ไขข้อข้องใจ สารพัดคำถามเรื่องนมมื้อดึก

Alternative Textaccount_circle
event

Q ควรให้ลูกเลิกกินนมมื้อกลางคืนตอนอายุเท่าไร

 
พออายุประมาณ 3 เดือน เด็กทารกบางคนจะเริ่มหลับได้ยาว 6 – 10 ชั่วโมง โดยไม่ตื่นมากินนมมื้อกลางดึก คุณแม่ปล่อยให้ลูกหลับไปเลยค่ะ ไม่ต้องปลุกเขาขึ้นมากิน (แต่ถ้าให้ลูกกินนมแม่และไม่ได้อยู่ให้ลูกดูดจากเต้าตอนกลางวัน หากคุณแม่ไม่ป่วยง่ายจากการอดนอน ก็ควรตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นขึ้นมาปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกินนะคะ เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำนมลดลง) ขณะที่บางคนยังอาจตื่นคืนละ 1 – 2 ครั้งจนอายุ 1 ขวบ และบางคนก็ตื่นคืนละ 3 – 4 ครั้งไปจน 2 – 3 ขวบ ทั้งนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

 
– ไม่เคยถูกฝึกให้หลับได้เองเลย พอมีการตื่นกลางดึกจึงหลับต่อด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนมาช่วยทำให้เคลิ้มหลับ เช่น ชงนมมาส่งให้ถึงปาก ให้ดูดนมแม่ อุ้มหรือตบก้นเบาๆ ขณะที่เด็กบางคนพอตื่นขึ้นมามองซ้ายมองขวาเห็นว่ายังมืดอยู่ ก็ล้มตัวลงนอนต่อเองได้

 

 

 
วิธีฝึก ทำได้โดยต้องใจแข็ง วางลูกให้นอนเองตอนกำลังเคลิ้มๆ แต่ยังไม่หลับ ซึ่งพอวางปุ๊บ ลูกจะรู้สึกตัวตื่น แต่หากตบก้นต่อเบาๆ บางคนอาจหลับต่อได้ ขณะที่บางคนตื่นจริงเลยและร้องไห้โกรธมาก ให้ใจแข็งค่ะ อย่าอุ้มขึ้นมา ให้พูดว่า แม่รักลูกนะ นอนหลับซะ พรุ่งนี้สว่างแล้วเราค่อยมากินนมกันใหม่นะจ๊ะŽ เขาอาจร้องนานเป็นชั่วโมงๆ แต่ในที่สุดจะหลับไปเองเพราะความเหนื่อย ยกเว้นว่าคุณแม่ใจอ่อน ยอมอุ้มขึ้นมาหรือให้ดูดนม ก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะเสียสุขภาพจิตนะคะ เพราะตอนกลางวันเราได้ให้ความรักความอบอุ่นแก่เขาอย่างเต็มที่

 
– เด็กบางคนเล่นมากในช่วงเย็นๆ ทำให้ส่งผลถึงการนอน คือฝันร้าย ฝันตื่นเต้น เลยตื่นบ่อย วิธีแก้ คือลดการเล่นมากๆ ในช่วงเย็นและหากิจกรรมสงบๆ ให้ทำแทน

 
– อาหารบางอย่างทำให้นอนไม่หลับเช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และช็อกโกแลตที่คุณแม่กินอาจมีกาเฟอีนออกมาทางน้ำนมแม่ หรือตัวลูกเองกินเข้าไปโดยตรง เด็กบางคนอาจแพ้อาหารบางอย่าง (แพ้นมวัวสีผสมอาหาร สารกันบูด) ซึ่งกินแล้วทำให้พฤติกรรมเปลี่ยน วิธีแก้ คืองดอาหารที่สงสัย

 
– บางคนได้รับอาหารและนมไม่เพียงพอในช่วงกลางวัน วิธีแก้ คือให้กินเพิ่มขึ้นจนได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ เด็กบางคนกินนมครั้งละน้อยๆ จึงต้องกินบ่อยๆ ถ้าลูกดูดนมแม่ มื้อสุดท้ายก่อนนอนควรให้ดูดนานเป็นพิเศษ จับเรอแล้วกินต่อ ชวนคุยไม่ให้ผล็อยหลับไปก่อนที่จะดูดจนเต็มอิ่ม

 
– เด็กบางคนมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ ทำให้มีอาการคัดจมูกตอนกลางคืน หรือเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ทำให้มีอาการคันมากจนนอนหลับได้ไม่เต็มที่วิธีแก้ คือรักษาความผิดปกติที่เป็นอยู่ จะได้มีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น

 
– เด็กบางคนนอนเตียงเดียวกับแม่โดยเฉพาะรายที่กินนมแม่ ทำให้ต่างคนต่างตื่นบ่อยโดยไม่จำเป็น เพราะบางครั้งแม่ขยับตัวไปโดนลูก ลูกเลยตื่น หรือบางครั้งลูกขยับตัวส่งเสียงงึมงำเล็กๆ น้อยๆ แม่ก็เลยตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่าลูกอาจหิว เลยจับมาให้นม ทั้งที่ลูกอาจไม่ได้ตื่นจริง เขาเลยชินกับการต้องได้ดูดนมตอนกลางดึก

 

 

 
วิธีป้องกัน คือถ้านอนคนละเตียงได้ก็น่าจะไม่รบกวนกันและกันโดยไม่จำเป็น แต่ในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ การนอนกินนมแม่แล้วหลับไปด้วยกันอาจช่วยให้แม่ไม่เหนื่อยมากนัก จึงพอจะทำได้ แต่ทันทีที่แม่ปรับตัวได้แล้ว ควรเริ่มฝึกให้นอนคนละเตียงเพื่อป้องกันปัญหานี้อย่างไรก็ดี แม่

 
– ลูกบางคู่อาจไม่มีปัญหาจากการนอนด้วยกัน อย่างลูกสาวคนโตของหมอ ให้นอนกินนมบนเตียงเดียวกัน เธอก็หลับได้ยาว 10 ชั่วโมง ไม่มีตื่นเลยค่ะ

 
– โดยทั่วไปจะแนะนำให้เด็กที่กินนมขวดเริ่มหย่านม หรือลดจำนวนครั้งในการกินนมมื้อกลางดึกจากคืนละ 3 – 4 ครั้งเป็นเหลือแค่ 1 – 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เพราะเด็กเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว ทำให้มีโอกาสฟันผุจากคราบนมที่ตกค้างอยู่ทั้งคืน (การลดจำนวนมื้อทำได้โดยชงนมต่อมื้อให้มากขึ้น และถ่วงเวลาการให้นมเมื่อลูกร้องขอให้นานที่สุด คือไม่ใช่ว่าร้องแอ๊ะปุ๊บก็รีบยื่นนมให้เลย แต่ให้รอจนร้องดังขึ้นเสียก่อน จะช่วยยืดเวลาในการหลับครั้งต่อไป หรือถ้าทนได้ จะปล่อยให้ร้องโดยไม่ให้นมเลยก็ได้ ลูกจะเรียนรู้ไปเองว่าร้องยังไงก็ไม่ได้กินนมอยู่ดี หลับเองก็ได้ เฮอะ !)

 
Q การตื่นขึ้นมากินนมมื้อกลางคืนทุก 2 – 3 ชั่วโมง (ทั้งกรณีของนมแม่และนมชง) จะมีผลต่อการเจริญเติบโตหรือมีผลเสียอื่นๆ หรือไม่อย่างไร

 

 

 
ในเด็กวัยแรกเกิดถึง 2 – 3 เดือน การตื่นกินนมทุก 2 – 3 ชั่วโมงถือเป็นเรื่องปกติค่ะ

 
– หากเด็กตื่นเพราะถูกรบกวน เช่น มีเสียงดังหนวกหู มีอาการคันที่ผิวหนังเพราะเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง หายใจไม่ออกเพราะจมูกอุดตันจากโรคภูมิแพ้ หรือเจ็บป่วย เช่น เป็นหวัด ไอ หรือทางเดินหายใจถูกอุดตันจากต่อมอดีนอยด์ ต่อมทอนซิลโต ทำให้มีปัญหาไม่สามารถหลับลึกได้ เพราะพอเริ่มเข้าสู่ช่วงหลับลึกก็มีเหตุทำให้ต้องตื่นขึ้นมา ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของร่างกายเลยหลั่งได้ไม่เต็มที่ เด็กจะเติบโตไม่ดี ง่วงเหงาหาวนอนเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ สุขภาพร่างกายทรุดโทรม อ่อนแอ ติดเชื้อง่าย

 
แต่ถ้าเด็กตื่นขึ้นมาเองขณะอยู่ในช่วงของการหลับตื้นหรือหลับฝันจะไม่ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะตอนกลางวันก็ดูเด็กร่าเริงมีความสุขดี ไม่ง่วงเหงาอ่อนเพลีย การเจริญเติบโตจะปกติดี

 
– การตื่นขึ้นมาแล้วได้กินนม โดยเฉพาะนมขวด จะทำให้เด็กมีปัญหาโรคอ้วน ฟันผุ และสร้างทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับการกินเช่น การกินเป็นทางออกของปัญหา การกินนมขวดมื้อกลางดึกจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

 
– พ่อแม่ไม่ได้หลับยาวต่อเนื่อง ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง สู้ยอมทนให้ลูกร้องไปสัก 3 – 14 วัน เพื่อฝึกให้หลับยาว ทีนี้พ่อแม่จะได้สบายเสียที

 
– ถ้าลูกไม่ตื่นมากินนม แม่ก็ไม่ต้องคิดมาก ปล่อยเขาหลับไปเลย แล้วแม่ตื่นขึ้นมาปั๊มนมเอง หากเป็นคุณแม่ที่อยู่กับลูกตลอดเวลาก็ไม่ต้องกระตุ้นน้ำนมโดยให้ดูดตอนกลางคืน แต่ให้ดูดตอนกลางวันอย่างเต็มที่ และฝึกให้เลิกดูดนมตอนกลางคืนเช่นเดียวกับเด็กที่กินนมขวด

 
แต่หากเป็นแม่ที่ทำงานนอกบ้าน การให้ลูกดูดนมหรือตื่นมาปั๊มนมตอนกลางคืนจะทำให้ฮอร์โมนที่ช่วยสร้างน้ำนมมีการหลั่งอย่างต่อเนื่อง จึงรักษาระดับการสร้างน้ำนมได้ดีกว่าแม่ที่หลับยาว ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับสุขภาพของแม่ด้วย เพราะการนอนไม่พออาจทำให้เจ็บป่วย อ่อนเพลีย หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้ ควรพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

 

 

 
Q ถ้าให้กินได้ตามต้องการในกรณีของนมแม่ก็มีปัญหาว่าตัวแม่เองอ่อนเพลียมาก เพราะต้องตื่นมาให้นมคืนละหลายครั้ง และต้องไปทำงานตอนเช้า จะอุ้มเดินจนหลับ แม่ก็ไม่ไหว เพราะง่วงมาก ควรแก้ปัญหานี้อย่างไรดี

 

 

 
ก่อนอื่นต้องประเมินก่อนว่า การที่ลูกดูดนมแม่ทั้งคืนนั้นเป็นเพราะว่าตอนกลางวันเขาได้อาหารหรือนมไม่เพียงพอหรือเปล่า หมอเคยเจอเด็กที่แม่บอกว่าช่วงที่แม่ทำงานไม่อยู่บ้านประมาณ 10 ชั่วโมง ลูกไม่กินอะไรเลย เพราะไม่ยอมกินนมที่แม่ปั๊มไว้ให้ แต่พอแม่กลับจากที่ทำงาน ลูกก็ตะลุยกินจากเต้าอย่างเดียวทุก 2 – 3 ชั่วโมงทั้งคืนเลย ขณะที่เด็กบางคนซึ่งอายุพอๆกันหลับยาว 10 ชั่วโมงตอนกลางคืน เพราะกลางวันได้กินจนพอแล้ว

 
กรณีของลูกคุณแม่ก็แค่กลับกันเท่านั้นเอง หากน้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์ก็แสดงว่าได้นมเพียงพอแล้วในช่วงกลางคืน แถมมีข้อดีคือนมในสต๊อกไม่มีวันหมด เพราะกลางคืนแม่ถูกดูดกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างน้ำนมจะคงอยู่ตราบนานเท่านาน แต่ข้อเสียก็มี คือแม่อาจล้มป่วยได้เพราะกลางวันก็ต้องทำงาน กลางคืนก็ถูกลูกกวนอีก

 
ส่วนรายที่กลางวันลูกตะลุยกินจนนมหมดสต๊อก กลางคืนเลยหลับยาว แม่ก็ไม่ได้ถูกกระตุ้น อีกไม่นานก็คงต้องหันไปใช้นมขวด เพราะแม่ปั๊มนมจากที่ทำงานมาไม่ทันที่ลูกกิน ยกเว้นว่าแม่ตื่นขึ้นมาปั๊มนมตอนกลางคืน

 
ในที่สุดคุณแม่รายนี้ก็เข้าใจแล้วว่าทำไมลูกถึงตื่นขึ้นมากินนมทั้งคืนเลย แต่คุณแม่ก็ไม่ท้อ บอกว่ายังไหวอยู่ หมอจึงแนะนำให้คุณแม่บำรุงร่างกายให้แข็งแรงด้วยอาหารที่มีประโยชน์ และหาคนมาช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้าน จะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และหาโอกาสงีบบ้าง เช่น หลังอาหารเที่ยงหรือขณะรถติด (ถ้าคุณพ่อเป็นคนขับ ไม่ใช่คุณแม่ขับเองนะคะ)

 
ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นคุณแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกเอง แต่ลูกก็ยังตื่นมาดูดนมตอนกลางคืนบ่อยๆ หลังจากตัดสินใจว่าควรให้ลูกเลิกกินนมตอนกลางคืนได้แล้ว เพราะตัวเองก็อยู่กับลูกตลอดทั้งวัน ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน การกินนมตอนกลางคืนจึงไม่น่าจะได้ประโยชน์เพิ่มเติม เลยปล่อยให้ลูกร้องอยู่ 7 คืน โดยไม่ให้ดูดนม ปรากฏว่าน้ำหนักลูกลดลง เอ๊ะ ! เป็นไปได้อย่างไร แสดงว่าลูกได้นมไม่พอในช่วงกลางวันหรือเปล่านี่…

 
จริงๆ แล้ว เป็นเพราะคุณแม่เป็นคนที่น้ำนมพุ่งแรงมาก ตอนกลางวันจะให้ลูกดูดในท่านั่ง ลูกก็ไม่กล้าดูดเต็มที่ แต่ไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าปฏิเสธการดูด แค่มาอมๆ และดูดเบาๆ ตอดๆ เพราะกลัวสำลักนม แต่กลางคืน แม่จะให้ลูกดูดในท่านอนซึ่งช่วยลดความแรงในการพุ่งของน้ำนมได้ ลูกจึงดูดอย่างเต็มที่ แสดงว่าที่ผ่านมาลูกอาศัยกินนมช่วงกลางคืนเท่านั้น ตอนกลางวันแค่ดูดเล่นๆ พอแม่ไม่ให้ดูดตอนกลางคืน ลูกก็ได้นมไม่พอ หลังจากรู้สาเหตุแล้ว แม่ก็เริ่มฝึกลูกให้ดูดนมเก่งขึ้นในช่วงกลางวัน โดยปั๊มนมออกก่อน หรือให้ดูดในท่านอน น้ำนมจะได้ไม่พุ่งแรงจนทำให้สำลัก เมื่อได้นมเพียงพอแล้ว ลูกก็หลับยาวตอน

 
กลางคืนได้ในที่สุด

 
สรุปว่า หากประเมินว่าลูกกินเพียงพอแล้วในช่วงกลางวัน ไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้ตื่นบ่อยๆตอนกลางคืน (ซึ่งต้องแก้ไขที่สาเหตุ)การฝึกให้หลับยาวตอนกลางคืนก็ทำได้โดยการปล่อยให้ร้อง ไม่ต้องอุ้ม เพื่อฝึกให้หลับต่อเองได้ หากทำต่อเนื่องจะสำเร็จภายในเวลาประมาณ 3 วันถึง 2 สัปดาห์แน่นอนค่ะ

 

 

 
ถ้าอยากหย่านมมื้อกลางคืนก็พยายามลดจำนวนมื้อโดยถ่วงเวลาการให้นมเมื่อลูกร้องขอให้นานที่สุด

 

 

 
Q ในกรณีที่ให้กินนมตามต้องการ (ทั้งนมแม่และนมชง) ลูกจะติดการกินนมจนไม่ค่อยยอมกินข้าวหรืออาหารอื่นในช่วงกลางวัน อย่างนี้มีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไร และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี

 
ขวดนมหรือเต้านมแม่ก็เป็นเหมือนของบางอย่างที่เด็กชอบหรือติด แต่ต่างจากสิ่งของอื่นตรงที่ว่า หากติดมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่นๆอีกหลายอย่าง เช่น

 
– ฟันผุ ถ้าเป็นการกินตอนกลางคืนยิ่งมีปัญหามาก เพราะคราบนมตกค้าง

 
– ปากเด็กคาบขวดนมไว้ตลอดเวลา การมีขวดนมคาปากตลอดจะทำให้การสบฟันผิดปกติ โครงสร้างของช่องปากพัฒนาผิดรูป

 
– ไม่อยากกินอาหารอื่นเพราะอิ่มนมแล้ว ทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

 
– การดูดขวดในเด็กอายุเกิน 1 ขวบ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ เพราะท่านอนดูดทำให้มีโอกาสที่นมจะไหลย้อนไปที่หู ควรเริ่มหัดให้ดื่มจากแก้วหรือใช้หลอดดูด เชื่อว่าเมื่อเลิกขวดนมแล้ว ในระยะแรก เด็กส่วนใหญ่จะกินนมลดลงเอง เพราะไม่ชอบการกินโดยวิธีอื่นเท่ากับการกินจากขวด และพอกินนมลดลงก็จะรู้สึกหิวและกินข้าวได้มากขึ้น

 
– กรณีที่เด็กดูดนมแม่ตลอดเวลา ตัวจะคาอยู่กับแม่ตลอด หรือกรณีที่ดูดขวด มือหนึ่งต้องจับขวดนม จึงเหลือมือแค่ข้างเดียวสำหรับเล่น เรียนรู้ และสำรวจสิ่งต่างๆ นอกจากนี้การมีขวดหรือหัวนมแม่คาอยู่ในปาก จะทำให้มีโอกาสฝึกพูดน้อย พัฒนาการด้านการพูดจึงอาจช้ากว่าที่ควรจะเป็น

 
วิธีแก้ไข คือ

 
– ใจแข็งค่ะ ให้กินนมตามเวลาและในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ากินข้าวได้น้อยก็อย่าไปเพิ่มนมให้ เพราะจะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าถึงกินข้าวไม่อิ่มก็ได้กินนมจนอิ่มอยู่ดี

 
– ในกรณีที่เด็กดูดนมแม่ แม่ควรรู้จักเล่นกับลูก หากิจกรรมต่างๆ มาทำด้วยกัน ถึงแม้จำนวนครั้งในการดูดจะลดลง แต่ความรักไม่ได้ลดลงด้วย แม่ลูกอาจสนิทสัมพันธ์กันมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

 
– เด็กที่ดูดนมแม่ตลอดเวลาอาจขาดทักษะในการเล่นหรือสังคมกับผู้อื่น ดังนั้น คุณพ่อหรือคนในบ้านควรคิดหาวิธีเล่นเพื่อให้เด็กติดใจอยากเล่นด้วย เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ หรือถ้าเป็นเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจใช้วิธีป้อนให้ดื่มจากแก้ว

 
– เด็กที่ใช้วิธีดูดนมเพื่อให้หลับ คุณแม่ต้องฝึกให้หลับได้ด้วยวิธีอื่น แนะนำให้หักดิบโดยปล่อยให้ร้องไปเลย และควรมีระบบที่แน่นอนในการพาลูกเข้านอน เช่น อาบน้ำสวมชุดนอน กินนมจากแก้ว แปรงฟัน อ่านหนังสือด้วยกัน ฮัมเพลงกล่อม บรรยากาศสลัวๆ เงียบๆ ให้กอดพี่ตุ๊กตา กล่าวราตรีสวัสดิ์ แล้วพูดว่า นอนซะลูก พรุ่งนี้เจอกันใหม่ค่อยกินนมอีกทีŽ และทำเช่นนี้ทุกคืน

 
– ในช่วงที่กำลังฝึกลูก ต้องอย่าลืมว่า ลูกต้องการความรัก ความใกล้ชิด และความเอาใจใส่มากกว่าเดิมเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาความสามารถอื่นๆ ต่อไป

 

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up