โทษของ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

หมอเตือนโทษร้าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ผู้ขายไม่ยอมบอก

Alternative Textaccount_circle
event
โทษของ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
โทษของ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารโปรดของลูก เพราะความอร่อย สะดวก คำเตือนจากคุณหมอ แม่ควรชี้ให้ลูกเห็นถึงโทษที่แฝงมาอย่าปล่อยให้ทานมากเกิน ภัยร้ายที่ผู้ขายไม่เคยบอก

หมอเตือนโทษร้าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ผู้ขายไม่ยอมบอก

ในสังคมที่เร่งรีบอย่างปัจจุบัน ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป ในทุก ๆ วันมีแต่ความเร่งรีบ แม้แต่ในมื้ออาหาร ภาพที่เคยเห็นครอบครัวนั่งล้อมวงทานข้าวร่วมกันก็เริ่มลดน้อย หายไป อาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ นับวันยิ่งหาทานยากมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ในปัจจุบันคุ้นเคย คุ้นชินกับอาหารสำเร็จรูปในรูปแบบต่าง ๆ นานา ซึ่งแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่มีสารอาหาร และปริมาณโซเดียมมากน้อยแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วนั้น มักพบปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูปค่อนข้างมาก ซึ่งหากเราไม่อ่านฉลากปริมาณส่วนประกอบที่ข้างผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ให้ดี อาจทำให้เราได้รับปริมาณสารอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงปริมาณโซเดียมที่มากเกินความต้องการของร่างกายได้

อาหารปรุงสุกใหม่ดีกว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
อาหารปรุงสุกใหม่ดีกว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ในเด็กเล็ก หรือแม้แต่เด็กโตก็ตามจะมีสักกี่คนที่อ่านฉลากก่อนบริโภค ส่วนใหญ่เลือกอาหารที่รับประทานจากความชอบ ความเคยชินอยู่เสมอ จึงน่าเป็นห่วงได้ว่า เด็ก ๆ ลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่อาจมีความเสี่ยงต่อการรับสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซ้ำร้ายยังเป็นโทษอีกด้วย

อ่านต่อ เตือนภัยซูซิเรืองแสง เสี่ยงปนเปื้อนจุลินทรีย์ ก่อนซื้อต้องระวัง

วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK ได้นำคำเตือนของคุณหมอ ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ฝากถึงโทษร้ายของบะหมีกึ่งสำเร็จรูปที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ จะได้ระวัง และปรับพฤติกรรมการรับประทานของลูกไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายในอนาคต และให้เขาได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก Rama Channel : รายการRama square ช่วง เปิดตู้เย็น 26 ก.พ. 62

โทษร้ายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

  • ภาวะทุพโภชนา หรือ การขาดความสมดุลของอาหาร

ในหนึ่งซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประกอบไปด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอาหารหนึ่งมื้อคนเราต้องได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ แต่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีส่วนประกอบหลัก ดังนี้

  1. แป้งสาลี ให้สารอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรต โดยในหนึ่งซอง (60 กรัม) มีปริมาณคาร์โบไฮเดรต 37 กรัม หรือเท่ากับข้าว 3 ทัพพี
  2. น้ำมันปาล์ม ให้สารอาหารประเภท ไขมัน โดยในหนึ่งซอง (60กรัม) มีปริมาณไขมัน 12 กรัม
  3. ผงปรุงรส ประกอบด้วยโซเดียมเป็นหลัก โดยในหนึ่งซอง (60กรัม) มีปริมาณโซเดียม 1490 มล.

**ซึ่งหากในหนึ่งซองมีขนาดใหญ่กว่า 60 กรัม ปริมาณต่าง ๆ ที่ได้รับก็จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก

จะพบว่าสารอาหารในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นมีสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ แถมสิ่งที่น่าห่วงนั่นคือ ปริมาณโซเดียมที่สูง(ปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวันไม่ควรเกิน 2300 มล.) และคาร์โบไฮเดรตที่มาก หากลูกรับประทานแต่เพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น ก็จะทำให้ร่างกายของเขาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการพัฒนาของเด็ก อาจนำไปลูกไปสู่ภาวะทุพโภชนา (Malnutrition) เป็นภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดหรือได้รับในปริมาณน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยและนำไปสู่การเกิดโรคอื่น ๆ ได้

มีผลจากการศึกษาชิ้นหนึ่งในผู้ที่รับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประจำพบว่า สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินดี รวมไปถึงแร่ธาตุอย่างฟอสฟอรัสและธาตุเหล็กที่ล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ดังนั้น หากรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนอาหารมื้อปกติเป็นประจำอาจส่งผลให้สารอาหารภายในร่างกายไม่สมดุลและเกิดภาวะทุพโภชนาในที่สุด ท้ายที่สุดอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังตามมา

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อร่อยแต่แฝงโทษร้าย
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อร่อยแต่แฝงโทษร้าย
  • ความดันโลหิตสูง

อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับลูกน้อย แต่การที่คุณหมอให้ลูกรับประทานแต่อาหารที่มีโซเดียมมาก สะสมในร่างกายก็จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวของลูกได้ ถึงแม้ว่าโซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ แต่ก็มีปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน โดยเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ต้องการโซเดียมประมาณ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางยี่ห้ออาจมีโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคสูงถึง 1,200-2,400 มิลลิกรัม ซึ่งอาจเทียบเท่าปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับครึ่งวันหรือทั้งวัน ทำให้การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมในมื้ออื่นอาจทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น

การมีปริมาณโซเดียมมากจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อภาวะความดันโลหิต จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หากคนเรามีภาวะนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น

โรคอ้วนภัยร้าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
โรคอ้วนภัยร้าย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • โรคอ้วน

ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในจะมีปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีมากถึง 37 กรัมหรือเทียบเท่ากับข้าว 3 ทัพพี เมื่อเรานำมาเทียบกับปริมาณของข้าวแล้วจะเห็นว่ามีปริมาณที่มาก หากลูกทานข้าวคงไม่ทานถึง 3 ทัพพีต่อมื้อเป็นแน่ แถมยังมีไขมันอิ่มตัว และเครื่องปรุงรสเป็นส่วนประกอบอีกด้วย ซึ่งแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่ทำให้ร่างกายได้รับแป้ง และไขมันมากเกินซึ่งเป็นต้นเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นได้ หากรับประทานจำนวนมากอาจก่อให้เกิดโรคอ้วนในเด็กได้ด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาพบว่าการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อย ๆ อาจเพิ่มระดับของไขมันในเลือดจนส่งผลให้เกิดภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลกลูโคส (Glucose Intolerence) โดยเฉพาะผู้ที่บริโภคอาหารสำเร็จรูปมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) โรคเบาหวาน เป็นต้น

ทานได้ แต่ต้องลดนิด เพิ่มหน่อย

หากเป็นการยากที่จะห้ามลูกรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้วละก็ คุณแม่ควรมาทำข้อตกลงกับลูกน้อยกันสักหน่อย เพื่อเป็นการดีต่อสุขภาพ และดีต่อใจทั้งสองฝ่าย ดังนี้

  • ลดนิด ลดอะไรบ้าง
  1. ลดความถี่ในการรับประทานลง ไม่ควรเกิน 1 ซอง ต่อ สัปดาห์
  2. ลดปริมาณโซเดียมในอาหารมื้ออื่นลง หากลูกทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปแล้วในวันนั้น เช่น ไม่ทานไส้กรอกพร้อมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะปริมาณโซเดียมของอาหารทั้งสองชนิดสูงเหมือนกัน
  3. ลดน้ำซุป เลือกที่จะลดผงปรุงรสที่ใส่ลงอาจใช้เพียงครึ่งซอง หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรซดน้ำซุปของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากเกิน เพราะโซเดียมจะมีอยู่ในผงปรุงรส
  4. ไม่ควรทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบดิบ ๆ จากข่าวที่ว่าการทานแบบดิบนั้นจะทำให้ท้องบวม ท้องอืด ซึ่งคุณหมอได้กล่าวว่า การทานแบบดิบก็เหมือนการทานขนมทอดแบบซองทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ปริมาณโซเดียมนั้นมีมากกว่า โดยในขนมซองจะมีปริมาณโซเดียมอยู่ประมาณ 400-700 มล. แต่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหากทานแบบดิบจะได้รับผงปรุงรสแบบเต็ม ๆ ทำให้ลูกจะได้รับปริมาณโซเดียมมากกว่าเท่าตัวทีเดียว
เพิ่มผัก โปรตีน เพิ่มสารอาหารใน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เพิ่มผัก โปรตีน เพิ่มสารอาหารใน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • เพิ่มหน่อย เพิ่มอะไรบ้าง
  1. เพิ่มสารอาหารอื่นลงไปให้ครบ 5 หมู่ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นมีสารอาหารอยู่เพียงคาร์โบไฮเดรต และไขมัน ดังนั้นหากลูกต้องการรับประทานจริง ๆ คุณแม่สามารถที่จะเพิ่มสารอาหารอื่น เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผักสด ลงไป เพื่อให้อาหารมื้อนั้น ๆ ของลูกมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ แต่ไม่ควรเป็นอาหารที่แปรรูปที่มีปริมาณโซเดียมเยอะ
  2. เพิ่มความใส่ใจ อ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์เสมอ เพราะฉลากจะบอกถึงปริมาณของสารอาหารที่ได้รับจากการรับประทานอาหารชนิดนั้น โดยให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ ไขมันต่ำ พร้อมทั้งดูปริมาณสารอาหารชนิดอื่นที่จำเป็นต่อร่างกายประกอบด้วย ซึ่งในปัจจุบันได้มีการใส่ฉลากทางเลือกสุขภาพ เพิ่มในผลิตภัณฑ์อาหารที่จัดจำหน่ายว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีความใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น หากมีฉลากทางเลือกสุขภาพบนฉลากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใด ผลิตภัณฑ์นั้นก็ได้รับการรับรองว่าได้ลดปริมาณโซเดียมที่ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพลงในปริมาณที่พอรับได้ ดังนั้นเวลาคุณแม่จะเลือกซื้อ ก็ควรเพิ่มการมองหาฉลากทางเลือกสุขภาพในสิ่งที่จะซื้อมาให้ลูกด้วยจะเป็นการดีต่อสุขภาพ

อ่านต่อ วิธีการฉลากโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก!

เพิ่มสารอาหารให้ครบหมู่
เพิ่มสารอาหารให้ครบหมู่

การรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นครั้งคราว จำกัดปริมาณรับประทานก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ควรให้ลูกได้รับรู้ถึงพิษภัย โทษร้ายของการไม่เลือกรับประทานอาหาร การเข้าใจถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงปริมาณของสารอาหารเหล่านั้นด้วย เพราะถึงแม้เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์แต่ถ้าหากรับประทานมากเกินความต้องการของร่างกายก็ทำให้เป็นโทษได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะช่วยสอนให้ลูกรู้จักการอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ และโทษภัยแฝงที่ผู้ขายไม่ได้ชี้แจงละเอียดให้แก่ลูกในการเลือกรับประทานอาหารใด ๆ หากเขาสามารถทำได้ดังกล่าวแล้ว เราก็จะวางใจได้ว่าลูกสามารถรู้เท่าทัน และจะเลือกแต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเองเท่านั้น

อ่านต่อ ลูกวัยกำลังโตควรเสริมอาหารแบบไหน ?

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Pobpad.com / รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อาหารที่มีแคลเซียม สําหรับคนท้อง เมื่อแม่แพ้-ไม่ชอบดื่มนมวัว

วิธีทำให้สูง ด้วยเมนูอาหารวิเศษเสริมแคลเซียมวัยเบบี๋

พยาธิในผักสด ฝันร้ายของคุณแม่สายคลีน!!

กรมอนามัยห่วง! เด็กไทยเตี้ยกว่าเกณฑ์ แนะ 5 วิธีเพิ่มความสูง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up