ลูกเรียนดนตรี

เทคนิคส่งเสริมความสามารถด้านดนตรีให้ลูก ง่ายๆ (ตั้งแต่ในท้อง-12ปี)

event
ลูกเรียนดนตรี
ลูกเรียนดนตรี


ลูกเรียนดนตรี

** วัยอนุบาล

1. สร้างและสนับสนุนกิจกรรมดนตรีที่หลากหลาย เช่น ฟัง ร้อง เล่น เคลื่อนไหว โดยสามารถเลือกใช้บทเพลงสั้นๆ หรือ เลือกบทร้องต่างๆที่ใช้ในวัฒนธรรมไทยเช่น โยกเยกเอย จ้ำจี้ ก็ได้

2. เลือกคุณภาพ และความหลากหลายของบทเพลง การเลือกกิจกรรมทางดนตรีสำหรับเด็ก อาจเข้าทำนองการบริโภคอาหารอย่างถูกต้อง คือบริโภคอาหารให้ได้สารอาหารหลากหลายครบทั้ง5 หมู่ ทางดนตรีก็เช่นกัน การฟังเพลง หรือร้องเพลง ควรคำนึงถึงปัจจัยในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ด้านคุณภาพ ถ้าเป็นบทเพลงบรรเลงให้เลือกบทเพลงที่มีความประณีต ไพเราะ มีเสียงชัดเจน ไม่ดังเกินไป ถ้าเป็นบทเพลงร้องให้มีคำร้องที่สุภาพ มีความคล้องจอง และสัมผัสในบทร้องถือเป็นคุณภาพทางภาษาที่ดี
  • ด้านความหลากหลาย ให้คำนึงถึงเพลงไทย ทำนองไทย เพลงสากล เพลงบรรเลง หมอลำ ลำตัด ลูกทุ่งและเพลงประเภทต่างๆที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม

3. เรียนดนตรีด้วยความสุข โดยให้ดนตรีอยู่ในชีวิตประจำวัน การฟังเพลง ร้องเพลง เล่นดนตรี เคลื่อนไหวไปกันดนตรี เป็นกิจกรรมดนตรีที่เหมาะสมซึ่งในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก (2-3 ขวบ) และระดับอนุบาล (3-5ขวบ) คุณครูจะสอดแทรกกิจกรรมดนตรีดังกล่าวระหว่างเวลาเรียนอยู่แล้ว ดังนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ ลองสอบถาม หรือสังเกตว่าลูกร้องเพลง ฮัมเพลง หรือเต้นรำอะไร ในเวลาที่เขาเพลินๆ จากนั้นสนับสนุน ชื่นชม สิ่งที่เด็กๆทำได้เพื่อสร้างกำลังใจ และสิ่งแวดล้อมทางดนตรีที่ดี

** วัยประถม

ก่อนอื่น ขออธิบายว่าความสามารถที่หลายคนกำลังพูดถึงและให้ความสนใจนั้น บางครั้งมักจะพลาดโดยความหมายแคบๆคือ “ความสามารถทางดนตรีเท่ากับความสามารถในการบรรเลงดนตรี”  ซึ่งหลายครั้งได้หมายความถึงความเก่งด้านการเล่น หรือทักษะด้านการบรรเลงเครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ขอแนะนำให้ใช้ความหมายที่กว้างกว่าของความสามารถทางดนตรี เนื่องจากว่าทั้ง3 ส่วนนี้สอดประสานกันและควรคำนึงถึงในการระบุความสามารถของเด็กในการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นด้านต่างๆ วิชาต่างๆ ดังนี้

  • ความสามารถด้านสติปัญญา (Cognitive Domain) การคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล การคิดคำนวณหาคำตอบ ความเก่งดนตรีจึงเกี่ยวข้องกับ การเข้าใจจังหวะ ทำนอง เสียงประสาน หรือ องค์ประกอบดนตรีด้านอื่นๆ สามารถจำเนื้อ จำโน้ตเพลงได้ สังเกตความเหมือนความต่างในดนตรีประเภทต่างๆได้
  • ความสนใจและเจตคติ (Affective Domain) มีแรงจูงใจใฝ่รู้ความรักดนตรี เกี่ยวข้องกับ ความรู้สึก สนุก ชอบ ผูกพัน เป็นธรรมชาติ
  • ความคล่องแคล่วในการใช้ร่างกาย (Psychomotor Domain) และการสอดประสานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และกล้ามเนื้อมัดเล็กในการปฏิบัติทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรี

ดังนั้นการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถทางดนตรีสำหรับเด็กประถม จึงควรคำนึงถึงการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาความคิด ความสนใจและเจตคติต่อดนตรี รวมถึงความคล่องแคล่วในการใช้ร่างกายในการปฏิบัติทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรี  การเปิดโอกาสให้เด็กโตได้เลือกทำกิจกรรมทางดนตรีไม่ว่าจะการรวมวงดนตรีกับเพื่อน การเลือกฟังเพลงต่างๆ ร้องเพลงที่ตนเองชอบจะช่วยสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านดนตรีโดยองค์รวม

คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างรากฐานแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก ดังเช่นคำพูดที่ว่า “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” เพราะในช่วงแรกของชีวิตเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เด็กที่ได้รับการเตรียมพร้อมโดยพ่อแม่ก่อนเข้าโรงเรียนย่อมได้เปรียบกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมที่บ้าน เช่น ดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การเรียนดนตรีก็เช่นเดียวกันครับ คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากที่เข้าใจว่า เมื่อส่งลูกเข้าเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนดนตรีก็หวังจะให้ลูกน้อยประสบความสำเร็จทางด้านดนตรี แต่ไม่ได้สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ดนตรีที่บ้าน เช่น เปิดเพลงให้ฟัง พาเด็กไปชมการแสดงดนตรี ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

ที่สำคัญ ดนตรีที่ส่งเสริมความคิดที่ดีนั้นต้องเป็นดนตรีที่กลั่นกรองมาดี เช่น ดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีพื้นบ้าน หมายความว่าเป็นดนตรีที่ไม่ได้รับการปรุงแต่งด้วยเทคโนโลยีจนผิดธรรมชาติ และวิธีช่วยลูกให้มีความฉลาดด้านต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการจัดสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูที่ถูกต้อง การสังเกต ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข และความเข้าใจที่มีให้ จะสร้างลูกให้เป็นทั้งคนดีและคนฉลาดได้ไม่ยากเลย

อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์ บทความโดยนิตยสาร Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up