มารู้จักกับคุณครูบานาน่า ผู้ตรวจการบ้านภาษามินเนี่ยน

Alternative Textaccount_circle
event

หลังจากที่มีกระแสเด็กส่งการบ้านโคลงสี่สุภาพเป็นเพลงบานาน่า จากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องดัง ทำให้คุณครูภาษาไทยคนนี้ต้องปวดหัว และต้องชี้แจงใหม่ให้ทราบว่า เนื่องจากคำสัมผัส นอกซ้ำ บทประพันธ์ไม่มีความหมาย ส่งกลับให้เด็กกลับไปแก้ไขใหม่ แต่ภาพวาดน่ารักนี้ถูกแชร์ในโซเชี่ยลดังกระหึ่ม จนกระทั่งเด็กๆ ตั้งฉายาให้กับคุณครูว่า “คุณครูบานาน่า” และเด็กๆ มอบกล้วยให้ 1 หวี แทนเค้กวันเกิดให้กับคุณครู

banaba (5)

เมื่อผู้คนคลิกตามไปดูว่าคุณครูท่านนี้เป็นใครกัน กลับล้างภาพคุณครูภาษาไทยในอุดมคติที่ถือไม้เรียว และดุๆ ไปจดหมาดสิ้น วันนี้ทางเว็บไซต์ของเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณครู

banaba (6)

ABK : “อยากคุณครูให้แนะนำตัวสักหน่อยค่ะ”

ชื่อสุวิมล จันต๊ะสุรินทร์ ชื่อเล่น หน่อย ค่ะ จบคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏ จันทรเกษม เกียรตินิยมอันดับ 1

ABK : ทำไมถึงมาเป็นคุณครูสอนภาษาไทย”

เลือกสอนภาษาไทยเพราะเริ่มจากเราชอบค่ะ ถ้าเราทำในสิ่งเราชอบเราจะทำออกมาได้ดี เราอยากจะค้นหา อยากจะหาวิธีการ อยากเรียนรู้ในสิ่งที่เราชอบ ต่อมาช่วงเรียนม.ปลายได้มีโอกาสเรียนพิเศษที่สถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่ง ซึ่งพอได้เรียนแล้วรู้สึกว่าทำไมครูเขาสอนสนุกจัง ฟังยังไงก็ไม่เบื่อ เลยเกิดแรงบันดาลใจว่าอยากเป็นครูที่สอนภาษาไทยได้สนุกแบบนี้บ้าง อยากให้เด็กๆในห้องเรียนได้เรียนแบบไม่เครียดเหมือนได้เรียนพิเศษข้างนอก จริงๆวิชาภาษาไทย คนจะมองว่าก็เป็นภาษาที่เราพูดและเขียนอยู่แล้ว เราก็มีความรู้อยู่แล้วทำไมต้องเรียน

banaba (1)

ABK : หลายคนอาจจะมองว่าวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่น่าเบื่อและไม่สนุก ทางคุณครูมีความคิดเห็นต่อความคิดนี้ว่าอย่างไร และคิดว่าเสน่ห์ของวิชาภาษาไทยคืออะไร

ในความเป็นจริงภาษาไทยยังมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย การใช้ภาษาให้ถูกต้องต้องใช้ยังไง เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการพูดสื่อสารหรือใช้ในการทำงาน และยังมีวรรณคดีที่เป็นมรดกของชาติที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เราทุกคนควรรักษาไว้ จริงๆแล้ววรรณคดีก็เหมือนบทละครเรื่องหนึ่ง หรือนิยายที่เด็กๆสมัยนี้ชอบอ่านกัน แต่ต่างกันตรงที่วรรณคดีจะถ่ายทอดออกมาเป็นบทกลอน ซึ่งจะมีการใช้คำที่สละสลวยไม่ได้แปลได้ตรงตัว เด็กๆก็จะไม่ค่อยเข้าใจหรือเข้าถึงความหมายของบทกลอนทำให้ไม่ซาบซึ้งในเรื่องราว ซึ่งตรงนี้ครูก็จะมีวิธีสอนโดยการเล่าวรรณคดีเรื่องที่จะสอนเป็นนิทานให้เด็กอยากฟัง อยากติดตาม และเข้าใจเนื้อเรื่องของบทกลอนก่อน พอเด็กเข้าใจเนื้อเรื่องแล้วเค้าจะสามารถแปลบทกลอนได้จากการเข้าใจเรื่องราวคร่าวๆที่ครูได้เล่าให้ฟัง

ABK : “สอนเด็กมัธยม ซึ่งวัยของเขาดูไม่ห่างจากคุณครูมากนัก หนักใจไหม?”

สอนเด็กมัธยมจะมีความยากตรงที่เด็กจะต่อต้าน จะเป็นหนุ่มเป็นสาว ก้าวร้าวกับเราไหม เพราะอายุดูไม่ห่างกันมาก จริงๆ สอนเด็กมัธยมเนี่ยครูชอบนะคะ ตื่นเต้นท้าทายดี ด้วยวัยที่ไม่ต่างกันมากยิ่งทำให้ครูเข้าใจเด็กๆ ว่าในวัยนี้เค้าต้องการอะไร และเหตุผลที่เด็กเป็นแบบนี้เพราะอะไร ครูจะพยายามทำความเข้าใจกับทุกๆ การกระทำของเด็กเสมอ ก่อนจะเริ่มการสอนด้วยกันครั้งแรกครูจะให้เด็กเขียนว่าอยากได้ครูแบบไหน ชอบเรียนวิชาภาษาไทยหรือไม่เพราะอะไรเพื่อเป็นการสำรวจความต้องการของเด็ก ครูก็จะอ่านแล้วนำมาปรับให้ตรงกับสเปกของครูที่เค้าอยากเรียน ซึ่งครูก็จะบอกว่าแน่นอนเด็กทุกคนต้องการครูใจดี แต่ตรงนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติกันและกัน เวลาครูสอนให้หนูฟัง เวลาครูพาเล่นเราก็เล่นด้วยกัน เวลาครูสั่งงานหนูก็แค่ทำส่ง ถ้าเราเคารพกันและกัน ครูก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องดุพวกหนู ครูจะคุยกับเด็กดีๆและมีเหตุผลในทุกเรือง ครูจะไม่ใช้อารมณ์ในการต่อว่าหรือเอะอะก็บ่นดุด่าเพราะถ้าเป็นแบบนั้นเด็กจะต่อต้านทันที เราต้องเข้าไปอยู่ในใจเค้าให้ได้ ทำให้เค้าเชื่อใจเรา และเชื่อถือในคำพูดเรา การต่อว่าของครูทุกครั้งจะมีเหตุผลรองรับเสมอ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่ครูดุขึ้นมาครั้งนึงเด็กเค้าจะรู้สึกว่าเค้าทำผิดจริงครูถึงต้องดุเค้า เค้าก็จะกลัวเพราะปกติครูจะไม่ดุ

ABK : “จากข่าวที่ออกมา คุณครูมีความคิดเห็นกับข่าวนี้อย่างไรบ้าง”

ในแง่บวกก็ถือว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนสนใจวิชาภาษาไทยเรื่องโคลงสี่สุภาพมากขึ้น แม้ว่าความถูกต้องของบทประพันธ์ที่ส่งมายังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าเกิดการ พัฒนาไปในทางที่ดีกับวิชานี้ค่ะ ซึ่งครูเองก็หวังว่าในอนาคตจะเกิดความคิดใหม่ๆ ที่สร้างแรงจูงใจให้เด็กนักเรียนอยากศึกษาวิชาภาษาไทยมากขึ้นค่ะ

banaba (2)

ในอนาคต ครูหน่อยบอกกับทีมงานของเราว่ามีแพลนจะเรียนต่อปริญญาโท และในอนาคตก็ยังรักที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านภาษาไทยให้กับเด็กๆ ที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป ทางเว็บไซต์ขอปรบมือให้กับคุณครูหน่อย ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เด็กๆ ควรนำเป็นแบบอย่างนะคะ^^

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up