เรียนอนุบาล

ส่งลูก เรียนอนุบาล แต่พ่อแม่ไม่อยากให้รร. “เร่งอ่านเขียน” จะทำอย่างไรดี?

event
เรียนอนุบาล
เรียนอนุบาล

จะทำอย่างไรดี! เมื่อลูกเข้า เรียนอนุบาล และทางโรงเรียนเร่งอ่านเขียนให้ลูก แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย เพราะลูกยังเล็ก ลูกยังเขียนหนังสือไม่ได้  ตามมาดูคำแนะนำของคุณหมอประเสริฐกันค่ะ

ทำอย่างไรดี? หากไม่อยากให้โรงเรียน “เร่งอ่านเขียน”
กับลูกวัย เรียนอนุบาล

สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาสมองเด็กในวัยแรกเกิด – 3 ปี คือการอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ การเลี้ยงดูเหมาะกับวัยและเล่นอิสระ แต่สถานการณ์จริงพบว่ามีพ่อแม่จำนวนมาก วางแผนด้านการศึกษาให้ลูกตั้งแต่ยังแบเบาะ จริงจังกับการสรรหาโรงเรียนที่เชื่อว่ามีคุณภาพการสูง มุ่งหวังให้ลูกเข้าเรียนในสถาบันที่ดีที่สุด

ซึ่งก็มีบางโรงเรียนที่เร่งเรียน ทั้งที่เด็กน้อยเพิ่งเข้าแค่เตรียมอนุบาล จึงมีคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่า เรียนอนุบาล เร่งอ่านเขียนแบบนี้ จะมีผลอะไรกับลูกไหม ถ้าพ่อแม่ไม่ต้องการแบบนั้นจะทำอย่างไรดี ทั้งนี้เหตุที่เลือกโรงเรียนนั้นเพราะใกล้บ้านจะได้ไม่เสียเวลารับส่งลูกนานๆ … จากปัญหาดังกล่าวทีมแม่ ABK เชื่อว่าน่าจะมีหลายหลายบ้านที่กำลังประสบพบเจออยู่แน่ๆ เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้

Q: สงสัยว่าถ้าพ่อแม่ไม่ได้ไปทางเดียวกับโรงเรียน จะมีผลอะไรกับลูกหรือไม่?

เราส่งลูก เรียนอนุบาล โรงเรียนแนววิชาการ เร่งเขียนอ่าน ด้วยเหตุผลว่าใกล้บ้านและปลอดภัย แต่เราไม่ต้องการเร่งลูก อยากให้เขาค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าด้วยซ้ำ ลูกทำการบ้านผิด เราไม่เซ้าซี้ให้แก้ไข การท่องการฝึกอะไรที่ดูว่ามากหรือเกินวัยไป ก็ให้เขาทำเท่าที่ได้ ลูกเพิ่งครบ 3 ขวบ เรียนเตรียมอนุบาลค่ะ

 

สำหรับเรื่องนี้ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณไว้ดังนี้ …

 

ถ้า เรียนอนุบาล โรงเรียนยังมุ่งเน้นวิชาการในเด็ก 3 ขวบ คุณแม่คุณพ่อก็ไม่ควรไปทางเดียวกับโรงเรียน เป็นโรงเรียนที่ควรปรับตัวเด็ก 0-5 ขวบ มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อเป็นนางเอกและพระเอก ที่ลูกจะดู จะทำตาม จะเลียนแบบอยู่เสมอ อย่าว่าแต่โรงเรียนเลย เหล่าคุณปู่คุณย่า-คุณตาคุณยายก็มิได้สำคัญไปกว่าพ่อแม่

เพราะเด็ก 0-5 ขวบ ยังมีภารกิจสำคัญกว่าการเรียนที่ต้องทำ คือ การสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพ่อแม่ เพราะสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจะสร้างตัวตนที่แข็งแรงให้กับลูกน้อยได้เป็นอย่างดี … ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกต้องใช้ “ตัวตน” (self) ที่สร้างขึ้นในช่วง 3-5 ขวบนี้ไปตลอดชีวิตที่เหลือ

โดย “ตัวตน” มิได้สร้างด้วยการเรียนหนังสือ แต่สร้างด้วยการอุ้ม กอด เล่น อ่านหนังสือก่อนนอน ฯลฯ นั่นคือแม่และพ่อมีปฏิสัมพันธ์กับเขามากที่สุดในแต่ละวัน ซึ่งมีเวลาเหลือช่างน้อยนิด ทำการบ้านอาจจะได้วิชาการแต่ตัวตนไม่สมบูรณ์พูดง่ายๆ ว่าระยะสั้นนั้นดูดี แต่ระยะยาวไม่ได้เรื่องเท่าไร ผมอายุมากพอที่จะเห็นตอนจบของเด็กๆ ที่เลี้ยงผิดวิธีจำนวนมากจนพูดได้

 

สำหรับเรื่องการเลือกโรงเรียน เรียนอนุบาล ใกล้บ้านเป็นวิธีคิดที่เจ๋งมากครับ สมควรประกาศให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เราได้เวลาคืนมาเยอะมาก เวลานั้นเอามาเล่นกับลูกได้อีกมากกว่ามาก คุ้มเหลือคุ้ม

รถติดบนถนนครั้งละ 2 ชั่วโมงจะเถียงว่าอยู่ด้วยกันก็ได้ แต่เชื่อเถอะว่าทำอะไรด้วยกันยาก เพราะจุดโฟกัสของคนขับรถนั้นอย่างไรก็ต้องอยู่ที่การขับรถ เหมือนดูทีวีด้วยกัน ทุกคนมองไปที่จอ และอยู่ด้วยกัน แต่คุณภาพของการปฏิสัมพันธ์กันและกันต่างกันมาก

เล่นกับลูกอย่างไรให้ฉลาด

ดีที่สุดคือเล่น และเล่นด้วยกัน

ถ้าอยากให้ เรียนอนุบาล เด็กสามารถเรียนด้วยการเล่นอยู่ดี การเล่นสมมติเป็นการพัฒนาความสามารถด้านภาษาที่ดีที่สุด เด็กๆ รู้คณิตศาสตร์ขั้นต้นได้เองโดยไม่ต้องสอน เขาจะรู้เรื่องความคงที่ก่อน แล้วจึงจะรู้จำนวน การบวก การลบ การจัดกลุ่ม การจัดลำดับ รู้ความชัดลึก รู้จักสามมิติ กว้าง ยาว สูง ฯลฯ

การบ้านเป็นเรื่องไม่ควรมีตั้งแต่แรก แต่ถ้ามีมาแล้วก็ใช้เป็นโอกาสสอนให้ลูกทำตามหน้าที่ พูดง่ายๆ ว่าทำการบ้านเหมือนทำงานบ้าน ควรทำให้เสร็จ แต่จะเรียบร้อยหรือถูกต้องเพียงไรไม่ใช่ประเด็น

บทความโดย : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

สุดท้ายนี้เพื่อช่วยให้ลูกน้อยพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ ทีมแม่ ABK ขอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็กในทุกส่วน ควรตระหนักเสมอถึงแนวทางการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมกับวัย ไม่ใช่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนเก่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรมีเป้าหมาย ให้เด็กเป็นได้ทั้ง คนดี คนเก่ง และมีความสุข จึงจะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้ โดยแนวทางการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมที่สุด คือ การพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม สติปัญญาไปพร้อมกัน เพราะทุกอย่างโยงใยสัมพันธ์ต่อกันทั้งหมด

พ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกให้ใกล้ชิดทุกช่วง โดยเฉพาะช่วงก่อนวัยอนุบาลวางรากฐานความรักอันมั่นคงแก่ลูก ให้อาหารถูกหลักโภชนาการให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจ ทำสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสมตามวัย เช่น เลือกเสื้อผ้าใส่เอง เลือกนิทานที่อยากอ่าน เป็นต้นแต่ต้องมีกฎ กติกาที่เหมาะสม ไม่เลี้ยงดูแบบตามใจ หรือปกป้องมากไป

ทั้งนี้หากจะให้ส่งลูกเข้าเรียนอนุบาล ก็ควรเลือกโรงเรียนอนุบาลที่เปิดโอกาสเด็กได้เล่นสนุกมากที่สุด ไม่ใช่มุ่งเน้นวิชาการมากเกินไป ทางที่ดีควรเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน มีวิถีสังคมสอดคล้องกับชุมชน ไม่เน้นการแข่งขันสอบเข้า และไม่คาดหวังเกินไป หรือแสดงความผิดหวัง หากลูกสอบเข้าไม่ได้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

7 ทักษะฝึกลูกก่อนถึง เกณฑ์อายุเข้าอนุบาล 3 ขวบ

ข้อดี vs ข้อเสีย ส่งลูกเข้า โรงเรียนเตรียมอนุบาล

7 ข้อควรพิจารณา ก่อนเลือกเนอสเซอรี่ให้ลูก!

“ฆาตกร” เด็กเป็นเองไม่ได้ แนะวิธี เลี้ยงลูกไม่ให้โตไปฆ่าใคร

10 ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up