วัยใกล้ขวบ ชอบสำรวจ+เรียนรู้สิ่งรอบตัว ผ่านการเล่น

Alternative Textaccount_circle
event

ถ้าลูกของคุณอายุ 11 เดือน นี่คือสิ่งที่คุณกำลังจะเจอ

1. แบ่งกันเล่นหรือ…ไม่มีทาง

สถานการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ก็คือ คุณพาลูกไปเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน ถ้าลูกกำลังเล่นของเล่นที่เด็กอีกคนหมายตาไว้ สุดท้ายเด็กคนนั้นจะมาแย่งของเล่นมาจากมือลูก ซึ่งทำให้เขากรีดร้องด้วยความโมโหและมองมาที่คุณเพื่อขอให้ช่วย พวกแม่ๆ จึงพยายามแก้ปัญหาโดยบอกให้เด็กๆ “แบ่งกันเล่นนะลูก”

แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการบอกว่า เด็กวัยนี้ยัง “ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง” คือเชื่ออย่างหมดใจว่าตัวเองคือศูนย์กลางของทุกสิ่งและยังมองแบบอื่นไม่เป็น รวมถึงยังไม่มีทักษะในการเจรจาต่อรอง อีกทั้งไม่เข้าใจว่าจะแบ่งกันเล่นได้อย่างไร แม้ลูกยังไม่เข้าใจ แต่คุณก็ต้องพูดให้ลูกเข้าใจอยู่ดีว่าไม่ควรแย่งของเล่นมาจากมือเพื่อน แต่ควรจะรอให้เพื่อนเล่นเสร็จก่อน เพราะเด็กๆ เรียนรู้จากประสบการณ์และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และหน้าที่ของเด็กวัยนี้ก็คือการทำสิ่งที่สนใจและสำรวจสิ่งรอบตัวผ่านการเล่น

2. ต่างคนต่างเล่น

ก่อนที่ลูกจะเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วอย่างวันนี้ เวลาคุณจับเขานั่งพื้น เก้าอี้ หรือในเปลโยกโดยมีคนอีกคน (รวมถึงตัวคุณเอง) อยู่ตรงหน้า แล้วชวนเขาเล่นของเล่น ถึงจะไม่ได้เล่นกับใครหรือเล่นของเล่นโดยตรง รูปแบบการเล่นแรกของเขา คือการสังเกต

มาตอนนี้ลูกนั่งเองได้อย่างมั่นคง และใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งต่างๆ ได้เก่งขึ้น เขาก็จะมีวิธีเล่นในรูปแบบต่อไป คือต่างคนต่างเล่น
ถึงจะไม่ได้เล่นด้วยกัน แต่เด็กๆ ก็ศึกษาวิธีเล่นและเรียนรู้จากเพื่อนที่นั่งเล่นเคียงข้างกัน และถ้าเด็กคนหนึ่งนั่งเล่นของเล่นชิ้นหนึ่งอยู่ เด็กอีกคนก็มักจะต้องการเล่นของเล่นชิ้นเดียวกัน พ่อแม่จึงต้องส่งเสริมเรื่องการเล่น ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามป้องกันไม่ให้เด็กๆ แย่งของเล่นกัน

วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ บ้านของพ่อแม่ที่เป็นคนชวนเด็กๆ มาเล่นกันจะต้องมีของเล่นแบบเดียวกันมากกว่า 1 ชิ้นเผื่อไว้ด้วย ที่สำคัญคืออย่าเร่งให้ลูกเลิกเล่นแบบต่างคนต่างเล่น เพราะเด็กๆ ยังต้องการทักษะพื้นฐานจำเป็นสำหรับการเล่นกับเพื่อนอีกหลายอย่าง ถึงจะเริ่มเข้าใจเรื่องการแบ่งกันเล่นและการเจรจาต่อรอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพอสมควรทีเดียว

3. รองเท้าคู่แรก

เด็กบางคนเริ่มเดินตั้งแต่อายุแค่ 10 เดือน ขณะที่บางคนก็ต้องรอจนอายุ 1 ขวบ 4 เดือน- 1 ขวบ 5 เดือน ถึงจะพร้อม แต่สิ่งที่คุณอยากรู้ต่อไปเมื่อลูกเริ่มเดินแล้ว คือ เขาควรใส่รองเท้าแล้วหรือยัง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าคุณควรให้ลูกใส่รองเท้าเมื่อเขาเกาะเดินหรือหลังจากเริ่มเดินไม่นาน และควรเลือกซื้อรองเท้าที่พื้นรองเท้ามีความยืดหยุ่นสูง เท้าของลูกจะได้ยังเกาะพื้น ช่วยป้องกันไม่ให้เขาลื่นล้ม

ทั้งนี้ ถ้าสภาพอากาศและสภาพพื้นที่ใช้เดินอำนวย คุณก็ควรให้ลูกเดินเท้าเปล่านานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะกล้ามเนื้อขา เท้าและข้อเท้าของเขาจะได้แข็งแรง และในช่วงที่เขาหัดเดิน เท้าเปล่าๆ ก็เกาะพื้นได้ดีที่สุดด้วย แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยังซื้อรองเท้าให้ลูกเร็วเกินความจำเป็นไปหน่อยเพราะห้ามใจไม่ได้ ทั้งๆ ที่เท้าของลูกอาจจะโตขึ้น 1 เบอร์ภายในเวลาแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น

4. รื้อ วางซ้อนกันและแยกประเภท

ถ้าคุณทิ้งตะกร้าผ้าไว้ตรงหน้า ลูกก็อาจจะสร้างความเพลิดเพลินให้ตัวเองด้วยการรื้อผ้าในตะกร้าออกมา เพราะลูกวัยนี้ก็ชอบรื้อ เปรียบเทียบขนาดและรูปทรงและแยกประเภทสิ่งต่างๆ เป็นที่สุด โดยยังไม่รู้จักเก็บของเข้าที่

ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกรื้อข้าวของในบ้าน คุณก็ควรจะหาหรือทำของเล่นแบบที่เขานำมาวางซ้อนกันและแยกประเภทเล่นได้ แค่นี้ก็มีเวลาจิบเครื่องดื่มถ้วยโปรดในระหว่างที่เขานั่งเล่นเงียบๆ คนเดียวและหาว่าช่องไหนใส่บล็อกสี่เหลี่ยมได้พอดีแล้วล่ะ

5. วัคซีนอีสุกอีใส

เมื่อถึงวันนัดตรวจสุขภาพในเดือนหน้า แพทย์ก็จะถามคุณว่าจะให้ลูกฉีดวัคซีนอีสุกอีใสหรือเปล่า ซึ่งคุณก็ไม่แน่ใจว่าควรปล่อยให้เขาเป็นโรคนี้และสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติหรือควรจะหลีกเลี่ยงโรคนี้โดยยอมให้เขาโดนฉีดวัคซีน นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุณจึงต้องปรึกษาแพทย์และตัดสินใจด้วยตัวเอง

6. นิทานเล่มโปรด

กระทั่งทารกที่ซนมากๆ ก็ยังยอมอยู่นิ่งๆ ถ้าได้นั่งตักพ่อหรือแม่และ “อ่าน” นิทานสักเรื่อง และการอ่านของเด็กวัยนี้ก็อาจจะหมายถึงการพลิกหน้ากระดาษ การชี้คำและสิ่งที่อยู่ในภาพ หรือการเอาหนังสือนิทานมาเคี้ยวเล่น ลูกอาจจะนั่งอ่านนิทานกับคุณได้ไม่ถึง 1 นาที แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้ เพราะลูกวัยนี้สนใจฟังได้นานแค่นั้นจริงๆ ฉะนั้นถ้าอ่านนิทานให้เขาฟังต่อไป คุณก็จะพบว่าเมื่อโตขึ้น เขาก็จะนั่งฟังได้นานขึ้น

ลูกอาจจะมีนิทานเล่มโปรดซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาสนใจด้วย คุณจึงอาจจะต้องอ่านนิทานเล่มเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า และถ้าเขาชี้คำที่สนใจ คุณก็ควรจะพูดคำดังกล่าวช้าๆ เพราะถึงเขาจะยังพูดตามไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าสมองของเขาไม่ได้ซึมซับคำพวกนั้น (พิสูจน์ได้..คุณพูดถึงภาพใดภาพหนึ่ง ลูกจะมองได้ถูกภาพ) ฉะนั้นถ้าเด็กๆ ได้อ่านนิทานกับพ่อแม่และพี่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ การอ่านก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญาซึ่งรวมถึงทักษะด้านภาษา และเขาก็จะมองว่าการอ่านคืองานอดิเรกที่ให้ความเพลิดเพลินไม่น้อยเลยทีเดียว

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up