ป่วยเพราะเรียนออนไลน์

8 อาการ ป่วยเพราะเรียนออนไลน์ ที่เด็กไทยเสี่ยงเผชิญ!

Alternative Textaccount_circle
event
ป่วยเพราะเรียนออนไลน์
ป่วยเพราะเรียนออนไลน์

ป่วยเพราะเรียนออนไลน์ – สถานการณ์การระบาดของ โคโรนาไวรัส (โควิด-19) ยังคงน่าเป็นห่วง  ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาจากการระบาดช่วงแรกพบผู้ติดเชื้อเพียงหลักสิบ จากนั้นไม่นานตัวเลขก็ค่อยๆ วิ่งสู่หลักร้อย จนถึงหลักหมื่นไปแล้วในปัจจุบัน  ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ โรงเรียนทั่วประเทศจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ ทั้งยังต้องเลื่อนวันเปิดโรงเรียนออกไปอีกเรื่อยๆ จากกำหนดการเดิมเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่นิ่ง ชั้นเรียนต่างๆ ต้องเปลี่ยนไปใช้การเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครอง

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การเรียนรการสอนออนไลน์ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อครูที่ต้องแก้ไขหลักสูตรในการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อนักเรียนที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบใหม่ด้วย ซึ่งเด็กต้องเผชิญกับเวลาหน้าจอมากขึ้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ผลกระทบสำคัญที่ตามมาประการหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่การเรียนออนไลน์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของเด็กหากไม่มีวิธีรับมืออาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

8 อาการ ป่วยเพราะเรียนออนไลน์ ที่เด็กไทยเสี่ยงเผชิญ!

การเรียนออนไลน์ เปลี่ยนวิถีชีวิตของเด็กไทยไปค่อนข้างมาก จากการวิถีชีวิตที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมีเวลาพักสายตาและอริยาบท มีอิสระในการใช้ชีวิต มีสังคมได้พบปะเพื่อนๆ ครูอาจารย์แบบเห็นหน้าค่าตา แต่กับการเรียนออนไลน์ เด็กๆ จำเป็นต้องอยู่กับหน้าจอทุกวัน ที่สำคัญคือมีการเคลื่อนไวร่างกายที่น้อยลง ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า ความเครียด ซึ่งหากไม่มีการรับมือหรือป้องกันผลกระทบที่เกิดกับร่างกายและจิตใจ ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการ ป่วยเพราะเรียนออนไลน์ ด้วย 8 โรค ต่อไปนี้ได้ค่ะ

1.โรคเกี่ยวกับสายตา (Eye strain)

การเรียนออนไลน์ ที่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลานาน แน่นอนว่าสามารถส่งผลกระทบต่อดวงตาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาการต่างๆ ที่เกิดจากการใช้สายตามากเกินไป ได้แก่ ตาพร่ามัว ปวดตา เด็กบางคนอาจมีอาการตาแห้ง เคืองตา น้ำตาไหล หรือมีอาการปวดศรีษะร่วมด้วย นอกจากนี้เด็กที่มีสายตาสั้นอยู่เดิมก็อาจทำให้สายตาสั้นแย่ลงไปอีกได้

การป้องกัน  ให้เด็กใช้สูตร 20 20 20 กล่าวคือ เด็กควรได้พักสายตาจากการใช้หน้าจอทุก ๆ 20 นาที และได้โฟกัสไปที่บางสิ่งที่อยู่ห่างออกไปราว 20 ฟุต (6 เมตร) จ้องมองนานประมาณ  20 วินาที วิธีนี้จะช่วยให้ดวงตาและสายตาได้ผ่อนคลาย หากมีอาการตาแห้งอาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมหยอดตาบ่อยๆ หรือใช้ยาหยอดตาชนิดที่ยับยั้งการคั่งของเลือดบริเวณตา อย่างไรก็ตามควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง นอกจากนี้เด็กๆ ควรได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน พื่อให้สายตาที่ต้องเปิดรับแสงและรังสีต่างๆ จากจอมาทั้งวันได้ฟื้นฟู ทั้งนี้ในกรณีที่ลูกมีน้ำตาไหล ตาบวม ควรพาไปพบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ที่สำคัญอย่าลืมเว้นระยะห่างทางสังคม และสวมใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิดเมื่ออยู่นอกบ้าน

2.โรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมอาจไม่ได้เป็นได้แค่ในผู้ใหญ่อีกต่อไป ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการบัญญัติ ชื่อโรคใหม่ว่า  E-Learning Syndrome  ก็เป็นไปได้ การเพ่งหรือจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง นอกจากจะส่งผลเสียต่อสายตาของเด็กๆ แล้ว กล้ามเนื้อคอ และหลัง ยังเกิดอาการปวดเกร็งได้ เพราะร่างกายขาดการเคลื่อนไหวและไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ยิ่งต้องนั่งเรียนหน้าจอทุกวันอาการดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็สามารถพัฒนาจนกลายเป็นอาการปวดคอ หรือปวดหลังเรื้อรังเหมือนดั่งอาการของโรคออฟิศซินโดรมในผู้ใหญ่ได้

การป้องกัน ไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งอยู่ในท่าเดิมนานเกินไป อาจจะต้องมีการกระตุ้นให้ขยับไปมาบ้างอย่างน้อยๆ ต้อง 30 นาทีต่อครั้ง คอยเช็คว่าลูกนั่งเรียนในท่าทางที่ถูกต้อง หลังไม่งอ ควรให้ลูกนั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิงและนั่งหลังพิงเก้าอี้ให้หลังชิดขอบด้านในของเก้าอี้ ตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป

ป่วยเพราะเรียนออนไลน์
ป่วยเพราะเรียนออนไลน์

3. โรคอ้วน (Pediatric Obesity)

การใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป เสี่ยงทำให้เด็กๆ ป่วยเป็นโรคอ้วนได้ สาเหตุเกิดจากกิจวัตรประจำวันที่ขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพราะเวลาส่วนใหญ่ต้องเฝ้าคอยอยู่หน้าจอ พอถึงเวลาว่างก็อาจขว้าขนมเข้าปากจนเคยชิน เด็กบางคนกินขนมกินอาหารมากกว่าตอนที่ต้องไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติด้วยซ้ำ นอกจากนี้ในมื้ออาหารระหว่างส่วนใหญ่ อาจมีความจำเป็นต้องทานอาหารจานด่วนที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงสั่งอาหารเดลิเวอรีให้ด้วยข้อจำกัดในการออกไปซื้อหาอาหาร อาหารจานด่วนทั้งหลายเมื่อทานบ่อยๆ เช่น พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์  จะทำให้การควบคุมอาหารทำได้ไม่ดีส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

การป้องกัน หากเป็นไปได้ การคุมอาหารและการได้ออกกำลังกาย คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กได้ เทคนิคที่ดีคือผู้ปกครองต้องปรับรูปแบบกินอาหารของลูกๆ ให้ใกล้เคียงกับเวลาที่เด็กๆ ต้องไปโรงเรียน อยู่โรงเรียนกินอย่างไรเวลาที่เรียนออนไลน์อยู่บ้านก็ควรกินแบบเดียวกัน ลดปริมาณขนมขบเคี้ยว ของว่างต่างๆ เพิ่มผักและผลไม้ให้มากขึ้นในปริมาณที่เหมาะสม เปลี่ยนเวลาพักว่างจากการกินขนมไปเป็นการได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยให้ลูกห่างไกลจากโรคอ้วนได้ค่ะ

4. โรคเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ( Stress, Anxiety or Depression )

การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กต้องอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ เป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกัน ไม่ได้พบปะเพื่อนร่วมชั้น ไม่ได้เล่นสนุกตามประสาเด็ก ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดที่มากกว่าปกติได้ นอกจากนี้การใช้เวลาหน้าจอที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ มีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และปัญหาความสนใจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีปัญหาของโรคเครียด หรือเครียดง่ายกว่าปกติอยู่เป็นทุนเดิม อาจเสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ในสถานการณ์ที่ต้องอยู่แต่ในบ้านและเรียนออนไลน์ ยิ่งพ่อแม่ประสบกับปัญหาเรื่องรายได้ต่างๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจในยุคที่โควิดกำลังระบาด ความเครียดของพ่อแม่ก็มีโอกาสส่งถึงลูกได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ครอบครัวที่เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้านเพียงลำพังโดยพ่อแม่ต้องไปทำงาน อาจทำให้เด็กๆ รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เด็กเกิดภาวะซึมเศร้าได้ไม่มากก็น้อย

การป้องกัน การให้ความใส่ใจลูกเป็นเกราะป้องกันสำคัญที่จะช่วยหยุดยั้งโรคเครียดหรือซึมเศร้าได้ หากพ่อแม่ต้องไปทำงานอาจ วีดีโอคอล หรือโทรศัพท์มาพูดคุยกับลูกๆ บ้างเพื่อถามไถ่เรื่องการเรียนและความเป็นอยู่ เมื่ออยู่บ้านควรหาเวลาว่างใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันเพื่อให้เกิดความสุขมากที่สุด พูดคุยสอบถามปัญหาต่างๆ ของลูก นอกจากนี้การสร้างความมั่นคงให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไว้ใจพวกเขาเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ โดยการเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆ ช่วยกระตุ้นความใส่ใจการเล่าเรียนมากขึ้นจะช่วยให้เด็กรู้สึกดีว่ายังมีพ่อแม่ที่คอยอยู่ข้างๆ ช่วยดูแลแก้ปัญหาต่างๆ ให้ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเข้าใจลูกว่าการเรียนออนไลน์เด็กๆ อาจทำได้ไม่เต็มร้อย เพราะเด็กอาจหลุดความสนใจไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นบ้างซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา พ่อแม่ไม่ควรปะทะอารมณ์กับลูก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดกันทั้งสองฝ่ายทำให้บรรยากาศและระดับของความสุขในครอบครัวยิ่งแย่ลง

5. โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)

แม้โรคนี้มักเกิดขึ้นกับวัยกลางคนหรือคนวัยทำงาน แต่ก็สามารถเกิดกับเด็กได้เช่นเดียวกัน ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เด็กไทยจำนวนมากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนหน้าอยู่ที่หน้าจอ  พอมีเวลาว่างก็อาจนั่งเล่นเกมในคอมพิวเตอร์ เพลิดเพลินอยู่กับหน้าจอท่องโลกออนไลน์ อวัยวะที่ถูกใช้งานบ่อยคงหนีไม่พ้นมือ การใช้มือทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบางอย่าง เช่น ปวดข้อมือ ปวดแขน นิ้วชา รู้สึกเจ็บเสียวที่มือ และในที่สุดอาจป่วยเป็นโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (CTS) สำหรับอาการของโรคนี้ เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับ จะทำให้มีอาการปวดและชาตามนิ้ว และถ้าเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานาน บ่อยๆ เข้า กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือ ด้านนิ้วหัวแม่มือลีบ และเล็กลงได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กๆ

การป้องกัน ควรให้ลูกได้ปรับท่าทางในการใช้งานมือให้ถูกต้องเหมาะสม กระตุ้นให้ลูกบริหารข้อมือเป็นพัก ๆ เช่น สะลัดมือ กำมือแล้วปล่อยเพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ เพื่อให้มือได้พักหลังใช้งานเป็นเวลานาน ควรระวังไม่ให้ลูกทำกิจกรรมที่อาจทำให้อาการต่างๆ ของมือแย่ลง เช่น งานที่ต้องเกร็งข้อมือเป็นเวลานาน หรือต้องกระดกมือขึ้นลงบ่อยๆ  ซึ่งจะทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้น นอกจากนี้การประคบเย็นเมื่อมือบวมจะช่วยชะลอ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับเส้นประสาทที่ข้อมือ ซึ่งจะช่วยถนอมมือของเด็กๆ ให้ห่างไกลจากโรคพังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้ค่ะ

6. โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)

สำหรับบางคนแทนที่จะมีเวลาได้พักผ่อนนอนหลับ เพราะมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นหลังจากต้องเปลี่ยนมาเรียนแบบออนไลน์ แต่ความเป็นจริงกลายเป็นว่าตารางการนอนหลับพักผ่อนกลับผิดเพี้ยนไป และแทนที่จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น กลับรู้สึกเหนื่อยล้ายิ่งกว่าเดิม เนื่องจากการใช้เวลาอยู่หน้าจอที่มากขึ้น ทำให้เด็กๆ นอนหลับยากขึ้นคุณภาพการนอนก็ถูกลดทอนลง ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดได้จากความเครียด ความวิตกกังวลในการเรียน ตลอดจนการพักดูคลิปวีดีโอ หรือเล่นเกม ระหว่างการทำการบ้านออนไลน์  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จอมือถือ จอคอมพิวเตอร์ มีการปล่อยแสงสีฟ้าเทียมที่ยับยั้งปริมาณเมลาโทนินซึ่งช่วยให้นอนหลับสบายที่ร่างกายปล่อยออกมาทำให้จังหวะชีวิตตามธรรมชาติถูกรบกวนด้วยเวลาที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์  นอกจากนี้เมื่อเด็กๆ ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนตามวิถีชีวิตเดิม ทำให้เด็กมีเวลาที่จะนอนดึกหรือตื่นสายมากยิ่งขึ้น เพราะรูปแบบตารางการเรียนที่ไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเวลาในการนอนหลับตามปกติของเด็กๆ และนำไปสู่การอดนอน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจตามมาได้

การป้องกัน ตั้งกฏเกณฑ์ให้ชัดเจนในเรื่องของเวลาการเข้านอน หากเป็นไปได้ไม่ควรให้มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในห้องนอนลูก หมั่นตรวจตราสภาพแวดล้อมในห้องนอนไม่ให้ร้อนเกินไปหรือมีแสงสว่างมากเกินไป เด็กๆ ควรได้นอนหลับพักผ่อนตอนกลางคืนเฉลี่ย 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งมีส่วนช่วยให้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หลั่งเป็นปกติ ช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ช่วยเสริมภูมิต้านโรคที่ดีให้กับเด็กๆ

ป่วยเพราะเรียนออนไลน์

7. อาการปวดหัว (Headaches from Eye strain)

การเว้นระยะห่างทางสังคม ด้วยการเรียนออนไลน์ เด็กๆ ต้องใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจนำมาซึ่งอาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดกระบอกตา  ตาบวม และอาจถึงขั้นอาเจียนได้ เป็นเพราะการใช้สายตามากกว่าปกติ นอกจากนี้ปริมาณแสงสว่างในห้องที่ใช้เรียนออนไลน์ไม่เพียงพอก็อาจส่งผลทำให้เด็กมีอาการปวดหัวได้ เช่นเดียวกับการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

การป้องกัน ให้ลูกได้ใช้ แว่นกรองแสง หรือแผ่นกรองแสงหน้าจอที่ช่วยลดแสงสีฟ้าที่สามารถทำอันตรายตาดวงตาซึ่งนำไปสู่อาการปวดศรีษะและช่วยลดอาการแสบตา เคืองตาได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญการให้เด็กๆ ได้ ปฏิบัติตามสูตร 20 20 20 จะช่วยลดความเมื่อยล้าของดวงตาที่นำไปสู่อาการปวดหัวได้

8. โรคภูมิแพ้ (Allergy)

เมื่อต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน เด็กๆ เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในบ้านได้มากกว่าปกติ สารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านส่วนใหญ่ได้แก่ ไรฝุ่น เชื้อรา ซึ่งอาจแฝงอยู่ตาม ที่นอน หมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตา เป็นต้น  ยิ่งเด็กที่มีปัญหาเรื่องโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้อยู่เดิม ยิ่งต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้สารประกอบทางเคมีจากจอคอมพิวเตอร์สามารถก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ โดยตัวการที่ทำให้เกิด อาการภูมิแพ้ ชื่อว่า Triphenyl Phosphate (TPHP) เป็นสารประกอบทางเคมีที่ทำให้ให้ร่างกายมนุษย์เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างๆ  เช่น คันตา คันตามผิวหนัง คัดจมูก และปวดศีรษะ หากสภาพภายในห้องทำงานมีเนื้อที่แคบหรือจำกัด เครื่องคอมพิวเตอร์อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ก่อให้เด็กๆ เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้

การป้องกัน แน่นอนว่าการรักษาความสะอาดภายในบ้าน ตลอดจนความสะอาดบริเวณที่นั่งเรียนออนไลน์ของลูกเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่จะช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ควรจัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกสามารถหายใจได้สบาย ปลอดโปร่ง ที่สำคุญควรหาเวลาให้เด็กๆ หยุดพักห่างจากหน้าจอเป็นช่วงๆ ไม่ควรให้ลูกนั่งอยู่บริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป เพราะสารประกอบทางเคมีจากคอมพิวเตอร์อาจก่อให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้

การต้องปรับตัวปรับวิถีชีวิตมาสู่การเรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบส่งผลกระทบต่อตัวผู้ปกครองและเด็กๆ ในด้านต่างๆ ได้มากบ้างน้อยบ้างอาจแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่ที่สำคัญ ประโยชน์ของการเรียนรูปแบบออนไลน์ คือ การได้เว้นระยะห่างทางสังคม เด็กๆ ไม่ต้องออกไปพบปะผู้คนจำนวนมาก

แต่ทั้งนี้ เรื่องของสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กๆ เมื่อต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้านเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม ความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากไม่มีวิธีจัดการและรับมือที่เหมาะสม ดังนั้นการปฏิบัติตัวตามแนวทางที่ช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพกายและใจของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้เมื่อเราปลูกฝังลูกให้มีกิจวัตรประจำวันที่เหมาะสมเพื่อห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ถูกล้อมรอบไปด้วยโรคระบาดเช่นนี้ จะช่วยให้เด็กๆ เกิดความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ ใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพร่างกาย สามารถพึงระวังและป้องกันอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : narayanahealth.org , news.trueid.net , students.ubc.ca , thaipost.net , jhunewsletter.com  , th.yanhee.net

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูก เครียดเพราะเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร?

อีกหนึ่งเสียง..จากใจแม่! 5 เหตุผลที่ไม่ควรให้ลูกเรียนออนไลน์

เรียนออนไลน์ เตรียมตัวอย่างไรได้ผลดี ลูกแฮปปี้ ไม่เครียดเกินไป

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up