แพทย์เตือน ฟลูโรนา (flurona) ติดโควิดพร้อมไข้หวัดใหญ่

Alternative Textaccount_circle
event

แพทย์เตือน ฟลูโรนา (flurona) กำลังมา

ระวัง! ติดโควิดพร้อมไข้หวัดใหญ่

นอกจากโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักจนมีผู้ติดเชื้อและเสี่ยงชีวิตจำนวนมาก ก็ยังมีโรคตามฤดูกาลอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี จะเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด ดังนั้นนอกจากการระมัดระวังไม่ให้ติดโควิดแล้ว ก็ต้องระมัดระวังไข้หวัดใหญ่ด้วย การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงจำเป็นไม่แพ้การฉีดวัคซีนวิด19 เลยค่ะ โดยตอนนี้ในต่างประเทศเริ่มมีการระบาดของ ฟลูโรนา (flurona) ติดไข้หวัดใหญ่พร้อมโควิด แล้ว

ไข้หวัดใหญ่ระบาดน้อยในช่วงที่ผ่านมา

เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกประกาศใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจทั้งหมดลดลง ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่, โรค RSV เชื้อไวรัสในเด็กเล็ก เนื่องจากมีการสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกลดลง ประมาณ 70-80 เท่า แต่เมื่อไรก็ตามที่เริ่มมีการถอดหน้ากากอนามัยมากขึ้น โรคไข้หวัดใหญ่ก็จะกลับมาอีก

หลายประเทศมีสัญญาณไข้หวัดใหญ่ระบาด

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มมีสัญญาณการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ให้เห็น อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกาใต้ จีน และอินเดีย เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการเปิดประเทศกันมากขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกันมากขึ้น ประชาชนเริ่มมีวินัยลดลง ขณะที่ในทวีปยุโรป อย่างประเทศเดนมาร์ก ได้ออกประกาศยกเลิกมาตรการป้องกันโควิดเกือบทั้งหมด ไม่มีการกักตัว ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งส่งผลให้เริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ยังคงมีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกาใต้ จึงเริ่มมีรายงานจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น บวกกับอยู่ในช่วงฤดูหนาว มีอากาศเย็น เชื้อโรคจึงแพร่กระจายได้มากขึ้นและมีชีวิตอยู่นานขึ้น

ผู้ป่วย Flurona ติดไข้หวัดใหญ่พร้อมโควิด กำลังมากขึ้น

ในช่วงต้นมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ประเทศอิสราเอลได้ตรวจพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อร่วมกันระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ในเวลาเดียวกันเรียกว่า ‘ฟลูโรนา’ (Flurona)  และยังพบผู้ที่ติดเชื้อร่วมกันระหว่าง 2 โรคนี้ แพร่กระจายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ตามหลักทางการแพทย์นั้นการติดเชื้อร่วมกันมีความเป็นไปได้ และย่อมก่อให้เกิดอาการรุนแรงกว่า เสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาล และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว

ฟลูโรนา (flurona)
อาการ flurona ติดไข้หวัดใหญ่พร้อมโควิด กำลังมา

ฟลูโรน่า หรือ Flurona  คืออะไร

ฟลูโรน่า  คือ อาการของผู้ที่ติดเชื้อ ไข้หวัด และ เชื้อไวรัสโคโรน่า (โรคโควิด19) ในเวลาเดียวกัน มีสาเหตุเหมือนกันคือการแพร่ผ่านน้ำลาย และ ละอองฝอย เมื่อ พูด ไอ และ จาม เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เชื้อทั้งสอง เป็นไวรัสทั้งคู่ แต่เป็นไวรัสคนละตระกูลกัน

Flurona มีอาการอย่างไร

ไวรัสของไข้หวัดใหญ่ และไวรัสโคโรน่า ทำให้เกิดอาการคล้าย ๆ กัน คือ มีอาการทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด คัดจมูก อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว

Flurona รุนแรงแค่ไหน

กรณีคนที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรืออวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ในปัจจุบัน อาการของฟลูโรนาเท่าที่มีการรายงาน ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากโควิดทั่วไป ขณะนี้มีข้อมูลรายงานการตรวจพบในอิสราเอล บราซิล ฮังการี ฟิลิปปินส์

ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด19 ร่วมกันได้อย่างไร

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวถึงแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร่วมกัน (Flurona) โดยแนะให้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมกับที่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรฉีดวัคซีนทั้งไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19 ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเสมือนเป็นเสื้อเกราะต่อทั้ง 2 โรค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงของทั้ง 2 โรค คือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคปอด และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ช่วยลดการเสียชีวิตจากโควิด19

การศึกษาวิจัยต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา และบราซิล ยังระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 10 ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากร่างกายถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้มีภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไปด้วย

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ห่างจากโควิด 1 เดือน

คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยเว้นระยะห่างจากการรับวัคซีนโควิดเป็นเวลาห่างกัน 1 เดือนขึ้นไป ซึ่งการฉีดวัคซีนจะทำให้ลดอาการเจ็บป่วยของโรค และป้องกันผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และเด็ก ซึ่งทั้งหมดถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงค่ะ

หากเป็นไปได้ ทีมแม่ ABK อยากให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยและตัวเองไปรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัวนะคะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
Post Today, ฐานเศรษฐกิจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เช็กเลย! อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ ช่วงโควิด-19 อันตราย! WHO เตือนคนท้อง-เด็กเล็ก ยิ่งต้องระวัง

หมอเตือน! อาการไข้หวัดใหญ่ คล้ายกับโควิด-19 ติดร่วมกันได้ทำให้ป่วยหนัก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up