ภาวะสับสนหัวนม

อย่าให้ลูกดูดขวด! ถ้ายังไม่รู้ ภาวะสับสนหัวนม

Alternative Textaccount_circle
event
ภาวะสับสนหัวนม
ภาวะสับสนหัวนม

ทำไมลูกไม่ยอมดูดเต้า เอาแต่ดูดนมจากขวด คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก ภาวะสับสนหัวนม หรือ nipple confusion ที่เกิดขึ้นได้กับทารกแรกเกิด เรื่องที่คุณแม่ให้นมลูกควรรู้!

อย่าให้ลูกดูดขวด! ถ้ายังไม่รู้ ภาวะสับสนหัวนม

“ภาวะสับสนหัวนม” หรือ nipple confusion  คือ อาการสับสนระหว่างหัวนมจากเต้าแม่และจุกนมปลอมจากขวดนม ทำให้ทารกปฏิเสธการดูดนมจากเต้าของคุณแม่ แต่ยอมดูดนมจากขวดผ่านจุกนมยาง ปัญหานี้เกิดจากการที่คุณแม่ให้ลูกกินนมจากขวดตั้งแต่อายุยังน้อย หรือเริ่มขวดนมเมื่อลูกอายุน้อยกว่า 1 เดือน ซึ่งจะส่งผลทำให้ทารกเกิดภาวะสับสนหัวนมนี้ขึ้นมาได้ เนื่องจากกลไกการดูดนมจากเต้าแม่นั้นแตกต่างจากการดูดนมจากจุกนมของขวด

การดูดนมแม่จากเต้า ทารกต้องอ้าปากกว้างและอมหัวนมแม่ไปถึงลานนมเพื่อให้หัวนมแม่ยืดเข้าไปได้ถึงด้านในปาก และใช้ลิ้นห่อลานนมและกดให้แนบไปกับเพดานปาก เมื่อทารกขยับลิ้นและขยับกรามล่างน้ำนมจะถูกรีดออกจากกระเปาะน้ำนมตามจังหวะที่ทารกขยับกราม หากทารกดูดนมได้อย่างถูกท่าก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้มีน้ำนมแม่และทำให้แม่ไม่รู้สึกเจ็บหัวนม

การดูดนมขวดหรือผ่านจากจุกนมยาง ทำให้ทารกไม่ได้ผ่านกระบวนการกินตามธรรมชาติ เหมือนกับการกินนมจากเต้าแม่ โดยน้ำนมจะไหลผ่านรูที่จุกนมยางทำให้ทารกดูดนมได้รวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องอ้าปากกว้าง ออกแรงในการกินนมเหมือนการดูดนมจากเต้า เพียงแค่งับกัดจุกนมยางและใช้แรงดูดเพียงเล็กน้อยจากแค่ริมฝีปากหรือเหงือก น้ำนมก็จะไหลออกจากขวด การดูดนมขวดจึงง่ายต่อการดูดนมจากเต้ามากกว่า

ลูกสับสนขวดกับเต้า

เมื่อทารกเกิดความคุ้นเคยกับการดูดนมจากขวดก็จะทำให้ลูกปฏิเสธการกินนมจากเต้าแม่ หรือเมื่อทารกกลับมาดูดนมจากเต้าลูกก็จะอมหัวนมแม่ได้ไม่ลึกพอ ใช้ลิ้นตวัดเพื่อดูดนมแม่ไม่เป็น ส่งผลให้ทารกหงุดหงิด เกิดความเครียดในทารกโดยไม่รู้ตัว เพราะน้ำนมไม่ได้ไหลทันทีเหมือนตอนกินแบบขวด รวมทั้งลูกกัดหัวนมแม่ด้วยความเคยชินจากการกัดงับจุกนมเพื่อให้น้ำนมไหลเข้าปาก ส่งผลทำให้คุณแม่เจ็บหัวนม และทำให้เกิดปัญหาในการให้ลูกกินนมแม่ตามมา เช่น หัวนมแตกลุกลามเป็นแผลอักเสบจนไม่สามารถให้นมลูกได้ การกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่ก็จะช้าลงและผลิตน้ำนมได้น้อยลง ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน จนทำให้คิดว่าแม่มีน้ำนมน้อย นมแม่ไม่พอต่อลูกน้อย เกิดความท้อต่อการให้ลูกเข้าเต้าและหันไปชงนมผสมให้ลูกกินนมจากขวดแทน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทารกเกิดความเคยชินจนไม่อยากกลับไปกินนมจากเต้าแม่อีก ทำให้ลูกเกิด “ภาวะสับสนหัวนม” ขึ้นนั่นเอง

3 ปัญหาภาวะสับสนหัวนมของทารก ที่พ่อแม่คาดไม่ถึง

เมื่อทารกมีอาการสับสนหัวนม อาจส่งผลกระทบได้ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายต่อลูกน้อยโดยตรง และส่งผลกระทบทางอ้อมไปถึงคุณแม่ได้ อาทิเช่น

1. ทารกเกิดอาการเครียดกว่าปกติ

ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย มีการศึกษาเปรียบเทียบแล้วว่า ทารกที่กินนมจากขวดนมจะมีความเครียดมากกว่าทารกที่กินนมจากเต้าแม่ เพราะกลไกทางธรรมชาติของการกินนมแม่จะทำให้ทารกมีอัตราการหายใจและอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า และทารกสามารถควบคุมปริมาณการไหลของน้ำนมแม่ตามจังหวะ ดูด กลืน หยุดได้ การสลับให้ทารกกินนมจากเต้าและขวดนม จะทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดอาการสับสนหัวนม อาจส่งผลให้ทารกหงุดหงิด เกิดความเครียด และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

2. ลูกไม่เข้าเต้า เสี่ยงเจอปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันอาจเกิดจากการไม่ให้ทารกดูดนมแม่บ่อย เมื่อทารกเกิดอาการสับสนลูก และปฏิเสธการเข้าเต้าหันไปติดดูดนมจากขวดมากกว่า เพราะเคยชินกับการดูดนมจากจุกที่ไหลง่าย และเมื่อสลับมาดูดนมจากเต้าก็ทำให้ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า ส่งผลให้ร่างกายคุณแม่ที่ผลิตน้ำนมขึ้นมาใหม่มีปริมาณน้ำนมค้างอยู่ในเต้านานมากเกินไป ไม่ได้ระบายออกจากต่อมน้ำนม อาจทำให้คุณแม่ต้องเจอกับปัญหาท่อน้ำนมอุดตันและเกิดอาการเต้านมอักเสบขึ้นมาได้

3. ลูกห่างจากอกแม่ กระทบสายใยแม่ลูก

การให้ลูกได้ดูดนมจากเต้าแม่ ถือเป็นการเชื่อมสายใยอันแน่นแฟ้นของแม่และลูกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังส่งผลดีต่อพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมทำให้ลูกน้อยเกิดการเรียนรู้ แต่การสลับให้ลูกดูดขวดตั้งแต่แรก ๆ จนทำให้เกิดภาวะสับสนหัวนมของทารก ทำให้ลูกน้อยงอแงปฏิเสธการกินนมแม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ระยะยาวของแม่ลูกได้ และอาจทำให้ก่อเกิดความเครียดทั้งแม่และลูกน้อยตามมาได้อีกด้วย

วิธีป้องกันภาวะสับสนหัวนม ทำอย่างไรให้ลูกน้อยหายสับสน

คุณแม่หลายคนหลังคลอดลูกแล้ว จำเป็นต้องกลับไปทำงาน อาจเกิดความกังวลกลัวลูกจะติดเต้า จึงฝึกให้ลูกกินนมจากขวดตั้งแต่หลังคลอดไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะทารกสับสนหัวนม และปัญหาอื่น ๆ ตามมา วิธีป้องกันให้ลูกหายสับสน อาทิเช่น

อุ้มลูกเข้าเต้า

  • ควรให้ทารกได้กินนมจากเต้าแม่ โดยฉพาะในช่วง 1 เดือนแรก จึงไม่ควรให้ทารกกินนมจากขวดนมในช่วงอายุน้อยกว่า 1-2 เดือน รวมถึงการใช้จุกนมหลอกด้วย
  • อุ้มลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยเกิดความเคยชินและสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นจากอกแม่
  • ทารกพึงพอใจในการดูดนมจากจุกขวดเนื่องจากการไหลอย่างรวดเร็วของน้ำนม ดังนั้นก่อนให้ลูกคุณแม่สามารถปั๊มน้ำนมหรือกระตุ้นให้น้ำนมพุ่งก่อนที่จะให้ทารกดูด เพื่อให้ลูกน้อยยอมรับเต้านมแม่ง่ายขึ้น
  • อุ้มลูกเข้าเต้าให้ถูกท่า ให้อ้าปากกว้างก่อนงับและอมถึงลานนม จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่องเพียงพอต่อความต้องการของเจ้าตัวน้อย และช่วยให้น้ำนมที่มีอยู่เต็มเต้าได้ระบายออกมา ไม่ทำให้เกิดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันด้วย
  • ให้ลูกกินนมจากเต้าในขณะที่อารมณ์ดี อย่าปล่อยให้เจ้าตัวน้อยหิวจัดที่จะส่งผลต่ออารมณ์งอแงหงุดหงิดขึ้นได้
  • ป้อนนมลูกด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้แก้ว ช้อน หรือหลอด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกิดความสับสนระหว่างเต้านมแม่และจุกนมยาง

จะเห็นได้ว่าอาการสับสนหัวนมของทารกนั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวทารกและคุณแม่ได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น คุณแม่ควรให้ความสำคัญต่อการให้ทารกได้ดูดนมตามธรรมชาติจากเต้าแม่ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนแรก และเมื่อทารกเข้าเต้าได้ดีมีความสุขกับการดูดนมจากเต้าแม่เต็มที่ หากคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานก็สามารถปรับมาให้ทารกกินนมจากขวดได้ สำหรับคุณแม่ที่กังวลเรื่องลูกไม่ยอมเข้าเต้า น้ำนมน้อย หรือลูกกัดหัวนม ฯลฯ นอกจากการหาข้อมูล หรือได้คุยกับแม่ ๆ ที่มีลูกอ่อน ยังสามารถไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกนมแม่ซึ่งมีพยาบาลวิชาชีพและคุณหมอที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับปัญหาการให้นม การเตรียมความพร้อมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อที่คุณแม่จะได้ให้นมลูกน้อยอย่างถูกและมีความสุขที่สุดนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.thairath.co.thwww.thaibf.com

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก

เตือนแม่มือใหม่ “ป้อนนมลูกผิดวิธีผิดท่า” เสี่ยง! ลูกสำลักนม เสียชีวิต

5 วิธีช่วยคุณแม่ เลิกขวดนม ให้ลูกตอน 1 ขวบ

5 ปัญหาการให้นมแม่ ที่แม่ต้องเจอ พร้อมวิธีแก้ปัญหา

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up