มี้จังและการสอนเรื่องความรับผิดชอบแบบคนญี่ปุ่น

Alternative Textaccount_circle
event

ในวัย 5 ขวบที่เป็นช่วงต่อระหว่างวัยเด็กเล็กและเด็กโตอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลว่าลูกของตนมีศักยภาพในการทำอะไรได้บ้าง ในวัยนี้เด็กน้อยหลายคนคงเข้าอนุบาลกันหมดแล้ว และเมื่อต้องห่างไกลสายตาไป คุณพ่อคุณแม่ก็ย่อมมีความเป็นห่วงว่าลูกของตนจะช่วยเหลือตัวเองได้ขนาดไหน สามารถทำอะไรตามคำสั่งได้หรือเปล่า ซึ่งสิ่งนั้นก็คือลูกของเรานั้นสามารถรับผิดชอบตนเองได้มากขนาดไหนในวัยเท่านี้ คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของเรานั้นรู้จักความรับผิดชอบ และหากว่ายังไม่รู้ จะเริ่มสอนได้เมื่อไหร่ และต้องสอนอย่างไร

เมื่อพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจมองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ เพราะคำนี้สื่อไปถึงบุคลิกที่เชื่อมโยงกับสังคมในอนาคตของเจ้าตัวน้อยด้วย แต่จริงๆ แล้วความรับผิดชอบเริ่มต้นด้วยความหมายง่ายๆ และใกล้ตัวมากกว่าที่คิดค่ะ เราลองมาดูการสอนให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบผ่านนิทานเรื่อง “งานแรกของมี้จัง” ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นกันดีกว่าค่ะ

งานแรกของมี้จังเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงมี้จังวัย 5 ขวบ ที่คุณแม่ได้ไหว้วานให้เธอช่วยออกไปซื้อนมที่ร้านชำใกล้บ้าน และมี้จังก็พยายามทำหน้าที่นั้นอย่างมุ่งมั่นและสำเร็จจนได้ แม้จะเจออุปสรรคบ้างก็ตาม อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ยากสำหรับผู้ใหญ่หลายๆ คน แต่การออกไปซื้อของนอกบ้านก็นับเป็นการผจญภัยที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กคนหนึ่งเลยทีเดียว และหากมองตามเนื้อเรื่องเราก็จะเห็นได้ว่า ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเด็กวัยเพียงเท่านี้ก็เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองได้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะนำแนวทางมาปรับใช้และสั่งสอนลูกของเราได้

การสอนเรื่องความรับผิดชอบแบบคนญี่ปุ่น

การสอนเรื่องความรับผิดชอบแบบคนญี่ปุ่นเริ่มต้นตั้งแต่เข้าโรงเรียนอนุบาล เมื่อพ่อแม่พาเด็กมาส่งให้คุณครูที่โรงเรียนเรียบร้อยแล้ว ทางโรงเรียนจะให้เด็กทำหน้าที่ของตนเอง เช่นการนำสิ่งของของตัวเอง อย่าง รองเท้า กระเป๋าที่นอน ผ้ากันเปื้อน ไปเก็บไว้ในที่ที่จัดเตรียมไว้ หลังจากนั้นจึงจะเข้าไปร่วมเล่นของเล่นกับเพื่อนๆ ได้ แม้เด็กเล็กอาจจะยังทำไม่ได้ทันทีในวันแรกๆ แต่คุณครูก็จะคอยช่วยบอกและพาเด็กไปทำสิ่งนั้นอย่างใจเย็น เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าการช่วยเหลือตนเองเป็นสิ่งที่ควรทำ และเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำได้ ซึ่งสิ่งนี้จะสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันของเด็กไปเรื่อยๆ ทำให้ตัวเด็กเกิดความคุ้นเคยและรับรู้หน้าที่ของตนเองได้ในที่สุด

ให้เด็กดูแลรับผิดชอบเรื่องของตนเอง

เช่นเดียวกับเรื่องมี้จังที่คุณแม่ของมี้จังไม่ได้บอกตรงๆ ว่าต้องทำอะไร แต่ใช้การมอบหมายงานง่ายๆ ให้รับผิดชอบและคอยดูแลลูกอยู่ห่างๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้หนังสือเล่มนี้มาอ่านให้ลูกฟัง หรือลองนำวิธีของแม่มี้จังมาปรับใช้ก็ได้ เริ่มต้นง่ายๆ แบบนี้ค่ะ

เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว ลองมอบหมายงานง่ายๆ ให้ลูก เช่น ให้ลูกช่วยทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ช่วยรดน้ำต้นไม้ แล้วสังเกตว่าลูกของเราทำได้ดีขนาดไหน อาจไม่ต้องถึงกับทำได้ดีหรือสำเร็จลุล่วงตั้งแต่ครั้งแรก แต่เน้นให้เขาสนุกและตื่นเต้นกับสิ่งนั้น จนอยากทำมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นค่อยตกลงกับลูกว่า สิ่งนี้จะเป็นหน้าที่ที่หนูจะได้ทำเองทุกวันนะ และคอยสังเกตดูว่าลูกของเราจะทำสิ่งนั้นได้ต่อเนื่องหรือเปล่า หากว่าไม่ก็อย่าเพิ่งต่อว่าหรือจับผิด แต่ให้ชวนเขาลงมือทำด้วยกันอีกครั้ง

-ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง แม้การปล่อยให้เด็กทำด้วยตัวเองอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความเสียหายต่อสิ่งของไปบ้าง (หรืออาจวุ่นวายมาก) แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ลองท้าทายตัวเองเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ในตัวของเด็กมีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด ดังเช่นในเรื่องที่คุณแม่ปล่อยให้มี้จังออกไปซื้อของที่ร้านชำด้วยตนเอง แม้จะรู้ว่าข้างนอกนั้นมีทั้งรถทั้งคนและอาจเกิดอันตรายได้ อีกอย่างหนึ่งการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความผิดพลาดและนำความผิดพลาดนั้นไปใช้ในการแก้ปัญหาครั้งต่อไป

-คอยดูแลอยู่ห่างๆ ใช้คำสั่งสอน ไม่ใช่ชี้นำ หลังจากที่มอบหมายงานให้ลูกแล้ว เราต้องมั่นใจในตัวเขาในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับปล่อยให้เผชิญสิ่งแปลกใหม่โดยลำพัง  หากมองในเรื่องงานแรกของมี้จังจะเห็นได้ว่า แม้คุณแม่จะบอกให้มี้จังออกไปซื้อนมให้แม่ และปล่อยให้ไปเพียงคนเดียว แต่คุณแม่ก็ไม่ได้ปล่อยให้มี้จังคลาดจากสายตา เพราะสุดท้ายคุณแม่ก็ยังมารอรับมี้จังอยู่ที่ตรงปลายเนิน ทำให้เห็นได้ว่าเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นยังอยู่ในความดูแลของคุณแม่ แต่เธอไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทันที กลับมองดูลูกของตนเองว่าจะแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไหม ซึ่งในทางกลับกันหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น คุณแม่ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทันทีเช่นกัน อีกข้อหนึ่งที่สำคัญในการเว้นระยะห่างเมื่อลูกๆ กำลังลงมือทำคือช่วยให้เขากล้าที่จะลงมือทำด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีการชี้นำหรือบอกว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ซึ่งจะเป็นการสร้างเสริมความมั่นใจในตัวเองที่ดีในอนาคต

-มอบคำชมเมื่อทำได้สำเร็จ เมื่อลูกๆ รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้ดี ให้ชมเชยความสามารถของเขา คำชมเชยเป็นที่เด็กๆ อยากจะได้ยินจากปากของคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความรักและยังช่วยสร้างเสริมกำลังใจ พร้อมทั้งเป็นแรงกระตุ้นในการทำสิ่งต่างๆ แต่หากลูกๆ ยังทำไม่สำเร็จก็อย่าเพิ่งผิดหวังนะคะ ให้กำลังใจและทำให้เขามั่นใจว่าตนเองก็สามารถทำได้ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถสร้างทั้งความรับผิดชอบและความมั่นใจในตัวเองให้เด็กๆ ไปพร้อมกันได้ค่ะ 🙂

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up