ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด

ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด สิทธิบัตรทอง ใครได้บ้างเช็คเลย!

Alternative Textaccount_circle
event
ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด
ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด

ข่าวดี! เพิ่มสิทธิบัตรทอง ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด พร้อมเพิ่มสิทธิผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

เพิ่มสิทธิบัตรทอง คัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิด

พ่อแม่ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เฮเลย! บอร์ด สปสช.อนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ถึง 6 รายการ รวมตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดและการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อีก 6 รายการ

  1. การผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะสุดท้าย คาดการณ์ความต้องการของผู้ป่วยอยู่ที่ปีละ 50 ราย แต่เบื้องต้นบอร์ด สปสช. ตั้งเป้านำร่องให้บริการปีละ 25 รายก่อน คิดเป็นงบประมาณ 17.5 ล้านบาท
  2. การตรวจยีน HLA-B* 5801 ก่อนให้ยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ ซึ่งไทยมีผู้ป่วยเกาต์รายใหม่ปีละ 8,200 ราย คาดใช้งบประมาณสำหรับตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปีละ 8.2 ล้านบาท
  3. รายการอุปกรณ์ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ และ/หรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน คาดการณ์จำนวนผู้รับบริการตั้งต้นปีที่ 1 จำนวน 300 ราย ขณะที่ค่าใช้จ่ายในปีแรกคาดอยู่ที่จำนวน 26 ล้านบาท
  4. การคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรคด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอดในทุกกลุ่มเสี่ยง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยกลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสวัณโรค ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ จำนวน 1.098 ล้านราย คาดใช้งบประมาณทั้งสิ้น 725 ล้านบาท
  5. การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คน ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ 12.33 ล้านบาท
  6. รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ โดยคาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายราว 33 คน ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าประสาทหูเทียมให้ต่ำกว่าชุดละ 6 แสนบาท

บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบหลักการกรณีใช้น้ำมันกัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน และไมเกรน และสารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคลมชัก และมะเร็งระยะท้าย วงเงิน 58.3 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนายาหลักแห่งชาติต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนของขวัญเพิ่มเติมสำหรับประชาชน นอกจากนโยบายยกระดับบัตรทองใน 4 บริการ ที่จะเริ่มใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่เป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลตั้งใจมอบให้ประชาชน วงเงิน 1,453 ล้านบาท

ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด
ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด ยิ่งรู้เร็วยิ่งดีต่อพัฒนาการทารก

ถือเป็นข่าวดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เพราะนอกจากจะได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยงแล้ว ยังมีเรื่องอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีอีกด้วย

ความสำคัญของการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด

ผศ.นพ.สมพร โชตินฤมล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้ำถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารก ว่า การสูญเสียการได้ยินในเด็กมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาและการพูด ซึ่งการตรวจพบความผิดปกติของการได้ยินในระยะทารกก่อนที่จะพูดได้ จะทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษา การพูดสมวัย รวมทั้งพัฒนาการด้านอื่น ทั้งอารมณ์ สังคม และการเรียนรู้

วิธีตรวจคัดกรองการได้ยิน

นพ.อดิศร ลีลากิจทรัพย์ ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล พญาไท 2 กล่าวว่า ในประเทศไทย พบอัตราการสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยรวม 1.7 ต่อ 1000 คน จึงควรจะรีบตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยวิธีตรวจคัดกรองการได้ยินในปัจจุบันมี 2 วิธีที่เป็นเครื่องมือซึ่งนิยมใช้ ได้แก่

  1. Otoacoustic Emissions(OAEs) การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนในหูชั้นใน ตรวจการทำงานของปลายประสาทรับเสียงในหูชั้นใน ทำโดยใส่เสียงเข้าไปในหูขณะเด็กอยู่นิ่ง และวัดเสียงที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหูชั้นใน เครื่องจะบันทึกการตอบสนองโดยอัตโนมัติ การตรวจทำง่าย ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บปวด สามารถทราบผลทันที และผลมีความเชื่อถือได้มากกว่า 95%
  2. Auditory Brainstem Response (ABR) การตรวจการได้ยินระดับการสมอง เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของการได้ยินในเด็กเล็ก ทำโดยการติดสื่อนำสัญญาณ (Electrode) เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในระบบประสาทหูชั้นในส่วนลึก เมื่อปล่อยเสียงเข้าไปตรวจในหู เด็กต้องหลับสนิท ใช้เวลาในการตรวจประมาณครึ่งชั่วโมง ผลมีความแม่นยำมากกว่า 98%

อย่างไรก็ตาม เด็กอาจมีความผิดปกติของการได้ยินเกิดขึ้นภายหลัง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อหัด คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การได้รับยาที่มีพิษต่อหู การฟังเสียงอึกทึก การอักเสบของหูชั้นกลาง และประสาทหูเสื่อมจากกรรมพันธุ์ที่มีอาการภายหลัง

ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด

ทารกกลุ่มเสี่ยงต่อการได้ยินบกพร่อง

ทีมแม่ ABK ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทารกกลุ่มเสี่ยง ตามคำแนะนำการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดของประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2550 คณะกรรมการการตรวจการได้ยินในเด็ก (joint committee on infant hearing: JCIH) ได้นำเสนอว่า ทารกทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน โดยใช้เครื่องมือ automated EOAE หรือ AABR ตรวจคัดกรองการได้ยิน ก่อนอายุ 1 เดือน อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนออกจากโรงพยาบาล ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกที่รักษาตัวในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤติ JCIH แนะนำให้ใช้ AABR ในการตรวจคัดกรอง เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดการสูญเสียการได้ยินจากระบบประสาทที่ผิดปกติ (neural hearing loss) หากเด็กกลุ่มนี้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นไม่ผ่าน ควรได้รับการตรวจ diagnostic ABR

ปัจจัยเสี่ยงต่อการได้ยินบกพร่องในทารกแรกเกิดถึง 28 วัน JCIH ได้กำหนดเกณฑ์ของกลุ่มเสี่ยงไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. มีภาวะการเจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลวิกฤตทารกแรกคลอด (NICU) นานเกิน 48 ชั่วโมง
  2. มีลักษณะที่บ่งบอกถึงกลุ่มอาการผิดปกติแต่กำเนิดที่มีการได้ยินบกพร่องร่วมด้วย
  3. มีประวัติครอบครัวที่มีการได้ยินบกพร่องแต่กำเนิด
  4. มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า โดยเฉพาะการผิดรูปของใบหูและช่องหู
  5. มีประวัติการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อ Cytomegalovirus, Herpes, Toxoplasmosis, Rubella หรือ Syphilis

อย่างไรก็ตาม ได้รับการปรับเปลี่ยนจากที่ประกาศในปี พ.ศ.2537 ไปอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลปัจจุบัน พบว่าปัจจัยเสี่ยงเรื่องการคลอดก่อนกำหนดที่น้อยกว่า 32 สัปดาห์และน้ำหนักแรกคลอดที่น้อยกว่า 1,500 กรัมไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกต่อไป เนื่องจากการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ก้าวหน้ามากขึ้น รวมทั้งการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทำให้ลดความเสี่ยงต่อการได้ยินบกพร่องอีกด้วย

การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกคลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยได้เร็ว แพทย์จะทำการรักษาต่อไป เช่น การผ่าตัดประสาทหูเทียม การใส่เครื่องช่วยฟัง การแก้ไขฟื้นฟู ฝึกพูด ฝึกฟัง หากรู้ก่อนอายุ 6 เดือน จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการเท่าทันเด็กทั่วไป

อ้างอิงข้อมูล : บทฟื้นฟูวิชาการ การคัดกรองการสูญเสียการได้ยินในเด็ก ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, mgronline.com, hilight.kapook, sriphat.med.cmu.ac.th และ phyathai

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

นมแม่หดถึงคราวพึ่ง นมกล่อง เลือกยังไงหากลูกแพ้นมวัว

โรค G6PD คือ อะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน พ่อแม่ควรรู้!

8 วิธี “กระตุ้นสมอง” ทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up