ระวัง!โรคทางเดินปัสสาวะในเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event

คุณหมอตรวจปัสสาวะและเจาะเลือด พบการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ และสั่งทำอัลตราซาวนด์ไตเพื่อดูว่าไตผิดปกติหรือไม่ อยากทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อและทำให้ไตผิดปกติ รวมทั้งอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะนี้

 
โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบเป็นภาวะที่พบได้ประมาณร้อยละ 5ในเด็กเล็กๆ ที่มีไข้โดยปราศจากสาเหตุที่ชัดเจน (หมอตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติอื่น เช่น ไม่มีอาการแสดงของหวัด หูไม่อักเสบ คอไม่แดง เป็นต้น) แต่เป็นภาวะที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเกิดการอักเสบขึ้นที่ไต อาจมีผลในระยะยาวต่อสุขภาพของลูกได้ เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษเมื่อตั้งครรภ์ และอาจมีภาวะไตวาย การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจึงสำคัญมาก เพราะหากวินิจฉัยไม่ได้ ทำการรักษาช้า และมีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็จะเกิดผลเสียดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 
อาการที่ทำให้พ่อแม่นำลูกมาพบหมอ ได้แก่ มีไข้ ร้องกวน มีอาการปวดท้องเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีแดงหรือขุ่น ปัสสาวะบ่อยเหมือนไม่สุด แต่บางคนก็มาด้วยอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว เมื่อตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน คุณหมอจะขอเก็บปัสสาวะลูกเพื่อส่งตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาวและส่งเพาะเชื้อ หากพบว่ามีความผิดปกติคุณหมอจะทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ

 
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกรายที่มีปัญหาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ควรได้รับการตรวจระบบทางเดินปัสสาวะโดยการทำอัลตราซาวนด์ (ultrasound KUB) เพื่อดูความผิดปกติของรูปร่างไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และทำการตรวจด้วยวิธีการเฉพาะ เพื่อดูว่ามีการไหลย้อนกลับของปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปตามท่อไต (หรือไต) หรือไม่ ซึ่งแสดงถึงความผิดปกติที่เรียกว่า Vesico-ureteral reflux (VUR) จะได้ให้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพราะภาวะ VUR จะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำๆ จนอาจเป็นอันตรายต่อไตในระยะยาว

 
หากสงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ คุณแม่ก็ควรรีบพาไปพบหมอ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะให้ลูกกินเอง

 

 

 
การรักษา

 
– ให้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่กินอาหารไม่ได้ และอ่อนเพลียมาก ควรอยู่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดและฉีดยาปฏิชีวนะ เมื่ออาการดีขึ้น คือไข้ลดและเริ่มกินอาหารได้ ก็เปลี่ยนเป็นยากินต่อจนครบ 7 – 14 วันในรายที่อาการไม่รุนแรง อาจให้เป็นยากินได้เลย อาการควรดีขึ้นภายในสองวัน คือ ไข้ลด แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ต้องพิจารณาเปลี่ยนยาตามผลที่ได้จากการเพาะเชื้อ หลังจากให้ยาครบแล้ว ควรให้ต่อในขนาดป้องกันจนกว่าจะตรวจความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะครบหมดแล้ว เพื่อป้องกันการ

 

 

 
ติดเชื้อซ้ำ

 
– ถ้าตรวจพบความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ หมอจะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะขนาดป้องกันต่อเนื่องกันไป และนัดผู้ป่วยมาตรวจการทำงานของไตและกระเพาะปัสสาวะ และตรวจวัดความดันเป็นระยะๆ จนกว่าจะแก้ไขภาวะดังกล่าวจนเป็นปกติ ซึ่งบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขภาวะVUR แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องผ่าตัด เพราะภาวะนี้มักดีขึ้นเองเมื่ออายุมากขึ้น แค่ให้ยาป้องกันการติดเชื้อซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นที่ไตจากการติดเชื้อบ่อยๆ ก็พอแล้ว

 
– ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ เพื่อช่วยขับเชื้อโรค

 
– ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว และรักษาประคับประคองตามอาการเช่น ให้กินอาหารทีละน้อยและบ่อยๆ ในรายที่มีปัญหาคลื่นไส้อาเจียน

 

 

 
การป้องกัน

 
– ให้ลูกดื่มนมแม่เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้

 
– ในกรณีที่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป คุณแม่ต้องดูแลทำความสะอาดหลังมีการขับถ่ายอุจจาระในทันที เพื่อลดโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียจากอุจจาระจะปนเปื้อนขึ้นไปตามทางเดินปัสสาวะ

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up