สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1

สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1 มีมติให้ผู้ปกครองจับฉลากและสัมภาษณ์แทนเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event
สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1
สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1

ลูกไม่ต้องสอบเข้าป.1 อีกต่อไป สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1 ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองและให้จับฉลากแทนเด็ก

สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1

หลังจากรอลุ้นกันมานาน สพฐ.ก็มีมติห้ามสอบเข้า ป.1 โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครองมาจับฉลากและสอบสัมภาษณ์แทนเด็ก ทางศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. กล่าวภายหลังการประชุมเกี่ยวกับร่างนโยบายและแนวปฏิบัติ เรื่องการการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2564 ว่า การรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ประชุมมีมติห้ามใช้วิธีการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.อย่างเด็ดขาด โดยให้ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองแทน ทั้งยังให้ผู้ปกครองจับฉลากเข้าเรียนแทนบุตรหลาน เพราะมีความเห็นจากแพทย์เด็กด้านจิตวิทยาว่า จะทำให้เด็กเกิดความเครียดจากการแข่งขัน ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของเด็ก

“ที่ผ่านมายอมรับว่าการเข้าเรียน ป.1 ในโรงเรียนบางแห่งยังมีการสอบแข่งขันเกิดขึ้นในหลักสูตรห้องเรียน English Progarm (EP) และ Intensive English Program (IEP) จนทำให้ผู้ปกครองต้องส่งบุตรหลานของตัวเองไปกวดวิชา” ศ.ดร.เอกชัย กล่าวและว่า ที่ประชุมยังมีมติให้การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้น ม.4 ในปีการศึกษา 2564 จำกัดการรับนักเรียนจำนวนไม่เกิน 40 คนต่อห้อง เพื่อให้ครูดูแลได้ทั่วถึง ห้าม ขยายห้องเรียนอย่างเด็ดขาด ส่วนการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส นักเรียนที่เป็นบุตรราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน ยังคงให้รับแบบเงื่อนไขพิเศษ อย่างไรก็ตาม จะนำข้อสรุปเสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำไปจัดทำเป็นปฏิทิน และแนวปฏิบัติการรับนักเรียนต่อไป

ด้านความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองในเพจเฟซบุ๊กของ Amarin Baby & Kids ก็มีความหลากหลาย จึงขอรวบรวมมาเป็นตัวอย่างดังนี้

สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1

มาดูความเห็นที่ 1 : ควรจับสลาก 100% ค่ะ การสัมภาษณ์เป็นการเปิดให้ใช้ดุลพินิจโดยไม่มีข้อจำกัด จริง ๆ ถ้าโรงเรียนทุกแห่งมีมาตรฐานเท่ากันหมด ให้เด็ก ๆ เรียนโรงเรียนใกล้บ้านน่าจะดีที่สุดค่ะ

สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1

ความเห็นที่ 2 : มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ไหมคะ เด็กแต่ละคนความสามารถไม่เหมือนกันค่ะ อีกอย่างให้ผู้ปกครองมาจัดการแทนอีก ถ้าโปร่งใสก็ดีไปแต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ สมัยแต่ก่อนมีแต่เลื่อนชั้นต่อเลย จากอนุบาลมาป.1 โรงเรียนเดิม ก็ยังเรียนมาเรื่อย ๆ เลย ใครไม่ต่อก็ไปสมัครเข้า โรงเรียนอื่นก็จบ ไม่มีปัญหาเลย พอมาสมัยนี้การศึกษาคือการแข่งขัน ไม่ใช่การหาความรู้จริง ๆ แต่เรียนเพื่อแข่งขันชิงดีชิงเด่น เป็นหน้าเป็นตาให้พ่อแม่ก็มี แต่ถามลูกบ้างไหมว่าเครียดไหมลูก เหนื่อยไหมลูก เด็กบางคนขาดความเป็นตัวของตัวเองก็มี ขาดความสุขในวัยเด็กก็มี วัน ๆ ก็อยู่แต่กับเรียนพิเศษทั้ง 7 วัน ไม่มีพักเลย #แต่อย่าลืมนะคะบ้านเมืองเราไม่เหมือนแต่ก่อนค่ะ จบสูงใช่ว่าจะมีงานทำนะคะ บางทียิ่งเก่งยิ่งเรียกร้องเงินเดือนสูง ๆ ประสบการณ์ไม่มี ทะนงตัวมากไปก็ไม่ดีค่ะ ถ้าพ่อแม่มีธุรกิจส่วนตัวสานต่อก็โชคดีไปค่ะ

สพฐ.ยกเลิกสอบเข้า ป.1

ความเห็นที่ 3 : เป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านระบบผู้ปกครองเขียนแบบสอบถาม (สอบผู้ปกครอง) และตามด้วยสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ตอนนั้นเตรียมตัวอย่างดีแต่ไปอย่างคนไม่มีเส้นสาย เป็นครอบครัวธรรมดาที่พยายามเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด พาลูกไปดูโรงเรียน ลูกชอบอยากเข้าเรียนที่นั่น เราพ่อแม่ก็พยายามเท่าที่ความสามารถมี สุดท้ายประกาศผลทางจดหมายว่าไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียน วันที่รับผล ลูกมากอดถามผลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตอนนั้นรู้สึกเจ็บจุกเสียใจกลั้นน้ำตาบอกลูกว่าไม่ได้นะ พ่อกับแม่สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ไม่เกี่ยวกับลูก ลูกสาววัย 5 ขวบกว่ากอดแม่แล้วบอกว่า “ไม่เป็นไรค่ะ พ่อแม่ไม่ต้องเสียใจนะ หนูเดี๋ยวหนูจะสอบเข้าอีกที่ให้ได้ด้วยฝีมือหนูเอง หนูมั่นใจว่าหนูทำได้” แล้วก็ทำได้จริง ๆ ค่ะ ลูกสอบติดเป็น 1 ใน 100 คนของรั้วสาธิตแห่งหนึ่งด้วยความสามารถของเขาเอง ไม่เกี่ยวเส้นสาย ที่เล่ามาให้ฟังแค่อยากจะบอกว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับ 2 ระบบคือ 1.สอบเข้าวัดกันไปเลย และ 2.จับฉลากไปเลย แต่ไม่เห็นด้วยกับการต้องมีสอบผู้ปกครองหรือสัมภาษณ์ผู้ปกครองค่ะ เพราะไม่เชื่อว่าจะโปร่งใสจริง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นอื่น ๆ เช่น ยกตัวอย่างการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นใกล้ที่ไหนเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่นั่น ทำให้โรงเรียนมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และบางท่านยังอยากให้พิจารณานำการสอบ O-Net ออกจากระบบ เพราะระบบนี้เปรียบเสมือนการมีประตูอยู่แค่ 1 ประตู ที่เปิดให้เด็กไทยทั้งประเทศเดินเข้าไปพร้อม ๆ กัน จำนวนประตูน้อยเกินไป หากเทียบกับปริมาณเด็กทั้งประเทศ ทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตในวัยเด็กให้เจริญเติบโตเหมาะสมกับวัย เพราะวัยเด็กของพวกเค้าหายไปกับการเตรียมตัวสอบอย่างเดียว

อ่านความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊กของ Amarin Baby & Kids

ยกเลิกสอบเข้า ป.1 ลดปัญหาเด็กเครียดติวสอบตั้งแต่ยังเล็ก

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 เกิดข่าวดังเรื่องธุรกิจการติวเด็กสอบเข้า ป.1 พ่อแม่จ่ายเงินเหยียบแสนเพื่อความหวังให้ลูกสอบเข้าให้ได้ ซ้ำร้ายเด็กตัวน้อย ๆ ยังถูกลงโทษด้วยเหตุผลที่ว่า เด็กไม่อยู่นิ่งจึงต้องปรับพฤติกรรมในการเตรียมตัวสอบเข้า ยกตัวอย่างคอร์สเรียน เช่น คอร์สเรียนรายปี, คอร์สย่อยเป็นคอร์สการฟัง สอนฟังนิทาน ปัญหาเชาว์ และคณิตศาสตร์ เพื่อเตรียมสมาธิในการสอบเข้า, คอร์สรูปภาพ และคอร์สแก้บัค

ด้านมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยสถาบันการวิจัยและพัฒนา สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ และสวนดุสิตโพล ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลจากระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1” เปิดเผยว่า

“การสอบเข้า ป.1 ส่งผลเชิงลบต่อเด็กทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เช่น การยกเลิกการนอนกลางวัน ซึ่งเป็นการพักผ่อนที่สำคัญต่อเด็ก ทำให้เด็กเกิดความกดดัน ภาวะเครียด ความสุขลดลง ขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ขณะเดียวกันก็เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ จนสมองของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับวัย”

ไม่ใช่แค่ตัวเด็กเองเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวยังแย่ลงอีกด้วย เพราะการใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวหายไป ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวลดลง ผู้ปกครองบางคนอาจเครียดจนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับตัวลูก ด้านโรงเรียนเองก็ต้องเพิ่มเนื้อหาวิชาการที่เกินกว่าเด็กวัยอนุบาลจะรับไหว ส่งผลให้เด็กอาจมีพฤติกรรมต่อต้านการเรียน ขาดความพร้อมในการเรียนระยะยาว เพราะศึกษาเพื่อการสอบเท่านั้น ไม่สามารถนำความรู้ที่มีไปประยุกตร์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ปัญหาครอบครัวที่ตามมาและปัญหาเด็กเล่นไม่เป็น

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงปัญหาเรื่องการสอบที่ส่งผลต่อความรู้สึกของตัวเด็กว่า การสอบเข้าส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูก 2 คน คนหนึ่งสอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงได้ แต่อีกคนหนึ่งกลับสอบเข้าไม่ได้ หากมีคนชื่นชม พูดคุย สอบถามเฉพาะเรื่องของลูกคนที่สอบเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงได้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อความรู้สึกติดลบเด็กที่สอบเข้าไม่ได้

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ เด็กเล่นไม่เป็น เพราะพ่อแม่เอาลูกไปเรียนติว ใช้เวลาไปกับวิชาการจนพ่อแม่ไม่ได้เล่นกับลูก นพ.สุริยเดว กล่าวว่า เมื่อเด็กเล่นไม่เป็นเวลาเล่นกับเพื่อนจะเล่นเต็มที่จนทำให้เกิดปัญหาเล่นกันแรง และพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะพูดคุยกับลูกไม่เป็น ไม่เคยสอบถามความรู้สึกของลูก แต่เป็นการพูดคุยในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการเสียมากกว่า ทั้งนี้ การจะพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ อยากได้คนดี คนเก่ง ต้องวางรากฐานด้านคุณธรรมจริยธรรม ทักษะชีวิต ต้องสร้างเด็กดีมาก่อนเด็กเรียนเก่ง ถ้ายังมีระบบการคัดเลือก การพัฒนาเพื่อให้เด็กเป็นคนเก่งก่อน ความเอื้ออาทรของบ้านเมืองหายไป

สำหรับความคืบหน้าการยกเลิกสอบเข้า ป.1 โรงเรียนสังกัด สพฐ. จะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แม่ ๆ มาติดตามเพจ Amarin Baby & Kids เอาไว้ เราจะมาอัปเดตอย่างแน่นอนค่ะ

อ้างอิงข้อมูล : mono29news , amarintv และ komchadluek.net

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

เตรียมสอบเข้า ป.1 ให้ลูกด้วยแบบฝึกหัด กว่า 75 แบบฝึก

เพลงเป็ด5ตัว เวอร์ชันไทย-อังกฤษ ชวนลูกร้อง เก่งสองภาษา ด้วยเสียงเพลง

แบบฝึกหัดภาษาไทย สำหรับอนุบาล-ป.1 ฝึกอ่าน-เขียน เตรียมความพร้อมด้านภาษา

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up