ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องรู้!!

Alternative Textaccount_circle
event
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะที่แม่ท้องทุกคนไม่อยากให้เกิด เพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตกับทั้งแม่และลูกในท้องได้ จึงควรทำความรู้จัก รับมือและป้องกัน

10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องรู้!!

แน่นอนว่าตลอดการตั้งครรภ์ แม่ ๆ ทุกคนภาวนาให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีเหตุใด ๆ ให้กังวลใจ อีกทั้งอยากให้ลูกในท้องเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง คลอดง่าย แต่การตั้งครรภ์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ร่างกายของแม่ท้องจะเปลี่ยนทุก ๆ เดือน ทำให้อาจเกิด ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ได้ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้ หรือในแม่บางคน อาจจะไม่มีภาวะใด ๆ เลยก็เป็นได้ และ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ในบางภาวะ ก็ไม่ได้อันตรายมาก ดังนั้น เรามาเรียนรู้กันดีกว่าค่ะว่า ระหว่างตั้งครรภ์ เราอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้สังเกตอาการ และเตรียมพร้อมรับมือ ไม่ให้เกิดอันตรายกันค่ะ

10 โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

1. ท้องนอกมดลูก

โดยปกติแล้วคนเราเวลาตั้งครรภ์ก็จะตั้งครรภ์ในมดลูก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่ในมดลูก เช่น ท่อนำไข่ รังไข่เลยก็มี หรือในช่องท้อง แต่กรณีที่พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ส่วนมากเด็กโตไปได้ระยะหนึ่งก็มักจะเสียชีวิต สาเหตุที่พบบ่อย คือ แม่ท้องที่มีประวัติทำแท้งบ่อย เคยขูดมดลูก เคยมีปีกมดลูกอักเสบ เป็นต้น การรักษาโดยส่วนมากต้องผ่าตัดเพื่อเอาการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติออก บางคนก็จำเป็นต้องตัดท่อนำไข่ทิ้ง หรือตัดรังไข่ทิ้ง แล้วแต่กรณี การป้องกันอันตรายจากภาวะนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อหากพบภาวะนี้สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ไม่เกิดอันตรายต่อคุณแม่ เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดท่อรังไข่ หรือรังไข่ฉีกขาดได้

อ่านต่อ ทำไมถึง ตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องนอกมดลูก รู้เร็ว แม่รอด!

2. ภาวะรกเกาะต่ำ

ปกติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก แต่บางรายรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูก จึงขวางทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไม่ได้ และถ้าเด็กตัวใหญ่ขึ้น รกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกได้ ทำให้คุณแม่มีเลือดออก ถ้าเลือดออกมากๆ อาจทำให้เด็กและแม่เสียชีวิตได้ แต่ก็มีแม่บางคนซึ่งมีรกเกาะต่ำได้โดยที่ไม่เกิดปัญหาอะไรตามมาเลยก็ได้ ในขณะที่บางคนมีเลือดออกผิดปกติ ส่วนมากมักเจอในแม่ที่มีลูกมาก ๆ เคยคลอดลูกหลาย ๆ คน หรือว่าเคยขูดมดลูกมาก่อน ดังนั้น หากรู้ว่าตนเองมีภาวะเสี่ยง ควรจะรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าตรวจพบว่ามีรกเกาะต่ำ จะได้ระวังในเรื่องการปฏิบัติตัวไม่ให้มีการกระทบกระเทือน

อ่านต่อ รกเกาะต่ำ ภาวะรุนแรงที่สุดของการตั้งครรภ์

3. การแท้งบุตร

การแท้งบุตร คือการตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องยุติหรือสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร มักหมายถึง การตั้งครรภ์ที่ยุติก่อน 20-28 สัปดาห์ ซึ่งถ้ายุติในช่วงเวลานี้ส่วนมากเด็กจะไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะว่าตัวเล็กเกินไป
สาเหตุ มีอยู่ 2 ประการคือ แท้งเอง กับตั้งใจทำแท้ง การแท้งเองอาจเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือว่าแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็ทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัดๆ ไม่ได้ เช่น อาจจะเกิดจากภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ก่อนตั้งครรภ์ต้องตรวจสุขภาพร่างกาย ถ้ามีโรคต้องรีบรักษาให้หาย หรือให้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ จึงปล่อยให้มีการตั้งครรภ์ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์

อ่านต่อ รวมสาเหตุและ ปัจจัยเสี่ยงแท้งลูก แม่ท้องจะป้องกันได้อย่างไร?

โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

4. ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก เมื่อเด็กคลอด รกถึงจะหลุดจากมดลูกคลอดตามออกมาด้วย แต่บางรายรกที่เกาะมดลูกอยู่หลุดออกมาก่อน โดยที่เด็กยังไม่คลอด เมื่อรกหลุดทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงเด็กที่เคยผ่านรกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้ สาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกที่หน้าท้อง หกล้ม กระแทกกระเทือนจากการนั่งรถ หรืออุ้มลูกคนโต แต่บางรายก็ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น แม่เป็นความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน การป้องกัน เมื่อมีการตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้กระทบกระเทือนที่บริเวณหน้าท้อง

อ่านต่อ รกลอกตัวก่อนกำหนด ภาวะอันตราย ตายได้ทั้งแม่และลูก

5. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

มี 2 กลุ่มคือ ผู้หญิงบางคนเป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ กับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันไม่สูง แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงได้ กลุ่มหลังเราจะเรียกว่าความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อย คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่าครรภ์เป็นพิษ

ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก เด็กมักตายในท้อง หรือถ้าแม่มีอาการนานๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ เด็กอาจตัวเล็ก แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติ ไม่มีความพิการใดๆ

อ่านต่อ โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ ภัยเงียบของแม่ท้อง

6. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

มีแม่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งเป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนที่จะท้อง กับแม่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งท้องแล้วจึงเป็นเบาหวาน กลุ่มหลังนี้พบว่าการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เป็นโรคนี้ เชื่อว่าเด็กหรือรกที่อยู่ในมดลูกสามารถสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ไปยับยั้งการทำงานของอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาลในเลือด ทำให้แม่เป็นเบาหวาน ซึ่งแม่ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีอาจชักหรือช็อก อาจแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ สาเหตุ ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่มักพบในคนที่ท้องแรก แม่อายุมากๆ แม่ที่อ้วนมากๆ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือว่าตัวแม่เองมีโรคอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง

อ่านต่อ แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี

7. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

สาเหตุเกิดจาก เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสาวะได้ไม่ดี มีการคั่งค้างนาน เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การรักษา นำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ ว่าติดเชื้ออะไร แล้วก็ให้ยาฆ่าเชื้อ โดยยาที่ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์ การป้องกัน อย่ากลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้มีการขับปัสาวะได้ดี ไม่มีการคั่งค้าง

อ่านต่อ คนท้อง ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อันตรายกับทารกในครรภ์อย่างไร?

โรคแทรกซ้อนในคนท้อง
โรคแทรกซ้อนในคนท้อง

8. โรคโลหิตจาง

สาเหตุ มี 2 ชนิด คือโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก กับโรคเลือดจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สำหรับการรักษา โรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แก้ไขได้ไม่ยาก โดยรับทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากๆ เช่น ตับบด ผักใบเขียว หรือกินวิตามินเสริมธาตุเหล็ก ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่ลูกเป็นโรคนี้ และมีอาการมากก็อาจจะทำให้ลูกตายในท้อง หรือลูกบวมน้ำในท้องได้ การป้องกัน ก่อนตั้งครรภ์ควรมีการตรวจเช็คร่างกายว่ามีโลหิตจางหรือไม่ ถ้าเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรรับประทานอาหารเสริมให้ร่างกายเป็นปกติก่อนจึงตั้งครรภ์ ส่วนโรคโลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย สามารถตรวจคัดกรองได้ว่าลูกจะเสี่ยงไหม โดยการตรวจเลือดของพ่อแม่ว่าเป็นพาหะหรือไม่

อ่านต่อ คนท้องเลือดจาง ควรกินอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร

9. ไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงาน ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มือสั่น ใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิด ก่อนท้องอาจจะเป็นหรือไม่เป็นก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่แข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อกเป็นอันตรายได้

อ่านต่อ เมื่อป่วยไทรอยด์เป็นพิษ…ตอนท้อง

10. ตกเลือดหลังคลอด

หลังจากการคลอดลูกมดลูกจะมีการบีบตัว ทำให้มีเลือดไหลออกมา การคลอดปกติจะทำให้แม่เสียเลือดประมาณ 200 – 300 ซีซี. แต่มีแม่บางคนเลือดออกมากกว่านั้นจนกระทั่งช็อคหรือเสียชีวิต คำว่าตกเลือดหลังคลอดทางการแพทย์หมายความว่า ภายหลังจากคลอดเด็กแล้ว รกคลอดไปแล้ว แม่มีการเสียเลือดมากกว่าครึ่งลิตรหรือมากกว่า 500 ซีซี.
สาเหตุ ที่พบบ่อยๆ มีอยู่ 2 – 3 ประการ คือ มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดี เลือดจึงออกเยอะ ไหลไม่หยุด การที่มดลูกบีบรัดตัวไม่ดี ส่วนมากพบในคนที่อายุมากๆ คลอดลูกบ่อยๆ หรือเกิดจากการคลอดยาก สาเหตุที่ 2 เกิดจากการที่มีการฉีกขาดของช่องทางคลอด ฝีเย็บอาจจะมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกมาก บางคนปากมดลูกมีการฉีกขาด บางคนมดลูกฉีกขาดหรือแตกจากการคลอด ซึ่งพวกนี้อาจจะเกิดจากการที่เด็กตัวใหญ่มาก การคลอดจึงมีการฉีกขาดเยอะ หรือว่าอาจจะเกิดจากการที่ผู้ทำคลอดตัดฝีเย็บไม่ดี แผลใหญ่มาก เป็นต้น สาเหตุที่ 3 คือเด็กคลอดไปแล้ว แต่รกคลอดไม่หมด ยังค้างอยู่บางส่วน รกที่ค้างอยู่ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดได้
การรักษา อาจต้องใช้มือเข้าไปล้วงรกที่ค้างอยู่ออกมา หรือขูดมดลูกเอาเศษรกที่ค้างอยู่ออก

อ่านต่อ ภาวะตกเลือดหลังคลอด ละเลยเพียงนิด อันตรายถึงชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ทั้ง 10 ภาวะนี้ สามารถป้องกันได้โดยการฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ เพราะคุณหมอ จะคอยเฝ้าระวังสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องตลอดการตั้งครรภ์อยู่แล้วค่ะ ดังนั้น ทีมแม่ ABK ขอแนะนำให้คุณแม่รีบไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์นะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 เช็กลิสต์! แค่เครียด หรือเป็น โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์?

กลัวลูกเป็น ดาวน์ซินโดรม ต้องอ่าน!! หมอชี้ทาง..แม่ท้อง รู้ทัน ป้องกันได้

คลอดลูกธรรมชาติ มีกี่ขั้นตอน? เตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

10 ข้อห้าม คนท้องอ่อนๆ ต้องระวังอะไรบ้าง?

ขอบคุณข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up