ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ

หมอเผย..แท้จริงแล้ว! ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ กันแน่?

event
ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ
ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ

ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ!! แท้จริงแล้ว พ่อแม่ต้องส่งลูก เข้าอนุบาลกี่ขวบ ไปโรงเรียนตอนไหน และลูกควรเตรียมตัวอย่างไร ต้องทำอะไรเป็นบ้าง ตามมาฟังคำแนะนำจากคุณหมอกันค่ะ

แท้จริงแล้ว ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ ?

สำหรับข้อสงสัยนี้ ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง โดยนพ.ประเสริฐ กล่าวว่า … มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนมักถามเสมอว่า ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ ซึ่งคุณหมอก็ได้ตอบกลับไปว่า …น่าจะถามใหม่เป็น ควรส่งลูกไปจากเราเมื่อไร?

และคำตอบที่ตรงไปตรงมา ของคำถาม ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ นี้โดยคุณหมอประเสริฐตอบแบบไม่เกรงใจกระแสสังคม คือ อย่างเร็วที่สุดก็ 6 ขวบ!!! และควรมีข้อห้าม ในการส่งลูกไปจากพ่อแม่ก่อนอายุ 3 ขวบ

แต่กระนั้น…เรื่องนี้ก็ถือเป็นที่เข้าใจได้ว่า คุณพ่อคุณแม่อาจต้านกระแสสังคมได้ยาก ซึ่งคุณหมอยังได้กล่าวอีกว่า … มีคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ส่งลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็กเร็วมาก บ้างก็ส่งลูกไปโรงเรียนอนุบาลเร็วมาก อีกทั้งได้ยินเรื่องการกวดวิชาเพื่อเข้าเรียนชั้นอนุบาลและการสร้างห้องอัจฉริยะสำหรับเด็กอนุบาล

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจพัฒนาการของเด็กเล็กไว้บ้าง เรื่องนี้ก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาหรือช่วยทุเลาความเสียหายได้บ้าง โดยคุณหมอประเสริฐ แนะนำว่า … สำหรับคนที่ไม่ชอบวิชาการ ก็ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมาก เกิดเป็นพ่อแม่ ควรให้เวลากับลูกมากที่สุด  เล่นกับเขามากที่สุด  และอ่านหนังสือให้เขาฟังก่อนเข้านอนตั้งแต่แรกเกิด  ทำเท่านี้ทุกอย่างจะดีเอง

เหตุผลที่ไม่ควรให้ลูกไปจากพ่อแม่ก่อน 3 ขวบ

เพราะในช่วงอายุ 3 ขวบปีแรก เด็กจะมีภารกิจที่ต้องทำหลายข้อ แต่ละข้อนั้นอาศัยคุณแม่และ/หรือคุณพ่อ หรือผู้ใหญ่ที่อุทิศตนหนึ่งคนทำหน้าที่ช่วยเหลือเขา ภารกิจต่างๆ เหล่านี้เด็กยังทำเองไม่ได้และคุณครูที่โรงเรียนก็ช่วยไม่ได้ โดยมีภารกิจ 3 ข้อ ที่ต้องทำก่อนส่งลูกเข้าโรงเรียน ดังนี้ ..

โดยภารกิจทั้ง 3 ข้อนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง 3 ขวบ และเกิดอย่างเข้มข้นตั้งแต่ลูกอายุ 6 เดือนจนถึง 2 ขวบครึ่ง  ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้ลูกทำภารกิจ 3 ประการนี้สำเร็จก็คือการให้เวลาอย่างมากที่สุด  เล่นด้วยกันมากที่สุด และอ่านหนังสือนิทานก่อนนอนทุกคืน  ของง่ายๆ  นี่คืองานของแม่หรือพ่อหรือใครหนึ่งคนที่รักเขาประหนึ่งลูกของตนเอง ไม่ใช่งานของครู

ภารกิจที่ 1 คือเรียนรู้ที่จะไว้ใจสิ่งแวดล้อมและโลก (Trust)

เด็กไว้ใจโลก จึงจะพัฒนาต่อไปได้จากที่เอาแต่กินนมไปจนกระทั่งเดินจากแม่สู่โลกกว้าง โลกจะน่าไว้ใจต่อเมื่อโลกนั้นปลอดภัยอย่างยิ่งใน 12 เดือนแรกของชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของแม่ที่จะเลี้ยง อุ้ม กอด ให้นม ห่มผ้า เปลี่ยนผ้าอ้อม เปิดพัดลม เปิดแอร์ หยิบมดออกจากตัวเขา ไล่แมลงและยุง ฯลฯ นี่คืองานของแม่หรือพ่อหรือใครหนึ่งคนที่รักเขาประหนึ่งลูกของตนเอง ไม่ใช่งานของครู

ทั้งนี้การปรากฏตัวของพ่อแม่เกือบตลอดเวลา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกที่หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการหายตัวไปเป็นบางครั้ง เพราะในชีวิตจริงเราก็ไม่สามารถอยู่กับเขาได้ตลอดเวลา … ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรับรู้ว่าโลกนี้มีแม่แน่ๆ ต่อให้หายตัวไปบ้างเดี๋ยวก็กลับมา จะช่วยให้ลูกรับรู้ว่าเขาสามารถเดินเตาะแตะไปจากแม่ได้ อย่ากลัวว่าแม่จะหายไป หันมาดูเมื่อไรแม่ก็อยู่ตรงนั้นแหละ

ครั้นเมื่อลูกใกล้ 3 ขวบ เขาจะเป็นคนขึ้นมาจริงๆ เป็นมนุษย์ที่มีตัวตนของตนเองและเริ่มต้นที่จะเป็นอิสระจากคุณแม่ โดยในระหว่าง 2 ขวบครึ่ง – 3 ขวบนั้นเอง ลูกจะเกิดกระบวนการที่สำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตมนุษย์ นั่นคือกระบวนการแยกตัวเป็นบุคคลอิสระ (separation-individuation) และพร้อมจะไปจากเรา

พ่อแม่เลี้ยงลูก

ภารกิจที่ 2 คือเรียนรู้ว่าแม่มีอยู่จริง (object constancy) สร้างสายสัมพันธ์กับแม่ (attachment) และสร้างตัวตน (self) ตามลำดับ

“สิ่งที่สำคัญยิ่งของภารกิจที่ 2 คือ สายสัมพันธ์คือสายใยที่มองไม่เห็นโยงลูกไว้กับแม่  สายใยนี้ทอดไปได้ไกลแสนไกล และอยู่เหนือกาลเวลา นั่นแปลว่าถึงเวลาเขาไปโรงเรียน ไปหอพัก ไปเรียนต่างประเทศ  สายใยนี้ยังคงยึดโยงลูกไว้กับแม่ แม้ว่าแม่ตายแล้ว สายใยนี้ก็ยังยึดโยงลูกไว้กับแม่ พูดสั้นๆ คือ แม่อยู่ในใจเสมอ

สายสัมพันธ์ทำหน้าที่ดึงลูกมิให้ออกนอกลู่นอกทาง และทำหน้าที่ประหนึ่งสมอเรือที่คอยยึดโยงเรือมิให้ล่มยามพบพายุร้าย   ที่เราห่วงคือสร้างสายใยนี้ยังไม่ทันเสร็จก็ส่งลูกไปโรงเรียนคล้ายๆ ส่งเรือกระดาษออกทะเล

บัดนี้ลูก 3 ขวบแล้วก็จริง แต่ถ่วงเวลาไว้อีกอย่างน้อย 2 ปีก็ดีเหตุเพราะเขายังต้องการเวลาทำภารกิจที่ 3

ภารกิจที่ 3 คือ เตรียมความพร้อมของสมอง

หมายถึง เตรียมสมองและวิธีคิดขั้นพื้นฐานให้พร้อมก่อนที่จะไปโรงเรียน  วิธีคิดเหล่านี้คือวิธีคิดแบบเด็กๆ  แต่วิธีคิดแบบเด็กๆ  มิใช่เรื่องเหลวไหลดังที่คนส่วนใหญ่ประมาทกัน  … วิธีคิดแบบเด็กๆ  คือวิธีทำงานขั้นพื้นฐานของสมอง  เปรียบเสมือนระบบปฏิบัติการที่ดีและจะเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับวิธีคิดระดับสูงในวันข้างหน้า

“วิธีคิดแบบเด็กๆ ที่ลูกควรมีก่อนเข้าโรงเรียน มีอะไรบ้าง”

วิธีคิดแบบเด็กๆ  ที่สำคัญได้แก่

  • animism คิดว่าอะไรเคลื่อนไหวได้ล้วนมีชีวิต ดังนั้นให้เขาเล่นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาให้อิ่ม
  • ego-centricism คิดว่าเรื่องราวรอบตัวล้วนเกี่ยวพันกับตัวเอง ดังนั้นเรายังต้องใช้เวลาช่วง 2-5 ขวบทำให้เขารู้ว่าเขามีบ้านและกติกาของบ้าน มีสังคมและกติกาของสังคมที่จะต้องเรียนรู้ เขามิใช่ศูนย์กลางของจักรวาลดังที่เข้าใจ
  • magical thinking คิดเชิงเวทมนตร์ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่นี่คือวิธีคิดที่เปี่ยมล้นจินตนาการและไร้ขอบเขต เปรียบเสมือนทำสนามฟุตบอลกว้างไว้ก่อน อย่างอื่นว่ากันทีหลัง
  • phenomenalistic causality คิดว่าเหตุการณ์สองอย่างที่เกิดพร้อมกันเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน พูดง่ายๆ ว่าจับแพะชนแกะ ปล่อยเขาจับแพะชนแกะให้พอก่อนที่จะต้องไปพบเหตุและผลจริงๆ ที่โรงเรียน

Must read >> เผยเหตุผล..ทำไมพ่อแม่ควร เลือกโรงเรียนอนุบาล ที่วันๆ เอาแต่เล่นให้กับลูก?

ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ

ในทางปฏิบัติ ช่วง 4-5 ขวบเป็นเวลาที่เด็กจะได้ฝึกช่วยตนเองอย่างจริงจัง  กินข้าว แปรงฟัน แต่งตัว ฝึกทำงานบ้านส่วนที่เป็นเรื่องของตัวเอง เก็บที่นอน เทกระโถน เก็บจานของตนเอง ฝึกทำงานบ้านส่วนที่เป็นของสาธารณะ ช่วยกวาดบ้านถูบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน ซักผ้าตากผ้า และฝึกทำตามกติกาสังคมนอกบ้าน รู้จักรอคอย รู้จักเข้าคิว รู้จักแบ่งปัน เรื่องเหล่านี้ที่จริงแล้วเราควรทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาใช้มือใช้เท้าได้ดี และเข้มข้นขึ้นทุกปีที่ผ่านไป … ผลลัพธ์สุดท้ายที่เราจะได้คือเขาภูมิใจที่ช่วยตนเองและควบคุมอารมณ์ตนเองได้  นี่จึงเป็นความพร้อมที่แท้ก่อนไปโรงเรียน

ทั้งนี้จากคำถาม ลูกควรเข้าโรงเรียนกี่ขวบ ถ้าเป็นคำตอบในทางทฤษฎี เด็กๆ จะพร้อมปะทะมนุษย์คนอื่นได้อย่างดีคือเพื่อนๆ ที่โรงเรียนเมื่ออายุมากกว่า 6 ขวบขึ้นไป  เรียนรู้วิธีปะทะสังสรรค์ ทะเลาะเบาะแว้งตบตี และคืนดีช่วยเหลือกันและกัน  ธรรมชาติของพัฒนาการจะเป็นผู้ดูแลพฤติกรรมเหล่านี้ให้เองเพราะเด็กๆ  อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอยู่แล้ว  หากส่งไปโรงเรียนเร็วเกินไปเขาทำเรื่องพวกนี้ไม่เป็น  เกิดปัญหาอารมณ์แทรกซ้อนเสียเปล่าๆ

 

บทความโดย : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

13 ทักษะที่ลูกควรมีก่อนเข้า โรงเรียนอนุบาล

ส่งลูกเข้า เตรียมอนุบาล จำเป็นมั้ย? ควรให้ลูกเข้าเรียนตอนกี่ขวบดี?

แม่อยากรู้ เข้าอนุบาลกี่ขวบ ส่งลูกเข้าเรียนต้องอายุ 3 หรือ 4 ขวบกันแน่?

ทำไม ลูกไม่อยากไปโรงเรียน หรือ “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” ที่พ่อแม่ต้องช่วยหาทางแก้

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up