อาการเตือนคนเริ่มท้อง

รวม 17 อาการเตือนคนเริ่มท้อง สังเกตให้รู้ว่า “ท้องแล้วจ้า”

Alternative Textaccount_circle
event
อาการเตือนคนเริ่มท้อง
อาการเตือนคนเริ่มท้อง

การตั้งท้องเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อาการเตือนคนเริ่มท้อง ต้องสังเกตอย่างไร บางคนมีอาการหรือบางคนไม่แสดงอาการเลย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกถึง 2 เดือนที่อาจจะมองการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องไม่ออก มาลองสังเกตอาการต่าง ๆ เมื่อเริ่มตั้งท้องกันค่ะ

17 อาการเตือนคนเริ่มท้อง สังเกตให้รู้ว่า “ท้องแล้วจ้า”

อาการเตือนว่าตั้งครรภ์ของคุณแม่ในช่วงสัปดาห์แรกอาจจะยังแสดงออกไม่ชัดเจนนักแต่ก็พอสังเกตได้ และเมื่อผ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 คุณแม่ท้องบางรายอาจมีอาการเพิ่มเติมที่ทำให้รู้ว่าตั้งครรภ์

1.อาการประจำเดือนขาด

หนึ่งในอาการที่สังเกตได้ชัดว่าตัวเองตั้งครรภ์คือ ประจำเดือนที่ไม่มาในเดือนนั้น ๆ แต่จะมีเลือดออกมาทางช่องคลอดกระปริบกระปรอยเป็นจุด ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หรือ 11-12 วันหลังการปฏิสนธิ มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลหรือสีชมพูที่จางกว่าสีเลือดประจำเดือนและแห้งกว่าเปรอะเลอะกางเกงชั้นใน ที่เรียกว่า “เลือดหน้าล้างเด็ก” หรืออาจเจอเมื่อมีการเช็ดทำความสะอาดช่องคลอด ซึ่งจะปริมาณไม่มากไหลออกมาจากช่องคลอดได้ ถ้าไม่ทันสังเกตหรือแม่ท้องมือใหม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นเลือดประจำเดือน เพราะบางคนอาจไม่สบายท้อง รู้สึกปวดถ่วง ๆ บริเวณท้องน้อยคล้ายในช่วงที่ประจำเดือนเคยมาประจำ และเลือดนี้จะหยุดไหลไปเองภายใน 1-2 วัน

2.อาการง่วงนอน

ว่าที่คุณแม่ที่อาจจะสังเกตอาการตัวเองที่เปลี่ยนไปได้ว่า จะรู้สึกง่วงจนอยากนอนหลับหลังมื้ออาหารในขณะนั้นได้ ซึ่งลักษณะอาการนี้อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของร่างกายว่ากำลังตั้งครรภ์ และหากตรวจพบว่าตั้งครรภ์จริงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทคาเฟอีนเพื่อไม่ให้กระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ เมื่อรู้สึกว่าง่วงมากควรได้พักสายตานอนหลับซัก 5-15 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

สัญญาณเตือนว่าท้อง

3.อาการเมื่อยล้า

อาการเมื่อยล้า เหนื่อยง่ายมากขึ้นกว่าปกติแม้ว่ากิจกรรมที่เคยทำเป็นปกติก่อนหน้าที่ไม่เคยทำให้รู้สึกเหนื่อย หรือรู้สึกตัวเองอ่อนแอ ไม่สบายตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดเนื้อปวดตัวเหมือนคนกำลังป่วย อาการเหล่านี้จะเป็นอาการที่เริ่มรู้สึกได้อย่างทันทีภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ประกอบกับอาการอื่นในร่างกาย เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดลดระดับลง ความดันโลหิตลดต่ำ และการที่ร่างกายถูกกระตุ้นให้ผลิตเลือดเพิ่มขึ้นและมีการสูบฉีดเลือดที่มากกว่าปกติ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ดังนั้นในช่วงของระยะการตั้งครรภ์แรก ๆ ร่างกายของคุณแม่จะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อสนับสนุนการตั้งครรภ์ จึงทำให้ร่างกายสูญเสียพลังงาน เกิดอาการเมื่อยล้าและรู้สึกเหนื่อยง่ายในแม่ท้องขึ้นได้ โดยอาการนี้จะค่อย ๆ หายและรู้สึกดีขึ้นเป็นปกติเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สอง

4.อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด

อาการเวียนหัวเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่สังเกตได้ว่ากำลังท้องอ่อน ๆ ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย และการปรับตัวตามธรรมชาติของร่างกายขณะตั้งครรภ์ที่มีความต้องการเลือดมากขึ้น ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลงจึงส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัวได้แต่จะกลับมาเป็นปกติในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

5.มีน้ำมีนวล

สำหรับคนที่กำลังตั้งครรภ์อาจจะมีคนทักได้ว่าดูอวบอิ่ม ผิวพรรณดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล หน้าตาดูแดงระเรื่อขึ้น เป็นเพราะฮอร์โมนในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงในขณะตั้งครรภ์ และจำนวนเส้นเลือดฝอยที่อยู่ใกล้ ๆ กับผิวหนังชั้นบนสุดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทำให้มีเลือดมาไหลเวียนบริเวณใต้ผิวหนังมากขึ้น ทำให้แม่ท้องดูแม่น้ำมีนวลระหว่างตั้งครรภ์นั้นเอง

6.ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ สำหรับว่าที่คุณแม่อาจจะสังเกตได้ว่าตัวอุ่น ๆ มีอุณหภูมิของร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการร่างกายของคุณแม่ท้องมีการใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ ยิ่งทารกเติบโตมากขึ้น อุณหภูมิในร่างกายก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของร่างกายนั้นมีความละเอียดอ่อน แม้ว่าการสังเกตอุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้นจะเป็นอาการคนท้องที่พบได้ แต่ก็ควรมีการติดตามมาตลอดช่วงเวลาหลายเดือนหรือเช็กร่วมกับอาการเริ่มท้องอื่น ๆ ด้วย

7.อาการปวดหลัง

อาการปวดหลังในระยะเริ่มต้นตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นได้จาก ฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะฮอร์โมนรีแลกซิน (Relaxin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากรังไข่ มีผลในการกระตุ้นการคลายตัวเอ็นที่ยึดกระดูกเชิงกราน ทำให้ข้อต่อและเอ็นต่างๆเกิดการยืดหรือหลวม ซึ่งส่งผลต่ออาการปวดหลังได้ รวมทั้งความเครียดในขณะตั้งครรภ์ ที่ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการตึงตัว และเมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวและหน้าท้องที่ขยายใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับน้ำหนักตัวของทารกที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการปวดตะคริว ท้องอืด และท้องผูกก็สามารถเป็นสาเหตุของการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ได้

อาการก่อนรู้ว่าท้อง

8.อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้

อาการคลื่นไส้ หรือแพ้ท้อง เป็นอาการเตือนของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นได้ในระยะแรก โดยจะเกิดขึ้นในช่วงปลายของการขาดประจำเดือนครั้งแรก อาการหลักของการแพ้ท้องคือ รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียนออกมา และอ่อนแรง อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน แต่ส่วนใหญ่มักเป็นตอนตื่นนอนตอนเช้าหรือเป็นหนักตอนที่ท้องว่างที่จะต้องวิ่งเข้าห้องน้ำเพื่ออาเจียน บางทีอาจจะเป็นอ้วกแบบไม่มีเนื้อหรืออาหารใด ๆ อาจเป็นอาการที่ร่างกายอยากอาเจียนเพื่อให้กระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารเขยื้อนตัวได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotrophin) ที่เป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ยิ่งถ้า hCG มีระดับสูงก็จะยิ่งมีอาการแพ้ท้องสูงขึ้น อย่างไรก็ตามอาการแพ้ท้องนี้ความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์ อาจจะเกิดขึ้นได้กับแม่ท้องในบางคนอาจมีอาการแพ้ท้องไปจนถึงเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ หรือบางคนอาจไม่พบอาการแพ้ท้องเลยก็ได้

9.มีความอยากอาหารเป็นพิเศษ

ร่างกายของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นและมีความเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษ จึงทำให้คุณแม่มีความต้องการอาหารบางอย่างโดยไม่มีสาเหตุ เห็นอะไรก็รู้สึกอยากกิน ของที่ไม่เคยชอบกินก็อยากกิน หรืออยากกินอาหารแปลก ๆ โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงอยากกิน เช่นเดียวกับแม่ท้องบางคนที่รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลยก็มี ซึ่งความรู้สึกอยากอาหารที่เกิดจากการตั้งครรภ์นั้นมักจะรุนแรงกว่าความอยากกินในช่วงปกติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นในช่วงนี้แม้คุณแม่จะรู้สึกกินเก่งขึ้น แต่ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้พลังงานต่อร่างกาย เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์

10.อาการปวดหัว

อาการปวดหัวบ่อย ๆ แต่ไม่รุนแรงนักอาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดได้จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหรือปริมาณเลือดในร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ โดยอาการปวดหัวจะเริ่มทุเลาลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เมื่อระดับฮอร์โมนภายในร่างกายเริ่มคงที่

11.หน้าอกขยายใหญ่ขึ้นหรือมีคัดเต้านม

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ โดยจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังการตั้งครรภ์ประมาณ 1 หรือ 2 สัปดาห์ ในระยะนี้อาจสังเกตเห็นว่าหน้าอกตัวเองขยายใหญ่ขึ้น หนักขึ้นเล็กน้อย และรู้สึกบวม เจ็บตึงบริเวณเต้านมและหัวนม รู้สึกเสียวได้ง่ายเมื่อสัมผัสร่วมด้วย ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว รวมทั้งสังเกตเห็นเส้นเลือดบริเวณเต้านมที่ปรากฏขึ้นและมีสีเข้มขึ้นบริเวณหัวนม และเต้านมหรือหัวนมจะมีสีคล้ำขึ้น นอกจากนี้ยังมีปุ่มเล็ก ๆ มากมายเกิดขึ้นรอบ ๆ หัวนมด้วย  ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับสภาพของต่อมน้ำนมจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อย่างรวดเร็วให้เตรียมพร้อมต่อการเป็นคุณแม่มือใหม่ ทั้งนี้คุณแม่บางรายอาจมีขนาดหน้าอกที่เพิ่มขึ้นใหญ่กว่าเดิมถึง 3 เท่า ในขณะที่บางคนก็ยังคงมีหน้าอกขนาดเท่าเดิมอยู่

12.มีอารมณ์แปรปรวน

ฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์นั้นส่งผลกระทบต่ออารมณ์คนท้องได้มากมายเช่นเดียวกับอารมณ์ที่รู้สึกหงุดหงิด อ่อนไหวง่ายมากเป็นพิเศษในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งอาการนี้อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วง 2-3 สัปดาห์ สาเหตุที่แม่ท้องมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เห็นอะไรผิดหูผิดตาไปหมด เกิดจากระดับฮอร์โมนภายในร่างกายที่ปรับระดับขึ้น ๆ ลงๆ สิ่งที่คุณแม่ควรจะดูแลตัวเองคือ การหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาย ได้พักผ่อน คุยกับสามีหรือหาคนพูดคุยรับฟังให้กำลังใจเข้าใจในสถานการณ์ที่คุณแม่ท้องต้องเผชิญในขณะนี้ และอารมณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว

13.ไวต่อกลิ่น

อาการที่จมูกไวต่อกลิ่นเป็นพิเศษมักจะเกิดขึ้นได้กับคนท้อง เป็นผลมาจากจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่ท้องรู้สึกเหม็นกลิ่นไปหมดโดยไม่มีสาเหตุ และไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน ชวนทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้ เช่น กลิ่นน้ำหอมที่ใช้เป็นประจำ เหม็นกลิ่นอาหาร เหม็นกลิ่นตัวสามี เป็นต้น

14.การรับรสอาหารเปลี่ยนแปลง

นอกจากรับกลิ่นที่เหมือนเดิมแล้ว การตั้งครรภ์ยังส่งผลต่อการรับรสที่เปลี่ยนไปได้เช่นกัน แม่ท้องบางคนเริ่มอยากกินเปรี้ยว บางคนติดของหวาน ซึ่งการกินลักษณะนี้หากตามใจปากมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นและสุขภาพในขณะตั้งครรภ์ได้ จึงจำเป็นต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ ในหลากหลายเมนู เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดสารอาหารด้วย

15.อาการคัดจมูก

อาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวกเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในการตั้งครรภ์ เป็นผลมาจากร่างกายในขณะตั้งครรภ์มีเลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแรงกดมากขึ้นต่อเส้นเลือดที่บอบบาง และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่สามารถทำให้หลอดเลือดขยายตัวก่อให้เกิดอาการบวมของเยื่อเมือกในจมูก มีผลทำให้ แม่ท้องบางรายอาจมีอาการเลือดกำเดาไหลด้วย

อาการเตือนคนท้อง

16.ปวดปัสสาวะบ่อย

อาการปวดปัสสาวะบ่อยจะปรากฎขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการตั้งครรภ์ คุณอาจจะสังเกตว่าตัวเองเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นเป็นพิเศษทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน จนทำให้รู้สึกเพลีย นอนไม่เพียงพอ อาการนี้ถือเป็นเรื่องปกติในคนท้อง ซึ่งเป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น และเนื่องจากปริมาณของเลือดในร่างกายเพิ่มมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เลือดผ่านไปที่ไตมากกว่าเดิมจึงทำให้ไตมีการทำงานมากขึ้นกว่าปกติ ประกอบกับมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นนั่นเอง

17.อาการท้องผูก

คุณแม่ตั้งครรภ์จะเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย รู้สึกถ่ายยากไม่สบายท้องเหมือนเดิม เนื่องจากมดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้นไปกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ การทำงานของลำไส้มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารได้ และการไหลเวียนของหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้หลอดเลือดบริเวณรอบทวารหนักขยายตัวและโป่งพองได้ จึงทำให้แม่ท้องต้องผูกและขับถ่ายอุจจาระลำบากขึ้น ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ควรให้ความสำคัญด้านโภชนาการ การเลือกรับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีกากใยและดื่มน้ำเยอะ ๆ ก็จะช่วยลดปัญหาท้องผูกได้ด้วยอีกทางหนึ่ง

ท้องแล้วต้องทำอย่างไร

ถ้าว่าที่คุณแม่พบว่ามีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ประจำเดือนขาด แม้อาการที่พบนั้นอาจมีสาเหตุที่เกิดจากทางการแพย์อื่น ๆ ซึ่งอาการไม่ใช่อาการของคนท้องเสมอไป แต่ก็เป็นอาการที่อาจบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ากำลังมีการตั้งครรภ์ สิ่งที่สามารถทำได้คือ

  • การตรวจสอบยืนยันด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ โดยควรรออย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์นับจากมีเพศสัมพันธ์หรือหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7 วัน เพื่อทำการตรวจสอบด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีนี้จะมีความแม่นยำมากถึง 90% โดยเป็นการตรวจหาฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin หรือ hCG ในปัสสาวะที่เกิดขึ้นมาเฉพาะในผู้หญิงตั้งครรภ์ หากผลที่ได้ออกมาเป็นลบก็แสดงว่าไม่ตั้งครรภ์ หรือทำการทดสอบครรภ์ที่เร็วเกินไป หากชุดทดสอบการตั้งครรภ์ขึ้น 2 ขีด แสดงว่าผลเป็นบวก คือ มีการตั้งครรภ์
  • พบแพทย์เพื่อตรวจเลือด ซึ่งจะสามารถตรวจเพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ที่แม่นยำ
  • ระหว่างรอผลการตรวจหรือพบว่ามีการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ควรดูแลตัวเองตั้งแต่ระยะแรก เช่น การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานที่มีประโยชน์ มีวิตามิน สารอาหารสำหรับคนท้อง และดื่มน้ำให้บ่อยขึ้น
  • เพื่อสุขภาพที่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์คุณภาพควรงดการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน และไม่ควรซื้อยามาใช้หรือรับประทานเองนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง

แม้ว่าอาการตั้งครรภ์จะทำให้ว่าที่คุณแม่พบกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อพบว่ามีการตั้งครรภ์แน่นอนและได้เตรียมพร้อมกับอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ควรดูแลตัวเองตั้งแต่สัปดาห์แรกไปตลอดจนถึงคลอด และควรมีการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอระหว่างการตั้งครรภ์ และเพิ่มความปลอดภัยของคุณแม่ลูกน้อยในท้องให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีในขณะตั้งครรภ์นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.thwww.story.motherhood.co.thwww.somanao.com

อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ คลิก!

อาการคนท้อง เริ่มเมื่อไหร่? อาการไหนแปลว่า ท้องชัวร์!!

ฝันเห็นคนท้อง ฝันว่าตัวเองท้อง ฝันแบบนี้ ดีหรือร้าย?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up