เจนอัลฟ่า

เลี้ยงลูกเจนฯ อัลฟ่าให้ฉลาดและมีความสุข

Alternative Textaccount_circle
event
เจนอัลฟ่า
เจนอัลฟ่า

หลักคิดที่ไม่เปลี่ยน VS วิธีการที่ปรับเปลี่ยนได้ สำหรับลูก “เจนอัลฟ่า”

การเลี้ยงดูเด็กรุ่นนี้ ประกอบด้วย หลักคิดที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็กเบื้องต้น และอ้างอิงเหตุผลทางประสาทวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาที่ไม่ควรเปลี่ยน แต่ก็สามารถยืดหยุ่นในบางเรื่อง ดังที่คุณหมอจะแยกเป็น 2 ประเด็นค่ะ

•  หลักคิดในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก (ที่ไม่เปลี่ยน)

  1. เด็กควรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เลี้ยงดู มีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ให้เด็กอยู่กับหน้าจอ (ทีวี สมาร์ทโฟน แทบเล็ต) ก่อนอายุ 2 ขวบ นอกจากนี้ เด็กควรได้สร้างความรักใคร่ผูกพันอย่างมั่นคงทางอารมณ์กับผู้เลี้ยงดูหลัก ผ่านการเลี้ยงดูที่ผู้ใหญ่ตอบสนองอย่างสม่ำเสมอ และมีความมั่นคงทางอารมณ์
  2. กำหนดกติกาต่างๆ ให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของลูก และค่อยๆ พัฒนาให้เกิดเป็นวินัยในตนเอง
  3. คุณพ่อคุณแม่ให้ความใกล้ชิดลูก เพื่อทำความเข้าใจในตัวเขาทั้งพื้นอารมณ์ ความชอบ ความถนัด ระดับพัฒนาการและส่งเสริมให้เขาอย่างเหมาะสม
  4. ผู้ใหญ่ควรเคารพในความเป็นตัวตนของเด็ก ไม่บังคับหรือสั่งให้ทำโน่นนี่ตามใจผู้ใหญ่ทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ให้เด็กทำตามใจตัวเองทุกเรื่อง บางเรื่องก็ต้องมีกฎกติกา บางเรื่องก็ยืดหยุ่นได้ เรื่องที่ต้องมีกฎกติกามักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัย สุขอนามัยและหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ
  5. คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาและฝึกฝนวิธีฟังและพูดกับลูก เพื่อให้ช่องทางในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลูกเปิดอยู่เสมอ แม้ว่าลูกจะเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
  6. คุณพ่อคุณแม่ศึกษาและฝึกฝนวิธีรับมือกับพฤติกรรม ทั้งพฤติกรรมก้าวร้าวและก่อกวนให้เหมาะสม

•  วิธีการที่ปรับเปลี่ยนได้

แม้ว่าแนวคิดหลักในการอบรมเลี้ยงดูเด็กจะไม่เปลี่ยน  แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือยืดหยุ่นให้ลูกในบางเรื่อง  เช่น  เด็กหลายคนเรียนรู้ผ่าน Youtube หรือ E-Learning ไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียน หรือเรียนด้วยวิธีเดิมๆ  หรือลูกอาจหาเพื่อนทางโซเชียล โดยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ ซึ่งพ่อแม่ควรถือเป็นโอกาสที่จะให้ลูกระมัดระวังตนเองจากคนแปลกหน้าหรืออันตรายทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ต้องรู้ให้เท่าทันกับความเสี่ยงและอันตรายต่างๆ ที่ลูกจะต้องเผชิญ ที่แตกต่างไปจากสมัยที่พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายยังเด็ก เพื่อที่จะเปลี่ยน “ความท้าทายหรือความเสี่ยง” นั้น ให้เป็น “โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา” ของลูก           

อย่าลืมว่าการอบรมเลี้ยงดูเด็กในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็มีเรื่องต่างๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ขบคิดและอาจเป็นกังวล แต่หากเรารู้เท่าและรู้ให้ทัน รวมถึงเข้าใจแนวคิดหลักที่คุณหมอแนะนำ (อาจหาอ่านได้จากบทความเดิมๆ ที่คุณหมอเคยลงไว้ หรืออ่านตามหนังสือต่างๆ ) เราก็พร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับลูกน้อยค่ะ

 

ที่มา: นิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับมกราคม 2559

บทความโดย: แพทย์หญิงนลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

ภาพ: Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up