กฎหมายคาร์ซีท

หมอย้ำ 8 ข้อควรรู้ กฎหมายคาร์ซีท “รักลูกอย่ากอด” นั่งคาร์ซีทปลอดภัยกว่า

event
กฎหมายคาร์ซีท
กฎหมายคาร์ซีท

“รักลูกอย่ากอด” ใช้คาร์ซีท ปลอดภัยกว่า! หมอเด็กชี้แจ้ง กฎหมายคาร์ซีท กับ 8 ข้อควรรู้ ก่อนถึงวันบังคับใช้กฏหมาย ชีวิตลูกสำคัญสุด พ่อแม่ควรทำอย่างไรบ้าง

กฎหมายคาร์ซีท เริ่มใช้วันไหน!

นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พ่อแม่หลายคนต้องตระหนัก กับ กฎหมายคาร์ซีท เมื่อราชกิจจาฯ ได้ประกาศปรับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับล่าสุด เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้มีคาร์ซีทตลอดเวลาที่โดยสารรถ ส่วนผู้โดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท มีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน หรือในวันที่ 5 กันยายน นี้

จาก พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

  • คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์

  • คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

  • คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด

  • ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

อ่านประกาศ กฎหมาย คาร์ซีท ฉบับเต็ม คลิกที่นี่ >> https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=139A028N0000000000500

กฎหมาย คาร์ซีท

แน่นอนว่า “คาร์ซีท” ถือเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีเมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องการพาลูกน้อยออกเดินทางทั้งใกล้หรือไกล เพราะจะสามารถปกป้องและลดความรุนแรงของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้กับเด็ก องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า การใช้ “คาร์ซีท” ช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กได้ถึงร้อยละ 70 ปัจจุบัน 96 ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายบังคับใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กแล้ว

กอดลูก..ให้นั่งตัก = รักลูกผิดทาง

ทั้งนี้ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล  และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ออกมาเผยข้อมูลสนับสนุน กฎหมายคาร์ซีท นี้ ถึงเวลาคุ้มครองชีวิตเด็กๆ … ถึงเวลาที่นั่งนิรภัย !

โดยนพ.อดิศักดิ์ แนะนำว่า ระหว่างนี้ให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวหาอุปกรณ์ และปรับทัศนคติต่อความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัย เพราะการให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดตรงที่นั่งข้างคนขับทำให้เด็กเสี่ยงอันตรายมากกว่าเบาะหลัง 2 เท่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือการอุ้มเด็กไว้บนตักไม่ได้ช่วยสร้างความปลอดภัย

8 ข้อ ที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับคาร์ซีท

  1. ที่นั่งนิรภัยต้องใช้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด
  2. อุ้มเด็กนั่งตักในเบาะหน้าคือจุดที่อันตรายที่สุดในรถ
  3. เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ให้นั่งเบาะหลังเสมอ ความเสี่ยงต่อการตายจะลดลงสองเท่าตัว
  4. การใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถเป็นมาตรการการลดการบาดเจ็บการตายที่สำคัญที่สุดจากการกระเด็นทะลุกระจกออกนอกหรือลอยออกจากที่นั่งตาม
  5. คาดเข็มขัดที่ไม่เหมาะสมมีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บกระดูกไขสันหลัง ไขสันหลังและช่องท้อง
  6. เด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีหรือสูงน้อยกว่า 135 ซม. อาจใช้เข็มขัดนิรภัยปกติไม่ได้ ให้พิจารณาการใช้ที่นั่งนิรภัยเสมอ
  7. ถุงลมนิรภัยในที่นั่งข้างคนขับ สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ไม่ควรให้เด็กนั่งในตำแหน่งนั้นอีกต่อไป
  8. เวลา 120 วัน ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่เป็นเพียงเวลาที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัว แต่เป็นเวลาที่รัฐ ชุมชน องค์กร บริษัท หน่วยงานบริการสุขภาพเด็ก หน่วยงานบริการการศึกษาเด็กปฐมวัย ต้องเตรียมตัว ต้องมีมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงที่นั่งนิรภัยด้วย

กฎหมาย คาร์ซีท

ทั้งนี้รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังกล่าวว่า คาร์ซีท แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ

  • กลุ่มอายุ แรกเกิด-2 ปี ต้องใช้คาร์ซีท หรือที่นั่งนิรภัย ติดตั้งไว้ที่เบาะหลัง หันหน้าเด็กไปหลังรถ
  • กลุ่มอายุ 3-7 ปี ใช้ คาร์ซีท ที่มีเข็มขัดนิรภัยภายในยึด 5 จุดติดกับเบาะหลัง หันหน้าไปหน้ารถ
  • กลุ่มอายุ 6-7 ปี จะใช้เก้าอี้เสริมคาดยึดเข็มขัดจากตัวรถ

ซึ่งประเภทของคาร์ซีท จะมีแตกต่างกันออกไป เพื่อเหมาะกับเด็กช่วงอายุที่ต่างกัน ดังนั้นพ่อแม่ที่ให้ความสนใจ “คาร์ซีท” เพื่อความปลอดภัยของลูก ก็จะต้องเปลี่ยนคาร์ซีทไปตามช่วงอายุและสรีระของลูกน้อย ซึ่งบางคนที่มีทุนทรัพย์ การหาซื้อมือหนึ่งตามร้านหิ้ว หรือห้างสรรพสินค้า คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากทุนทรัพย์น้อย การหาซื้อคาร์ซีทมือสอง ราคาไม่แพง ถือเป็นตัวเลือกอีกช่องทางหนึ่ง


ขอบคุณข้อมูลจาก www.thairath.co.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก ⇓

เด็กทารกจำเป็นต้องใช้คาร์ซีท จริงหรือ?

ลูกดารานั่งคาร์ซีท รู้ไหม เหล่าหนูน้อยลูกซุปตาร์ก็นั่งคาร์ซีทนะ!

ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท หรือไม่ ทำไมไม่ควรอุ้มเด็กนั่งในรถระหว่างเดินทาง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up