ยาน้ำฟาวิพิราเวียร์

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ รับยาที่ไหน ลูกควรกินเท่าไหร่?

Alternative Textaccount_circle
event
ยาน้ำฟาวิพิราเวียร์
ยาน้ำฟาวิพิราเวียร์

มารู้จัก ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านไวรัส ที่ช่วยรักษาอาการป่วยรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด19 ตำรับแรกของไทย พัฒนาเพื่อใช้สำหรับเด็ก และผู้ที่กลืนยายาก

เช็กเลย.. ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ รับยาที่ไหน ลูกควรกินเท่าไหร่?

โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการแพร่ระบาดใหญ่เป็นวงกว้าง ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 แล้วกว่า 100 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 2 ล้านราย (ร้อยละ 2)  สำหรับประเทศไทย แม้จะมีการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มแข็งก็ยังพบการติดเชื้อสูง และโดยเฉพาะในเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ที่มีความรุนแรง ติดเชื้อง่าย และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น ทำให้โรคโควิด-19 จึงมิใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

เด็กกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เด็กกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โรคโควิด-19 แพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร?

▪ ทางละอองฝอย ผ่านการไอจามรดกันในระยะ 1-2 เมตร
▪ ทางการสัมผัส ผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เช่น น้ำมูก น้ำลาย ทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อมผ่านพื้นผิวสัมผัสที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู ราวจับ สำหรับสิ่งคัดหลั่งอื่น เช่น  อุจจาระ พบว่ามีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยมาก
▪ ทางอากาศ พบในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยไอมาก  ใกล้ชิดผู้ป่วยในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก  การทำหัตถการที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขนาดเล็ก ได้แก่ การดูดเสมหะ การใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น

โรคโควิด-19 ในเด็ก

อาการของโรคโควิด-19 ในเด็กมีอะไรบ้าง?

▪ โรคโควิด-19 สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต
▪ ระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคประมาณ 4-5 วัน หลังสัมผัสโรค เด็กมักติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในบ้านที่ติดเชื้อหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19
▪ อาการของโรคโควิด-19 ที่พบมากที่สุดคือ ไข้ ไอแห้งๆ และอ่อนเพลีย อาจพบอาการปวดเมื่อย คัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือผื่นตามผิวหนัง สำหรับอาการทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง พบได้เล็กน้อย

โรคโควิด-19 ในเด็กมีอาการรุนแรงไหม?

▪ ผู้ป่วยเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไม่รุนแรง มักพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเด็กเพียงร้อยละ 5  เท่านั้นที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก
▪ ผู้ป่วยเด็กสามารถพบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ประมาณร้อยละ 4
▪ ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น  เด็กเล็กอายุน้อยกว่า  1 ปี  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว  เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
▪ อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2้

ข้อมูลอ้างอิงจาก บทความ นพ.ชัยศิริ ศรีเจริญวิจิตร กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.ศิครินทร์

อ่านต่อ⇒ แม่แชร์ เมื่อลูกติดโควิด! วิธีรักษา Home Islation เด็ก

ล้างมือบ่อย ๆ ช่วยป้องกันโรคโควิด-19
ล้างมือบ่อย ๆ ช่วยป้องกันโรคโควิด-19

ทำความรู้จักกับ “ยาฟาวิพิราเวียร์”

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาต้านเชื้อไวรัสที่อยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทย โดยใช้ควบคู่ไปกับยาอื่นและได้ผลดี ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด
สำหรับในประเทศไทย ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วย COVID-19 เป็นกรณีพิเศษและจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีความปลอดภัย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจาก COVID-19 ได้ โดยองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิฟิราเวียร์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้เรียบร้อยแล้ว

ยาฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ คือ เข้าไปยับยั้งเอนไซม์ RNA-dependent RNA polymerase,RdRP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีในไวรัสเท่านั้น เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร Active Form = favipiravir-ribofuranosyl-5′-triphosphate (RTP) ให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อยจนไม่สามารถก่อโรคในร่างกายได้อีก

ผู้ป่วยใดที่ควรได้รับยาฟาวิพิราเวียร์

แพทย์จะพิจารณาเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ดังนี้ โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วิธีการรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ (รูปแบบยาเม็ด)

ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ขนาดยาจะสูงขึ้น โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ สำหรับผู้ป่วยเด็กจะต้องมีการคำนวณขนาดยาตามน้ำหนักตัว ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิงจาก เภสัชกรหญิงนันทพร เล็กพิทยา เภสัชกรภิฏฐา สุรพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ช่วยบรรเทาอาการโควิด-19
ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ช่วยบรรเทาอาการโควิด-19

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ตำรับแรกในไทย

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านเชื้อไวรัส ถือเป็นตำรับแรกในประเทศไทย ที่ถูกพัฒนาและคิดค้นสูตรโดย งานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ยาชนิดน้ำเชื่อมนี้ทำไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยให้สามารถผลิตยาให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล่าว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงนี้ พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นอย่างชัดเจน และมีผู้ติดเชื้อเป็นเด็กจำนวนค่อนข้างสูง และใช้ยารักษาแบบเม็ดได้ค่อนข้างลำบาก ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้หารือกับบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด เพื่อผลิตยาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในรูปแบบยาน้ำเชื่อมที่ใช้รักษาโควิด-19

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ตำรับแรกของไทย
ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ตำรับแรกของไทย

วิธีใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์

ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสป์เบอรี่

ขนาดรับประทานในเด็ก ช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิด – 10 ปี
ระยะเวลาการให้ยา 5 – 10 วัน (วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชม.)
วันแรก รับประทานขนาด 60 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง (ครั้งละ 30 มก.)
วันต่อมา รับประทานขนาด 20 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง (ครั้งละ 10 มก.)
ขนาดรับประทานในผู้ใหญ่
วันแรก รับประทานขนาด 1,800 มก. วันละ 2 ครั้ง
วันต่อมา รับประทานขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้ง
กรณีผู้ใหญ่น้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม
วันแรก รับประทานขนาด 2,400 มก. วันละ 2 ครั้ง
วันต่อมา รับประทานขนาด 1,000 มก. วันละ 2 ครั้ง
วิธีการเก็บรักษา
ควรเก็บในที่ที่ไม่โดนแสงแดด ในอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส

ช่องทางติดต่อรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์

ในกรณีที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่ให้อาหารทางสายที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในระบบการดูแลของโรงพยาบาล หรือเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน Home Isolation ที่มีแพทย์ติดตามหรือในผู้ที่แพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Rapid Antigen Test เป็นบวก

สามารถติดต่อเพื่อขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยนำผลยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาพบแพทย์และรับยาได้ที่ favipiravir.cra.ac.th หรือโทร.06-4586-2470 ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยในระยะแรกโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตได้จำกัดเพียงไม่เกิน 100 รายต่อสัปดาห์ และยานี้ต้องใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.prachachat.net /fb:nithi.mahanonda

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รีวิว ยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็ก ตัวไหน? ช่วยบรรเทาอาการไอและปลอดภัยกับลูกน้อย

ยาน้ำลดไข้ ของเด็ก แต่ละยี่ห้อแตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ควรรู้!

หมอเฉลย สาเหตุ “เด็ก 3 เดือนติดโควิด-19″ พ่อแม่ต้องระวัง!!

เด็กติดโควิด ระวังเชื้อจากพ่อแม่ แพร่ Covid-19 สู่ลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up