ติวลูกเข้า ป.1 มันควรแล้วหรือ?

Alternative Textaccount_circle
event

คำถามคาใจพ่อแม่หลายท่านคงเป็นคำถามนี้ แล้วคำตอบจะเป็นอย่างไรกัน

ถาม : สมัยนี้จะเตรียมลูกเข้าป.1 ต้องติวเพื่อสอบเข้า อนุบาล 3 เลยหรือครับ ตอนนี้ลูกกำลังจะขึ้นอ.1 คุณครูที่เนิร์สเซอร์รี่บอกมา ผมสอบถามเพื่อนๆ และคนรอบข้างก็พูดตรงกันว่าเป็นแบบนี้แหละ ตกใจครับ ยอมรับว่าตั้งใจให้ลูกเข้าโรงเรียนแนวคาทอลิก เพราะอยู่ใกล้ที่ทำงานพ่อ ก็จะสะดวก และแน่นอน…ไม่ต้องห่วงเขาไปได้ยาวจนจบม.6 แต่ถ้าขนาดนี้ก็ห่วงลูกมากกว่า ผมคิดมากไปเองหรือเปล่าครับ

ตอบ : คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดสินใจครับว่าจะทำอะไรและอย่างไรกับลูก

ใช้คำว่า “คุณพ่อคุณแม่” เพื่อย้ำมาอีกครั้งว่าสองคนควรคุยกันให้มากและช่วยกันตัดสินใจในทุกเรื่อง โดยยึดหลักว่า “ไม่มีใครรู้หรอก” ว่าอะไรผิดหรือถูก ตัดสินใจไปก็จะพบปัญหาใหม่แล้วคุยกันอีกแก้ไขกันอีกไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการหาคำตอบ” สำคัญมากกว่า “ตัวคำตอบ”

ถ้าคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกันเรื่อยๆ เถียงกันบ้าง ยอมกันบ้างด้วยความรักและเสมอภาคตั้งแต่ลูกเขาอยู่อนุบาล รับรองได้ว่าครอบครัวจะแข็งแรงสามารถพาลูกผ่านพายุวัยรุ่นไปได้แน่นอน

“จะทำอะไร” อย่างง่ายๆ คือเถียงกันได้ว่า คุณหวังให้ลูกเป็นเลิศทางวิชาการ หรือหวังให้ลูกเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ และมีพื้นฐานความรักต่อพ่อแม่แน่นแฟ้น เป็นความจริงว่าถ้าคุณอยากให้ลูกมีหน้าตาทัดเทียมเพื่อน เรียนเก่ง มีสังคมของผู้มีฐานะในระดับใกล้เคียงกันตั้งแต่อนุบาล คุณควรทำตัวตามกระแสหลักคือติวและหาโรงเรียนประถมที่ดีที่สุดให้แก่เขา หมายถึงโรงเรียนประถมที่มีชื่อเสียงและเป็นหลักประกันการศึกษาจริงๆ

แต่ถ้าคุณอยากให้ลูกสนุกกับวัยเด็กเล็ก “มีเวลาให้พ่อแม่” มากๆ (เป็นเรื่องจริงที่นักเรียนบางโรงเรียนไม่ค่อยมีเวลาให้แก่พ่อแม่ทำให้พ่อแม่เป็นคนมีปัญหา) และอยากให้ครอบครัวตักตวงเวลาที่มีความสุขที่สุดของชีวิตอย่างเต็มที่ (ก่อนลูกจะเป็นวัยรุ่น วัยที่นำมาซึ่งอาการปวดศีรษะหลายรูปแบบ) ได้ปูรากฐานของความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกอย่างแน่นหนา ช่วยให้ลูกมีตัวตน (Self) ที่ชัดเจนและมีบุคลิกยืดหยุ่นต่อชีวิต (resiliency) คุณควรให้ลูกเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน (เพื่อจะได้อยู่ด้วยกันในบ้านมากๆ ไม่ใช่อยู่ด้วยกันบนถนน) เลือกโรงเรียนที่เล่นมากกว่าเรียน หรือเรียนด้วยการเล่น (learning by doing) เป็นหลัก

ประเด็นคือถ้าคุณเลือกอย่างหลัง หมายความว่าคุณต้องอุทิศเวลาให้แก่เขามากเป็นพิเศษทุกวันตลอดระยะเวลาสิบปีจนกว่าเขาจะเป็นวัยรุ่นที่จะเริ่มไม่เอาเรา อะไรที่โรงเรียนอ่อนด้อยเราก็ให้แทน วิชาการไหนแย่เราก็ให้แทนหรือชดเชยให้เป็นบางวิชา

ลูกไม่มีหน้าตาทัดเทียมลูกเพื่อนที่ทำงาน รวมทั้งเราก็ไม่มีหน้าตาทัดเทียมเขาด้วย จะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ไปจนถึงทำใจ ไม่ถือสา และตอบคำถามผู้คนที่มาอวดว่า “ลูกฉันจะแสดงบัลเล่ต์บนหลังม้าบนเวทีนะเธอ” อะไรประมาณนี้ต้องหัดฟังกับลูกตาปริบๆ ด้วยความมั่นใจว่า “เราเล่นหมากเก็บเก่งกว่า ไม่ต้องกลัวเขาลูก” หากคุณเลือกทางสายนี้ งานของคุณพ่อคุณแม่จะหนักกว่าทางสายแรกมาก

จะเห็นว่าเรื่องสำคัญคือเรื่องเราเป็นพ่อแม่แบบไหน เราจะเป็นพ่อแม่ที่ Pro-active คือใส่ใจลูกและพร้อมใช้ชีวิตร่วมกันตลอดเวลา หรือจะเป็นพ่อแม่ที่คาดหวังความเป็นเลิศทางวิชาการแล้วฝากทุกอย่างไว้กับคนอื่นคือโรงเรียนและติวเตอร์ ทั้งหมดนี้คุณเลือกได้

 

บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up