โรงเรียนประถม

6 ประเภท “โรงเรียนประถม” ที่พ่อแม่ต้องรู้ก่อนสมัครเรียน!

Alternative Textaccount_circle
event
โรงเรียนประถม
โรงเรียนประถม

ก่อนสมัครเรียนเข้า โรงเรียนประถม พ่อแม่ต้องดูให้ดีก่อนว่า โรงเรียนที่ลูกจะต้องเรียนนั้นเป็นแบบไหน ใช้หลักสูตรใดบ้างในการเรียนการสอน มาทำความรู้จักกันค่ะ

6 ประเภท “โรงเรียนประถม” ที่พ่อแม่ต้องรู้ก่อนสมัครเรียน!

การสมัครเรียนเข้า โรงเรียนประถม นั้นค่อนข้างแตกต่างจากการสมัครเรียนเข้า โรงเรียนอนุบาล เป็นอย่างมาก เพราะจะต้องศึกษาแนวทางหรือหลักสูตรของโรงเรียนที่ต้องการสมัคร แถม โรงเรียนประถม ที่มีชื่อเสียง ก็มักจะใช้วิธีการสอบเข้า โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมาก ๆ การแข่งขันเพื่อที่จะได้เข้าเรียนโรงเรียนนั้น ๆ ยิ่งสูง ต้องเตรียมตัวกันเป็นปี ๆ ดังนั้น พ่อแม่ต้องศึกษา แนวทางหรือหลักสูตร ของแต่ละโรงเรียน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเข้าเรียนก่อน เพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้ลูกพร้อมสำหรับการสอบเข้าหรือสมัครเรียน ทีมแม่ ABK จึงมีข้อมูลดี ๆ มาให้แม่ ๆ ประกอบการตัดสินใจก่อนสมัครเรียน โรงเรียนประถม ให้ลูกกันค่ะ

6 ประเภท “โรงเรียนประถม” ที่พ่อแม่ต้องรู้ก่อนสมัครเรียน!

1. โรงเรียนรัฐบาล

โรงเรียนรัฐบาล เป็นโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการตั้ง และดำรงอยู่ได้ด้วยเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ต้องเสียค่าบำรุงการศึกษา แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บ้าง เช่น ค่าเรียนเสริม ค่าเรียนภาษาต่างประเทศ เป็นต้น และสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่านม ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการจะมีงบในการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้คุณพ่อคุณแม่ได้สบายกระเป๋ากันไป นอกจากนี้ การให้ลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลจะทำให้ลูกได้อยู่ในสังคมที่หลากหลาย เพราะทุกคนมีสิทธิ์เข้าโรงเรียนได้หากสอบเข้าได้ หรือบ้านอยู่ใกล้โรงเรียน นอกจากนี้ จุดเด่นของโรงเรียนรัฐบาลจะมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวดตั้งแต่เรื่องทรงผมและเครื่องแบบ ซึ่งจะช่วยฝึกวินัยและความเป็นระเบียบให้ลูก เรียนรู้สังคมที่หลากหลาย ตลอดจนการเรียนการสอนที่เข้มข้นไม่แพ้โรงเรียนประเภทอื่น

สำหรับข้อเสียของโรงเรียนรัฐบาลคือ สภาพแวดล้อมสังคมในโรงเรียน จะปะปนไปทั้งเด็กที่ตั้งใจเรียน เด็กที่ไม่สนใจเรียน ซึ่งสำหรับเด็กที่เข้าสู่ประถมปลายแล้ว เพื่อนจะมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้น ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ลูกอาจจะเจอเพื่อนชักจูงไปในทางที่ไม่ดี นอกจากนี้ เนื่องจากโรงเรียนรัฐบาลมีเด็กที่ต้องการจะเข้าเรียนเยอะ ทำให้ใน 1 ห้องจะมีจำนวนนักเรียนที่ค่อนข้างเยอะ ในขณะที่อาจารย์ก็มีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึงได้ค่ะ

2. โรงเรียนคาทอลิก

โรงเรียนคาทอลิกเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีพื้นฐานมาจากศาสนาคริสต์ มีองค์ประกอบหลายๆ อย่างมีความเป็นศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ชื่อโรงเรียน ไปจนถึงวิธีการเรียกครูบาอาจารย์ ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนต้องเป็นคริสต์นะคะ ด้วยลักษณะเฉพาะที่นำเอาพื้นฐานความเชื่อศาสนามาประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมในการพัฒนาบุคลิกภาพ เน้นให้นักเรียนมีระเบียบวินัย รู้จักบังคับตนเอง และเตรียมความพร้อมทั้งการวางตัว การเข้าสังคมหรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม สำหรับเรื่องวิชาการก็เข้มข้น บวกกับเป็นโรงเรียนที่มีพื้นฐานเป็นศาสนาคริสต์ ทำให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจได้ว่าทักษะพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษของลูกดีแน่นอน การเรียนการสอนก็ยังอิงกับหลักสูตรไทยของกระทรวงศึกษาธิการตามปกติ

สำหรับจุดเด่นของโรงเรียนคาทอลิก คือเรื่องภาษาอังกฤษ การไปเรียนโรงเรียนคาทอลิกเรื่องภาษารับประกันได้เลยว่าออกมาเป๊ะมาก อย่างน้อยก็ต้องได้ในระดับสื่อสารกับคนอื่นได้ ส่วนคนที่ชื่นชอบเรื่องนี้อยู่แล้วบอกได้เลยว่าไปได้ไกลเลย ซึ่งพอจบจากโรงเรียนคาทอลิกมา แล้วเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น บอกเลยว่าสบายเลย ต่อยอดในระดับสูงได้เลย แถมการสอนภาษาในโรงเรียนคาทอลิกเป็นไปในลักษณะปลูกฝังมากกว่าบังคับด้วย ทำให้การเรียนภาษาเป็นเรื่องที่สนุกมากกว่าระดับของสังคม นอกจากเรื่องเรียน ที่เค้าทำได้ค่อนข้างโดดเด่นแล้ว เรื่องการปลูกฝังค่านิยม ศีลธรรม จรรยา การวางตัวในสังคม โรงเรียนคาทอลิกถือว่าทำได้ดีเลย ไม่ว่าจะเป็นมารยาทที่เป็นมาตรฐานสังคมโลก เค้าปลูกฝังหมดทั้งเรื่องการกิน การเดิน การนอน บุคลิกภาพ ท่าทาง คำพูด และการเข้าสังคม เค้าสอนหมด ยิ่งถ้าเป็นเด็กโตเค้าสอนเรื่องการเข้าสังคมกับเพศตรงข้ามด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานอันดีมากของตัวเด็กเองเวลาเข้าสังคมไป จะทำให้พวกเค้าปรับตัวได้เร็วกว่า วางตัวดีกว่า

แม้ว่าเรื่องเงินจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญสุดของการเรียน แต่ต้องยอมรับว่าค่าเทอมโรงเรียนคาทอลิกเหล่านี้ก็หนักเอาการเหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มโรงเรียนคาทอลิกชั้นนำของประเทศบอกเลยว่าไม่แพ้กันกับโรงเรียนนานาชาติเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ได้พ่อแม่วางใจได้ในระดับหนึ่งเลยว่า สังคมของเค้าจะถูกกรองมาเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เรื่องฐานะทางบ้านของผู้ปกครองอาจจะไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะมันจะทำให้ลูกของเราอยู่ในสังคมที่ดี ทั้งเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง

3. โรงเรียนสาธิต

โรงเรียนสาธิต คือ โรงเรียนประถมและมัธยมในกำกับของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสถานฝึกปฏิบัติการทางการศึกษาและเป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติงานของนักศึกษาหรือเด็กฝึกงานเพื่อที่จะเป็นคุณครูในอนาคตหรือเพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยงานต่างๆ ดังนั้น นอกจากจะมีแค่ครูบาอาจารย์วัยผู้ใหญ่แล้ว นักเรียนก็จะได้เรียนกับนิสิตนักศึกษาฝึกสอนด้วย ซึ่งก็อาจนำมาซึ่งวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ และวิธีคิดที่นอกกรอบ ผู้สอนมีช่วงอายุที่ใกล้เคียงกับนักเรียนมากขึ้น จึงมีแนวโน้มเชื่อมสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น โรงเรียนสาธิต เป็นได้ทั้งรัฐบาลและเอกชน ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสังกัด

นอกจากนี้ เด็กๆ ที่เรียนโรงเรียนสาธิตก็จะได้รับการเตรียมพร้อมอย่างครบครันหากหวังจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่กำกับดูแล นอกจากนี้โรงเรียนสาธิตยังมีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลายเลยละ สามารถเรียนได้อย่างยาวๆ เลยหากตั้งใจไว้แบบนั้น ก็จะไม่ต้องเผชิญการสอบเข้ามหาโหด ส่วนการเข้าเรียนสำหรับเด็กใหม่ก็จะค่อนข้างเข้มข้นหน่อย ต้องสอบแข่งขันกันในด้านวิชาการ จึงเชื่อกันว่าเด็กสาธิตจะวิชาการแน่นสุดๆ

โรงเรียนทางเลือก
โรงเรียนทางเลือก

4. โรงเรียนทางเลือก

สำหรับโรงเรียนทางเลือกนั้น หากจะอธิบายให้พ่อแม่อย่างเราเข้าใจได้แบบง่ายๆมันก็คือ โรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแตกต่างจากระบบเดิมที่เราคุ้นชินกันมา โรงเรียนจะมีการสอนที่มีความยืดหยุ่นทั้งทางด้านแนวคิด ความเชื่อ วิธีการและเนื้อหาที่สอนลงไปในแต่ละวัน  ซึ่งจุดเด่นของการเรียนโรงเรียนทางเลือกนั้นไม่ได้หมายถึงการเรียนเพื่อเก่งที่สุด แต่เป็นการเรียนด้วยแนวคิดปรัชญาใหม่จากทั้งฝั่งตะวันตก และ ตะวันออก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรัก ความชอบ ความรู้ ความสามารถในการเข้าสังคม และเตรียมความพร้อมในระดับที่สูงขึ้นไปได้(สำหรับชั้นอนุบาล) ซึ่งโรงเรียนทางเลือกเหล่านี้จะได้รับการประเมินจากหน่วยงานการศึกษาของรัฐแล้วว่าสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้

แม้จะบอกว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกเหมือนกัน แต่โรงเรียนทางเลือกแต่ละแห่งต่างก็มีแนวคิด ปรัชญา แตกต่างกันไปแบบไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเราต้องศึกษาให้ดีก่อนว่า โรงเรียนทางเลือกที่เราจะเลือกให้กับลูกนั้นเป็นแบบใด เหมาะสมกับความต้องการและเป้าประสงค์ของเราหรือไม่ก่อนจะส่งเค้าไปเรียน ตัวอย่างของโรงเรียนทางเลือกมีดังต่อไปนี้ โรงเรียนที่เน้นการสอนแบบมอนเตเซอรี่ โรงเรียนที่สอนแบบโครงการ โรงเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ โรงเรียนการสอนแบบพหุปัญญา โรงเรียนการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ โรงเรียนการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย โรงเรียนการสอนแบบไฮสโคป โรงเรียนการสอนแบบภาษาธรรมชาติ และอีกมากมาย ต้องขอย้ำอีกทีว่าพ่อแม่ควรจะศึกษาให้ดีก่อน เพื่อให้เข้าใจและปฏิบัติถูกต้องไปในทางเดียวกันกับโรงเรียน

การเข้าโรงเรียนทางเลือกไม่ว่าจะเป็นระดับอนุบาล หรือ ระดับที่สูงกว่านั้น สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนเลยก็คือการเตรียมตัวของพ่อแม่จะต้องดีระดับหนึ่งเลย ต้องเข้าใจวิธี และ วิถีการสอนของโรงเรียนทางเลือกเหล่านี้ บางโรงพ่อแม่ต้องเข้าไปศึกษากับครูก่อน ถึงจะส่งลูกเข้ามาเรียนได้ หากแนวคิดของพ่อแม่ไม่สอดคล้องกับทางโรงเรียน ก็เข้าไม่ได้แบบนี้ก็มี สองเรื่องของค่าใช้จ่าย โรงเรียนทางเลือกส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าโรงเรียนทั่วไป พ่อแม่อาจจะต้องเตรียมเสบียงไว้เยอะหน่อยเพื่อจัดการได้ตลอดการศึกษาของลูก ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องเจอแนวคิดที่แตกต่างกันไปของคนรอบข้าง ญาติพี่น้อง ก็ต้องเจอคำถามว่าทำไมถึงเรียนโรงเรียนนี้ เรียนแล้วดีอย่างไร เรื่องเหล่านี้ พ่อแม่ต้องรู้จริงก่อน ถึงจะไปตอบคำถามได้

โรงเรียนทางเลือก แตกต่างจากโรงเรียนปกติอย่างไร?

สำหรับข้อแตกต่างระหว่างโรงเรียนทางเลือก กับโรงเรียนทั่วไป นั้น อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเลยเป็นเรื่องแนวคิดในการศึกษา ที่เค้าจะมีแนวคิดแตกต่างกันทำให้วิธีการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันด้วย อย่างถ้าเป็นโรงเรียนทางเลือกแบบมอนเตเซอรี่ จะเน้นการฝึก การทำ การทดลอง เพื่อให้เด็กได้เกิดประสบการณ์ในตัวเอง พัฒนาตัวอย่างอย่างมีอิสระ กลุ่มนี้เราจะเห็นเด็กทำนั้นทำนี้มากมาย แต่โรงเรียนปกติอาจจะไม่ได้ทำทุกอย่างแบบนั้น ซึ่งความแตกต่างของแนวคิด และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน จากกรณีนี้เด็กที่เรียนจากมอนเตเซอรี่ (ระดับอนุบาล) อาจจะมีทักษะการช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าโรงเรียนปกติ เป็นต้น

5. โรงเรียนสองภาษา

โรงเรียนหลักสูตรสองภาษา (English Program) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อคือ อีพี (EP) เป็นโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนและสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มีข้อแตกต่างต่างคือ จะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นบางวิชา เช่น วิชาภาษาไทยและวิชาสังคมศึกษา ที่มีเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและประเพณี วัฒนธรรมไทย โดยแต่ละโรงเรียนก็มีสัดส่วนการสอนเป็นภาษาอังกฤษแตกต่างกันไปตามจำนวนขั้นต่ำที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ เช่น

  • ระดับอนุบาลสอนภาษาอังกฤษได้ไม่เกิน 50% ของการเรียนการสอนทั้งหมด
  • ระดับประถมจะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา
  • ระดับชั้นมัธยมเรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชายกเว้นวิชาภาษาไทยและวิชาสังคม

สำหรับโรงเรียนเอกชนที่เปิดหลักสูตร English Program โดยเฉพาะ ก็อาจนับรวมเป็นโรงเรียนสองภาษาได้ หรือบางโรงเรียนจะสอนภาษาไทยกับภาษาต่างประเทศอีก 1 ภาษา ซึ่งอาจเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน และบางแห่งมีการสอนถึง 3 ภาษา ทั้งไทย-อังกฤษ-จีน ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้จะต้องผ่านการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน

โรงเรียนแต่ละแห่งยังมีความแตกต่างทางด้านครูที่สอน โดยบางโรงเรียนอาจจะมีคุณครูชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษามาสอนโดยเฉพาะ บางโรงเรียนอาจมีคุณครูที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาแต่สอนเป็นภาษาอังกฤษแทน นอกจากนี้ ก็อย่าลืมว่าโรงเรียนสองภาษาก็ยังมีสัดส่วนนักเรียนไทยค่อนข้างเยอะอยู่ เด็กๆ จึงอาจไม่ได้พบเจอกับเพื่อนต่างชาติเท่าไรนัก

6. โรงเรียนนานาชาติ

โรงเรียนนานาชาติหรือ International School คือโรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่ใช้หลักสูตรต่างประเทศที่ได้รับมาตรฐานและอยู่ภายใต้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มีการใช้ภาษาต่างประเทศในการเรียนการสอน นักเรียนที่เข้าร่วมโรงเรียนนานาชาติมักจะมาจากหลากหลายประเทศและศาสนา เชื้อชาติ

ข้อดีของโรงเรียนนานาชาติ คือ เรื่องภาษา แน่นอนว่าทักษะด้านภาษาของเด็กอินเตอร์เป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่เห็นได้เด่นชัด เนื่องจากเด็กๆ ควรเรียนรู้ภาษาอื่นนอกจากภาษาแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ โดยโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งยังมีภาษาที่ 3 ให้ได้เลือกเรียน ช่วยให้เด็กมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ได้หลากหลายภาษา เพื่อเป็นการเปิดโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิต และด้วยการที่ต้องเรียนกับเพื่อน ๆ หลากหลายประเทศ ทำให้รู้จักที่จะเคารพความแตกต่างของผู้อื่น และด้วยความที่วัฒนธรรมของชาวต่างชาติมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมของไทย ทั้งวิธีการสื่อสาร การแสดงออก และอื่นๆ ทำให้เด็กที่เรียนโรงเรียนนานาชาติจะได้เรียนรู้และซึมซับทักษะต่างๆ ที่แตกต่างออกไป ทำให้เด็กอินเตอร์มีความกล้าแสดงออก และมีกิจกรรมต่างๆ ที่เปิดกว้าง พัฒนาให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งสอนให้เด็กมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ ไม่ได้เพียงแต่ท่องจำบทเรียนตามตำราเท่านั้น

สำหรับข้อเสีย หลัก ๆ ก็คงจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะหลักสูตรที่ใช้เรียนจะอ้างอิงจากหลักสูตรต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน อังกฤษ หรือออสเตรเลีย นักเรียนจะได้เรียนเหมือนประเทศเจ้าของหลักสูตร เพียงแต่มีวิชาภาษาไทยมาเป็นวิชาบังคับด้วย (ตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ไหนๆ เราก็ยังอยู่ประเทศไทยนี่นะ) ครูบาอาจารย์ก็จะเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับคุณวุฒิอาจารย์ และมีประสบการณ์สอนมาก่อน เนื่องจากว่าคุณสมบัติแบบนี้ค่อนข้างหายาก ทางโรงเรียนเลยต้องจ้างครูตรงมาจากต่างประเทศเลย ค่าจ้างก็จะค่อนข้างสูง ค่าเทอมเลยสูงตาม

ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติ
ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติ

จะเห็นได้ว่าแต่ละโรงเรียนมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป แต่ที่ ทีมแม่ ABK มั่นใจว่าทุกโรงเรียนมี 1 สิ่งที่เหมือนกันคือ ความตั้งใจที่จะสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้ เป็นคนมีคุณธรรมอย่างแน่นอน ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่จะเลือกสิ่งใด สังคมแบบใดให้ลูกน้อยกันค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อัพเดทล่าสุด! ค่าเทอมโรงเรียนอนุบาล-ประถม 2021 ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

Update 12 ค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติ ปีการศึกษา 2565

10 โรงเรียนหลักสูตร EP (English Program) ยอดนิยม ในกรุงเทพฯ

โรงเรียน วิถีพุทธ แตกต่างจากโรงเรียนทางเลือกอื่นยังไง?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.finnomena.com, th.wikipedia.org, www.ptacentral.org, www.lingoace.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up