วิธีเล่นกับลูก

14 วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการตามวัย ให้ฉลาด อารมณ์ดี ตั้งแต่เบบี๋

Alternative Textaccount_circle
event
วิธีเล่นกับลูก
วิธีเล่นกับลูก

“มีผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า ยิ่งเด็กมีโอกาสเล่นมากเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง กระโดด คืบคลาน เล่นดิน เล่นทราย หยิบจับสิ่งของ เล่นของเล่น เล่นตุ๊กตา เล่นบล็อก เล่นตัวต่อ ฯลฯ ก็จะยิ่งได้รับการพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองที่มีนับแสนล้านเซลล์เชื่อมต่อกันเป็นร่างแห เด็กจะมีความสามารถในการคิด เรียนรู้ นอกจากนี้การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย” (อ้างอิงจาก www.mgronline.com) การที่คุณพ่อคุณแม่ได้เล่นกับลูกหรือให้ลูกได้เล่น ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว หรือเล่นกับเพื่อน ยิ่งเจ้าตัวน้อยเล่นมากเท่าไหร่ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกได้รับมากขึ้นเท่านั้น มาดู วิธีเล่นกับลูก ที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับพัฒนาการดี ๆ ส่งผลให้ลูกฉลาด และอารมณ์ดีกันค่ะ

14 วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการตามวัย ให้ฉลาด อารมณ์ดี ตั้งแต่เบบี๋

 วิธีเล่นกับลูกวัย 0-4 เดือน

เล่นกับลูกเสริมพัฒนาการ
เล่นกับลูกเสริมพัฒนาการ

พัฒนาการในวัยทารกนั้นไม่หยุดนิ่ง มีการเคลื่อนไหวขยับมือ ถีบเท้า ส่งเสียง วิธีเล่นกับลูกที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกตั้งแต่แรกเกิด อาทิเช่น

1.เล่นโมบายต่าง ๆ มาแขวนไว้ในระดับสายตาให้ลูกได้เล่น เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการร่างกายผ่านการมองเห็น ได้ยิน สัมผัส

2.เล่นของเล่นที่มีเสียง โดยนำของเล่นมาวางไว้ใกล้ ๆ กระตุ้นให้เด็กพลิกหันคอสลับ ซ้าย-ขวา มองตามและส่งเสียง สำหรับกิจกรรมนี้จะเป็นการช่วยเสริมให้ลูกมีพัฒนกาารทางด้านสายตาและการรับรู้ได้ดีขึ้น

3.ร้องเพลงให้ลูกฟังหรือเปิดเพลง เสียงดนตรีจะช่วยสร้างการเรียนรู้และจินตนาการ และทำให้ลูกน้อยอารมณ์ดี

4.เล่นโดยใช้นิ้วแตะที่ฝ่ามือของลูก ซึ่งทารกจะกำนิ้วมือตอบกลับไว้แน่นโดยอัตโนมัติ เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อนิ้วให้แข็งแรง

วิธีเล่นกับลูกแรกเกิด

5.พูดคุยใกล้ ๆ เพื่อให้ลูกหันตามเสียงของคุณพ่อคุณแม่ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอของทารกแข็งแรง และเป็นการสร้างความคุ้นเคยระหว่างทารกกับพ่อแม่ได้ดีด้วย

6.เล่นของเล่นที่มีสีสันหรือมีผิวสัมผัสนิ่ม ๆ ให้ลูกได้ลองหยิบจับและค่อย ๆ เอาออกจากมือลูกเบา ๆ การกำและคลายมือจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก

7.ทารกตั้งแต่ 1-6 เดือน เด็กวัยนี้สามารถยกคอและชูคอได้นานมากขึ้น การอุ้มลูกหรือไกวลูกเบา ๆ ก็เป็นวิธีเล่นที่จะช่วยทำให้เกิดพัฒนาการประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างพ่อแม่กับลูกน้อยด้วย

8.ทารกอายุ 3 เดือน สามารถกระตุ้นพัฒนาการโดยเล่นน้ำพร้อมกับพ่อแม่ ที่จะช่วยเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อได้ออกแรงแขนขามากกว่าอยู่บนพื้น หรือให้ลูกเล่นน้ำในกะละมัง สระน้ำเป่าลม เพื่อการสร้างความคุ้นเคยกับน้ำ ระหว่างที่ลูกเล่นน้ำก็เสริมบรรยากาศให้สนุกด้วยการร้องเพลง เล่านิทาน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการได้หลาย ๆ ทางให้เจ้าตัวน้อยได้อีกด้วย

วิธีเล่นกับลูกวัย 5-12 เดือน

วิธีเล่นกับลูก 5 เดือน

9.วัย 5 เดือนทารกจะเริ่มลุกลุกขึ้นนั่งโดยใช้มือค้ำได้ด้วยตนเอง สามารถนั่งหลังตรง และเอี้ยวตัวใช้มือเล่นได้อย่างอิสระ คุณพ่อคุณแม่สามารถหากิจกรรมให้ลูกได้ใช้นิ้วมือในการหยิบ จับ กำ หรือเขย่าของเล่นเป็นการกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกได้ใช้นิ้วมืออย่างคล่องแคล่วและแข็งแรงขึ้น

10.เมื่อลูกเข้าสู่วัย 8-9 เดือน จะสามารถลุกขึ้นนั่งหาที่เกาะยึดและเกาะยืนได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการร่างกายให้ลูกได้เคลื่อนไหว เสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กมักใหญ่ด้วยกิจกรรมเดิน เกาะ ยึดจับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ขอบโต๊ะ เก้าอี้ โซฟา ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นขา ขา ลำตัว มือ และนิ้วมือของลูกแข็งแรง และได้เรียนรู้จากการเดิน สำรวจสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น

เล่นกับลูก

11.พัฒนาการของลูก 9-10 เดือน ลูกสามารถคลาน ลุกขึ้นเกาะเดิน และสามารถเดินด้วยตัวเองได้ในระยะสั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถหากิจกรรมมากระตุ้นให้ลูกได้คลาน ลุก และเกาะเดิน เช่น ใช้ของเล่นที่เคลื่อนที่ได้ อย่างลูกบอลขนาดเล็ก รถเด็กเล่น กระตุ้นให้ลูกได้คลานไปจับของเล่น เพื่อให้ลูกได้ฝึกใช้พัฒนาการกล้ามเนื้อมือและขา หรือเล่นกับลูกด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการส่งเสียงร้องเรียกให้เจ้าตัวน้อยได้คลานมาหาตามเสียงเรียกของพ่อแม่ ที่จะทำให้ลุกได้คุ้นเคยกับเสียงของคุณพ่อคุณแม่ขึ้นด้วย

12.อายุ 10-12 เดือน ลูกสามารถลุกขึ้นยื่น เดินได้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น ในช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมกระตุ้นให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อขาทั้งสองข้างและลำตัวในการเคลื่อนไหว ลุกขึ้นยืน และทรงตัวควบคู่ไปกับการกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ เช่น เล่นทราย เดินบนพื้นหญ้า ให้ลูกได้ลองเดิน วิ่งเล่นอย่างอิสระ

วิธีเล่นกับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป

ลูกในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการร่างกายที่เริ่มแข็งแรง เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณขา แขน ลำตัว และกล้ามเนื้อมัดเล็กบริเวณมือและนิ้วมือได้คล่องแคล่วกว่าวัยทารก สามารถยืน เดิน ได้นานมากขึ้น ใช้มือหยิบจับ ออกแรงขว้างของเล่นได้ กิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับช่วงวัยนี้ เช่น

กิจกรรมเล่นกับลูก 1 ขวบ

13.พาลูกออกไปเดิน วิ่งเล่นอิสระ (Free Play) ในบริเวณบ้าน สนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะ เล่นเครื่องเล่นแบบปีนป่าย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายที่ทำให้ลูกได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ เป็นการช่วยกระตุ้นให้ลูกได้กล้ามเนื้อเท้าและข้อเท้า เรียนรู้การทรงตัว และการประสานงานต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยให้พัฒนาการกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น

14.เล่นดิน เล่นทราย ให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติ มีผลต่อการการรับรู้ สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ขรุขระ ในพื้นผิวต่าง ๆ รวมถึงกระตุ้นพัฒนาการด้านสติปัญญาให้ลูกได้เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น เรียนรู้คำต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ เช่น หญ้า ตันไม้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า การเล่นของลูกคือการทำงานของพัฒนาการที่จะมีส่วนเสริมให้เด็กได้คิด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ตลอดจนค้นหา ปรับ เปลี่ยน แก้ปัญหา วิธีการเล่นของตัวเองตลอดเวลา เกิดทักษะการวางแผน ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์จากการที่ลูกได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงทำให้เด็ก ๆ มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความสุข ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค หลังเล่นหรือทำกิจกรรมเสร็จก็จะทำให้ลูกเจริญอาหาร กินข้าวได้ดี และนอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการในหลากหลายด้านของลูก ทั้งสติปัญญาความฉลาด ร่างกาย อารมณ์ ภาษา และสังคมที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้นในช่วงวัยเด็กของลูก หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเรื่องของการเล่นของลูกอย่างจริงจัง ให้เวลาเล่นกับลูก ก็จะส่งผลดีต่อเจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดีเลยละค่ะ.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :www.unicef.org

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ

จับ หนีบ เล่น 20+ กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เล่นกับลูกในบ้านง่ายๆ

“ยิ่งเล่น ยิ่งฉลาด “ พัฒนา PQ (Play Quotient) สร้างลูกให้ฉลาดแข็งแรงจากการเล่นแสนสนุก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up