ท่าทางแบบไหนการันตี เบบี๋สุขใจสุดๆ

Alternative Textaccount_circle
event

เป็นพ่อแม่ป้ายแดง นอกจากจะอยากถอดรหัสเสียงร้องไห้และอาการอื่นๆ ที่ลูกทารกบอกใบ้ให้คุณได้รู้ความนัยยามเขาอึดอึดใจให้คุณโล่งใจไปเปลาะ หนึ่งแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนแอบอยากรู้ตีคู่กันมาด้วย คือ แล้วท่าทีแบบไหนละที่บอกว่าลูกน้อยรู้สึกดี ก็หัวอกพ่อแม่ไม่อยากเห็นลูกมีทุกข์ และอยากให้เขามีความสุขสบายใจแบบเห็นๆ กันอีกด้วย

วัยแรกเกิด: อบอุ่นใจยามพ่อแม่ใกล้ชิด

เด็กแรกเกิดจะดูง่วงงุนเกือบตลอดทั้งวัน นั่นเป็นเป็นสัญญาณที่ดี ทีท่าสงบคือการแสดงว่า ลูกอบอุ่นใจ เป็นการแสดงความรู้สึกเชิงบวกอย่างเดียวที่ทารกแรกเกิดสามารถทำได้ (การแสดงความรู้สึกและส่งสัญญาณอีกอย่างที่เขาทำได้ ก็คือการ ‘ร้องไห้’ เท่านั้นแหละ) ถ้าพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ แล้วลูกหันมามองหรือจ้องใบหน้าก็ถือว่า เขามีความสุขมากแล้ว

วัย 0-3 เดือน: ได้อยู่ในอ้อมแขนแสนสบาย     

ถ้าลูกซุกอยู่ในอ้อมแขนของพ่อแม่และไม่แอ่นหลังหนี ก็แปลว่าเขากำลังสบาย ลูกน้อยวัยนี้แค่พ่อแม่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น ตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ ป้อนนม เปลี่ยนผ้าอ้อม และกล่อมให้หลับ เขาก็มีความสุขแล้ว

วัย 1-3 เดือน: หนูยิ้มจริงๆ แล้วนะ

ก่อนหน้านี้การยิ้มของทารก เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (สังเกตได้ว่าลูกยิ้มทั้งที่หลับอยู่ได้) เด็กจะเริ่มยิ้มเป็นจริงๆ ตอนอายุ 4-10 สัปดาห์ รอยยิ้มของลูกน้อยวัยนี้เป็นการยิ้มเพื่อตอบสนองต่อบางสิ่งบางอย่างที่ใครบางคนปฏิบัติต่อเขาโดยตรง

วัย 3-6 เดือน: หัวเราะชอบใจและท่าทางแปลกใจ

ทารกวัยนี้จะตื่นเต้นดีใจกับการทำเสียงตลกๆ และสัมผัสของพ่อแม่ เช่น ถ้าคุณแกล้งงับขาและทำเสียงแปลกๆ เขาก็จะหัวเราะเพราะชอบใจ พออายุราว 6 เดือน ความแปลกใจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกชอบใจมากที่สุด อย่างเช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นทีไรก็เรียกเสียงหัวเราะจากเจ้าตัวเล็กได้ทุกครั้ง

วัย 4-7 เดือน: อ้อแอ้เสียงสูง

เสียงอ้อแอ้ของลูกเกิดจากการพยายามเลียนเสียงและน้ำเสียงจากพ่อแม่เพื่อนำมาใช้สื่อความรู้สึกของตัวเอง ถ้าลูกอ้อแอ้ในระดับเสียงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนที่อยู่กับคุณ ก็แปลว่าเขากำลังสนใจอะไรสักอย่าง หรือกำลังสุขใจมากเพราะคุณเล่น พูดคุยหรือทำอะไรบางอย่างให้เขาพอใจ

วัย 12-18 เดือน: ทำตลกกับสิ่งของรอบตัว

เจ้าตัวเล็กเริ่มมีอารมณ์ขันตอนอายุประมาณ 1 ขวบ และเขาจะพยายามทำให้คุณหัวเราะด้วยวิธีของเขาเองเสียด้วย อย่างเช่น เอาผ้าอ้อมมาสวมหัวหรือพูดใส่ถ้วยหัดดื่ม

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up