกเครือข่ายหน่วยบริการที่ต้องการ และกดยืนยัน ระบบจะแสดงผลว่าได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นกดถัดไป
  3. สิทธิใหม่เกิดทันทีที่เครือข่ายหน่วยบริการที่เลือกไว้ หรือตรวจสอบสิทธิ เพื่อดูรายละเอียดสิทธิที่เกิดใหม่ได้

สิทธิประโยชน์บัตรทอง ที่เพิ่มขึ้นในปี 2565

วันที่ 1 มกราคม 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีใหม่ 2565 สปสช. ขอมอบ 10 สิทธิประโยชน์บริการใหม่ และการขยายบริการให้ครอบคลุมดังนี้

1.รับบริการหมอครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ประชาชนยังคงเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย แต่กรณีมีความจำเป็น สามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้

2.ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวทั่วประเทศ

3.บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) โดยให้ประชาชนทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

4.การตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

5.บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก เพื่อเข้าสู่การรักษาโรคหายากได้อย่างรวดเร็วและช่วยชีวิตเด็ก

6.การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก ด้วยบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา รวมเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 24,200 บาทต่อราย

7.บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก สำหรับประชาชนไทย อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา

8.บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ เป้าหมายคัดกรองตรวจสายตาเด็กอนุบาล 1 ถึงนักเรียนชั้น ป.6 ที่ครูสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตา และนำเด็กที่เข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์พร้อมตัดแว่นสายตา

9.เพิ่ม 2 บริการตรวจคัดกรองคู่หญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและเชื้อซิฟิลิส

10.ขยายบริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีคุณภาพดีมากขึ้น สปสช.เพิ่มเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD เกือบ 1,300 เครื่อง กระจายทั่วประเทศ

บัตรทองไม่ครอบคลุม เบิกอะไรไม่ได้บ้าง

  • เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ไม่ปรากฏตามบัญชีแนบท้าย
  • การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด

คุณแม่อย่าลืมตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง โดยเฉพาะกับสิทธิบัตรทอง ถ้าคุณแม่ท่านไหนใช้สิทธิบัตรทองอยู่แล้วต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้ตามช่องทางและขั้นตอนที่ได้แนะนำไว้ รับรองว่าง่ายและสะดวก ไม่เสียเวลาค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก msn ข่าว , ประชาชาติธุรกิจ , ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก 

ตรวจรักษาโควิด ด้วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคม

ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด สิทธิบัตรทอง ใครได้บ้างเช็คเลย!

บัตรทองดูแลครรภ์ฟรี คลอดลูกน้อยปลอดภัย

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up