ลูกไม่สบาย

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

event
ลูกไม่สบาย
ลูกไม่สบาย

พ่อแม่มือใหม่ควรอ่าน พร้อมแชร์เก็บไว้ดู!! รวมครบโรคเด็ก กับ 20 อาการต้องสงสัย? ลูกไม่สบาย ลูกป่วย แบบนี้..! กำลังเป็นโรคอะไรกันแน่?

20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย
ลูกป่วย เป็นโรคอะไรกันแน่..เช็กเลย!

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ตั้งแต่วัยแรกเกิด ถึง วัยอนุบาล แทบทุกคนมักจะมีประสบการณ์ร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ วิตกกังวลเรื่องสุขภาพของลูก ลูกไม่สบาย เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็กวัยนี้ยังไม่สมบูรณ์ดี จึงมักเจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆ ทั้งโรคเล็กน้อยอย่างหวัด ออกหัด ไปจนถึงโรคน่ากลัวที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก

ดังนั้นการทำความรู้จักโรคต่างๆ รู้ทันลักษณะอาการของโรค เมื่อ ลูกไม่สบาย ที่พบได้บ่อยในวัย 0-6 ขวบนี้ ก็อาจช่วยลดความวิตกกังวลของพ่อแม่และช่วยให้ลูกน้อยได้รับการเยียวยาและการดูแลที่เหมาะสมในเบื้องต้นอย่างทันท่วงที ร่วมกับความรักและการโอบกอดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นหมอคนแรกของลูก ก็จะช่วยให้หายป่วยได้เร็วขึ้น

ว่าแต่หาก ลูกไม่สบาย พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการแบบนี้ ลุกกำลังป่วยเป็นโรคอะไร ทีมแม่ ABK มีสัญญาณอาการต้องสงสัยของโรคร้ายในเด็กแต่ละโรคที่พ่อแม่ควรรู้ มาแนะนำ จะมีโรคอะไรและอาการของแต่ละโรคเป็นอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลย

1. ลูกไม่สบาย มีไข้น้ำมูกใส = โรคหวัด

โรคหวัด (Common Cold) ถือเป็นหนึ่งโรคติดเชื้อยอดฮิตที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นในเด็กเล็กและเด็กวัยอนุบาล เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในร่างกายลูกส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ได้รับถ่ายทอดมาจากแม่ผ่านทางรกตั้งแต่อยู่ในท้อง และจะลดลงเรื่อยๆ จนต่ำสุดที่อายุลูกประมาณ 4-6 เดือน ดังนั้นเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่อาจเริ่มเจ็บป่วยในช่วงวัยนี้หากได้รับเชื้อ

สำหรับเด็กวัยอนุบาลมีการเจ็บป่วยบ่อย เนื่องจากมีการแพร่กระจายจากเพื่อนในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ ละอองฝอยจากการไอจาม การสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย ทั้งโดยตรงและจากของเล่นที่เปื้อนแล้วเอามือเข้าปาก หรือป้ายที่จมูกที่ตา

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เป็นโรคหวัด

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหวัด เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอาการ ลูกไม่สบาย ของโรคหวัดมักไม่รุนแรงและอาจมีอาการได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เสียงแหบ ร่วมกับอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ปวดหัว ปวดเมื่อตามตัว ตาแฉะมีขี้ตา อาการเจ็บคอมักไม่รุนแรง อาจเพียงแค่คันหรือระคายเคือง ซึ่งต่างจากการเป็นหวัดเพราะติดเชื้อแบคทีเรียน ที่มักจะมีอาการรุนแรงมากและเป็นที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเป็นสำคัญ เช่น เจ็บคออย่างเดียว แต่จะมีอาการเจ็บคอมากและตรวจพบว่ามีคอแดงหรือเป็นหนอง และมีเยื่อแก้วหูแดง บวกกับลูกมีอาการซึม งอแง ไม่เล่น หงุดหงิด และไม่รับประทานอาหาร ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด อาจนำไปสู่โรคหูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ และปอดอักเสบได้

พ่อแม่จึงควรสังเกตดูให้ดีว่า ลูกมีอาการแย่ลง มีไข้สูง ให้สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ส่วนการเปลี่ยนของสีน้ำมูกและเสมหะเป็นเหลืองหรือเขียว ขณะที่อาการอย่างอื่นดีขึ้นและหายจากหวัดภายใน 10 วัน ไม่จัดว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จึงไม่ควรให้ลูกกินยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) เนื่องจากไม่มีประโยชน์ทั้งในเรื่องการความความรุนแรงของโรค ไม่ได้ทำให้ลูกหายป่วยเร็วขึ้น หรือลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็นอาจก่อให้เกิดปัญหาดื้อยา จนต้องใช้ยาที่แรงและแพงมากขึ้น

2. ลูกไม่สบาย ไอแห้ง เสียงก้อง หน้าอกบุ๋ม = โรคกล่องเสียงอักเสบ

โรคกล่องเสียงอักเสบ หรือ โรคครูป (Croup) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจติดขัด ไอมีเสียง พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี และมักเกิดในช่วงฤดูหนาว เพราะว่าในช่วงฤดูหนาวอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้งกว่าปกติ ทั้งนี้โรคครูปมักเกิดจาการติดเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซา จากการหายใจสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป หรือจากการสัมผัสของเล่นที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสและนำเข้าปาก ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจบริเวณท่อหลอดลมและกล่องเสียงมีการอักเสบและบวม

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย ป่วยเป็นโรคกล่องเสียงอักเสบ หรือ โรคครูป 

มักมีอาการหวัดนำมาก่อนประมาณ 3-4 วัน มีไข้ต่ำ แล้วเริ่มไอแห้งๆ เสียงก้องๆ เหมือนสุนัขเห่า เนื่องจากมีการบวมบริเวณสายเสียง จึงทำให้เสียงพูดหรือเสียงร้องของลูกแหบ และเมื่อเยื่อบุหลอดลมบวมจึงทำให้ทางเดินของอากาศแคบลง อากาศเข้าปอดน้อยลงลูกจึงหายใจแรงขึ้น ใช้กล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการหายใจเข้าทำให้เห็นช่องซี่โครงบริเวณหน้าอก แอ่งเหนือไหปลาร้า และหน้าท้องใต้กระดูกซี่โครงยุบตัว ปีกจมูกบาน และมีเสียงดังอี๊ดๆ ขณะหายใจ อาการจะเป็นมากขึ้นช่วงกลางคืน

ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตดูอาการว่า ลูกไม่สบาย กลางดึกไอเสียงก้อง หายใจหอบ จมูกบาน หน้าซีด หน้าอกบุ๋ม และสงสัยว่าเป็นโรคนี้อยู่ ก็ควรพาลูกไปพบหมอโดยเร็ว เพื่อยินยันการวินิจฉัยโรคและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมทันท่วงที

3. ไข้สูง หายใจเร็วและแรง ไอมาก ปลายนิ้วซีด = โรคปอดอักเสบ

โรคปอดบวม หรือ ปอดอักเสบ (Pneumonia) คือ ภาวะที่ถุงลมปอดซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซเกิดการอักเสบ ทำให้ร่างกายมีความผิดปกติทางด้านการหายใจ สาเหตุส่วนใหญ่ในเด็กจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ระยะฟักตัวตั้งแต่รับเชื้อจนแสดงอาการของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค หรืออาจสั้นเพียง 2-3 วัน ในกรณีที่เป็นไข้หวัดนำมาก่อน หรืออาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในกรณีลูกสำลักน้ำที่มีเชื้อราเข้าปอด

อาการแสดงของโรคปอดบวม หรือ โรคปอดอักเสบ

เริ่มจากอาการนำ ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น เป็นตามหลังการเป็นหวัดโดยติดต่อทางละอองฝอยจากการไอหรือจาม บางรายเป็นตามหลังการติดเชื้อที่ระบบอื่นแล้วมาลงที่ปอดทางกระแสเลือด เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่ผิดหนัง บางรายเป็นตามหลังการสำลักสิ่งแปลกปลอมลงหลอดลม เช่น สำลักน้ำคร่ำ น้ำในสระ หรือเมล็ดถั่ว

เมื่อมีการติดเชื้อที่ปอด ลูกจะมีอาการ คือ เป็นไข้ ไอมาก เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจแรงๆ หายใจหอบเหนื่อย (เร็วเกิน 50 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ และ หายใจเกิน 40 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุเกิน 1 ขวบ โดยการนับจะทำขณะที่ลูกอยู่ในอาการสงบ ไม่ร้องไห้ และนับครบ 1 นาที) หน้าอกบุ๋ม รวมไปถึงอาจมีริมฝีปากและปลายนิ้วซีดหรือเป็นสีเขียวคล้ำ เนื่องจากขาดออกซิเจน อ่อนเพลีย กินได้น้อย และมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย

ทั้งนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ การหายใจล้มเหลวได้ เนื่องจากปอดไม่ทำงาน การมีลมขังอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอดเนื่องจากภาวะเยื่อหุ้มปอดทะลุ การติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อของอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกจะเป็นโรคปอดอักเสบ โดยสังได้จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบพาไปพบหมอโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทันกาล

4. ลูกคัดจมูก ไอมีเสมหะ น้ำมูกข้นเหลือง เสียงแหบ = โรคไซนัสอักเสบ

โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis) คือ การอักเสบของโพรงอากาศซึ่งเชื่อมต่อกับโพรงจมูก ทีทั้งหมด 4 คู่ คือ ด้านข้างจมูก ดั้งจมูก หัวคิ้ว และด้านหลังจมูก เกิดขึ้นจากการเป็นหวัดนานเกินสิบวัน และเชื้อโรคลุกลามไปยังโพรงอากาศดังกล่าว เมื่อโพรงอากาศเกิดการอักเสบก็จะสร้างน้ำมูกออกมาจำนวนมากไหลย้อนออกมาเป็นน้ำมูก หรือไหลลงคอกลายเป็นเสมหะ

ซึ่งหากลูกเป็นโรคภูมิแพ้อากาศอยู่แล้วก็อาจจะเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ง่าย เนื่องจากเยื่อบุภายในโพรงจมูกมักบวมและมีการอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้กลไกการกำจัดน้ำมูกผิดปกติ มีการคั่งค้างของน้ำมูกใสๆ ภายในโพรงไซนัส และเมื่อได้รับเชื้อโรคหวัดจากผู้อื่นมา น้ำมูกใสก็จะเปลี่ยนเป็นข้น มีสีเหลือง เขียวได้ กลายเป็นอาการของไซนัสอักเสบกำเริบ

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบ

ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายหวัด คือ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกข้น อาจมีสีเหลือง เขียว และหากน้ำมูกไหลลงคอก็จะทำให้ลูกมีเสมหะในลำคอ เจ็บคอระคายคอ เสียงแหบ และไอมากเวลานอน เนื่องจากน้ำมูกไหลลงคอในท่านอนราบ บางรายอาจมีอาการปวดหัว ปวดบริเวณดั้งจมูก หน้าผาก หัวคิ้ว โหนกแก้ม ฟันบน หูอื้อ ลมหายใจมีกลิ่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และเลือดกำเดาไหลบ่อย

ภาวะแทรกซ้อน คือ การติดเชื้อจากโพรงไซนัสลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้ารอบเบ้าตา ทำให้หนังตาและหน้าบวมแดง ในกรณีที่มีน้ำมูกไหลลงคอ จะทำให้เด็กมีปัญหาเจ็บคอบ่อย หากน้ำมูกตกลงไปบริเวณหลอดลม จะทำให้หลอดลมอักเสบหรือมีอาการหอบได้ จึงมักพบว่าเด็กที่มีปัญหาหลอดลมอักเสบหรือหอบบ่อยๆ อาจเกิดจากการเป็นโรคไซนัสอักเสบซ่อนเร้นอยู่

ลูกไม่สบาย

5. น้ำมูกไหล มีไข้สูง ตื่นร้องกลางดึก ปวดหู = โรคหูชั้นกลางอักเสบ

โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาสาเหตุไข้ของเด็กวัย 6-36 เดือน เนื่องจากช่องทางเชื่อมต่อระหว่างช่องหูชั้นกลางกับจมูกในเด็กเล็กมีขนาดเล็ก ทำให้ถูกอุดตันได้ง่ายจากสารเมือกหรือจากการบวมของเยื่อบุในโพรงจมูกเมื่อเป็นหวัด และการที่ท่อสั้นและมีความลาดเอียงน้อยทำให้เชื้อดรคจากโพรงจมูกเข้าสู่ช่องหูได้ง่าย แต่เมื่อลูกโตขึ้นท่อดังกล่วจะมีขนาดใหญ่และลาดเอียงมากขึ้น โอกาสติดเชื้อจึงอยากขึ้น

โดยเด็กที่จะเป็นโรคนี้สูงกว่าเด็กปกติ คือ เด็กที่เป็นเพดานโหว่ เด็กที่ดูดนมขวด และเด็กเล็กที่อยู่รวมกันมากๆ เช่น สถานเลี้ยงเด็ก หรืออยู่ในที่มีควันบุหรี่

อาการแสดงของโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก

สาเหตุของการติดเชื้อ เป็นได้ทั้งไวรัสและแบคทีเรีย มักเป็นตามหลังการเป็นหวัด คือมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาจมีไข้ต่ำหรือสูงก็ได้ ปวดหัว และมีอาการ ปวดหู (ไม่ใช่เจ็บหูเวลาจับ ซึ่งจะพบในกรณีของหูชั้นนอกอักเสบหรือการมีแผลที่ช่องหู) ในเด็กเล็กที่พูดไม่ได้อาจแสดงออกโดยการดึงหู เอามือกุมหรือตบที่ใบหู งอแงมากขึ้น และตื่นร้องไห้กลางดึก คลื่นไส้อาเจียน มีน้ำหรือหนองไหลออกจากหู รวมไปถึงการได้ยินลดลง พูดช้า พูดไม่ขัด บ่นหูอื้อ และเดินเสียการทรงตัว

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ คือ เยื่อแก้วหูทะลุ กรณีที่ไม่ได้รับการรักษาในบางรายอาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในสมองได้ แต่พบน้อยมาก ควรพาลูกไปหาหมอหากมีอาการต้องสงสัยเบื้องต้นโดยเฉพาะถ้าลูกไข้สูงและร้องปวดหูตอนกลางคืน และไม่ควรซื้อยาปกิชีวนะให้ลูกกินเอง

 

6. ลูกไข้สูง 40 ชักเกร็ง ตาค้าง ปากเขียว = ภาวะชักจากไข้สูง

ภาวะชักจากไข้สูง (Febrile Convulsion) เป็นภาวะที่ชักในขณะที่มีไข้ โดยสาเหตุไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อทางระบบประสาท หรือเคยเป็นโรคลมชักมาก่อน มีอาการชักแบบเกร็ง ตาค้าง แขนขาบิด หรือกระตุกทั้งตัวเกิดขึ้นขณะมีไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีแล้วพบได้น้อยมาก

ทั้งนี้ภาวะชักจากไข้สูง เกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ และ สาเหตุที่แท้จริงของการชักในเด็กที่มีไข้สูงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เพราะมักมีประวัติโรคไข้ชักตอนเป็นเด็กของคนในครอบครัวร่วมด้วย และสาเหตุของไข้มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจส่วนบน คือโพรงจมูกและลำคอ (เช่นไข้หวัดใหญ่) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคหัดกุหลาบ (และจากหูชั้นกลางอักเสบติดเชื้อ

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เสี่ยงเกิดภาวะชักจากไข้สูง

ลูกจะเริ่มไม่สบาย โดยอาจมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายอุจจาระบ่อย ซึมลง มีไข้สูงและชัก ลักษณะของการชัก คือตัวจะแข็งเกร็ง มือเท้ากระตุก ตาเหลือก กัดฟันแน่น น้ำลายฟูมปาก ไม่รู้สึกตัว อาจมีอาเจียน หรือถ่ายปัสสาวะ อุจจาระขณะที่กำลังชัก อาการชักมักจะนานไม่เกิน 15 นาที ในรายที่ชักอยู่นาน ใบหน้า ริมฝีปาก และมือเท้าจะเขียวจากการขาดออกซิเจน

โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่มีผลต่อพัฒนาการ หรือการเรียนรู้ของเด็กที่เดิมแข็งแรงดี ยกเว้นในบางรายที่มีอาการชักติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะถ้านานมากกว่า 30 นาที) จนมีภาวะตัวเขียว ขาดออกซิเจน ทำให้อาจมีผลต่อสมองได้ แต่โดยทั่วไปอาการชักชนิดนี้ มักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที จึงไม่น่ามีอันตรายต่อสมองของเด็ก และโอกาสชักซ้ำ จะมีประมาณ 1ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีไข้สูง จนกว่าจะอายุมากกว่า 5-6 ปี ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการชักจากไข้ครั้งแรกก่อนอายุ 1 ปี และมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้ในตอนเด็ก อาจมีโอกาสชักซ้ำได้มากขึ้น

สำหรับอาการไข้ชักมักเกิดเมื่อเด็กมีไข้สูงเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดในเด็กที่มีไข้สูงทุกคน และเนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการชักจากภาวะไข้สูงที่ชัดเจน แต่สิ่งที่สามารถป้องกันได้ดีที่สุด คือ การสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดี ถ้าพบว่าไข้สูงมาก ควรให้ยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ทันที และรีบพาไปหาหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ลูกไม่สบาย

7. ไข้สูงลอย 3 วัน หน้าแดงจัด เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว = โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยโรคไข้เลือดออก นี้สามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่พบมากในเด็กอายุ 5-9 ปี

เชื้อไวรัสเดงกีปัจจุบันมี 4 ชนิด (เรียกว่าไวรัสเดงกี 1, 2, 3, และ 4 ตามลำดับ) หลังจากติดเชื้อชนิดหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนั้นไปตลอดแต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อชนิดอื่นในช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อชนิดอื่นได้อีก ดังนั้น หากเคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ยังมีโอกาสเป็นได้อีก

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออก

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา ปวดที่กระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีผื่นแดงขึ้น โดยปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก

ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวันผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้

โรคไข้เลือดออกยังมีการระบาดเป็นพักๆ โรคนี้มีระดับความรุนแรงตั้งแต่แบบไม่มีอาการจนถึงรุนแรงมากถึงแก่ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่รุนแรง ซึ่งสามารถเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยว่าจะเป็นแบบรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีสัญญาณเตือน เช่น ดูซึมลง ปวดท้องมาก อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก แสดงว่าอาจเป็นแบบรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

 

8. ไข้สูง 2 วัน หลังจากนั้นไข้ลงอย่างรวดเร็ว ผื่นแดงเล็กๆ ตามตัวมีอาการปวดตามข้อ = โรคชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา (Chikungunya) หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย  เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส ติดต่อมาสู่คนโดยการถูกยุงลายกัด (ยุงลายเป็นพาหะที่นำโรคมาสู่คน 2 โรคที่สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออก และ โรคติดเชื้อชิคุนกุนยา) ซึ่งอาจมีพ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดว่า โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคไข้เลือดออก เพราะถึงแม้ว่า โรคชิคุนกุนยามีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่โรคไข้เลือดออกจะไม่มีอาการปวดข้อ ส่วนโรคชิคุนกุนยาก็จะไม่มีพลาสม่าหรือน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด จึงไม่ทำให้ผู้ป่วยช็อค อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะได้รับเชื้อของโรคชิคุนกุนยาและโรคไข้เลือดออกในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้เชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1-12 วัน แต่โดยทั่วไปจะเริ่มแสดงอาการประมาณ 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ ระหว่างนี้หากได้รับเชื้อถูกยุงกัด ยุงก็จะเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เสี่ยงเป็นโรคชิคุนกุนยา

มีไข้สูง อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้น ไข้จะลงอย่างรวดเร็ว ผิวหนังจะมีสีแดงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเส้นเลือดฝอยในชั้นผิวหนังมีการขยายตัว มีผื่นแดงเล็กๆ ตามตัว หรือบางครั้งอาจมีผื่นแดงเล็ก ๆ ตามแขนขาได้ และอาจมีอาการคันร่วมด้วย มีอาการปวดตามข้อ ข้ออักเสบ และมักมีอาการปวดหลายข้อพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณข้อมือ และข้อเท้า ระยะเวลาปวดประมาณ 12 สัปดาห์ – 1 ปี แต่ส่วนมากอาการจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ อาจมีอาการป่วยซึ่งไม่ใช่อาการเฉพาะของการติดเชื้อชิคุนกุนยา เช่น ปวดศีรษะ เยื่อบุตาแดง รวมทั้งอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดข้อ ปวดศีรษะ นอนไม่ค่อยหลับ คลื่นไส้รู้สึกอ่อนเพลีย

ทั้งนี้คนส่วนมากหลังจากฟื้นตัวจากโรคชิคุนกุนยาแล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการปวดอาจจะคงอยู่หลายสัปดาห์ หรือกลับมาเป็นซ้ำหลังจากนั้นเป็นเดือนๆ ได้ ซึ่งหากสังเกตว่าลูกน้อยมีอาการข้างต้น ควรไป

 

9. ไข้สูงเฉียบพลัน 3 วันขึ้นไป หนาวสั่น ซึมลง เบื่ออาหาร เจ็บคอ = โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะอาการที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมี 3 ชนิด (type) คือ A, B และ C ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่

โดยทั่วไปของโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ บางคนมีอาการเจ็บคอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้ อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง เป็นอยู่ประมาณ 3-5 วัน ซึ่งบางครั้งจะคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดา แต่ท้ายที่สุดอาการก็จะหายไปเองได้

มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ทำให้ เกิดการอักเสบของปอด ทำให้ปอดบวม การหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการอาจจะ รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรงคือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ

หากพบว่าลูกน้อยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง และสงสัยว่ามีอาการไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก ให้รีบมาพบแพทย์เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนบุคคลทั่วไปหากมีอาการป่วยและอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

10. มีไข้ ปัสสาวะบ่อยไม่สุดและมีกลิ่นเหม็น สีขุ่น = โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ หรือ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณรอบท่อปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้กับช่องคลอดและทวารหนัก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะได้โดยง่าย

พบได้บ่อยในเด็กเล็กและเด็กโต ความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะไหลย้อน และภาวะทางเดินปัสสาวะอุดกั้น เช่น ลิ้นอุดกั้นท่อปัสสาวะส่วนหลัง กรวยไตอุดตัน หรือหลอดไตโต เป็นต้น นอกจากนี้ ความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่ไต ความดันเลือดสูงและโรคไตวายเรื้อรังได้

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เสี่ยงอาจติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ พบได้บ่อยในเด็กเล็กและเด็กโต ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ และความผิดปกติของการขับปัสสาวะ อาการและอาการแสดงขึ้นอยู่กับอายุ ตำแหน่งที่ติดเชื้อ และความรุนแรงของการติดเชื้อ

    • เด็กเล็ก มักมีไข้สูง ปัสสาวะบ่อย แต่ไม่มีอาการจำเพาะ อาจมีอาการซึม กินได้น้อยลง
    • เด็กโต มักมีไข้ ปัสสาวะผิดปกติ หรือปวดหลังบริเวณตำแหน่งไตร่วมด้วย

ความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะไหลย้อน และภาวะทางเดินปัสสาวะอุดกั้น เช่น ลิ้นอุดกั้นท่อปัสสาวะส่วนหลัง กรวยไตอุดตัน หรือหลอดไตโต เป็นต้น นอกจากนี้ ความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่ไต ความดันเลือดสูงและโรคไตวายเรื้อรังได้

ข้อสังเกตสำคัญเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ร้องกวน หรือมีอาการปวดท้องเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีแดงหรือขุ่น ปัสสาวะบ่อย ไม่สุด บางคนมาด้วยอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว เมื่อตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน จะทำการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจโดยการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์นับจำนวนเม็ดเลือดขาว และส่งเพาะเชื้อเพื่อทราบชนิดของการติดเชื้อ

หากรักษาล่าช้าอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน ฝีที่ไต และแผลเป็นที่ไตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และรับการรักษาที่เหมาะสม

อาการของโรคคาวาซากิ

11. ลูกไม่สบาย ไข้สูงเฉียบพลัน ลิ้นแดงเป็นตุ่ม ๆ คล้ายผิวสตรอเบอร์รี่ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลอก = โรคคาวาซากิ

โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวหนัง หลอดเลือดและต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย และพบบ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า  5 ปี   โดยเฉพาะในช่วงอายุ  1 – 2 ปี  โรคนี้ตั้งชื่อตามนายแพทย์คาวาซากิ  ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ได้รวบรวมรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรกของโลก  สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าตามหลังการติดเชื้อ และเชื้อโรคกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ

ลักษณะอาการของโรคคาวาซากิ 

เด็กจะมีไข้สูงทุกคน โดยมากมักเป็นนานเกิน  5  วัน  บางรายอาจนาน 3 – 4 สัปดาห์อาจมีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขา ตาขาวจะแดง  2  ข้าง แต่ไม่มีขี้ตา ริมฝีปากแห้งแดง  อาจแตกมีเลือดออก ลิ้นแดงเป็นตุ่ม ๆ คล้ายผิวสตรอเบอร์รี่ ฝ่ามือและฝ่าเท้าบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต

อาการทั้งหมดนี้จะเกิดภายในสัปดาห์แรก  ในสัปดาห์ที่  2  จะมีการลอกของผิวหนัง  โดยเริ่มจากบริเวณปลายนิ้วมือ  นิ้วเท้า  และอาจลามไปที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจมีอาการแสดงอื่นๆ ที่เกิดร่วม ได้แก่ ข้ออักเสบโดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ท้องเสีย ซึ่งอาการดังกล่าวอาจหายได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ที่สำคัญคือ โรคนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบของหัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ  ซึ่งอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจมีลักษณะโป่งพอง  ตีบหรือแคบได้ ในรายที่หลอดเลือดตีบแคบมาก อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยงเหมือนที่พบในผู้ใหญ่ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้

 

12. มีแผลร้อนในเกิดขึ้นในปาก มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และมีไข้นาน 5-7 วัน = โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก หรือ Hand Foot Mouth Disease (HFMD) เป็นโรคที่พบได้บ่อย พบได้ตลอดทั้งปีแต่ระบาดมากที่สุดในหน้าฝน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enterovirus ติดต่อจากการสัมผัส สารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย  เสมหะ อุจจาระ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงพบระบาดในเด็กที่ อายุน้อยกว่า 5ปี โดยเฉพาะในเด็กเล็กอาจมีอาการรุนแรงได้

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย เสี่ยงเป็นโรคมือเท้าปาก

หลังสัมผัสเชื้อ 3-6 วัน จะเริ่มมีอาการ อาจมีไข้ต่ำๆ ไข้สูงหรือไม่มีไข้ ไข้มักเป็น 2-3 วัน เริ่มมีอาการเจ็บปาก มีรอยโรคในปาก และอาจพบตุ่มแดง หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก ในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า แขน ขา อวัยวะเพศ และรอบๆก้น อาการดังกล่าวอาจพบได้จนถึง วันที่ 7-10 ของโรคก็จะหายไป อาการอื่นที่พบร่วมด้วยคือตาแดง ถ่ายเหลว อาเจียน และผู้ป่วยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนคือ เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

และเนื่องจากโรคนี้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ ที่สมองและหัวใจ หากมีอาการต่อไปนี้ คือ ซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากกินอาหารหรือน้ำ มีอาการไอ หายใจเร็ว หน้าซีด เสมหะมาก อาเจียนมาก บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว มีอาการพูดเพ้อ ไม่รู้เรื่อง สลับกับซึมลง มีอาการสะดุ้ง ผวา ตัวสั่น ๆ แขนหรือมือสั่น หรือเห็นภาพแปลก ๆ หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบเหนื่อย ตัวเย็นผิวลาย ชัก เดินเซ ควรมาพบแพทย์โดยด่วน

ลูกไม่สบาย

13. มีไข้ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจแรง หายใจครืดคราด มีเสียงหวีดในปอด = โรค RSV

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจาก เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเด็กและผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง แต่ถ้าหากเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

วิธีสังเกตอาการว่าติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่

เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ลูกจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้ คุณพ่อคุณแม่รู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว จาม มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเร็วแรง หายใจครืดคราด เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ตัวเขียว มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว) ไอโขลกๆซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ

ทั้งนี้เด็กที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไมโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย

 

14. ไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส มีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ มีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า = โรคเฮอร์แปงไจน่า

เฮอแปงไจน่า (Herpangina)  เป็นโรคที่ติดเชื้อจากไวรัสชนิดเดียวกันกับมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็น กลุ่มของเอนเตอโรไวรัส (Enterovirus) แต่มีอาการที่แตกต่างกันคือจะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก ไอ จาม ลักษณะอาการจะมีไข้สูงประมาณ 39.5-40 องศาเซลเซียส และมีแผลในช่องปากบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง แต่ถ้าเป็นมือ เท้า ปาก ไข้จะไม่สูง และมีแผลกระจายอยู่ทั่วปาก รวมทั้งมีผื่นขึ้นที่ฝ่า มือและฝ่าเท้าด้วย

การติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ของคนที่มีเชื้อ เพราะบางครั้งอาจสัมผัสแล้วเผลอรับประทานเข้าไป ก็ทำให้ติดเชื้อได้ กลุ่มเสี่ยงของโรคเฮอร์แปงไจน่าส่วนมากจะเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ และเจอในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานของเชื้อนี้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกันในโรงเรียนอนุบาล มักเล่นของเล่นรวมกัน หยิบจับสิ่งของรวมกัน จึงมีโอกาสติดต่อได้ง่าย โดยตัวเชื้อจะอยู่ได้นานในอากาศเย็นและชื้น จึงระบาดมากในฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ในทุกฤดู

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย อาจกำลังป่วยเป็นโรคเฮอร์แปงไจน่า

ผู้ป่วยโรคเฮอร์แปงไจนา โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง  แต่อาจ มีไข้เฉียบพลัน ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ ปวดตามตัว อาจมีอาเจียน และอาการเด่นคือจะมีอาการเจ็บบริเวณเพดานปากและคอนำมาก่อน ต่อมา(ภายใน 1 วัน) จะมีจุดแดงๆ บริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และอาจมีตุ่มแดงที่ทอนซิล หรือบริเวณในลำคอด้วยก็ได้

อาจเป็นแผลเล็กๆ ตรงกลางตุ่มน้ำนั้น หรืออาจมีการอักเสบรอบๆ แผลได้ จำนวน 5 – 10 ตุ่ม อย่างไรก็ตาม ไข้จะลดลงภายใน 2 – 4 วัน แต่แผลอาจคงอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเจอได้จากโรคนี้ เช่น ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  กล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิต แต่ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวพบไม่บ่อยนัก

ลูกไม่สบาย

15. อาเจียนนำมาก่อนแล้วถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายมากจนก้นแดง อาจมีไข้หรือมีอาการหวัด = ท้องเสียจากไวรัส

โรคท้องเสีย หรืออุจจาระร่วงหรือท้องเดินเป็นปัญหาความเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กโดยเฉพาะช่วงอากาศเย็น ๆ สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้ออื่น ๆ เช่น เชื้อปรสิตอาหารเป็นพิษจากสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนในอาหารหรือสารพิษที่สร้างขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย

การติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส (Norovirus) เป็นสาเหตุของการระบาดของการติดเชื้อท้องเสียที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยที่สุดในโลก การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อน หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อน เช่น จาน ชาม ช้อน

อาการแสดงของโนโรไวรัส

ส่วนใหญ่มักทำให้มีอาการอาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย ภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อนี้ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยรายอื่นๆก็สามารถติดได้ และอาการท้องเสียมักจะดีขึ้นภายใน 24-72 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการป่วย อาการที่พบบ่อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีไข้ และปวดเมื่อยตัว

แม้ว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะดูรุนแรงพอสมควร แต่การตรวจร่างกายมักจะไม่มีอาการปวดเฉพาะที่หรือปวดเกร็งของหน้าท้อง ทำให้แยกการวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆ ที่มีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกันได้ยาก เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน ไส้ติ่งอักเสบ การติดเชื้ออาหารเป็นพิษด้วยเชื้ออื่นๆ สำหรับรายที่มีอาการอาเจียนและถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก มีชีพจรเบาเร็ว และมีความดันโลหิตต่ำได้

 

อาการท้องเสียจาก ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีหลายสายพันธุ์ เมื่อเชื้อไวรัสนี้เข้าไปในระบบทางเดินอาหารแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงได้ ซึ่งพบมากในเด็กเล็กและมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโต เด็กที่เคยท้องเสียจากไวรัสโรต้า อาจเป็นซ้ำได้เพราะไวรัสโรต้านี้มีหลายสายพันธุ์ แต่อาการมักไม่หนักเท่ากับการเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ไวรัสโรต้ายังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานกว่า เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยเฉพาะช่วงที่อากาศเย็น

อาการโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า

เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโรตาเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว 48 ชั่วโมง เชื้อเมื่อเข้าสู่ทางเดินอาหารที่ลำไส้เล็กจะทำลายผนังลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์ (Enzyme) สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติทำให้มีอาการท้องร่วง, ท้องเสีย, ท้องเดิน ถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกหรือเลือดปน เด็กอาจจะมีไข้ มีน้ำมูกและไอเล็กน้อยนำมาก่อนคล้ายการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่จะมีอาการช่วงสั้นๆ แล้วมีอาการทางเดินอาหารตามมา มักมีอาเจียนมากใน 1-2 วันแรก และท้องร่วงเป็นน้ำพุ่งหลายครั้ง หากไม่ได้รับเกลือแร่เพียงพอ จะท้องอืดมาก อาจถ่ายอุจจาระมากจนก้นแดง อาการอาเจียนจะเป็นในช่วงสองวันแรกแล้วดีขึ้น แต่อาการท้องร่วงจะอยู่นานประมาณ 5-7 วัน

เมื่อไหร่ควรพาเด็กพบแพทย์ ?

    • เด็กมีอาการซึมลง
    • ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลยใน 4-6 ชม.
    • ตัวเย็นหรือมีไข้สูง
    • มีอาการหอบเหนื่อย
    • มีอาการชัก
    • อาเจียนมาก ไม่สามารถให้กินได้

 

16. เป็นตุ่มแดงๆ ก่อนที่ในอีกชั่วโมงหรือไม่เกิน 1-2 วัน จะเป็นตุ่มใสๆ ต่อมาจะขุ่นขึ้นและกลายเป็นสะเก็ด = โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ และจาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน มักจะระบาดในปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ช่วงเดือน มกราคม-เมษายน พบมากในเด็กวัย 5-9 ปี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) มีระยะฟักตัว 10-21 วัน คนไข้จะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีอาการ 2 วัน

อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย กำลังเป็นอีสุกอีใส

อาการเริ่มต้นของอีสุกอีใส เริ่มจากการมีไข้ต่ำๆในเด็กเล็ก แต่ผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง และภายใน 1-2 วันก็จะมีตุ่มขึ้น โดยจะเริ่มจากลำตัว ใบหน้า ก่อนจะลามไปถึงแขนและขา ทั้งนี้ปริมาณของตุ่มที่ขึ้นนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค บางคนมีอยู่ 40-50 ตุ่ม บางคนอาจมี 200 ตุ่ม  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาการจะรุนแรง แต่สุดท้ายก็จะหายได้เองโดยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น โดยหากมองในภาพรวมจะเห็นตุ่มหลายๆระยะอยู่ในเวลาเดียวกัน บางคนที่เป็นเยอะตุ่มก็จะหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงของลำตัว แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจ็บ ยกเว้นว่าจะเป็นในช่องปาก โดยตุ่มเหล่านี้จะทำให้ก็อาการคันและส่งผลให้หลายๆคนเลือกที่จะเกาจุดที่คัน ซึ่งอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ส่งผลให้ตุ่มใหญ่ขึ้นและเป็นหนอง

นอกจากนี้การเป็นอีสุกอีใสอาจจะนำพาไปสู่โรคงูสวัด เนื่องจากเมื่อเราหายดีแล้ว เชื้อจะยังไม่หมดไปจากร่างกาย โดยจะซ่อนอยู่ตามปมประสาทและเมื่อไหร่ที่ร่างกายเราอ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เจ็บป่วยรุนแรง หรือได้รับยากดภูมิต่างๆ เชื้อก็เกิดการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวและเกิดโรคขึ้นมา ส่งผลให้กลายเป็นโรคงูสวัด โดยจะเห็นเป็นตุ่ม เป็นปื้นๆ ตามแนวของเส้นประสาทที่เลี้ยงผิวหนังซึ่งจะเจ็บและปวดมาก

โรคหัดระบาด ช่วงไหน

17. เป็นไข้ 3-4 วัน ไอ ตาแดง พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้ม มีผื่นขึ้นบริเวณไรผม หน้า ลำตัว แขน = โรคหัด

โรคหัด (Measles) เป็นโรคติดต่อสามารถระบาดในผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนและพบได้มากกับเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีลักษณะเด่น คือ มีจุดเทาขาวในปาก และผื่นสีน้ำตาลแดงไล่จากหัวและคอลงมาที่ตัว มักจะหายไปเองภายใน 7 ถึง 10 วันโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม แต่ในบางครั้งมีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงเช่น ปอดบวมและไข้สมองอักเสบสามารถอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของโรคหัด

โรคหัดจะเริ่มด้วยอาการคล้ายกับหวัด เช่น คัดจมูก จาม และไอ และจะเริ่มมีอาการประมาณ 10 วันหลังติดเชื้อ คือ ปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล อาจไหวต่อแสงเพิ่มขึ้น มีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ปวดกล้ามเนื้อ ไม่อยากอาหาร เหน็ดเหนื่อย ระคายเคือง และหมดเรี่ยวแรง ต่อมน้ำเหลืองโต พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะหายไป นอกจากนี้จะมีผื่นเป็นปื้นสีแดงซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดขึ้น หลังจากเป็นไข้แล้ว 3-4 วัน โดยผื่นจะขึ้นจากบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน และลงมาที่ขา แต่เมื่อใดที่ผื่นเหล่านี้ลงมาถึงบริเวณเท้าแล้วไข้ก็จะหายไป นอกจากนี้โรคหัดอาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อแก้วหูอักเสบ ภาวะท้องร่วงท้องเสีย ซึ่งอาจเป็นอันตรายอาจส่งผลต่อชีวิตได้

 

18. ไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล ไอแห้งๆ นานเกิน 10 วัน หายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop)  = รคไอกรน

โรคไอกรน เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า Bordetella pertussis (B. pertussis) ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

อาการของโรคแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1)  ระยะแรกเด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ

2)Paroxysmal stage ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุดๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วยอาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุดๆ ระยะไอเป็นชุดๆนี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้

3) ระยะ ฟื้นตัว (Convalescent stage) กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อยๆลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์

สำหรับโรคไอกรน หากเกิดในผู้ใหญ่ไม่มีความรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีไข้ มีเพียงอาการไอเท่านั้น แต่ถ้าหากโรคไอกรนเกิดกับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ที่พบบ่อยคือไอหนักจนตัวเขียวหรือไอจนหยุดหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนอาการชักสามารถพบได้เช่นกันแต่พบไม่บ่อยนัก

ลูกไม่สบาย

19. มีไข้อาการซึม ไข้สูง หงอย ดูเหมือนป่วย = โรคไอพีดี IPD

โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease, IPD) คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “นิวโมคอคคัส” (Streptococcal Pneumoniae)  เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงในเด็ก ซึ่งสามารถติดต่อสู่กันได้ผ่านการไอหรือจามเหมือนกับการแพร่เชื้อไข้หวัดธรรมดา แต่ผู้ป่วยจะมีอาการร้ายแรงกว่าไข้หวัดมาก อาการแสดงของโรคได้ 3 แบบ คือ

  1. การติดเชื้อแบบรุนแรง ลุกลาม แพร่กระจาย (IPD) ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง
  2. การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ปอดอักเสบ และการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่างตั้งแต่กล่องเสียงลงไป
  3. การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ คออักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ

เชื้อชนิดนี้ พบเป็นพาหะอยู่ที่โพรงจมูกและคอ ในเด็กทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ เชื้อชนิดนี้ นอกจากก่อโรคในเด็กแล้วยังทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี

อาการของการติดเชื้อนิวโมคอคคัส

โรคติดเชื้อ IPD จะมีอาการไข้เหมือนกับโรคติดเชื้อทั่วไป แต่ถ้าการติดเชื้อรุนแรงลุกลาม ทำให้เกิดการติดเชื้อได้หลายแบบขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ คือ

การติดเชื้อในระบบประสาท ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ซึม อาเจียน คอแข็ง ส่วนในเด็กทารกจะมีไข้สูง ซึม ร้องกวน กระหม่อมโป่งตึง และชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ การวินิจฉัยโรคนี้ต้องมีการตรวจเพาะเชื้อ จากการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง

    1. จากการศึกษาเด็กที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในประเทศไทย พบเชื้อที่เป็นสาเหตุ 3 อันดับแรก คือ
    • เชื้อฮิบ ( HIB ; Hemophilus Influenza B) 41.2%
    • เชื้อนิวโมคอคคัส (IPD ; Invasive Pneumocaccal Disease) 22.1%
    • เชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella) 14.1%

จะเห็นว่าเชื้อตัวนี้เป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กไทย

    1. การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีอาการไข้สูง ร้องกวน เชื้อสามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด อาจเกิดการช็อค และเสียชีวิตได้
    2. การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอดอักเสบ เด็กมีไข้ ไอ หอบ ถ้ารุนแรงมากอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากภาวะการหายใจล้มเหลว
    3. การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน คือ คออักเสบ หูน้ำหนวก (หรือหูชั้นกลางอักเสบ) และไซนัสอักเสบ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องเชื้ออาจลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงและสมองได้

อาการไข้ในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายได้เอง อย่างไรก็ตามควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่ไข้ธรรมดา สาเหตุหนึ่งของอาการไข้ อาจเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรง เพราะเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจคร่าชีวิตเด็กได้ใน 2-3 วัน

 

20. มีเลือดออกตามผิวหนัง เป็นจุดเล็กๆ แดงๆ มีรอยช้ำจ้ำตามแขนขา เหมือนได้รับการกระแทกมาแล้วช้ำ = โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP

โรคเกล็ดเลือดต่ำ (Immune Thrombocytopenia in Children) Immune thrombocytopenia (ITP) เป็นโรคเลือดออกง่ายจากเกล็ดเลือดที่มีจำนวนลดลงแต่อย่างเดียว (isolated thrombocytopenia) โดยในเด็กมักเกิดตามหลังโรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่พบว่า ภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดขึ้นภายหลังโรคติดเชื้อประมาณ 1-3 สัปดาห์ เด็กบางรายอาจมีประวัติเพิ่งไปรับการฉีดวัคซีน ส่วนน้อยอาการจะค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะในเด็กโตที่อายุมากกว่า 10 ปี จะมี แนวโน้มที่จะเป็น ITP เรื้อรัง ทั้งนี้อาการของโรคเกล็ดเลือดต่ำ คือ มีภาวะที่เกล็ดเลือดมีจำนวนน้อยกว่า 140,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ซึ่งในคนปกติทั่วไปจะมีเกล็ดเลือดอยู่ประมาณ 140,000-400,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร และมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือดในกระบวนการห้ามเลือดของร่างกาย แต่หากร่างกายไม่สามารถผลิตเกล็ดเลือดได้ในปริมาณที่ต้องการ หรือมีการทำลายเกล็ดเลือดเพิ่มกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้

  • มีเลือดออกตามผิวหนัง เป็นจุดเล็กๆ แดงๆ
  • มีอาการเลือดออกตามไรฟัน
  • มีเลือดกำเดาออก
  • มีรอยช้ำจ้ำตามแขนขา เหมือนได้รับการกระแทกมาแล้วช้ำ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้กระแทกอะไร กล่าวคือ เมื่อกระแทกอะไรนิดหนึ่งก็เป็นรอยช้ำ

Must read >> แม่แชร์ประสบการณ์สังเกตให้ดี ลูกป่วย มีตุ่มแดงแปลกๆ ขึ้น
เสี่ยงเป็น โรค ITP เกล็ดเลือดต่ำ รักษาช้าเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!

ท้งนี้เด็กที่เป็นโรค ITP จะพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี พบมากกว่าช่วงอายุอื่นผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเลือดออกเพียงอย่างเดียว อาการเลือดออกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (acute onset) ได้แก่ อาการจ้ำเขียวหรือจุดเลือดออกทางผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ พบได้เกือบร้อยละ 100 เลือดกำเดาออกพบ ประมาณร้อยละ 25 บางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจมีเลือดออกในสมองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิตได้นั้นพบประมาณไม่ถึงร้อยละ 1 ขณะที่มาพบแพทย์ไม่มีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ไข้ ปวดข้อ เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด

แม้ว่าโรคเกล็ดเลือดต่ำ จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้น หากพบว่ามีความผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป

อย่างไรก็ตามคำแนะนำจากทั้งอาการของโรคเด็กทั้ง 20 โรคข้างต้นนี้ไม่สามารถแทนการตรวจจากแพทย์โดยตรงได้ เนื่องจากการวินิจฉัยอาการของโรคต่างๆที่ ลูกไม่สบาย ต้องอาศัยการซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดด้วย เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้องมากที่สุด

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up