ชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5 จังหวัดนี้ คนป่วยเยอะสุด!

event
ชิคุนกุนยา
ชิคุนกุนยา

กรมควบคุมโรคออกเตือน เฝ้าระวังอีกหนึ่งโรคระบาดหน้าฝน โรคร้ายจากยุง ชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5 จังหวัดนี้ คนป่วยเยอะสุด!

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 5 จังหวัดนี้ คนป่วยเยอะสุด

เมื่อเข้าสู่หน้าฝนก็ถือเป็นอีกหนึ่งฤดูที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มาพร้อมกับสภาพอากาศและความชื้นที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออกที่เป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งโรคที่ควรเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยนายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 274 ประจำสัปดาห์ที่ 32 (วันที่ 9 – 15 ส.ค. 63) ว่า …

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 5,728 ราย จาก 65 จังหวัด แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 25-34 ปี (ร้อยละ 51) , 35-44 ปี (ร้อยละ 20) และ 45-54 ปี (ร้อยละ50) ตามลำดับ

ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ รับจ้างร้อยละ 7, เกษตรร้อยละ 7 และ นักเรียนร้อยละ 3 ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ

  • ภาคกลาง
  • รองลงมาคือ ภาคเหนือ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • และภาคใต้ ตามลำดับ

โดยจากระบบเฝ้าระวังโรค (รง. 506) พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จันทบุรี รองลงมาคือ อุทัยธานี ลำพูน เลย และตราด ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามจากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าช่วงนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเดือนสิงหาคมในปีนี้เป็นฤดูฝนที่เพิ่งเริ่มตกหนัก และตกชุกต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้  โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อนำโดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งยุงลายสวน และยุงลายบ้าน

ชิคุนกุนยา

อาการโรคชิคุนกุนยา

ชิคุนกุนย่า อาการ เริ่มแรกคล้ายไข้เดงกี่ หรือไข้เลือดออก ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก เหมือนโรคไข้เลือดออกโดยทั่วไป สำหรับผู้ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรืออ่อนเพลีย

วิธีรักษาโรคชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยาจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก แต่ยังไม่มีการรักษาเฉพาะ คุณหมอจะใช้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาดเนื่องจากจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น)ยาบรรเทาอาการปวดข้อ  เช็ดตัวด้วยน้ำสะอาดเพื่อช่วยลดไข้ ดื่มน้ำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมป้องกันภาวะแทรกซ้อน และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ไปสู่ผู้อื่น

การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและนอกบ้าน และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ

  • เก็บบ้าน ให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
  • เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำจะต้องปิดฝาให้มิดชิด หรือหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ทรายหรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่

ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุนกุนยา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการทายากันยุง กำจัดยุงในบ้าน และนอนกางมุ้ง ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยควรดูแลรักษาสุขภาพและรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป … ทั้งนี้หากคุรพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ชมคลิปเพิ่มเติมความรู้เรื่อง “โรคชิคุนกุนยา” จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์


ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค ddc.moph.go.thwww.samitivejhospitals.com และ www.rajavithi.go.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?

5 แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด อยากให้ลูกหายไข้ พ่อแม่ต้องทำอย่างไร?

หมอเตือน!! ส่าไข้ ระบาดหนักในเด็กเล็ก ระวังชักจากไข้สูง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up