ป้อนข้าวลูกท่านอน อันตราย

อันตรายถึงชีวิต!! ป้อนข้าวลูกท่านอน ทารกสำลักถึงตาย

Alternative Textaccount_circle
event
ป้อนข้าวลูกท่านอน อันตราย
ป้อนข้าวลูกท่านอน อันตราย

ป้อนข้าวลูกท่านอน อันตรายไหม คำถามดราม่าสนั่นโซเซียลจนคุณหมอเด็กรีบออกมาเตือน อย่าหาทำ ลูกสำลักลงหลอดลม ช่วยไม่ทันอันตรายถึงชีวิต แนะวิธีดูแล และช่วยเหลือ

อันตรายถึงชีวิต!! ป้อนข้าวลูกท่านอน ทารกสำลักถึงตาย

การป้อนอาหารเด็ก เป็นหัวข้อคำถามยอดฮิตอีกหัวข้อหนึ่งในกลุ่มแม่เลี้ยงลูก นานาคำถาม นานาปัญหาสารพัน ไม่ว่าจะเป็น ป้อนข้าวน้องได้ตอนอายุเท่าไหร่ ป้อนอาหารได้ตอนกี่เดือน ป้อนข้าวลูกท่านอน ได้ไหม เป็นต้น ล่าสุดก็เกิดดราม่าในกลุ่มแม่เลี้ยงลูกเล็ก ๆ ที่มีคนสนใจกันมาก ทั้งแชร์ต่อเกือบหมื่น ทั้งมีคอมเมนต์กันอย่างดุเดือด ถึงเรื่องการ ป้อนข้าวลูกท่านอน มาถามว่าป้อนท่าแบบนี้อันตรายหรือไม่?

ไขข้อข้องใจ คำตอบนี้เพื่อแม่!!

ป้อนอาหารลูก ตอนอายุเท่าไหร่ดี??

ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 6 เดือน ลูกน้อยได้รับสารอาหารทั้งหมดที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการจากนมแม่ ทารกไม่ต้องการอะไรนอกจากนมแม่ ไม่จำเป็นต้องป้อนน้ำ ชา น้ำผลไม้ ข้าวต้ม หรืออาหารหรือของเหลวอื่น ๆ ในช่วงนี้

อีกเคสอุทาหรณ์สำหรับการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของการป้อนอาหารเด็กทารกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีความเชื่อ หรือความเข้าใจผิด ๆ นั้น โดย คุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ได้หยิบยกนำมาเป็นเคสตัวอย่างเพื่อบอกต่อให้พ่อแม่คนอื่น ๆ ได้เข้าใจ และระมัดระวังจะได้ไม่เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นอีกต่อไป

เคสตัวอย่าง จากเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (ป้าหมอ)
เคสตัวอย่าง จากเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (ป้าหมอ)

การที่คุณพ่อคุณแม่ในเรื่องเข้าใจผิดเห็นลูกทำท่าอยากกินเวลาที่คุณแม่กำลังกินอาหาร เลยเคี้ยวแล้วป้อนให้ลูกกิน หรือความเชื่อแต่ดั้งเดิมที่ทำต่อ ๆ กันมาในบางครอบครัวที่เห็นว่า ป้อนข้าวลูกอายุต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้วหลายคนไม่เห็นเป็นอะไร นับว่าเป็นอันตรายมาก เพราะบางครั้งคุณอาจโชคดีที่ลูกไม่เป็นไร แต่หากผิดพลาดไปอันตรายถึงชีวิตเด็กได้

#ป้อนอาหารอื่นก่อน 6 เดือนเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
.
หนูน้อยอายุ 7 วันพ่อแม่ป้อนอาหารแล้วมีการโพสต์ภาพลงเฟสบุ๊ค
.
อายุ 8 วันน้องตัวเหลือง ไปรพ. คุณพ่อเข้าใจผิดว่า หมอเจ้าของไข้จะเลี้ยงไข้ พ่อไม่ยอม จึงพากลับบ้าน อีก 2 วันต่อมา น้องตัวเหลืองเพิ่มขึ้น พากลับไปรพ.อีกครั้ง รพ.บอกว่าอาการหนักแล้วต้องส่งต่อไปรักษาที่รพ.อีกแห่ง สุดท้ายรพ.ที่สองแจ้งว่า น้องอาการหนัก ตัวเหลืองมาก ติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวาย น้ำเหลืองไม่ดี ในที่สุดน้องเสียชีวิต
.
สันนิษฐานว่ากรณีนี้อาจเป็นอีกรายหนึ่งที่ต้องสูญเสียชีวิตจากการเริ่มป้อนอาหารเร็วเกินไป กระเพาะอาหารและลำไส้ของทารกยังไม่แข็งแรงพอที่จะย่อยหรือดูดซึมอาหารอื่นที่ไม่ใช่นม เมื่อลำไส้อักเสบก็เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนเข้ากระแสเลือด จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
.
อย่าเชื่อคำพูดว่า โบราณก็ทำกันมา ไม่เห็นเป็นอะไร หรือ เธอก็ถูกเลี้ยงมาแบบนี้ ยังไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะลูกเราอาจโชคร้ายเป็นแบบเคสตัวอย่างหรืออีกหลายๆเคสที่เป็นข่าวมาเป็นระยะๆ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก เพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
ไม่ควรป้อนอาหารลูกก่อน 6 เดือน ไม่ ป้อนข้าวลูกท่านอน
ไม่ควรป้อนอาหารลูกก่อน 6 เดือน ไม่ ป้อนข้าวลูกท่านอน

เหตุใดไม่ควรป้อนอาหารเด็กก่อนอายุ 6 เดือน??

ทารกที่รับประทานอาหารหรือของเหลวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นมแม่ก่อนอายุ 6 เดือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยต่าง ๆ อาทิ ท้องเสีย ซึ่งอาจทำให้เด็กผอม อ่อนแอและอาจถึงแก่ชีวิตได้ และทำให้ลูกได้รับนมแม่น้อยลง ดังนั้นปริมาณน้ำนมแม่ที่น้อยลงก็จะทำให้สารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกที่อยู่ในนมแม่ก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ยกมือขึ้นมาจ่อที่ปาก คุณอาจเข้าใจผิดว่าลูกยังหิวอยู่ และนมแม่อาจไม่อยู่ท้อง แต่จริง ๆ แล้ว ลูกน้อยเพียงแค่แสดงอาการสนใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณต้องการอาหาร หรือหิว เด็กจะพร้อมรับประทานอาหารแข็งเมื่ออายุครบ 6 เดือนเท่านั้น เพราะนอกจากการได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอแล้ว ยังเสี่ยงต่อการสำลักอาหารของเด็กอีกด้วย

ดราม่าสนั่น ป้อนข้าวลูกท่านอน ได้ไหม??

การป้อนข้าวลูกท่านอน เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาได้ เนื่องจากเราพบว่าในหลายครอบครัวมีวิธีปฎิบัติสืบทอดกันมากับการป้อนอาหารลูก โดยจัดให้ลูกอยู่ในท่านอน ลักษณะที่ผู้ป้อนข้าวนั่งเหยียดขา จากนั้นให้เด็กนอนบนร่องขาทั้งสองข้าง และหันหัวมาทางลำตัวเรา เป็นท่าที่ใช้ป้อนข้าวเด็กทารกที่มีความเชื่อกันว่าทำให้การป้อนข้าวไม่เลอะเทอะ และถ้าเมื่อมีอาการปวดเมื่อยลำตัวของผู้ป้อน แสดงว่า ลูกน่าจะกินอิ่มพอดี

เมื่อประเด็นดังกล่าวได้เข้ามาสู่วงโซเซียลจึงเกิดการโต้เถึยงถึงความถูกต้องเหมาะสมกันอย่างกว้างขวาง วันนี้ ทีมแม่ ABK มีคำแนะนำจากคุณหมอสุธีราเกี่ยวกับการป้อนอาหารเด็กที่ถูกต้องตามสุขลักษณะมาฝากกันว่า ควรจะป้อนท่านอนดีหรือไม่

 

ป้อนข้าวลูกท่านอน อันตราย
ป้อนข้าวลูกท่านอน อันตราย
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เพจ Drama-addict

ป้อนข้าวลูกท่านอน เสี่ยง!!

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับการป้อนอาหารเด็กก่อนว่าในที่นี้เราจะขอพูดถึงการป้อนอาหารเด็กเมื่อเด็กอยู่ในวัยมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปเสียก่อน ดั่งเหตุผลจากข้อข้องใจข้างต้น การให้ลูกนอนรับประทานอาหารนั้น ลูกจะกลืนอาหารได้ยากกว่าการนั่ง หากนึกไม่ออก อยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองนึกถึงความรู้สึกของตัวเองเวลาต้องนอนกินข้าว แน่นอนว่ามีความยากลำบากในการกลืนอันดับแรก และไม่ส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหารของมนุษย์ที่มีแนวลำตัวในทางตั้งตรงอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น คุณหมอสุธีราได้ให้ข้อคิดเตือนใจในการป้อนข้าวลูกท่านอน ว่า

“อายุเท่าไหร่ ก็ไม่ควรอยู่ในท่านอนรับประทาน เพราะว่ามันจะทำให้เวลาที่รับประทาน มีโอกาสที่อาหารที่จะลงไปในท่อหลอดลมได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้เศษอาหารมันจะลงไปในหลอดลม และจะลงไปที่ปอดได้ ทำให้มีการติดเชื้อ ทำให้มีการอักเสบที่ปอด หรือที่เรียกว่าโรคปอดบวม ถ้าสมมติว่าเราไปป้อนในเด็กที่ต่ำกว่า 6 เดือน บางคนอาจจะพอได้ ใช้คำว่าพอได้ มันยังมีโอกาสที่จะสำลักอาหารลงไปในท่อหลอดลมได้”

ถอดคำคุณหมอสุธีรา จากการให้สัมภาษณ์ในรายการ สติข่าว ช่อง one31 

สรุปได้ว่าการป้อนข้าวลูกท่านอน นอกจากจะเสี่ยงทำให้เกิดโอกาสสำลักแล้ว หากอาหารเข้าหลอดลม จะทำให้เกิดอาการปอดบวมตามมาอีกด้วย ซึ่งเป็นอันตรายมาก หากเป็นหนัก ๆ อาจถึงขั้นปอดติดเชื้อ ระบบหายใจล้มเหลวได้เลย

ป้อนข้าวลูกท่านอน อาจสำลักอาหารถึงตายได้
ป้อนข้าวลูกท่านอน อาจสำลักอาหารถึงตายได้

สำลักอาหาร อันตรายถึงชีวิต 

การสำลักอาหารไม่ว่าเกิดกับบุคคลวัยใดก็ย่อมเกิดความเสี่ยงอันตรายอยู่แล้ว หากเกิดกับเด็กทารก ตัวเล็ก ๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจอาการ วิธีป้องกัน และวิธีช่วยเหลือเมื่อเจ้าหนูน้อยสำลักกัน เพื่อความปลอดภัยหากเกิดเหตุการณ์

สำลัก อาการเล็กๆ แต่ใหญ่สำหรับเจ้าหนู
อาการสำลักอาหาร ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็ก ส่วนน้อยที่เกิดขึ้นในเด็กที่ อายุต่ำกว่า 1 ขวบ แต่ไม่ใช่ว่าเด็กเล็กที่อายุไม่ถึงขวบจะไม่สำลักอาหารหรือนม ในทารก ก็สามารถเกิดได้เช่นกัน เราจึงเสนอวิธีการช่วยเหลือลูกเบื้องต้นเพื่อที่จะช่วยลูกให้หาย สำลักได้ทันท่วงที

ป้องกันไม่ให้สำลัก

  • เริ่มจากการจัดท่าทางในการป้อนอาหาร คือ ควรให้อาหารลูกในท่านั่งประคองศีรษะให้ ตั้งตรง พยายามให้อาหารในท่าที่ถนัด และจัดท่าทางให้ลูกในท่าที่สามารถรับอาหารได้ไม่ลำบาก
  • พยายามอย่าให้ลูกเล่นของที่มีลักษณะกลม ๆ เช่น ลูกปัด ลูกอม หรือของเล่นที่มีสีหลุด ลอกง่าย เพราะของเล่นเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการสำลักได้
  • อาหารบางชนิดที่เป็นอาหารชนิดใหม่เด็กอาจไม่ชอบ ทำให้ไม่ยอมกลืนอาหาร และมักคายออกมาจนสำลักได้ ดังนั้นคุณแม่ควรพิจารณาอาหารเสริมที่จะนำมาป้อนให้ลูกน้อยด้วย

วิธีช่วยเหลือเมื่อทารกสำลัก

  1. เมื่อลูกสำลักให้จับลูกคว่ำหน้าลงโดยให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าหน้าอก และใช้ฝ่ามือข้างที่ถนัดพยุงศรีษะของเด็กเอาไว้ โดยระวังอย่าให้มือไปปิดจมูก หรือปากของเด็ก
  2. วางแขนข้างที่พยุงเด็กไว้บนต้นขา จากนั้นใช้มือตบลงบนสันหลังตรงกระดูกสะบัก 4 ครั้งติด ๆ กัน
  3. หากอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ออกมา ให้คุณแม่จับเด็กหงายขึ้น และวางบนแขนที่อยู่บนหน้าตัก ให้ศีรษะลูกชี้ลงไปที่พื้น
  4. ใช้นิ้ว 3 นิ้วของแม่กดบริเวณใต้ตอลิ้นปี่เบาๆ กดประมาณ 4-5 ครั้ง
  5. ตรวจดูสิ่งแปลกปลอมในช่องปากของเด็ก หากพบให้เอาออก และทำการช่วยหายใจ

    ระวังลูกสำลัก ไม่วางสิ่งของใกล้มือเด็ก
    ระวังลูกสำลัก ไม่วางสิ่งของใกล้มือเด็ก

วิธีทำการช่วยหายใจเด็กทารก

  • จับหน้าผากลูก และเชยคางขึ้น เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิด
  • ใช้ปากประกบไปที่ ปากและจมูกของเด็ก เป่าลมและสังเกตการเคลื่อนไหวของหน้าอก ซึ่งหากเป่าได้ถูกต้องหน้าอกจะยกขึ้น จากนั้นยกปากออก สังเกตการยุบตัวลงของหน้าอก ทำซ้ำแบบนี้ 2 ครั้งการปฐมพยาบาลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เหมาะสำหรับการช่วยเหลือเด็กทารก และเด็กเล็ก แต่หากเป็นเด็กโตจะใช้วิธีอื่นที่ยากกว่านี้หน่อย ซึ่งหากคุณแม่ปฎิบัติเบื้องต้นตามที่กล่าวมาแล้วไม่พบอาหาร หรือสิ่งแปลกปลอมในช่องปากให้เรียกรถพยาบาลเพื่อการช่วยเหลือที่ ทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก www.phyathai-sriracha.com
เรื่องดราม่าข้อถกเถียง แม้บางครั้งอาจดูเกินเลยจากประเด็นไปบ้าง แต่ข้อดีของการหยิบยกเรื่องราวมาถกเถียงกัน คือ การที่เราสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ จะได้ปฎิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และลดเหตุการณ์น่าเศร้า อันไม่ควรเกิดขึ้นจากความไม่รู้ลงได้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up