โรคมือ เท้า ปาก

กรมควบคุมโรคแนะ! 6 ขั้นตอนคัดกรองเด็กป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

Alternative Textaccount_circle
event
โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก

กรมควบคุมโรคแนะ! 6 ขั้นตอนคัดกรองเด็กป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อากาศเย็นลงและมีความชื้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ประกอบกับสถานศึกษาเปิดเรียนเป็นปกติ เด็กอาจมีการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งโรคดังกล่าวมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ดังนั้น สถานศึกษาต้องมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วย โรคมือ เท้า ปาก ค่ะ

 

สถิติโรคมือ เท้า ปาก ล่าสุด

สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2565 มีรายงานพบผู้ป่วย 258 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 2 ปี (ร้อยละ 24.81) อายุ 1 ปี (ร้อยละ 24.03) และ อายุ 3 ปี (ร้อยละ 12.40) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงราย พะเยา น่าน จันทบุรี และอ่างทอง ตามลำดับ

สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71) กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้างค่ะ

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดง ดังนี้

  • มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียส
  • ไอ เจ็บคอ
  • ไม่อยากอาหาร
  • ปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย
  • มีตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก
  • เด็กวัยแรกเกิดและเด็กเล็กวัยหัดเดินจะมีอาการงอแงไม่สบายตัว

โดยอาการจะเริ่มจากมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสก่อน จากนั้นจึงมีอาการอื่น ๆ ตามมาภายใน 1-2 วัน ได้แก่ ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย และจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน

โรคมือ เท้า ปาก
ตุ่มที่มือ

ขอบคุณภาพจาก Infectious ง่ายนิดเดียว

ตุ่มพอง ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่เกิดขึ้นภายในปาก อาจเกิดได้ทั้งบริเวณปากด้านนอกและด้านใน บนริมฝีปาก ในลำคอ บนลิ้น หรือกระพุ้งแก้มด้านใน ตุ่มแผลเหล่านี้จะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลืนน้ำดื่มหรืออาหาร และตุ่มพองน้ำกับผื่นเป็นจุด ๆ จะเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้าและบางครั้งก็พบที่บริเวณก้นและขาหนีบด้วยเช่นกัน

ตุ่มและแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายเป็นอีสุกอีใส แต่มีขนาดเล็กกว่า บางครั้งทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง และไม่สบายตัว แต่หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายใด อาการป่วยจะทุเลาลงและหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 10 วัน

โรคมือ เท้า ปาก
ตุ่มที่เท้า

ขอบคุณภาพจาก Infectious ง่ายนิดเดียว

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

ในปัจจุบันโรคมือเท้าปากยังไม่มีการรักษาโดยตรง แต่เป็นการรักษาอาการทั่ว ๆ ไปตามแต่อาการที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ก็จะให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด และ/หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนทางสมองและหัวใจ เป็นต้น

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

นายแพทย์โอภาส เน้นให้สถานศึกษา สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้

  1. คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้าอย่างเคร่งครัด
  2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
  3. หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ
  4. สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น
  5. จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรมหรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
  6. หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ก่อนมาเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่บ้าน ส่วนโรงเรียนหากพบเด็กป่วย ให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้คุณพ่อคุณแม่รับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมทั้งให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่น งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
โรคมือ เท้า ปาก
กรมควบคุมโรคแนะ! 6 ขั้นตอนคัดกรองเด็กป้องกัน โรคมือ เท้า ปาก

วิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ นะคะคุณพ่อคุณแม่ ขอให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการลูกร่วมกับทางโรงเรียนเพื่อป้องกันลูกของเราจากมือเท้าปากค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. pobpad

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

ทำไมเด็ก ๆ ถึงชอบเป็น โรคมือเท้าปาก

ระวัง! โรคมือเท้าปาก EV71 สายพันธุ์รุนแรง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up