ความฉลาดสร้างได้

ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์ วิธีปั้นลูก 3 ฉลาด พื้นฐานสู่ความสำเร็จ

Alternative Textaccount_circle
event
ความฉลาดสร้างได้
ความฉลาดสร้างได้

ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์ หมอแนะแม่มือใหม่ใส่ใจอาหารและอารมณ์

แม่จ๋ารู้ไหม? ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ตอนท้อง

คุณแม่มือใหม่ต้องใส่ใจในเรื่องอาหารและอารมณ์ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้าง Power BQ ให้ลูกน้อยฉลาด 3 ด้าน ได้แก่ ฉลาดสุขภาพดี (HQ) ฉลาดสมองดี (IQ) และ ฉลาดทางอารมณ์ (EQ) โดย

สำหรับเคล็ดลับในการสร้าง Power BQ ให้ลูกฉลาด 3 ด้านนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ เจ้าของเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้มาให้ข้อมูลในงาน Amarin Baby & Kids presents Mom Expert’s Day พลังแม่สร้างลูกฉลาดรอบด้าน วันที่ 31 ตุลาคม ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ภายใต้หัวข้อ “เริ่มต้นให้ถูก ปั้นลูก 3 ฉลาด พื้นฐานสู่ความสำเร็จ” โดยกล่าวว่า การเลี้ยงลูกนั้นเป็นเรื่องยากทุกยุคสมัย แต่ถ้าเตรียมความพร้อมก็ไม่ยากเกินไป เริ่มตั้งแต่การวางแผนตั้งครรภ์ที่ควรไปพูดคุยกับสูตินรีแพทย์ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจดูโรคประจำตัวทั้งคุณพ่อและคุณแม่ว่าเป็นพาหะของโรคต่าง ๆ หรือไม่ เช่น พาหะธาลัสซีเมีย หรือตัวคุณแม่เอง หากพบว่ามีอาการป่วยบางอย่างก็ต้องรีบรักษาก่อนการตั้งครรภ์ เช่น โรคซิฟิลิส ที่ส่งผลกระทบต่อลูกในท้อง รวมถึงการฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโรคร้ายก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะโรคหัดเยอรมัน เพราะเชื้อหัดเยอรมัน หากเป็นขณะตั้งครรภ์ เด็กจะมีสติปัญญาผิดปกติ

ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์
ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์

“เมื่อตั้งครรภ์ให้รีบฝากครรภ์ เพราะระหว่างทาง 9 เดือน อาจพบปัญหาสุขภาพได้ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และยังต้องระวังเรื่องการรับประทานอาหาร เลือกทานอาหารที่ถูกหลักอนามัย งดการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่” พญ.สุธีรา กล่าว

อย่าบำรุงลูกเกิน ระวังลูกเป็นภูมิแพ้!

คุณหมอยังเน้นย้ำเรื่องการกินเผื่อลูกด้วยว่า จำเป็นต้องแก้ความเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันพบว่าเด็กเป็นโรคภูมิแพ้กันเยอะมาก พญ.สุธีรา เสริมว่า อาหารต้องแก้ความเข้าใจผิด หากแม่บำรุงมากเกินไปจะทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ได้ โดยเฉพาะการแพ้โปรตีน ซึ่งอันดับหนึ่งที่เด็กแพ้คือ นมวัว ซึ่งแคลอรีที่แม่ท้องควรเพิ่มในแต่ละวันมีเพียง 500 กิโลแคลอรีต่อวัน เปรียบเป็น 1 จานที่เพิ่มขึ้น หรือกินเพิ่ม 30 เปอร์เซนต์ต่อมื้อก็เพียงพอ และต้องระวังการบริโภคขนม เค้ก หรือเบเกอรี หากลูกเกิดภูมิแพ้อาจมีอาการแพ้นมวัว ทำให้ผื่นขึ้นตามตัว แพ้อากาศ เป็นหวัดบ่อย และยังติดเชื้อง่ายเวลาที่ไปโรงเรียน

“ทั้งเรื่องสุขภาพและพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันหมด ขณะตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลยเพราะตัวอ่อนยังตัวเล็ก และตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักควรขึ้นแค่ 10-12 กิโลกรัมก็พอ ถ้าแม่อ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีผลต่อลูกในท้อง พอคลอดออกมาก็มีปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ มีผลกับเซลล์สมอง หมอแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารไทย เช่น น้ำพริก ปลาทู ผัก และผลไม้สด”

หลังคลอดต้องนมแม่…แน่ที่สุด

ส่วนอาหารหลังคลอดที่ดีที่สุดสำหรับทารกก็ต้อง น้ำนมของแม่ พญ.สุธีรา เพิ่มเติมว่า นมที่ดีที่สุดคือนมแม่ เพราะมีสารอาหารกว่า 200 ชนิด โดยเฉพาะช่วง 3-5 วันแรกของชีวิต ลูกควรกินนมแม่ เพราะโปรตีนในนมวัวหรือนมผงเป็นโปรตีนโมเลกุลใหญ่ มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า ถ้าเลี่ยงโมเลกุลใหญ่ใน 3-5 วันแรกของชีวิตเด็ก จะลดความเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ได้ จริง ๆ แล้วธรรมชาติก็เตรียมความพร้อม ให้เด็กมีพลังงานสะสมตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดออกมาควรให้ทารกเข้าเต้าดูดนมบ่อย ๆ ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด แม่ควรเจอกันกับลูกให้เร็วที่สุด ในช่วงแรกที่เข้าเต้าน้ำนมแม่อาจมาเป็นหยด ๆ หนืด ๆ ปั๊มยังไม่ออก เพราะนมช่วงนั้นคล้ายนมข้นหวานที่ออกจากตู้เย็น ผ่านไป 1 สัปดาห์ น้ำนมจะใสขึ้น ปั๊มแล้วเริ่มออก แต่ก็พอดีแล้วสำหรับขนาดกระเพาะของเด็กแรกเกิดที่เทียบเท่าลูกเชอร์รี ถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องเสริมนมผง

6 เดือนแรกนมแม่อย่างเดียวจึงเพียงพอสำหรับทารก พญ.สุธีรา ย้ำด้วยว่า น้ำเปล่าไม่ต้อง ไม่ต้องให้อาหารเสริม เพราะในนมแม่มีสารยับยั้งเชื้อรา แค่ทำความสะอาดด้วยผ้าก็อซ เช้า ก่อนนอน เช้าเย็นก็พอ เหมือนแปรงฟัน แต่นมผงต้องกินน้ำตามเพื่อล้างคราบนมผงเพราะหากตกค้างจะทำให้ฟันผุ

“สารอาหารในน้ำนมแม่มีมากมาย ทั้งสารบำรุงสมอง ดีเอชเอ สารที่สร้างปลอกหุ้มเส้นใยสมองของเด็ก ตอนคลอดออกมาสมองจะพัฒนามา 30 เปอร์เซนต์ อีก 70 เปอร์เซนต์ สมองต้องสร้างอีก 3-7 ปี ส่วนที่สร้างช้าที่สุดคือปลอกหุ้มเส้นใยสมอง เด็กคนไหนโชคดีได้กินนมแม่ 6-7 ปี จะมีวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างปลอกหุ้มเส้นใยสมองสมบูรณ์แบบ การนำกระแสประสาทไปที่สมองก็จะไม่สะดุดติดขัด ในนมแม่ยังมีทอรีน กรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นสารสื่อประสาทในสมอง สารอัลฟ่า-แลคตัลบูมิน สฟิงโกไมอีลิน โปรตีนที่ไม่กระตุ้นภูมิแพ้ วิตามิน แร่ธาตุ นมแม่จึงเต็มไปด้วยสารที่ช่วยบำรุงสมองของเด็ก การให้ลูกกินนมแม่เหมือนเราเตรียมฮาร์ดแวร์ไว้ให้ลูก เพราะอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กฉลาด”

ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์
ความฉลาดสร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์

น้ำนมแม่เพียงพอแน่

สำหรับการเตรียมตัวของคุณแม่มือใหม่ให้มีน้ำนมเพียงพอ คุณหมอแนะนำว่า หลักการคือดูดบ่อย ปั๊มบ่อย ๆ สำหรับแม่ทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าแม่ฟูลไทม์เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ดูดเต้าอย่างเดียวก็เพียงพอ จะให้ดีต้องให้ลูกดูดนมทุก ๆ 3 ชั่วโมง ช่วง 3 เดือนแรกจะเหนื่อยหน่อย แต่หลังจากนั้นจะสบาย ลูกจะแข็งแรงเนื่องจากกินนมแม่ ในสัปดาห์แรกลูกจะขอดูดทุกชั่วโมงต้องคอยเอาเข้าเต้าตลอด ทั้งนี้ ควรเตรียมเครื่องปั๊มนมสองข้างพร้อมกัน ปั๊มนมบ่อย ๆ เตรียมไว้ ปั๊มครั้งละ 10 นาที ปรับความแรงให้เหมาะสม เรียกว่า ขโมยปั๊ม สัปดาห์แรกจะยังไม่มีอะไรออกมา เรียกว่า การปั๊มกระตุ้น ทำให้ฮอร์โมนหลั่ง หลอกร่างกายว่ามีลูกมากกว่าหนึ่งคน ร่างกายจะผลิตน้ำนมมากขึ้น น้ำนมมีเพียงพอแน่นอน หากปั๊มนมแล้วเกิดหัวนมแตกให้ปรับที่กรวยและความแรง รวมถึงสังเกตวิธีเอาลูกเข้าเต้าด้วยว่าถูกวิธีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ควรให้ลูกเจอขวดหลังอายุครบ 1 เดือน เพื่อป้องกันภาวะสับสนหัวนม เพราะขวดนมดูดง่าย นมไหลเข้าปาก พอมาเจอเต้าทีหลังจะไม่ยอมดูด แต่หากคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน ควรฝึกให้ลูกเจอขวดเดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะนมสต็อกที่ละลายมักจะเหม็นหืน ต้องฝึกให้กินตั้งแต่ 1 เดือน

พญ.สุธีรา เพิ่มเติมว่า เวลาลูกดูดนมจะช่วยพัฒนาด้านอีคิว แม่ก็อารมณ์ดี ลูกก็อารมณ์ดี เพราะออกซิโทซินจะหลั่งออกมา ซึ่งช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ทำให้นมนมไหลดี และยังทำหน้าที่เหมือนเอ็นโดรฟิน แม่จะรู้สึกผ่อนคลาย ส่วนลูกที่ได้รับสารนี้จากน้ำนมแม่ก็จะมีความสุข อารมณ์ดี เมื่อแม่ลูกอารมณ์ดีเล่นกันมากขึ้น อีคิวลูกก็ดี พัฒนาการลูกก็ดี

3 ปัจจัยทำให้ลูกฉลาด

เด็กฉลาดจะประกอบด้วย 3 ปัจจัย คุณหมออธิบายว่า

  1. พันธุกรรม พ่อแม่ฉลาด หัวดี
  2. อาหาร หลังกินนมแม่ 6 เดือน ลูกต้องได้รับอาหารเสริมตามวัยที่มีสารอาหารอย่างเพียงพอ ทั้งโปรตีน ผัก ผลไม้ เมื่อลูก 6 เดือนจึงต้องเริ่มข้าวบด เพิ่มเติมด้วยการผสมเนื้อสัตว์ มีผักผลไม้ ธัญพืช ถั่วชนิดต่าง ๆ และหากต้องการเสริมสร้างดีเอชเอ ก็เพิ่มเติมเมนูปลาให้ลูกกิน เช่น ปลาสวายที่มีดีเอชเอมากกว่าแซลมอน หรือเลือกปลาดุก ปลาช่อน และปลาทู นอกจากนี้ ยังมีอะโวคาโด ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง นำมาต้มแล้วบดในอาหารลูกได้ เมล็ดฟักทอง เมล็ดงา เมล็ดเจีย และเสริมด้วยเมนูไข่ที่มีทอรีน
  3. การเลี้ยงดู เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เน้นการเล่นกับลูก โอบกอด สัมผัส โดยเฉพาะ 3 เดือนแรกของชีวิต พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุด ควรอุ้มลูกบ่อย ๆ การอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนและกินนมแม่จะยิ่งดี แต่ถ้าต้องป้อนขวดให้ป้อนใกล้ ๆ เพื่อเลียนแบบพฤติกรรมการให้นมแม่ คอยสบตา ให้ลูกอยู่ในอ้อมแขน ลูกจะมีความมั่นคงในอารมณ์ ไว้ใจโลก นำสู่พัฒนาการด้านอารมณ์

เรื่องอาหารจึงสำคัญกับลูกตั้งแต่ในครรภ์ จวบจนคลอดออกมาก็ต้องกินนมแม่เพื่อให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์ แต่ก็ต้องไม่ลืมเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ลูกจะได้รับความฉลาดครบทั้ง 3 ด้าน เติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุข

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

20 แหล่ง อาหารโฟเลตสูง ครบทั้งผักผลไม้ เนื้อสัตว์ ดีต่อแม่และลูกในท้อง

รวม 17 อาการเตือนคนเริ่มท้อง สังเกตให้รู้ว่า “ท้องแล้วจ้า”

อาการท้องไม่รู้ตัว เป็นไปได้จริงหรือ! จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังตั้งครรภ์?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up