แมลงมีพิษ สัตว์มีพิษ หน้าฝน

6 แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

Alternative Textaccount_circle
event
แมลงมีพิษ สัตว์มีพิษ หน้าฝน
แมลงมีพิษ สัตว์มีพิษ หน้าฝน

ช่วงฤดูฝนไม่ใช่ระวังแค่โรคภัยไข้เจ็บที่มักมากับฝนเพียงอย่างเดียว สำหรับบ้านที่มีเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังและป้องกันเหล่า แมลงมีพิษ สัตว์ร้ายที่ไม่ได้รับเชิญ แฝงตัวมากับหน้าฝนเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกและคนในครอบครัว

6 แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!

เจ้าสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่ดูแล้วไม่น่ามีพิษภัย แต่กลับมีพิษร้าย อันตรายถึงชีวิต ยิ่งช่วงหน้าฝนพ่อแม่ต้องระวังให้หนัก เพราะเจ้าเหล่าแมลงร้ายเหล่านี้จะย่างกรายเข้ามาใกล้ลูกน้อยของเราเมื่อไหร่ ไม่อาจทราบได้ ทางที่ดีเรามาระวัง ป้องกันไม่ให้ แมลงมีพิษ สัตว์ร้าย เหล่านี้ทำอันตรายกับลูกได้จะดีกว่า แต่จะมีสัตว์อะไรบ้างที่เราต้องระวัง มาดูกันเลย

แมลงมีพิษ แมลงก้นกระดก
แมลงมีพิษ แมลงก้นกระดก

1.แมลงก้นกระดก

ลักษณะของแมลงก้นกระดกเป็นอย่างไร?

ขึ้นชื่อว่า แมลง คงสังเกตกันได้ยากใช่ไหมว่า แมลงที่เราเห็นเป็นแมลงชนิดใด สำหรับเจ้าแมลงก้นกระดก เจ้าสัตว์ร้ายตัวเล็กที่ต้องระวังให้เป็นอย่างดีทีเดียว แมลงก้นกระดกจะมีลักษณะลำตัวเป็นปล้อง ๆ มีสีดำสลับสีแดงหรือสีแดงอมส้ม มักพบในที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำหรือตามพงหญ้า และมักระบาดในหน้าฝน ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยโดนพิษของแมลงก้นกระดกมากที่สุดในช่วงฤดูฝน โดยเมื่อไปสัมผัสที่ตัวแมลงก็จะปล่อยสารพิษที่เป็นของเหลวออกมา จะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อนมาก มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ เป็นหนองขึ้นตามบริเวณผิวหนังที่โดนสัมผัส ซึ่งอาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีแต่จะเริ่มเกิดผื่นแดงมีลักษณะเป็นทางยาวและเกิดอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ถ้าผิวหนังเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อย จะสามารถหายเองได้ใน 2-3 วัน แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มหนองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

สารพิษของแมลงชนิดนี้ คือ เพเดอริน (Pederin) ซึ่งมีลักษณะเป็นกรดที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นคันหรือแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ และถ้าถูกพิษบริเวณดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้!

เจอแมลงก้นกระดก อย่าจับ อย่าบี้!

หลังจากถูกพิษของแมลงก้นกระดก แผลจะไม่เกิดขึ้นทันที ต้องรอระยะเวลาหนึ่ง จะปรากฎรอย ผื่นแดงลากยาวเป็นขีด ๆ

แมลงก้นกระดกมีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่ตามบริเวณพื้นดินที่ชื้น เช่น ตามกองมูลสัตว์ พื้นดิน ในกองไม้ แต่จะชอบบินเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือนที่เป็นพื้นที่ใกล้ชิดประชาชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคนที่เผลอไปสัมผัสได้

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับแมลงก้นกระดก

  • เมื่อโดนพิษให้รีบล้างผิวด้วยน้ำเปล่าและฟอกสบู่ทันที จากนั้นจุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้ง และประคบเย็นบริเวณที่สัมผัสกับแมลงโดยตรง ถ้ามีอาการอักเสบรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที

วิธีป้องกันอันตรายเมื่อเจอแมลงก้นกระดก

  • สอนลูกให้ทำความรู้จักกับแมลงมีพิษชนิดนี้ เมื่อพบเจอห้ามจับ ตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า และอย่าเข้าใกล้โดยเด็ดขาด
  • เมื่อเจอแมลงก้นกระดกให้กวาดทิ้ง หรือใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป
  • หากใช้ยาฆ่าแมลงพ่น ต้องกวาดแมลงใส่ถุงและมัดปากถุงให้สนิท เพราะแมลงไม่ว่าจะมีชีวิตหรือตายก็สามารถปล่อยพิษได้
  • เช็กช่องโหว่จากหน้าต่าง ประตู ให้ปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้แมลงต่าง ๆ เล็ดลอดเข้ามาได้
ยุง สัตว์มีพิษ แมลงมีพิษ
ยุง สัตว์มีพิษ แมลงมีพิษ

2.ยุง

ในโลกนี้มียุงกว่า  4,000  จัดอยู่ในอันดับ  Diptera  วงศ์  Culicidae  ยุงบางชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์  เช่น  ยุงลาย  Aedes aegypti  และยุง  Ae. Albopictus  นำโรคไข้เลือดออก  (Dengue haemorrhagic fever)  ยุง  Culex triaeniohynchus  นำโรคไข้สมองอักเสบ  (Encephalitis)  ยุงก้นปล่องนำโรคมาลาเรีย  (Malaria)  และยุงเสือนำโรคฟีลาเรียหรือโรคเท้าช้าง

ยุง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นชุกชุมในช่วงหน้าฝน โดยเพราะน้ำขังตามแหล่งต่าง ๆ ที่ยุงสามารถไปวางไข่ ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดยุงมากมายหลายสายพันธุ์ ที่นอกจากจะกัดลูกน้อยและคนในครอบครัวเป็นตุ่มแดงและคันแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคอันตรายที่มักแพร่ระบาดในหน้าฝน เช่น

  • โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะ มักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี อาการเบื้องต้นจะคล้ายอาการไข้หวัดแต่หากเป็นไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมาก ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเบื่ออาหาร ในบางรายอาจอาเจียน และพบผื่นแดงหรือจ้ำเลือดขึ้นตามร่างกาย
  • โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นป่องเป็นพาหะ จะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกอ่อนเพลีย หนาวสั่น หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดปากซีดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย หากมีอาการรุนแรงส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • โรคไข้สมองอักเสบ มียุงรำคาญเป็นพาหะ หลังรับเชื้อ 5-15 วัน จะมีอาการไข้สูง อาเจียน ปวดหัว อ่อนเพลีย และเริ่มส่งผลผิดปกติที่สมอง เมื่อรักษาโรคหายจะมีโอกาสผิดปกติจากอาการทางสมองหลงเหลือ เช่น พูดไม่ชัด เกร็ง ชัก หรือสติไม่ค่อยปกติ เป็นต้น หากมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันและกำจัดยุง

  • ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงบริเวณที่มีน้ำขังรอบบ้าน ทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำในแจกัน ในกระถางทุกสัปดาห์ ปิดโอ่ง ปิดถังให้สนิทมิดชิดเพื่อไม่ให้ยุงไปวางไข่
  • ป้องกันคนในครอบครัวไม่ให้โดนยุงกัดด้วยการติดมุ้งลวด ทายากันยุง นอนกางมุ้ง และปิดประตูทุกครั้งที่เข้า-ออก
  • ปลูกพืชกันยุง เช่น ตะไคร้หอม หรือใช้การบูรวางไว้ตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง เพื่อไล่ยุง
ตะขาบเข้าบ้าน
ตะขาบเข้าบ้าน

3.ตะขาบ

ตะขาบ เป็นสัตว์มีพิษที่อันตรายอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในช่วงหน้าฝนที่สภาพอากาศที่ชื้น เมื่อโดนตะขาบกัดจะเห็นเป็นรอยเขี้ยวมีจุดเลือด 2 จุด ลักษณะแผลเหมือนจะเป็นรอยไหม้ พิษของตะขาบจะทำให้มีอาการอักเสบ ปวด บวมแดง แสบร้อน ในบางรายที่แพ้พิษอย่างรุนแรงอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อยหลังโดนกัด หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ และเกิดเป็นอัมพาตในบริเวณจุดที่ถูกกัด ทั้งนี้พิษของตะขาบยังไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิตได้

วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อถูกตะขาบกัด

ให้รีบล้างบริเวณแผลที่ถูกกัดด้วยยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ประมาณ 30 วินาที ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบเพื่อช่วยลดอาการปวดบวม และรับประทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด ในรายที่มีอาการแพ้พิษรุนแรงหรือไม่แน่ใจว่าสัตว์ที่กัดเป็นตะขาบหรือสัตว์ชนิดอื่นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

วิธีป้องกันตะขาบเข้าบ้าน

  • ตะขาบหรือสัตว์เลื้อยคลานจะชอบที่อับชื้น ดังนั้นต้องพยายามเคลียร์บ้านให้โปร่งโล่ง และสะอาดเรียบร้อย ไม่มีมุมอับและที่อับชื้น เพื่อลดที่ให้ตะขาบซ่อนตัว
  • ใช้ปูนขาวหรือโซดาไฟ ราดหรือโรยในจุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีตะขาบหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มักมากับความชื้นเข้ามา

 

อ่านต่อ>> แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน ระวังป้องกันลูกน้อยอย่างไร คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up