blog ครอบครัว

[Blogger พ่อเอก-46] บทบาทปะป๊าหม่าม๊าที่สมดุล

Alternative Textaccount_circle
event
blog ครอบครัว
blog ครอบครัว

          บทบาทของปะป๊าหม่าม๊าที่จะแสดงออกกับเจ้าตัวเล็กมีความสำคัญมากเลยนะฮะ ไม่รู้ว่าแต่ละบ้านคุณพ่อคุณแม่แบ่งบทบาทกันอย่างไร แต่สำหรับบ้านนี้มีชนิดที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจนตามที่ตกลงด้วยวาจาระดับหนึ่ง และมีชนิดที่แบ่งกันไปตามธรรมชาติตามลักษณะนิสัยของปะป๊าหม่าม๊าเองอีกแบบหนึ่ง

         แบบที่แบ่งหน้าที่กันตามที่ตกลงกันชัดเจนก็เช่น หม่ามี๊ ทำหน้าที่ในการให้นมแม่กับเจ้าปูนปั้น (อันนี้จริงๆ ปะป๊าพยายามลองช่วยหลายหน แต่เจ้าปูนปั้นทำหน้าเบ้ครับ)

         ทำอาหารให้ลูก (ส่วนอาหารผู้ใหญ่ ปะป๊าชอบทำ กินได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามฝีมือ เชฟกระโถนเหล็กอันเลื่องชื่อ)

         ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ของลูก เพราะต้องการความละเอียดอ่อน (อันนี้ปะป๊ายอมแพ้) รวมไปถึงเสื้อผ้าและทุกอย่างที่เกี่ยวกับสุขอนามัยของลูก คุณหม่าม๊าจะเป็นมือหนึ่ง ส่วนปะป๊า เป็นมือรอง ในส่วนบทบาทของปะป๊าที่ได้รับจัดสรรมาก็เช่น ปะป๊าเป็นมือหนึ่งในการ เช็ดอึ เปลี่ยนผ้าอ้อม ถือว่าอะไรอยู่ใต้สะเอวเจ้าปูนปั้น ปะป๊าจัดการ (อันนี้หม่าม๊า ไม่มีท่าที เคยแย่ง แต่เสียงแปดหลอด “ปะป๊า!!!! ปูนปั้น อึ๊อึ” เป็นสิ่งที่ได้ยินประจำ)

         งานเล่นแบบออกกำลัง เช่น ขี่ม้า ลดน้ำต้นไม้ ไปเรียนว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เหล่านี้เป็นของปะป๊า รวมไปถึง งานให้กำลังใจหม่าม๊าก็เป็นงานหนัก แต่ที่หนักใจสุดคือหน้าที่กระเป๋าตังส์ของครอบครัว แต่ทั้งหมด ถือว่าสมดุล เป็นไปตามหลักการ อยากอยู่สบาย “อย่ามีเรื่องกับภรรยา”

         ในบทบาทอีกด้านหนึ่งที่อาจจะมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนกับบทบาทข้างต้นหรืออาจจะมีความสำคัญกว่าด้วยซ้ำ คือ บทบาทตามธรรมชาติที่แสดงออกเพื่อให้เจ้าตัวเล็กได้เติบโตแบบมีสมดุล เราอาจจะโชคดีที่ปะป๊าหม่าม๊าแสดงบทบาทที่แตกต่างกันออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว และเราได้ไปพบคุณหมอพัฒนาการเด็กมา (อ่านตอน ‘พบคุณหมอพัฒนาการเด็กตอนที่ 1’ และ ‘พบคุณหมอพัฒนาการเด็กตอนที่ 2’) ซึ่งคุณหมอได้สังเกตเห็นบทบาทที่แตกต่างกันนั้น ทำให้เราสานต่อบทบาทนั้นมาจนปัจจุบัน

         โดยบทบาทที่สมดุลจะมีด้าน Rules และ Relationships ซึ่งถ้าเอนไปด้านใดด้านหนึ่งมากๆ ก็จะไม่ดี เช่น ถ้า Rules หนักๆ มีแต่กฏระเบียบ ดุ บังคับ เด็กอาจจะมีระเบียบวินัยแต่เกิดจากความกลัว ความกดดัน ไปปิดกั้นจินตนาการวันหนึ่งก็อาจจะระเบิดออกมาได้แต่ถ้ามีแต่ Relationships ด้านเดียว เด็กอาจจะถูกเอาใจจนเกินไป เด็กอยากได้อะไรก็ได้ แต่มันอาจจะพัฒนาไปสู่ความเอาแต่ใจ ก้าวร้าว เพราะเคยชินกับการตามใจ และจะต้องได้สิ่งที่ต้องการ

         ในวันที่ไปพบคุณหมอ สรุปสั้นๆ ได้ว่า คุณหมอเห็นทั้งคุณพ่อคุณแม่ เล่นและมีกิจกรรมกับปูนปั้นที่ทำให้ลูกมีจินตนาการ อยากเล่น อยากเรียนรู้ แต่สิ่งที่ต่างคือ ปะป๊าจะมี Rules ชัดเจน ก่อนจะไปเล่นอย่างอื่น ปะป๊าจะต้องบอกให้ปูนปั้นจัดการเก็บของเล่นเดิมให้เรียบร้อยก่อน หรือ จะต้องตกลงกันก่อนว่าจะเล่นอะไร อย่างไร และจะต้องไม่ผิดสัญญาเป็นต้น ซึ่งคุณหมอมองว่าเป็นสิ่งที่ดี

         จากที่ไปพบคุณหมอผ่านมาก็เป็นปีแล้วสิ่งที่เห็นชัดและปะป๊าอยากมาเล่าให้ฟังแบ่งปันประสบการณ์เผื่อจะนำไปลองปรับใช้กัน เพราะมันได้ผลจริงๆ

         โดยขอยกตัวอย่างล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คุณยายรับปูนปั้นมาส่งที่บ้านตามปกติ แต่วันนี้ปูนปั้นอ้อน ไม่ยอมไปนอน ไม่ยอมกินนม ไม่ยอมใส่ผ้าอ้อม จะเล่นอย่างเดียว แถมหม่าม๊าเลิกงานช้ามาส่งปูนปั้นนอนไม่ทัน (ก่อนนอน ปกติเราสามคน พ่อ แม ลูก จะเล่น จะอ่านหนังสือ พร้อมกัน แต่ถึงเวลานอน หม่าม๊าจะเป็นคนส่งเข้านอนมือหนึ่ง เพราะตั้งแต่เกิด เจ้าปูนปั้นจะหลับไปกับนมเต้า) วันนั้นประมาณ 6.45 น. คุณยายจะกลับบ้าน ก็ถามปะป๊าว่า“จัดการได้เนอะ” ปะป๊าตอบว่า “สบายมาก”

         พอคุณยายกลับไป ปะป๊า ก็ถามปูนปั้นว่าอยากทำอะไร “ปูนปั้นขอนั่งดู Lion King ได้มั้ย” ปะป๊าบอก “ได้ แต่แค่ 10 นาที แล้วต้องไปกินนมก่อนนอน ตกลงมั้ยครับ” เจ้าปูนปั้นตกลง (แล้วตอนนั่งดู เราจะดูไปด้วยกัน สอนไปด้วยว่า ตัวไหน ทำอะไร เพราะอะไร เพราะเราไม่ทิ้งปูนปั้นไว้หน้าจอคนเดียว และตั้งแต่เกิดเราให้ปูนปั้นดูจอน้อยมากๆ) พอใกล้ๆ ครบ 10 นาที ปะป๊าก็จะเตือนว่า "ถึงเวลา บ๊ายบายทีวีแล้วนะครับ” ปูนปั้นก็ไม่อิดออด ก็บอกบ๊ายบายทีวี แล้วก็เดินไปเอาแก้วน้ำที่ใส่นมมาดูด แต่ปูนปั้นเป็นเด็กนมแม่ 100% มาสองปีเต็มๆ การมาดื่มนมจากแก้วก็จะอิดออดบ้าง แต่ก็สามารถหลอกล่อได้ ผมก็จะตกลงกับปูนปั้นก่อนว่า “มาดื่มนมแล้ว ไปวาดรูปรถไฟรางรถไฟกันมั้ย หยุดดื่มก็หยุดวาดนะ” เท่านั้นเจ้าปูนปั้นก็ตาโตแล้วเราก็เล่นตามนั้น ไม่นานนมก็หมด ปะป๊าก็จะไปขั้นต่อไปว่า “ได้เวลาแปรงฟันแล้วขึ้นนอน Ok มั้ย” ปูนปั้นก็ตอบตกลงแต่ก็จะแฝงการเล่นไปด้วย โดยปะป๊าก็จะถามว่าวันนี้จะให้ใครมานั่งดูปูนปั้นแปรงฟัน จะให้พี่เต่า (ตุ๊กตาเต่าว่ายน้ำสุดโปรด) หรือ McQueen หรือ Thomas มาดู เขาเลือกอันไหน เราก็เอามาวาง เพื่อดูเจ้าตัวยุ่งแปรงฟัน จากนั้นก็พาขึ้นนอนก็จะหลอกล่อด้วยสิ่งที่เขาชอบนั่นแหละฮะ ปะป๊าก็จะถามว่า“วันนี้ก่อนนอนจะอ่านหนังสือเรืองอะไรดี” ปูนปั้นก็จะเลือกมา เราก็อ่านด้วยกัน

         จากนั้นก็จะให้เขาเอาของเล่นอีก 2-3 อย่างมาเล่น พอใกล้ๆ เวลานอน ปะป๊าจะบอกเขาว่า“ใกล้เวลานอนแล้วนะ เตรียมบ๊ายบายทุกอย่าง” ปูนปั้นก็จะไล่บ๊ายบายทุกอย่างแล้วก็เก็บเข้าของเข้าที่ทุกอย่าง เพราะผมสอนเขาแบบนี้ตั้งแต่เริ่มเดินเตาะแตะ จากนั้นปูนปั้นก็ปีนขึ้นเตียง ผมจะให้เขาเลือกเพลง 1 เพลงก่อนปิดไฟนอน ซึ่งผมจะเปิดจาก YouTube ให้ดูซึ่งปกติก็ไม่พ้น เพลงการ์ตูนทั้งหลาย พอจบเพลงผมก็จะบอกว่า “ปะป๊าจะปิดไฟแล้วนะ” ปูนปั้นก็จะ “Ok ครับ” แล้วเราจะพูด “Good Night ครับ Papa loves PoonPun so much” ปูนปั้นก็จะตอบกลับว่า “Good Night ครับ Love Papa so much”  แล้วผมก็จะเปิดเพลงกล่อมนอนที่เขาชอบเป็นเพลงสุดท้าย ไม่ได้ให้ดูจอ เปิดคลอเฉยๆ เพราะปูนปั้นชอบเพลง มนตร์ไทรโยค ของ The Innocent หรือ ไม่ก็นิทานหิ่งห้อย ของเฉลียง เขาก็จะค่อยๆ หลับ เอาจริงๆหลับง่ายกว่าหม่าม๊าส่งนอนอีก เพราะเขาเรียนรู้ตารางในแบบ Rules ของปะป๊า ซึ่งจะเห็นว่า เป็น Rules ที่อยู่บนการละเล่นของเขา ไม่ใช่การบังคับ ง่ายๆ แค่นี้เองฮะ

         โธ่ ก่อนนอน แค่ได้ยินว่า Love Papa so much ทุกวัน คุณว่าใครหลับมีความสุขกว่ากันหนอ

 

ติดตามเรื่องราวความน่ารักของครอบครัวน้องปูนปั้นได้ในคอลัมน์ FAMILY BLOGGER : www.real-parenting.com ได้ทุกสัปดาห์
 

 แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่

www.facebook.com/Poonpun.Poonpoon นะครับ

 

บทความโดย: บรรทัดที่สิบเอ็ด (พ่อเอก-จิรัฏฐ์ สิริเฉลิมพงศ์)
ภาพโดย: 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up