ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม

ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม ความจำสั้น หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม

Alternative Textaccount_circle
event
ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม
ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม

ปัญหาคาใจคุณแม่หลายคน ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม ลืมตั้งแต่เรื่องเล็กยันเรื่องใหญ่ อาการขี้ลืมหลังคลอดแบบนี้ อันตรายไหม เป็นสัญญาณความจำเสื่อมหรือเปล่า

ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม ปกติหรือป่วยกันแน่

แม่ ๆ หลายคนคงกำลังเผชิญกับปัญหาน่าหนักใจ เมื่อกลายเป็นคนขี้หลงขี้ลืมจนสามีแซว ทั้งที่สมัยก่อนจำแม่นเสียจนสามีชม แต่พอมีลูกอาการขี้หลงขี้ลืมก็โผล่มาแบบไม่รู้ตัว

อาการหลงลืมหลังคลอดเรียกว่า ภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด (Mumnesia) อาจเกิดได้ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์จวบจนหลังคลอด โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตัน และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ ได้กล่าวว่า สาเหตุหลัก ๆ 4 ข้อ ที่ทำให้แม่เกิดภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด ได้แก่

  1. การจัดลำดับความสำคัญ เรื่องลูกสำคัญที่สุด แม่ทุ่มแทความคิด ความเครียด ความกังวลทุกอย่างไปที่ลูก ทำให้แม่หลงลืมเรื่องราวอื่นที่ไม่สำคัญในตอนนี้ เพราะลูกนั้นสำคัญที่สุด
  2. ความเจ็บปวด ก่อเกิดมาจากกลไกการป้องกันตัวของผู้หญิงที่ต้องเผชิญความเจ็บปวดทรมานในการคลอดลูก ถ้าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตอนคลอดยังกลับมาหลอกหลอน คุณแม่อาจจะไม่อยากมีเพศสัมพันธ์อีกก็เป็นได้
  3. ระดับฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงในระหว่างการตั้งครรภ์ และลดลงอย่างรุนแรงหลังคลอด ส่งผลต่อสมอง เพราะฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท คอยส่งสัญญาณในสมอง
  4. เหนื่อยเลี้ยงลูก ความเหน็ดเหนื่อยที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงทารก ทั้งต้องอุ้ม โอ๋ ให้นม ทุกอย่างประดังประเดเข้ามา จนทำให้คุณแม่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง อาการอดนอน ความเมื่อยล้า ทุกอย่างถาโถมเข้ามา ทำให้ความจำของแม่ผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า แม่ที่ให้นมลูกจะมีอาการขี้ลืมหลังคลอดได้นานขึ้น เพราะร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ทำให้แม่ผ่อนคลายและรู้สึกดี

ร่างกายแม่ปรับตัวหาลูก ทำให้เกิดอาการขี้ลืมหลังคลอด

พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์ ได้พูดถึงสมองของแม่หลังคลอดว่า ธรรมชาติจะช่วยให้แม่หลังคลอดและทารกน้อยเข้ากันได้ด้วยการปรับสมองแม่ให้ใกล้เคียงสมองทารก ทำตัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลูก เพราะเด็กที่เพิ่งจะคลอดออกมาจะใช้สมองซีกขวาเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงใช้เพียงความรับรู้ เพื่อรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ทำให้แม่หลังคลอดใช้สมองซีกขวามากขึ้นเพื่อการสื่อสารกับทารก

เรื่องราวที่ซับซ้อน ทั้งความเป็นเหตุเป็นผลและตัวเลขต่าง ๆ ที่ต้องใช้สมองซีกซ้าย คุณแม่ก็จะไม่ค่อยถนัดในช่วงนี้ แต่อาการขี้ลืมหลังคลอดนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง

ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม
ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม หรือคือสัญญาณของความจำเสื่อม

อันตรายจากภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด

แม้ว่าอาการหลงลืมหลังคลอดของคุณแม่จะอยู่ไม่นาน และไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสมองเสื่อม แต่ก็มีอันตรายจากภาวะความจำบกพร่องหลังคลอดอยู่เหมือนกัน ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น หรือหมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ พบหมอรามาฯ ว่า โดยปกติเวลาเราทำอะไรมักจะทำด้วยระบบประสาทสมองอัตโนมัติ ทำทันที เป็นนิสัย เหมือนเปิดประตูแล้วล็อครถ ขึ้นรถแล้วขับรถ ไม่ได้จดจ่ออยู่กับมัน แต่จะมีความจำอีกส่วนที่เราต้องคิดและวางแผน เช่น จะเดินไปหยิบของตรงนั้น โดยภาวะความจำบกพร่องหลังคลอด ตัวความจำที่เกี่ยวกับการวางแผน ความจำที่ต้องใช้วิธีการคิดนั้นคิดทำงานบกพร่อง ทำให้ร่างกายทำไปด้วยความจำอัตโนมัติ สิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากภาวะความจำบกพร่องหลังคลอดคือ การลืมลูก ลืมว่าลูกมาด้วยหรือลืมลูกไว้ในรถ ซึ่งเด็กอาจเป็นอันตรายได้ โดยลืมลูก เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง 2 ระบบ ได้แก่

  1. Habit Memory การทำอะไรที่เป็นกิจวัตร ทำสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ
  2. Prospective Memory การวางแผนจะทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน

กรณีในต่างประเทศพบว่า มีพ่อแม่ลืมลูกไว้ในรถแล้วลงไปทำงานนาน ๆ จนเด็กแข็งเพราะไม่มีฮีทเตอร์ หรืออากาศที่ร้อนมากทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ในเมืองไทยเอง การเปิดแอร์แล้วปล่อยให้ลูกนอนในรถก็อันตราย หรือจะเปิดกระจกให้ลูกนอนก็ต้องระวังมิจฉาชีพ การไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

วิธีป้องกันอันตรายสำหรับคุณแม่ที่ชอบลืมลูกไว้ในรถ

  • ลดกระจกลง
  • สอนเด็กบีบแตรรถ
  • สำคัญสุด ไม่ทิ้งเด็กในรถ

หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่าลงรถไปแป๊บเดียว แล้วไม่อยากปลุกเจ้าตัวน้อยที่นอนหลับสนิท ก็ควรลดกระจกลงอย่างน้อย 1 ใน 4 ส่วนของกระจก เพื่อให้เด็กหายใจได้สะดวก สิ่งสำคัญคือการฝึกลูกบีบแตรรถหรือการเรียกหาคนช่วย กรณีฉุกเฉินที่เผลอไปล็อครถ แต่ให้ดีที่สุด ควรอุ้มลูกลงไปด้วยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

คุณหมอโอ๋ยังทิ้งท้ายด้วยว่า วิธีป้องกันการลืมลูกไว้ในรถ อาจจะต้องหาตัวช่วย ถ้ารู้ว่าตัวเองขี้ลืม เพื่อย้ำเตือนว่ามากับลูกนะ เพราะเด็กบางทีก็นอนหลับ หรือพ่อแม่บางคนให้ลูกนั่งคาร์ซีทที่ด้านหลัง พอลูกหลับ เสียงเงียบก็ลืมไปว่าลูกมาด้วย

วิธีฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาจำเก่งเหมือนเดิม

คุณแม่ที่ต้องเจอกับอาการขี้ลืมหลังคลอด สามารถดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น เพื่อให้ร่างกายและสมองฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • เขียนใส่กระดาษโน้ต เวลาจะไปซื้อของก็ต้องจดรายละเอียดอย่างครบถ้วน หรือพกโพสต์อิทน่ารัก ๆ ติดตัวเอาไว้คอยแปะในรถ เช่น ซื้อขนมปังด้วยนะวันนี้ หรืออย่าลืมแวะรับลูกที่บ้านคุณตา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หาเวลางีบหลับระหว่างวัน ให้คุณพ่อช่วยดูแลลูกบ้าง หรือให้คนอื่นมาช่วยดูลูก เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนนอนหลับอย่างสนิท
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ลดความเครียด กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลาย
  • กินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง ทำให้ความจำดี ได้แก่
  1. ไข่ ไข่ไก่มีสารโคลิน ช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมองและความจำ
  2. ปลา โปรตีนที่มีประโยชน์สูงสุดต่อสมอง โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่าและปลาแซลมอน หรือเลือกทานน้ำมันปลาเสริมโดยปรึกษาแพทย์
  3. ผักโขม มีงานวิจัยว่าหญิงวัยกลางคนที่รับประทานผักโขมร่วมกับผักใบเขียวอื่นเป็นประจำ จะช่วยลดอาการความจำเสื่อมไปได้ถึง 2 ปี เพราะผักโขมมีเอนไซม์ที่ดีต่อความแข็งแกร่งของปลายเซลล์ประสาท มีกรดโฟลิกสูงที่ดีต่อการจำ
  4. พืชตระกูลถั่วและธัญพืช มีโปรตีนและไขมันช่วยให้ร่างกายสมดุล สงบ ดีต่อร่างกายและสมอง
  5. ผลไม้ ทั้งแอปเปิ้ลและตระกูลเบอร์รี ล้วนแล้วแต่ดีต่อสุขภาพ ชะลอความเสื่อมของสมองได้ บำรุงให้ความจำดีขึ้นอีกด้วย

ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืม

ปัญหาแม่หลังคลอดขี้ลืมจะค่อย ๆ ทุเลาลง หากคุณแม่หมั่นดูแลตัวเอง และคอยลำดับจัดการชีวิตในการดูแลลูกและครอบครัว อดทนเพียงไม่นาน อาการขี้หลงขี้ลืมของแม่จะดีขึ้นแน่นอนค่ะ

อ้างอิงข้อมูล : dmh.go.th, mgronline, rama.mahidol และ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

เหงื่อ ออกมากหลังคลอด..ผิดปกติหรือเปล่า?

น้ำนมน้อยหลังคลอด : เคล็ดลับอาหารบำรุงน้ำนม & ฟื้นฟูร่างกาย

ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก ฉันเป็นแม่ที่แย่หรือเปล่า? 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up