ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย

ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย เริ่มเป็นเด็กก้าวร้าว เพราะติดไอแพด

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย
ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย

แม่แชร์อุทาหรณ์! ลูกดูไอแพด ดูทีวีมากไป สารในสมองเปลี่ยน ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย เริ่มเป็นเด็กก้าวร้าว

อย่าเลี้ยงลูกด้วยไอแพด! ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย ลุกลามกลายเป็นก้าวร้าว

แม่แชร์เรื่องจริงที่เจอกับตัว เมื่อลูกชายวัย 1 ขวบครึ่ง มีอาการสมาธิสั้น เริ่มก้าวร้าว เพราะติดจอ! ไม่ว่าจะเป็นมือถือ ไอแพด หรือแม้กระทั่วทีวี ก็มีผลต่อเด็กทั้งนั้น โดยคุณแม่เล่าประสบการณ์ว่า ลูกชายวัยขวบครึ่ง มีพัฒนาการที่ดีตามวัยมาโดยตลอด เดินและพูดพร้อมกันได้ตอน 11 เดือนกว่า ๆ พูดได้ในบางคำ เช่น แม่ ป่ะ ไป หม่ำหม่ำ น้ำหนักและส่วนสูงเป็นไปตามเกณฑ์ได้ดีมาก พอมาช่วงขวบต้น ๆ แม่ก็ไม่ได้เอะใจอะไรเกี่ยวกับการเปิดทีวี และให้น้องดู YouTube เพลงคำศัพท์ต่าง ๆ เปิดในทีวีปกติ พอมาตอนหลังเริ่มมีการใช้ไอแพดเปิดให้ดูสลับบ้าง

ปรากฎว่าช่วง 2 เดือนหลัง ลูกเริ่มชะงักพัฒนาการพูด เริ่มมีสมาธิสั้น เหมือนเวลากินก็ไม่อยากกิน อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่ายมาก เริ่มกลัวและไม่ชอบให้คนอื่นที่ไม่คุ้นเคยเข้าใกล้และสัมผัสตัว พอไม่ได้ดั่งใจจะตะโกนร้องโหวกเหวกเสียงดัง และเริ่มทำร้ายตัวเองและคนอื่น นี่คือสิ่งที่หนักสุดที่แม่เจอ จนกระทั่งแม่เริ่มรู้สึกว่า ลูกผิดปกติจากวัยของเค้าไป และได้ตัดสินใจพาลูกไปฉีดวัคซีนตามนัดปกติ พร้อมกับปรึกษาคุณหมอ

หมอบอกว่า ลูกกำลังไม่เป็นตัวเอง สมาธิสั้น และเหมือนเริ่มจะเป็นเด็กก้าวร้าว ซึ่งก่อนหน้านี้ตรงกันข้ามมากกับสิ่งที่เป็น และถามว่าแม่ให้ดูทีวีกับไอแพดไหม เราจึงตอบว่าใช่ค่ะ ลูกเพิ่งเป็นแบบนี้ในระยะสั้น ๆ นี้เอง หมอบอกว่า โอเค งั้นพอแก้ไขได้ สิ่งทั้งหมดที่เป็นสาเหตุจากการดูทีวี ดู YouTube มาก ทำให้ได้รับสารบางอย่างที่ผิด เหมือนการดูทีวีมันตัดและเปลี่ยนช่องไว ลูกก็เสพภาพและเสียงสิ่งเหล่านี้ไป มันไปกระตุ้นประสาททางอารมณ์และสมอง

วิธีแก้ หมอสั่งไม่ให้ดูทีวี ไม่ให้ดูไอแพดโดยเด็ดขาดในตอนนี้ ให้เปลี่ยนมาวาดภาพระบายสี ลูกจะขีดเขียน ฉีกกระดาษยังไงให้ปล่อย เพราะมันคือจิตนาการของเด็ก ให้เล่นตัวต่อ เล่นของเล่นฝึกสมาธิ เพราะตอนนี้เริ่มสมาธิสั้น อ่านหนังสือนิทาน และให้ยาช่วยทานข้าวได้ เพราะน้ำหนักน้อย ลูกกินนมวันหนึ่งน้อยมาก ข้าวแทบจะไม่กินเลย คำแนะนำเพิ่ม ถ้าโวยวายอาละวาด ให้เดินหนีและไม่สนใจ ลูกจะค่อย ๆ หายเอง อย่าดุ อย่าตี อย่าว่า ให้ใจเย็นและกอด แนะนำในทางที่ถูกให้ความรักความอบอุ่น แล้วทุก ๆ อย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้น

ตอนนี้เราเริ่มทำมาได้ 1 วัน ลูกโวยวายน้อยลง ทุกคนในบ้านหักดิบ ไม่เปิดทีวี ไม่เปิดไอแพด งดเล่นมือถือเวลาอยู่กับลูก ลูกเริ่มหันมาทานข้าวเพิ่มขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทานนมเยอะขึ้นมากและบ่อย ก็พาลูกไปเล่นทำกิจกรรมตามหมอแนะนำ และแม่หวังว่า ลูกจะกลับสู่ภาวะปกติ ไม่สับสนกับการไม่เป็นตัวเองและก้าวร้าว

คุณแม่ยังได้อัปเดตเรื่องราวของลูกกับทีมแม่ ABK ด้วยว่า ในช่วง 1-2 วันแรก แม่เครียดนิดหน่อย แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาแล้ว ก่อนหน้านี้ลูกมีอารมณ์ขี้หงุดหงิดโมโหร้าย ขัดใจหรือไม่ตามใจจะอาละวาด ทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ ตามด้วยทำร้ายคนอื่นต่อ พอผ่าน 3 วันแรกที่งดการเปิดทีวี มือถือ ไอแพด มาตลอด 24 ชั่วโมงเต็ม 3 วันติด ลูกมีอาการดีขึ้น อารมณ์เย็นลง เวลาถูกขัดใจหรือไม่ตามใจ แม่ก็เลือกปฎิบัติตามคำแนะนำหมอทุกอย่าง ลูกเย็นลงเองและหยุดพฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง แต่ยังมีแอบกัดแม่อยู่บ้างเล็กน้อย ในส่วนของยาที่หมอจ่ายมาด้านการทานอาหาร ก่อนหน้านี้ทานนมแค่รอบละ 4 ออนซ์ต่อ 2ชั่วโมง แต่เปลี่ยนมาทานนม 5-6 ออนซ์ต่อชั่วโมง เรื่มทานเก่งขึ้น และสนใจกับการทานมากขึ้น ส่วนการนอนหลับ เมื่อก่อนนอนยากมาก ต้องเขย่าอุ้มเดินกล่อมตลอด ตอนนี้นอนหลับเองง่าย ๆ ใน10 นาที และเข้านอนเร็ว ตื่นเช้าตามปกติ เหมือนเด็กทั่วไป เมื่อก่อนเข้านอนเที่ยงคืน ตื่น 10 โมง และเวลาเรียกจะตื่นยากมาก

ฝากแม่ ๆ อย่านิ่งนอนใจกับลูก ให้สังเกตพฤติกรรมลูกและอย่าเอาใจในทางที่ผิด เพราะจะกลายเป็นพ่อแม่รังแกฉัน บางเรื่องเล็ก ๆ ที่มองข้าม จะทำให้ลูกกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีนิสัยใจคอแบบไหน ขึ้นอยู่กับการปลูกฝังเลี้ยงดูของพ่อแม่และคนในครอบครัว

ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย
ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย เพราะไอแพด

ลูกใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เสี่ยงโรคสมาธิสั้น

ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า การใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมีผลทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น มีเพียง 15-20% เท่านั้นที่สามารถหายขาดเองได้ แต่ 80-85% ไม่สามารถรักษาได้ และจะเป็นโรคสมาธิสั้นจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แน่นอนว่า การเลี้ยงลูกด้วยมือถือหรือแท็บเล็ต จะส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างมากมาก โดยเฉพาะด้านความคิด การวางแผน และการจัดการบริหารชีวิต จากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า

นายภูชิชย์ ฝูงชมเชย นักกิจกรรมบำบัด จากศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 แนะนำวิธีสังเกตอาการสมาธิสั้นในเด็กว่า ต้องพิจารณาอายุของเด็กกับระยะเวลาของกิจกรรมที่เด็กทำก่อนว่ามีระยะเวลานานเกินไปหรือไม่ โดยนำอายุเด็กมาคูณด้วยสาม ซึ่งจะเท่ากับจำนวนนาทีที่เด็กสามารถอยู่ในสมาธิได้ เช่น เด็ก 5 ขวบ ควรมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับการทำกิจกรรมได้ 15 นาที ส่วนวิธีสังเกตว่าลูกมีอาการสมาธิสั้น ให้ดู 2 วิธีนี้ ซึ่งเป็นการสังเกตเบื้องต้น โดยเด็กจะต้องมีอาการเหล่านี้ก่อน 12 ขวบ และแสดงอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน

  1. สังเกตว่าเด็กมีอาการขาดสมาธิหรือไม่ โดยเด็กจะมีอาการ 6 ใน 9 ข้อ ได้แก่ ละเลยในรายละเอียดหรือทำผิดด้วยความเลินเล่อ, มีความยากลำบากในการตั้งสมาธิ, ดูเหมือนไม่ฟังเวลาคนอื่นพูดด้วย, ทำตามคำสั่งไม่จบหรือทำกิจกรรมไม่เสร็จ, มีความยากลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม, หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม, มักทำของหายบ่อยๆ, วอกแวกสนใจสิ่งเร้าภายนอกง่าย และหลงลืมทำกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ
  2. เด็กมีอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่นหรือไม่ โดยจะต้องมีอาการ 6 ใน 9 ข้อ ประกอบด้วย ยุกยิก ขยับตัวไปมา, นั่งไม่ติดที่ ชอบลุกเดิน, ไม่สนใจเมื่อมีผู้พูดด้วย, ไม่สามารถเล่นเงียบๆ ได้, เคลื่อนไหวไปมาตลอดเวลา, พูดเยอะเกิน, พูดโพล่งขึ้นมาก่อนถามจบประโยค, มีความยากลำบากในการรอคอย และขัดจังหวะหรือพูดแทรกผู้อื่นในกลุ่มสนทนาหรือกลุ่มเล่น

หากพบว่าลูกเข้าข่ายอาการของสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาต่อไป ยิ่งรู้ได้เร็วยิ่งรักษาได้ทัน

ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย

7 วิธีรับมือลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อห้ามเล่นมือถือ

ส่วนเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว โดยเฉพาะเด็กที่ติดมือถือ เมื่อพ่อแม่ห้ามเล่นมือถือ ยิ่งแสดงออกถึงพฤติกรรมรุนแรงนั้น ทางแพทย์หญิงถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง เมื่อลูกหลานมีพฤติกรรมดังกล่าว สามารถช่วยลูกได้คือ

  1. ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของลูก นั่นคือให้พ่อแม่รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เวลาลูกถูกขัดใจ ลูก ๆ จะมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด โมโห แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาคือ วิธีที่ลูกแสดงออกถึงอารมณ์ ดังนั้น การสะท้อนความรู้สึกของลูกในขณะนั้น เช่น “แม่รู้ว่าหนูโกรธที่ถูกห้ามเล่น” จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตนเองและรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจตน ซึ่งการรับรู้อารมณ์ของตนเป็นพื้นฐานของการฝึกการจัดการอารมณ์ที่ดี
  2. สอนวิธีจัดการอารมณ์ที่พ่อแม่ยอมรับ เนื่องจากบางครั้งเด็กไม่รู้ว่า การแสดงออกทางอารมณ์แบบไหนที่พ่อแม่ยอมรับ พ่อแม่จึงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงออกทางอารมณ์ โดยต้องไม่หงุดหงิด ดุ ว่าลูก สามารถมีอารมณ์ที่สงบ หนักแน่น ในการสอนลูก และเมื่อลูกโกรธ พ่อแม่สามารถบอกลูกว่า “ให้หนูหามุมสงบ เมื่ออารมณ์ดีแล้วเราค่อยมาคุยกัน”
  3. คำสั่งของพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือ ถ้าถึงเวลาให้หยุดเล่น คือหยุดเล่น ไม่ว่าลูกจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา ลูกก็ไม่ได้เล่นต่อ เพื่อไม่ให้เด็กเรียนรู้ในการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อให้ได้ตามต้องการ
  4. ชมเชยลูก เมื่อลูกสามารถหยุดการเล่น และควบคุมอารมณ์ตนเองได้ โดยตัวอย่างการพูดชมเช่น “เก่งมากนะลูก ที่หนูเล่นตามเวลาที่กำหนดได้ หนูเป็นเด็กที่รู้จักเวลา แม่ภูมิใจในตัวลูกนะ”
  5. เมื่อเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว สิ่งที่พ่อแม่ต้องคอยมอง คือความปลอดภัยของเด็ก โดยห้ามเด็กทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่นและทำลายข้าวของ
  6. วิธีที่ช่วยให้อารมณ์ของเด็กไม่รุนแรง คือ ก่อนอนุญาตให้เด็กใช้มือถือหรือแท็บเล็ต พ่อแม่ต้องกำหนดกฎในการใช้ให้ชัดเจน เช่น เวลาที่ใช้ ลักษณะของการใช้ การเตือนตนเองหรือพ่อแม่เตือนเมื่อใกล้หมดเวลา เพื่อให้ลูกเตรียมตัวเตรียมใจก่อนจะหยุด วิธีลงโทษเมื่อใช้เกินเวลาที่กำหนดที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผลของการเล่นเกินเวลา เช่น งดดูทีวี หักค่าขนม หรือทำงานบ้านเพิ่ม เป็นต้น
  7. หมั่นฝึกวินัยลูกในด้านอื่น ๆ

ลูกสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย

หากเด็กมีอาการผิดปกติ พัฒนาการช้า มีแนวโน้มสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย หรืออาจเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาปรึกษาคุณหมอให้เร็วที่สุด

อ้างอิงข้อมูล dmh.go.th และ thaihealth.or.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี

5 เทคนิค พาลูกน้อยขับรถเที่ยวต่างจังหวัด ไม่เบื่อ ไม่งอแง

เผยผล ทดสอบ IQ เด็กยุคใหม่ต่ำกว่าพ่อแม่!!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up