[Blogger พ่อเอก-51] ปูนปั้น ไปโรงเรียน ครบ 2 สัปดาห์

Alternative Textaccount_circle
event

ปูนปั้น ไปโรงเรียน ครบ 2 สัปดาห์

 

ตอนที่แล้วเขียนเล่าเรื่องวันแรกของปูนปั้นในการไปโรงเรียนแล้ว ตอนนี้จะมาเล่าเรื่องการปรับตัวในการไปโรงเรียนจนครบ 2 สัปดาห์แรกครับ

 

ปูนปั้นมีปรับตัวดีขึ้นทุกวัน โดยวันที่ 2, 3, 4 และ 5 ของการไปโรงเรียนสัปดาห์แรกก็ร้องไห้น้อยลง วันหลังๆ ร้องไห้เป็นพิธี คุณครูเล่าให้ฟังว่า พอปะป๊าหม่าม๊าลับตา ปูนปั้นก็เดินไปเล่นของเล่นเลย เหมือนกับเผื่อปะป๊าหม่าม๊าใจอ่อนพากลับบ้าน (ฮ่าฮ่าฮ่า) แต่พอลับตาก็ลืมไปว่าเมื่อกี๊ตอนปล่อยมือกันยังน้ำตาไหลอยู่ พอวันจันทร์ของสัปดาห์ที่สอง ก็ไม่มีการร้องไห้แล้ว แม้หน้าตาจะยังกระอักกระอ่วนบ้างเวลาตอนไปส่งที่โรงเรียน แต่ไปถึงห้องก็ทำตามหน้าที่เลย คือ ถอดรองเท้าวางเข้าชั้น หิ้วกระเป๋า จูงมือคุณครูเข้าห้อง เก็บใส่ชั้นของตัวเอง แล้วก็ลงไปเล่นกับคุณครูเลย ไม่หันมามองซะด้วยซ้ำว่า ปะป๊ากะหม่าม๊ายังยืนแอบมองอยู่ที่หน้าห้อง

สิ่งที่เราเรียนรู้ : เด็กๆ รู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ได้ไม่ยาก เราเพียงทำหน้าที่อธิบายว่าทำไมเขาถึงมาเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และคอยให้กำลังใจเจ้าตัวเล็ก ดังนั้นอย่ากังวลมากไปครับ ตอนเราเด็กๆ ก็ไปโรงเรียนกันได้แม้วันแรกๆ เราจะโลกแตกเหมือนกัน

 

การทานข้าวเช้าปรับตัวสวนทางกับการไปโรงเรียน ลีลาเยอะขึ้นกว่าวันแรกๆ จากวันแรกๆ ที่ทานหมดตั้งแต่ก่อนถึงโรงเรียน ก็เริ่มช้าลง บางครั้งจอดรถแล้วถึงจะหมด บางวันทานไม่หมดเลย อันนี้ปะป๊า หม่าม๊า เดาเอาว่ามีหลายสาเหตุ เรื่องหนึ่งอาจจะเพราะวันแรกๆคง งงๆ มึนๆ ให้หม่ำก็หม่ำ พอต้องทำทุกวันการทานเช้ามากๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย (ขนาดผู้ใหญ่อย่างเราก็ยังทานไม่ค่อยอร่อยถ้าต้องทานตั้งแต่หกโมงนิดๆ)

สิ่งที่เราเรียนรู้ : อะไรที่เริ่มต้นง่ายในวันแรกๆ มันอาจจะยากขึ้นในวันต่อๆมา ฮ่าฮ่าฮ่า คงต้องหาวิธีหลอกล่อกันไปเรื่อยๆ การปรับอาหารอาจจะต้องยอมให้มีรสชาติมากขึ้น (ปกติอาหารปูนปั้นจะรสอ่อนมาก จนเกือบจืด เพราะเด็กๆ ไม่ควรทานรสจัด)

 

ในวันแรกๆ พอกลับบ้าน ปะป๊าหม่าม๊าถามว่าวันนี้เรียนอะไรมาบ้าง คุณครูสอนอะไรบ้าง ปูนปั้นจะตอบไม่ค่อยถูก ทำหน้ามองๆ บางทีตอบว่า “PoonPun doesn’t know” ทำเอาปะป๊า กะหม่าม๊า อมยิ้มเลย แล้ววันต่อๆมาก็จะค่อยๆเล่าได้ ว่าคุณครูสอนอะไร เล่าละเอียดขึ้นเรื่อยๆ บางวันก็มีท่าทางประกอบว่าคุณครูสอนเรื่องปู ปูต้องเดินเฉไปเฉมา ก็ทำมือทำท่าโยกประกอบ

สิ่งที่เราเรียนรู้ : ควรหาเวลาพูดคุยกับเขาทุกวันว่าวันนี้เรียนอะไร สนุกมั้ย เพื่อหัดให้ปูนปั้นรู้จักการเล่าเรื่องราว การผูกเรื่อง เมื่อเขาเล่า เราก็ต้องสนุก ตื่นเต้นไปกับเจ้าตัวยุ่งด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เขารู้สึกสนุกและอยากมาเล่าให้ฟังทุกวัน และบางเรื่องเราก็หาข้อมูลมาสอนเขาเพิ่มเติมเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติม เช่น เราก็จะเล่าเหตุผลว่าทำไมปูต้องเดินเฉไปเฉมา ที่สำคัญในการพูดคุยคือ ถ้าเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาไปเรียนรู้มาสนุกจัง เขาก็จะอยากไปเรียน อย่างวันแรกๆ คุณครูสอนเรื่องทะเล ปูนปั้นก็กลับมาเล่าว่าคุณครูสอนเรื่องปลาว่าประกอบด้วยอะไร เราก็โอ้โฮ อู้ฮูเรียนรู้ไปด้วยหารูปมาให้เขาชี้สอนเรา วันต่อมาคุณครูสอนทำปลากลับมา เราก็ดีใจกันใหญ่เอามาวางโชว์ไว้ วันต่อมามีวาดรูปปูกลับมาเราก็เอามานั่งทานข้าวด้วยกันบนโต๊ะ เราเห็นรอยยิ้ม ความสนุก ความภูมิใจ บนใบหน้าเจ้าตัวยุ่งและเราเชื่อว่าจะช่วยทำให้เขาอยากไปโรงเรียนยิ่งขึ้น

 

ก่อนนอนทุกวัน ปูนปั้นจะชอบบอกปะป๊ากะหม่าม๊าก่อนนอนว่า

“Tomorrow PoonPun will go to school, not go to ‘ชื่อเนอร์สเซอร์รี่’ and PoonPun will not cry”.

แล้วเขาก็ทำได้ดีขึ้นทุกวันจริงๆในที่สุดก็ไม่ร้องเลย ในสัปดาห์ที่สอง

สิ่งที่เราเรียนรู้ : เด็กเรียนรู้และเข้าใจ การชื่นชม การกระตุ้น ของปะป๊า หม่าม๊า ดังนั้นเราจึงทำหลายๆอย่าง เพื่อกระตุ้นเขาก่อนนอน) เราใช้นิทานเรื่องการไปโรงเรียนเป็นหนึ่งในเรื่องที่เอามาอ่านกับปูนปั้นก่อนนอน (เช่น หมีจอร์จ กุ๋งกิ๋ง และอื่นๆ) เขาจะเห็นว่าเด็กๆต้องไปโรงเรียนกันทุกคน และที่โรงเรียนจะมีเพื่อน มีความสนุกสนาน) พูดคุยเรื่องที่โรงเรียนว่าวันนี้คุณครูสอนอะไร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของปะป๊า หม่าม๊าในการไปโรงเรียนของปูนปั้น ต้องมีอารมณ์ร่วมและช่วยเสริมให้สนุกสนาน) สิ่งที่ได้รับการชื่นชมมาจากคุณครู เราต้องเอามาเล่าให้ฟังและชื่นชมว่าเขาทำดี) สิ่งที่ยังต้องแก้ไข เราจะไม่ใช้การดุ แต่ใช้การกระตุ้นกัน ให้สัญญากัน เช่น พรุ่งนี้ใครจะตื่นแต่เช้าแล้วอารมณ์ดี ใครจะไปโรงเรียนแล้วไม่ร้องไห้ เป็นต้น ถ้าเขารับปากสัญญาก็ต้องชมเขาในแบบที่เขาชอบ เช่น ปูนปั้นจะชอบให้ชมว่าเยี่ยมๆถ้าเขาทำดี เราก็จะชมว่าเยี่ยมๆ (พร้อมท่าทางประกอบภายในครอบครัวเราเอง ถ้าปูนปั้นสัญญา) กลับมาบ้านทุกวันสิ่งไหนที่ทำดีตามสัญญาเราก็ชมให้เขารู้ว่า เราเห็นนะสิ่งที่เขาทำดี

สรุปว่า สองอาทิตย์แรกผ่านไปด้วยดี และปูนปั้นเอ่ยชื่อคุณครูคนนั้นคนนี้บ่อยขึ้น (เราก็ควรจำว่าคุณครูท่านไหนชื่ออะไร จะได้คุยกับเจ้าตัวเล็กได้ออกรสชาติ) ก็น่าจะเชื่อว่าเขาปรับตัวเข้ากับคุณครูได้แล้ว จากนี้ไปก็อยากให้ไปโรงเรียนด้วยความสุขสนุกสนานทุกวัน การเดินทางเพิ่งเริ่มเท่านั้นเองฮะ

คุณพ่อคุณแม่เอาประสบการณ์มาแบ่งปันกันนะฮะ คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆจะได้นำไปปรับใช้กัน

 

b1 b2 b3 b4

 

 

 

 

 

ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ใน คอลัมน์ FAMILY BLOGGER : ได้ทุกสัปดาห์แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

Facebookwww.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up