แก้ปัญหาลูกไม่ยอมอาบน้ำ

[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 11] Baby Sign Language ลดเสียงร้องไห้ได้ด้วยภาษามือ

Alternative Textaccount_circle
event
แก้ปัญหาลูกไม่ยอมอาบน้ำ
แก้ปัญหาลูกไม่ยอมอาบน้ำ

ยังพอจะจำความรู้สึกเวลาไปต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ) แล้วพูดกับใครไม่รู้เรื่องได้ไหมคะ มันช่างอึดอัดคับข้องใจเสียจริง อยากจะกินอะไร อยากจะไปไหน หรือแม้แต่อยากจะไปเข้าห้องน้ำก็ถามทางไม่ถูก ในเวลาอย่างนั้น แทบทุกคนคงงัดเอาไม้ตายขึ้นมาแก้สถานการณ์… นั่นก็คือใช้ภาษามือ! เพราะการจะเรียนรู้ภาษาพูดของแต่ละชาตินั้นเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะพูดได้คล่อง

 

ที่ยกตัวอย่างมาเสียยาว ก็เพราะอยากจะให้คุณผู้อ่านลองเข้าไปนั่งในใจของลูกน้อยตัวเล็กๆ ที่ยังพูดกับใครไม่ได้ ว่ามันน่าหงุดหงิดขนาดไหน คุณพ่อคุณแม่เองหลายๆ ครั้งก็กลุ้มใจที่ไม่รู้ว่าลูกร้องเพราะต้องการอะไร เพราะฉะนั้นหากลูกน้อยได้เรียนรู้ที่จะใช้ภาษามือก่อนจะพูดได้ ก็ย่อมจะช่วยลดความหงุดหงิดและช่วยให้พ่อแม่ลูกสื่อสารกันได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก และจะส่งผลให้ลูกน้อยร้องไห้งอแงน้อยลงไปเองโดยปริยาย

 

ผู้เขียนได้ยินเรื่อง Baby Sign Language จากพี่ที่รู้จักท่านหนึ่งซึ่งสอนลูกด้วยการเปิดหนังสือและวีดิโอให้ดูแล้วทำตาม ลูกชายตัวเล็กอายุราวขวบครึ่งสามารถทำมือแสดงคำว่า ขอบคุณ (thank you) ขออีก (more) กิน (eat) และคำง่ายๆ หลายคำได้ ผู้เขียนเห็นแล้วก็ทดไว้ในใจว่าเมื่อลูกสาวอายุสัก 6-7 เดือน (ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับเริ่มต้นเพราะลูกสามารถมองและให้ความสนใจกับอะไรได้นานขึ้น และระหว่างอายุ 8 เดือนถึง 2 ขวบจะเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้ประโยชน์จากการใช้ภาษามือมากที่สุด) ก็จะสอนให้ใช้ภาษามือบ้าง ระหว่างนั้นก็ไปขอยืมหนังสือมาจากห้องสมุดและเปิดดูวีดิโอจากในอินเตอร์เน็ตเพื่อซักซ้อมไว้ก่อน

 

พอเวลามาถึงจริงๆ ผู้เขียนลองสอนคำต่างๆ ตามที่ได้อ่านหรือดูมา ลูกสาวก็ดูสนใจอยู่บ้าง แตดูท่าว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นมากนัก โชคดีที่เพื่อนของผู้เขียนซึ่งมีลูกอายุเท่ากันมาเล่าให้ฟังถึงชั้นเรียนภาษามือสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งผสมผสานการ “เล่น” เข้าไปกับการ “เรียน” อันจะทำให้หนูน้อยเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและสนุกสนาน ฟังดูน่าสนใจและมีอนาคตกว่าการทำมืองูๆ ปลาๆ ของผู้เขียนเป็นแน่ ว่าแล้วเราสองแม่ลูกก็พากันไปเข้าชั้นเรียน

 

การเรียนแบ่งออกเป็นซีรี่ส์ A, B และ C หนึ่งซีรี่ส์มี 5 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (45 นาที) โดยเริ่มจากคำง่ายๆ ที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น พ่อ แม่ เบบี้ ขอบคุณ ขออีก อาบน้ำ กิน นอน เปลี่ยนผ้าอ้อม ฯลฯ ไล่ไปจนถึงคำที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมขึ้นอย่างเรื่องของสีและอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเรียนจบทั้งหมดก็จะได้รู้จักภาษามือถึงเกือบ 250 คำ และเป็นภาษามือเดียวกันกับ American Sign Language จึงถือว่ามีประโยชน์มากต่อคุณพ่อคุณแม่ไปพร้อมๆ กัน

 

ผู้เขียนพาลูกสาวไปเรียน (จริงๆ รู้สึกเหมือนไปเล่นสนุกมากกว่า) จนจบทั้ง 3 ซี่รี่ส์ ตั้งแต่แกอายุ 9 เดือนจนถึง 20 เดือน ก็เข้าใจว่าการไปเข้าคลาสนั้นดีกว่าสอนเป็นคำๆ มากจริงๆ เพราะคุณครูใช้ภาษามือประกอบเพลง แล้วจากนั้นก็เปิดโอกาสให้เด็กเล่นของเล่นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อในแต่ละครั้ง ลูกสาวของผู้เขียนตื่นเต้นและสนุกมาก มองครูตาแป๋วแล้วก็พยายามทำตาม หรือบางครั้งแม้ไม่ได้ทำตามในชั้นเรียน แต่กลับมาบ้านก็แสดงความสนใจในสิ่งนั้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น เราเพิ่งไปเรียนเรื่องสี กลับมาถึงบ้าน แกก็ไปหยิบเอาหนังสือหลายๆ เล่มที่เกี่ยวกับเรื่องสี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจมาก่อน เอามาเปิดดู เวลาแม่ใช้ภาษามือก็หยุดดูด้วยความสนใจ หรือสัปดาห์ก่อนเรียนเรื่องยานพาหนะ สัปดาห์นั้นเราก็ได้ยินหนูน้อยตะโกนเรียก ‘Bus! Bus!’ เวลาเห็นรถเมล์ขับผ่าน หรือชี้ไปบนฟ้าแล้วบอกว่า ‘I hear airplane!’ เวลาได้ยินเสียงเครื่องบิน

 

ฟังแล้วแปลกใจไหมคะว่าไปเรียนภาษามือ แต่ทำไมกลับมาบ้านแล้วใช้ภาษาพูดแทน หรือแรกๆ ใช้ภาษามือแต่พอหัดพูดคำนั้นได้ก็เลิกใช้ภาษามือ หรือบางทีกลับกัน คือพูดได้ก่อน แล้วถึงมาทำท่าตามทีหลัง ผู้เขียนลองถามคุณครูดูก็ได้คำตอบว่า เป็นเรื่องปกติที่เด็กจะเลือกใช้สิ่งที่ถนัดกว่าก่อน เช่น คำง่ายๆ อย่างปาป๊ามาม้า เด็กมักจะพูดได้ก่อน แต่หลังจากนั้นรู้สึกสนุก ก็ลองใช้ภาษามือประกอบด้วย แต่ถ้าคำไหนพูดได้แล้ว ก็สะดวกกว่าที่จะพูดโดยไม่ต้องใช้ภาษามือประกอบ

 

อีกอย่างที่น่าสนใจคือลูกสาวผู้เขียนเริ่มผสมคำที่ได้เรียนมาเข้าด้วยกัน แล้วสร้างเป็นกลุ่มคำหรือประโยคสั้นๆได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึงขวบครึ่ง เช่น ‘red car’, ‘เมตตา read book’ หรือ ‘I eat banana.’ ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ผู้เขียนไปอ่านเจอภายหลังว่า การใช้ภาษามือนั้นไม่ได้ทำให้เด็กพูดช้าลงเหมือนกับที่หลายๆ คนกลัว ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ได้เรียนภาษามือตั้งแต่ยังเล็ก กลับจะพูดได้เร็วกว่าด้วยซ้ำ เพราะ “ภาษา” นั้นเป็นเรื่องของสัญลักษณ์และการสื่อสาร กล่าวคือสังคมสร้างสัญลักษณ์เป็นคำพูดขึ้นมาเพื่อใช้เรียกสิ่งต่างๆ และเพื่อความเข้าใจร่วมกัน เมื่อเด็กได้เรียนภาษามือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ง่ายๆ ที่ใช้แทนสิ่งของแต่ละอย่าง เด็กก็จะเข้าใจแนวคิดเรื่องสัญลักษณ์ รู้สึกสนุกที่สามารถสื่อสารกับผู้ใหญ่ได้ และเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเอง (ลูกสาวผู้เขียนมีท่าส่วนตัวสำหรับคำที่ไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนหลายคำทีเดียว) เมื่อเริ่มเข้าใจพื้นฐานของภาษา ก็จะมีความกระตือรือร้นที่จะเลียนแบบเสียงและพูด จากนั้นก็ต่อยอดด้วยการเพิ่มคำขยายและนำคำมาผสมกันเป็นประโยคได้อย่างน่าสนใจและเป็นธรรมชาติมาก

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การที่พ่อแม่ใช้ภาษามือสื่อสารกับลูกนั้น จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองสูงมาก และช่วยให้เด็กโตขึ้นเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเอง รักการอ่าน และเป็นผู้ริเริ่มบทสนทนาที่ดี เพราะหนูน้อยเรียนรู้ที่จะอธิบายความต้องการของตนเองและอธิบายสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจรอบๆ ตัวมาตั้งแต่ยังเล็ก โดยมีพ่อแม่คอยโต้ตอบและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเด็กเห็นรถและใช้ภาษามือ (จับพวงมาลัยหมุนๆ) พ่อแม่ก็สามารถอธิบายเพิ่มเติมว่า รถสีขาว รถของหม่าม้า รถแล่นเร็ว ฯลฯ เป็นการต่อยอดคลังคำของหนูน้อยให้ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างสนุกสนาน และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นแน่นแฟ้นระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกน้อยด้วย เพราะเวลาใช้ภาษามือนั้น ทั้งสองฝ่ายต้องมองตาและให้ความสนใจต่อกัน นับเป็นพื้นฐานเรื่องการสื่อสารที่จะช่วยให้หนูน้อยเติบโตมาเป็นนักฟังที่ดีอีกอย่างหนึ่งด้วย

 

ใครที่สนใจ ลองเริ่มได้เองด้วยการหาหนังสือมาอ่านและเปิดดูวีดิโอสอนภาษามือสำหรับผู้ใหญ่ (หรือเด็กเล็ก ถ้าหาได้) แล้วใช้ภาษามือเหล่านั้นประกอบเพลงสำหรับเด็ก เล่นกับลูกดูก็ได้ค่ะ ราวๆ 2 เดือนก็น่าจะเริ่มเห็นลูกทำท่ากลับมาบ้าง แรกๆ ลูกอาจจะยังใช้มือไม่เก่ง ภาษามือที่ส่งกลับมาอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่ขอให้พยายามต่อไปค่ะ เพราะความต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้

 

แล้วเสียงร้องไห้ก็จะกลายเป็นเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของทุกคนในครอบครัวค่ะ

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up