ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก ฉันเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า? 

Alternative Textaccount_circle
event
ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก
ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

ทำไมไม่อยากเลี้ยงลูก ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก หรือแม่ผิดปกติ? คำถามที่กัดกินส่วนลึกในจิตใจ ฉันเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า

ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก ไม่อินกับความเป็นแม่

เมื่อถึงวันคลอดที่แม่เฝ้ารอ บางคนตื้นตันที่ได้เห็นหน้าเจ้าตัวน้อยครั้งแรกจนน้ำตาไหล แต่บางคนกลับไม่รู้สึกผูกพันกับลูกน้อยขนาดนั้น ความรู้สึกไม่อินกับหน้าที่ของแม่ เป็นสิ่งที่ผิดไหม แม่เป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า

ตั้งแต่วันแรกเมื่อที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด คุณแม่หลายคนต่างเฝ้ารอและประคบประหงม เจ้าตัวน้อยในท้องให้แข็งแรง เจริญเติบโตสมวัย พลางจินตนาการถึงวันที่คลอดออกมา นาทีที่เราแม่ลูกได้ประสานสายตา วันแห่งความสุขที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ความจริงมักจะตรงข้ามกันเสมอ โดยเฉพาะวันแรกที่แม่ต้องพาลูกกลับบ้าน เจ้าตัวน้อยที่นอนหลับไม่เป็นเวลา ร้องไห้หิวนมตลอดทั้งคืน ความเหนื่อยล้าที่ถาโถมเข้ามาหาคุณแม่ ทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยท้อใจกับการเลี้ยงลูก จนอยากจะลาออกจากการเป็นแม่ไปเสียให้พ้น ๆ

จริง ๆ แล้วเป็นเพราะความคาดหวังว่า การเลี้ยงลูกจะง่ายดาย เป็นไปได้โดยธรรมชาติ แม่ลูกควรจะรักกันตั้งแต่ในท้อง แต่มันไม่เสมอไป ความผูกพันเป็นสิ่งที่สร้างได้ และการที่แม่รู้สึกยังไม่อินกับ วิถีแม่ หรือยังไม่รู้สึกลึกซึ้งกับเจ้าตัวน้อย ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คุณแม่ไม่ได้ผิดอะไร

ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก
ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

เผลอคิดไปว่า หรือแม่ไม่ได้รักลูก

ความผูกพันที่ยังไม่เกิดในทันที สร้างความรู้สึกผิดถาโถมเข้ามาในจิตใจของผู้เป็นแม่ เพราะคุณแม่คาดหวังเรื่อง “รักแรกพบ” กับเจ้าตัวน้อย ก็อุ้มท้องมานานตั้ง 9 เดือน ทำไมถึงไม่รู้สึกรักลูกเลยล่ะ ความผูกพันที่เค้าว่ามีกันตั้งแต่ในท้อง ก็ไม่เห็นรู้สึกเลย เรื่องเหล่านี้เกิดได้กับคุณแม่หลาย ๆ ท่าน เพราะความผูกพันไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในทันที ให้ลองคิดง่าย ๆ ว่า เราจะรู้สึกรักและผูกพัน กับคนที่ไม่เคยเจอหน้าค่าตากันมาก่อนได้ทันทีเลยหรือ สำหรับแม่บางคนนั้น ใช่ แต่ถ้ามันยังไม่ใช่ ไม่รู้สึก ก็แค่สร้างความรู้สึกนั้นขึ้นมา

จากผลสำรวจ National Childbirth Trust (NCT) พบว่า คุณแม่ถึง 1 ใน 3 ในช่วงแรก ๆ มีปัญหาเรื่องการสร้างสายสัมพันธ์กับทารกหลังคลอด และคุณแม่ถึง 1 ใน 10 รู้สึกลำบากใจ หรือละอายใจ ที่จะเล่าเรื่องความรู้สึกเหล่านี้กับหมอ พยาบาล หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์

อาจเป็นเพราะความรู้สึกผิดที่ข้างใน เพราะความคาดหวังว่า เราควรจะรักลูกในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ไร้ข้อแม้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกกดดันว่า ต้องรักลูก ต้องผูกพันกับลูก แต่ Academy of American Pediatrics (AAP) ยืนยันว่า อย่าคาดหวังว่าความผูกพันต้องเกิดขึ้นในทันที เรื่องนี้ต้องใช้เวลา และต้องไม่จำกัดเวลาว่าเร็วหรือช้าอีกด้วย

ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคนเป็นแม่ เนื่องจากฮอร์โมนและการคลอดลูก ทำให้คุณแม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เมื่อคลอดลูกเสร็จแล้วจะรู้สึกโล่งอกที่ลูกออกมาเสียที จนเป็นความรู้สึกโล่งใจเสียมากกว่า และหลังจากที่ร่างกายผ่านศึกหนักอย่างการคลอดลูกมา ก็จำเป็นต้องพักฟื้น คุณแม่จึงหมดแรง ไม่มีอารมณ์ด้านอื่น คิดเพียงแต่ว่า อยากพักผ่อน ดังนั้น ให้เวลากับตัวเองก่อน เมื่อร่างกายพร้อม จิตใจพร้อม ธรรมชาติก็จะสร้างความรักความผูกพันขึ้นมาในระหว่างการโอบกอดลูก ให้นมลูก อุ้มและเลี้ยงดูลูก รู้ตัวอีกที แม่ก็รักลูกหมดหัวใจเสียแล้ว

ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก
ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

สาเหตุที่ทำให้ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก

  • ความเจ็บปวดจากการคลอดลูก การคลอดลูกที่ยากลำบาก สร้างบาดแผลที่ร่างกาย ส่งผลให้จิตใจของผู้เป็นแม่ยังไม่พร้อม
  • ระหว่างตั้งครรภ์ แม่มีความรู้สึกด้านลบ ซึมเศร้า หรือหดหู่
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือต้องอยู่ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต (Neonatal Intensive Care Unit-NICU) ทำให้แม่ลูกต้องห่างกันหลังคลอด
  • ต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วยหลังคลอดของตัวแม่เองหรือลูกน้อย ซึ่งทำให้รู้สึกหวาดกลัว เครียด กังวล แม่บางคนอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี หรือจำเป็นต้องดูแลตัวเองเพียงลำพัง ไม่มีใครมาดูแลหรือช่วยเหลือหลังคลอดลูก
  • มีประวัติของโรคหรืออาการทางด้านจิตใจ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • เป็นแม่ครั้งแรก จึงเครียด กังวล และคิดมาก
  • แม่บางคนเคยสูญเสียลูกน้อยไป เช่น แท้งหรือทารกเสียชีวิตหลังคลอด
  • มีความเครียดเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต เช่น ปัญหาการเงิน หรือตกงาน
  • กำลังมีปัญหาชีวิตคู่
  • ไม่มีคนคอยอยู่เคียงข้าง ไร้คนมาดูแลอย่างใกล้ชิด
  • พบปัญหาการให้นมลูก

หากคุณแม่กำลังเผชิญกับความเครียด วิตกกังวล ไม่ว่าจะเรื่องใดในชีวิต การจะสร้างความรักความผูกพันกับลูกก็ยิ่งต้องใช้เวลา อดทน สวมบทบาทความเป็นแม่ โดยทำหน้าที่แม่อย่างดีที่สุด

ความรู้สึกและอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้

  1. สับสน แม่บางคนอาจเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับแม่คนอื่น เช่น แม่คนอื่น ๆ ก็รักและผูกพันกับลูก ทำไมเราถึงไม่รู้สึก? ฉันเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า? หน้าที่แม่ของฉันบกพร่องไหม? จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้เห็นทุกด้านทุกมุมของคนทุกคน บางเรื่องอาจไม่มีใครเล่า บางสิ่งเป็นความรู้สึกลึก ๆ ที่ไม่กล้าเอ่ยออกไป บางทีคุณแม่ที่เรารู้จัก อาจมีความรู้สึกไม่รักลูกหรือไม่ผูกพันกับลูก เพียงแต่เราไม่รู้ก็ได้
  2. รู้สึกผิด ความรู้สึกสำคัญที่เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับความรู้สึกไม่รัก ไม่ผูกพันกับลูก เพราะภาพจำของเราคือ แม่ต้องรักลูก เราจึงรู้สึกแย่ที่ตัวเองไม่รักลูก แต่หลงลืมไปว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ความรักความผูกพันก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราสร้างมัน ทำหน้าที่ของแม่อย่างเต็มที่ในทุก ๆ วัน ความรู้สึกด้านบวกจะเกิดขึ้นได้เอง
  3. เสียใจ แม่บางคนอาจรู้สึกเสียใจที่ต้องรับหน้าที่ ความเป็นแม่ รู้สึกเสียใจจนอยากลาออก แต่อาชีพแม่เป็นสิ่งที่ลาออกไม่ได้ แม่บางคนอาจรู้สึกผิดหวังในตัวเองที่ไม่อยากเป็นแม่ เป็นความรู้สึกผิดที่ซ้อนทับกับความเสียใจในสิ่งที่ต้องเผชิญ หากมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า เสียใจที่ได้เป็นแม่ ก็แค่ต้องยอมรับและไปต่อ พยายามดึงความคิดด้านบวกเข้ามา แต่ถ้ารู้สึกแย่ เสียใจ จนทนไม่ไหว ให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของอาการซึมเศร้าหลังคลอด

วิธีสร้างความผูกพันกับลูก และสิ่งที่แม่ควรทำ

  • เนื้อแนบเนื้อ – แนบชิดกับลูกโดยให้ผิวหนังของลูกสัมผัสเนื้อหนังของแม่ อุ้มทารกวางไว้ตรงหน้าอก ให้ลูกได้ยินเสียงของหัวใจแม่ที่กำลังเต้น วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความรัก Oxytocin
  • อย่าเก็บความรู้สึกเอาไว้ – เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนที่คุณรัก เปิดเผยความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เช่น รู้สึกเหนื่อยมากเลยแทบไม่ได้นอน ลูกร้องทั้งคืน หรือแม้กระทั่งความรู้สึกที่อยากเลิกเป็นแม่ แต่ถ้ารู้สึกอายหรือรู้สึกไม่ดีที่จะพูดกับคนใกล้ชิด ลองนำเรื่องนี้ไปปรึกษาจิตแพทย์ได้ การได้ระบายความรู้สึก เปิดเผยสิ่งที่คิด จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดได้
  • พักก่อน – คุณแม่ฟูลไทม์มักจะเหนื่อยมากเป็นพิเศษ หาเวลาพักผ่อนเสียบ้าง จัดตารางการดูลูกกับคุณพ่อ จ้างพี่เลี้ยงเด็กแล้วคุณแม่ก็คอยดูอย่างใกล้ชิด หรือจัดตารางเวลาอย่างง่าย ๆ เพื่อให้แม่ได้นอนพักผ่อนสบาย ๆ เสียบ้าง
  • ออกนอกบ้านบ้าง – พาลูกไปเดินเล่น ชมนกชมไม้ ทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง เพื่อลดความเครียด ทำให้คลายความกังวล หรือในบางวัน อาจให้คนในครอบครัวช่วยกันเลี้ยงลูก เพื่อให้คุณแม่ออกไปเดตกับคุณพ่อบ้าง
ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก
สร้างความผูกพันกับลูก

ความรู้สึกไม่ผูกพันกับลูก อยากลาออกจากการเป็นแม่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องรักการเป็นแม่ก็ได้ แค่รักและห่วงใยลูกน้อยก็พอ พยายามอุ้มลูก สัมผัสลูก ให้นมลูก สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความรัก ความผูกพันให้ค่อย ๆ ก่อเกิดในทุก ๆ วัน แม้ว่า การเป็นแม่จะยาก แต่เชื่อเถอะว่า คุณเองก็สามารถเป็นแม่ที่ดีได้ในแบบของตัวเอง

อ้างอิงข้อมูล : verywellfamily

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม่ต้องรู้เท่าทัน!

5 วิธีฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด ให้กลับมาแข็งแรง สุขภาพดี

9 ผลไม้เพิ่มน้ำนม แม่หลังคลอดน้ำนมน้อย ต้องกิน!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up