เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน

5 เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน พ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องระวัง !

Alternative Textaccount_circle
event
เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน
เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน

เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน พอจะนึกกันออกไหมคะว่ามีเชื้อไวรัสอะไรบ้าง เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะนึกกันไม่ออก ทีมแม่ ABK จะพาไปรู้จักกับเชื้อไวรัสหน้าฝน ที่ถ้าหากบ้านไหนมีลูกเล็ก เด็กน้อย ต้องระวังกันให้มากค่ะ เพราะเชื้อไวรัสเหล่านี้  ล้วนเป็นตัวก่อโรคให้ลูกเจ็บป่วยไม่สบายกันหนักมากในช่วงหน้าฝนค่ะ

เชื้อโรค แบคทีเรีย รวมถึงเชื้อไวรัส ปกติมักจะมีปะปนมากับอาหาร อากาศ และตามฤดูกาลต่างๆ ค่ะ และนับวันความ รุนแรงของตัวก่อโรคเหล่านี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ก็พัฒนาเป็นสายพันธุ์ A สายพันธุ์ B ทำให้เมื่อป่วยเป็นหวัด มักจะใช้เวลาในการรักษานานขึ้น กว่าอาการป่วยจะทุเลา หายเป็นปกติ ทีมแม่ABK เชื่อว่าโรคต่างๆ  ที่มากับหน้าฝน คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้จักกันอยู่บ้างแล้ว แต่เราจะไปตามหากันค่ะว่า โรคที่มากับหน้าฝน อย่าง โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคไอพีดี และ โรคท้องเสีย เกิดจากเชื้อไวรัส อะไร และควรดูแลป้องกันสุขภาพอย่างไร เพื่อให้ลูกน้อยของเราไม่ป่วยกันค่ะ

 

เชื้อไวรัสที่มากับหน้าฝน รู้เท่าทัน ลดเสี่ยงลูกป่วย

เวลาที่เข้าสู่หน้าช่วงหน้าฝน หัวอกคนเป็นพ่อแม่จะมีความกังวลในเรื่องสุขภาพของลูกกันมาก เพราะเป็นช่วงระหว่างที่ลูกต้องไปโรงเรียน อากาศเย็น ชื้น ละอองฝน ทำให้เด็กๆ ไม่สบายกันมาก และนี่คือ 5 เชื้อไวรัสที่มากับหน้า ตัวก่อโรคที่ซ้อนมากับสายฝนเย็นฉ่ำค่ะ

1. โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ( Influenza Virus) สำหรับเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา สามารถแยกไข้หวัดใหญ่ที่มักป่วยกันบ่อยๆ คือ

  • ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีมาก่อนอยู่แล้ว คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสามารถ ป่วยได้ซ้ำ ซึ่งเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นทุนเดิม ก็มักจะมีอาการป่วยไม่หนักมาก
  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่พัฒนาจากสายพันธุ์ปกติให้รุนแรงขึ้น เกิดจากเชื้อไข้หวัด ใหญ่ ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัด ทำให้เสี่ยงป่วยได้ง่ายขึ้น

วิธีดูแลสุขภาพ คุณแม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคของลูกน้อยให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ได้ด้วยการให้รับประทานอาหารที่  มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นเพิ่มเติมผัก ผลไม้ที่ให้วิตามินซี ช่วยป้องกันโรคหวัด และรวมทั้งให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หมั่นให้ออกกำลังเป็นประจำ ที่สำคัญควรพาลูกน้อยไปรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

2. โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever)

ไข้เลือดออก เด็กๆ สามารถป่วยกันได้ตลอดทั้งปีค่ะ แต่จะหนักหน่อยในช่วงหน้าฝน เพราะมีน้ำท่วมขัง ยุงมักออกมาวางไข้ เมื่อประชากรยุงมาก ก็ต้องการอาหาร(เลือดจากคน) พอยุงมากัดลูกเล็ก เด็กน้อย ก็จะทำให้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกกันเยอะมาก โรคไข้เลือดออก เกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคค่ะ  เชื้อไวรัสเดงกีปัจจุบันนี้มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ที่สำคัญไข้เลือดออกอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันที

วิธีดูแลสุขภาพ ง่ายๆ คืออย่าให้ลูกโดยยุงกัน ภายในบ้าน ตามประตู หน้าต่าง ควรติดมุงลวด และถ้าลูกเล็กมากๆ ควรมีมุ้งครอบตอนนอนค่ะ บริเวณรอบบ้านดูแลอย่างให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น น้ำในกระถางต้นไม้ อ่างบัว แหล่งน้ำขังต่างๆ ทีมแม่ABK แนะนำให้ปลูกต้นไม้กันยุงไว้บริเวณบ้าน เช่น ตระไคร้หอม ต้นสะระแหน่ ต้นโหระพา ต้นเจอเรเนียม เป็นต้น  หากพาลูกออกนอกบ้าน ควรฉีดสเปรย์กันยุงสมุนไพร(ไม่มีสารเคมีอันตราย) ก็จะช่วยปกป้องยุงไม่ให้กัดได้ค่ะ

3. โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และคอคซาคีไวรัส (Coxsackievirus) ซึ่งโรคมือเท้าปากนี้นะคะ มักพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี(เด็กทารกและเด็กเล็ก) ป่วยกันมากและมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโตค่ะ

ลูกๆ ในทีมแม่ABK ก็เคยป่วยเป็นมือเท้าปาก น่าสงสารมากค่ะ สำหรับโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่มีการระบาดหนัก โดยเฉพาะในโรงเรียน พบว่าเด็ก 1 คนป่วยเป็นมือเท้าปาก ก็สามารถที่จะแพร่กระจายเชื้อไปสู่เพื่อนๆ ในห้องเรียนเดียวกันได้ง่ายมากค่ะ ฉะนั้นหากสังเกตพบว่าลูกมีอาการไข้ 2-3 วันแล้วอาการไข้ไม่ดีขึ้น บวกกับมีผื่นแดงอังเสบที่ลิ้น เหงือก หรือผื่นแดงบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้สงสัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ควรให้ลูกหยุดเรียน และรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ

วิธีดูแลสุขภาพ ในช่วงหน้าฝนที่โรคมือเท้าปากมักระบาดนี้นะคะ แนะนำให้คุณแม่ดูแลเรื่องความสะอาดอุปกรณ์ของใช้ลูก เวลาไปโรงเรียนต้องกำชับลูกว่าห้ามดื่มน้ำแก้วเดียวกับเพื่อนๆ วิธีที่ดีคือควรเตรียมกระบอกน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้ที่โรงเรียน หรือกล่องข้าวไปโรงเรียนด้วย กลับมาบ้านให้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค ไวรัสต่างๆ ค่ะ

4. โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease)

ไอพีดี(IPD) เป็นหนึ่งในโรคที่เด็กเล็กๆ อายุต่ำกว่า 2 ปี เสี่ยงป่วยกันมากค่ะ โรคไอพีดี เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “นิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae)” ซึ่งเชื้อนิวโมคอคคัส ยังเป็นตัวนำก่อโรค เช่น โรคปอดอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ขอบอกว่าโรคไอพีดีมีอาการรุนแรงที่ส่งผลให้เกิดการพิการ หรือเสียชีวิตได้ค่ะ

วิธีดูแลสุขาพ แนะนำว่าลูกวัยทารก เด็กเล็กๆ ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคที่น้อยและไม่แข็งแรง สิ่งที่จะกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดีอย่างแรก คือ ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกคลอด(ในน้ำนมแม่จะมีสารสร้างภูมิคุ้มให้กับร่างกายลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อต่างๆ ได้) และให้ลูกได้รับการฉีดวัคซีนที่กำหนดตามช่วงวัยค่ะ ที่สำคัญให้ดูแลเรื่องความสะอาด และไม่ควรพาลูกไปในสถานที่ที่แออัด อากาศถ่ายเทน้อย อากาศไม่สะอาดนะคะ

5. โรคท้องเสีย (Diarrhea)

ช่วงหน้าฝนเชื้อโรค เชื้อไวรัสปะปนมากับอากาศ และอาหารได้ค่ะ หากอาหารที่รับประทานไม่สะอาด ก็อาจเสี่ยงต่ออาการ ท้องเสีย ท้องร่วงได้ค่ะ โรคท้องเสีย อุจจาระร่วง เกิดจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) เด็กๆ มักมีอาการนี้กันเยอะมาก  และที่สำคัญคือการติดเชื้อไวรัสโรต้ายังไม่มียารักษาโดยตรงนะคะ เป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการให้อาการค่อยๆ ทุเลาและดีขึ้นจนปกติ

วิธีดูแลสุขภาพ แนะนำให้กระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกตั้งแต่แรกคลอดด้วยการให้กินน้ำนมแม่ ดูแลเรื่องควมสะอาด  สุขอนามัยต่างๆ ของลูก การปลุกอาหารต้องล้างทำความสะอาดวัตถุดิบให้สะอาด ขั้นตอนการปรุงต้องสะอาดด้วยเช่นกัน

ทีมแม่ABK หวังว่าลูกๆ ของทุกครอบครัวจะปลอดภัย ไม่เจ็บป่วยจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ที่แฝงตัวมาในหน้าฝนนี้นะคะ เมื่อรู้สาเหตุ ก็ป้องกันดูแลให้มากเป็นพิเศษ  รับประทานอาหารที่ดี วัคซีนต้องฉีดตรงเวลาตามช่วงวัย รับรองว่าลูกน้อยจะมีภูมิต้านทานโรค ร่างกายแข็งแรง เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ดีค่ะ …ด้วยความห่วงใย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 


อ่านบทความเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 พาหะนำโรค หน้าฝน ภัยร้ายต่อสุขภาพลูกน้อย

RSV ไวรัส ในหน้าฝนทำร้ายสุขภาพลูก

หมอเตือน อย่าใช้ยาลดไข้สูง รักษาโรคไข้เลือดออก

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ , สมาคมติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up