เมื่อหนูไม่รู้จักคำว่า “รอ”

Alternative Textaccount_circle
event

ไม่ว่าจะเป็นการขอให้เล่านิทาน ขอกินขนม ขอเล่นตุ๊กตาตัวโปรด ฯลฯ พอทาสรักอย่างคนเป็นพ่อเป็นแม่หาให้ไม่ได้ดั่งใจภายใน 1 นาที หนูน้อยก็ทำท่างอแงราวกับถูกปล่อยให้รอนานแรมปี นั่นเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่รู้จักการรอคอย เขาอยู่กับปัจจุบัน และมีแต่คำว่า “เดี๋ยวนี้” ในคลังศัพท์เท่านั้น ต้องรอจนเข้าขวบปีที่ 3 นั่นแหละ คนดีของคุณแม่ถึงจะรู้จักคำว่า “เดี๋ยวก่อน”

กว่าจะถึงเวลานั้น คุณอาจจะใช้วิธีต่อไปนี้รับมือเขาไปพลางๆ ก่อนก็ได้ เบี่ยงเบนความสนใจ สมมติว่าคุณและลูกอยู่ระหว่างทางกลับบ้าน แล้วเขาเกิดอยากจะกินมื้อเที่ยงขึ้นมาตอนนั้น ลองหาเรื่องสนุกๆ ให้ลูกทำ เช่น ชี้ชวนให้ดูน้องหมาข้างทาง “ดูซิลูก น้องหมากำลังพูดว่าไงนะ” เพื่อถ่วงเวลาไว้ก่อน
ตั้งเวลา ถ้าเจ้าตัวเล็กรบเร้าให้พาไปวิ่งเล่นในสวน แต่คุณยังต้องการเวลาอีก 5 นาทีเพื่อทำกับข้าว คุยธุระ หรือทำอะไรต่อมิอะไรให้เสร็จก่อน ลองตั้งนาฬิกาปลุกแล้วให้ลูกคอยจ้องไว้จนกว่านาฬิกาจะดัง (อาจใช้นาฬิกาทรายก็ได้) การสร้างข้อตกลงอย่างนี้ จะทำให้ลูกรู้สึกว่า เขามีอำนาจควบคุมทั้งเวลาและตัวคุณได้ แต่อย่าลืมคำนวณเวลาให้แม่นว่าเพียงพอสำหรับจัดการธุระของคุณหรือไม่ เพราะถ้าคุณไม่รักษาคำพูด ต่อไปหนูน้อยก็จะไม่เคารพกติการะหว่างคุณทั้งสองอีก
แยกของนั้นออกจากลูก ถ้าสิ่งที่ลูกต้องการ ไม่เหมาะจะได้รับการสนองตอบเดี๋ยวนั้น เช่น ถ้าลูกอยากขับรถเด็กเล่น แต่พื้นบ้านยังเปียกอยู่เพราะคุณเพิ่งถูไป ก็ใช้วิธีเอารถไปเก็บให้พ้นสายตาเขาเสียเลย
เป็นฝ่ายคอยเขาบ้าง อย่างอื่นจะเอาเดี๋ยวนั้น แต่พอได้เวลาอาบน้ำหรือแต่งตัวเพื่อเตรียมออกไปข้างนอก เจ้าหนูกลับต่อรอง “แป๊บนะแม่ หนูเล่นอยู่” สิ่งที่คุณแม่ผู้แสนดีพึงกระทำ ไม่ใช่การลากเจ้าตัวเล็กออกมาจากกองของเล่น แต่ควรบอกลูกว่า คุณให้เวลาเขาเล่นได้อีกกี่นาที พอครบกำหนดค่อยมาปฏิบัติภารกิจกัน ถ้าลูกเห็นว่าคุณอดทนรอเขาได้ เขาก็จะเอาอย่างพฤติกรรมนี้ของคุณเหมือนกัน

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ที่มาภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up