คลอดลูกธรรมชาติ

คลอดลูกธรรมชาติ มีกี่ขั้นตอน? เตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

Alternative Textaccount_circle
event
คลอดลูกธรรมชาติ
คลอดลูกธรรมชาติ

ตอบทุกคำถามที่แม่ท้องอยากรู้ ทุกอย่างเกี่ยวกับการคลอดลูก คลอดลูกธรรมชาติ มีกี่ระยะ? เตรียมตัวอย่างไรบ้าง? ทำอย่างไรให้คลอดลูกง่าย? อ่านได้ที่นี่

คลอดลูกธรรมชาติ มีกี่ขั้นตอน? เตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

แม่ท้องทุกคนต่างรอคอยกับวันที่จะได้เห็นลูกในท้อง แต่อีกใจนึงก็กลัวว่าการ คลอดลูกธรรมชาติ จะเป็นอย่างไรบ้าง? จะเจ็บแค่ไหน? จะปวดท้องคลอดนานแค่ไหน? และรู้หรือไม่ว่าการคลอดลูกมีขั้นตอน? มาทำความรู้จักขั้นตอนของการคลอดลูก ไว้เตรียมตัวเมื่อช่วงเวลาสำคัญของคุณแม่มาถึงกันดีกว่าค่ะ

3 ขั้นตอนของการ คลอดลูกธรรมชาติ

เมื่อคุณแม่อุ้มท้องครบ 9 เดือนแล้ว โดยในช่วงเดือนที่ 9 คุณหมอจะเริ่มนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้น เพื่อตรวจดูร่างกายของคุณแม่ว่าพร้อมที่จะคลอดหรือไม่ โดยการคลอดลูกนั้น แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน

ระยะที่ 1 ช่วงปวดท้องคลอด

ในช่วงนี้ คุณแม่จะเริ่มปวดท้องคลอด ซึ่งไม่ใช่การปวดท้องหลอก มดลูกจะบีบรัดตัวเพื่อให้ปากมดลูกเปิดออก โดยช่วงที่มดลูกบีบรัดตัวจะใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 45 วินาทีและค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงและความถี่ จากทุก ๆ 20 นาทีเป็นทุก ๆ 5 นาที หากคุณแม่มีอาการปวดดังกล่าว ให้รีบไปพบคุณหมอเพื่อเตรียมตัวคลอดได้เลยค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอก็จะตรวจปากมดลูกอีกที ว่าปากมดลูกได้เปิดออกได้กว้างพอที่จะคลอดหรือยัง หากปากมดลูกยังเปิดไม่ถึง 10 เซนติเมตร คุณแม่ก็จะยังต้องรอต่อไป โดยระยะนี้ เป็นระยะที่ใช้เวลามากที่สุดของทั้ง 3 ระยะในการ คลอดลูกธรรมชาติ (ข่าวดี คือเป็นระยะที่มีความเจ็บปวดน้อยที่สุด) ในแม่บางคนอาจมีช่วงปวดท้องคลอดเพียง 2 ชั่วโมงก็สามารถคลอดลูกได้เลย แต่ในแม่บางคน อาจใช้เวลาในการปวดท้องคลอดเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว

ปวดท้องคลอด
ปวดท้องคลอด

ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่คุณแม่จะเริ่มปวดท้องคลอดจริง ร่างกายมักจะมีสัญญาณเตือนให้รู้ว่าใกล้จะถึงเวลาคลอดแล้วนะ โดยสัญญาณเตือนก่อนคลอด มีดังนี้

  • มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด

คุณแม่สามารถพบมูกเลือดไหลออกทางช่องคลอดภายในไม่กี่นาที เป็นชั่วโมง หรือบางรายเป็นวันก่อนการคลอด โดยมูกที่พบมีอยู่หลายลักษณะ ตั้งแต่มูกใส สีน้ำตาล สีออกชมพู หรือแม้แต่สีแดงสดเหมือนเลือด มีความหนืดและข้นคล้ายตกขาว

มูกนี้เป็นกลไกในการป้องกันแบคทีเรีย เชื้อโรค และสิ่งสกปรกทั้งหลายไม่ให้เข้าสู่มดลูก โดยร่างกายจะมีการสร้างชั้นเมือกหนาปกคลุมบริเวณปากมดลูกในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมในการคลอดจะทำให้เกิดการสลายเมือกเหล่านั้นออกมาทางช่องคลอด แต่ในบางรายก็อาจมีมูกเลือดออกมาในปริมาณที่น้อย

อ่านต่อ “มูก” แบบไหนใกล้คลอด มี มูกเลือดก่อนคลอด ทำอย่างไร

  • น้ำเดินหรือน้ำคร่ำเดิน

เป็นอีกอาการที่ค่อนข้างชัดเจนว่าใกล้คลอดแล้ว คุณแม่จะมีของเหลวเป็นน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดเช่นเดียวกับมูกเลือด ส่วนมากจะไหลออกมาในปริมาณไม่เยอะแล้วหายไป แต่บางรายอาจมีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอดในปริมาณมาก โดยพบได้ 1 ใน 10 ของหญิงตั้งครรภ์

อาการเหล่านี้เกิดจากถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวเด็กเกิดฉีกขาดหรือแตก เพื่อเตรียมตัวให้เด็กคลอดออกจากท้องแม่ แต่อาจทำให้หลายคนมักสับสนระหว่างน้ำปัสสาวะและน้ำจากถุงน้ำคร่ำ ซึ่งโดยทั่วไปของเหลวจากอาการน้ำเดินจะเป็นของเหลวใสและไม่มีกลิ่น

อ่านต่อ น้ำคร่ำแตก เป็นอย่างไร? แตกต่างกับกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือไม่

  • ตำแหน่งของท้องเคลื่อนต่ำลง

ทารกเริ่มมีการเคลื่อนตัวลงมาใกล้บริเวณกระดูกเชิงกรานมากขึ้น จึงทำให้เห็นได้ว่าตำแหน่งครรภ์ในช่วงใกล้คลอดอยู่ต่ำมากกว่าในช่วงตั้งครรภ์แก่ แต่ยังไม่คลอด ระยะนี้คุณแม่อาจจะหายใจได้สะดวกขึ้น เพราะแรงกดที่กระบังลมลดลง และอาจมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น

อ่านต่อ อาการ ท้องลด เป็นแบบไหน? ท้องลดตอนกี่สัปดาห์กันนะ

  • อาการท้องเสียหรือถ่ายเหลว

สำหรับคุณแม่บางท่าน ในช่วงเข้าสู่ระยะใกล้คลอด คุณแม่อาจพบอาการถ่ายเหลวหรือท้องเสีย เพราะร่างกายมีการสร้างสารคล้ายฮอร์โมนที่ชื่อ โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเตรียมพร้อมกับการคลอด ทำให้มดลูกหดตัวและช่วยขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น แต่ก็กระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายมากด้วยเช่นกัน

  • ปวดหลัง

แม่ท้องส่วนใหญ่มักจะมีอาการอาการปวดหลัง โดยพบได้ถึง 1 ใน 3 ของผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากหลังของเราอยู่ในลักษณะโค้งเป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อรองรับทารกในครรภ์ และเด็กทารกอาจจะเคลื่อนตัวต่ำลงมาจนศีรษะอยู่ใกล้หรือชนกับกระดูกสันหลังแม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

5 สิ่งที่ควรทำ เมื่ออยู่ในช่วงปวดท้องคลอด

  1. จับตาดูการหดรัดตัวของมดลูก คุณแม่ควรตรวจสอบเป็นระยะว่าการบีบตัวของมดลูกอยู่ใกล้กันเกิน 10 นาทีหรือยัง หากปวดทุก ๆ 10 นาที ควรจะรีบไปพบคุณหมอค่ะ ณ จุดนี้คุณไม่จำเป็นต้องจับเวลา แต่ให้ตรวจสอบเป็นระยะเพื่อดูว่าอยู่ใกล้กันเกิน 10 นาทีหรือไม่
  2. ทานอาหารเล็กน้อย การคลอดลูกนั้นใช้พลังงานมากพอสมควร ดังนั้น คุณแม่สามารถทานของว่างเบา ๆ ได้ เช่น ขนมปังปิ้ง เป็นต้น แต่ควรหลีกเรื่องอาหารที่มีไขมันเยอะ เช่น มันฝรั่งทอด และควรจิบน้ำเพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  3. ปัสสาวะบ่อย ๆ เพราะการกลั้นปัสสาวะอาจเป็นอุปสรรคต่อการคลอดลูกได้
  4. พักผ่อนเยอะ ๆ เข้าใจว่าเมื่อปวดท้องคลอดแล้ว การจะนอนให้หลับนั้นเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณแม่ยังนอนหลับไหว ก็ควรเก็บแรงไว้เยอะ ๆ เพื่อรอเวลาคลอดจริงนะคะ
  5. คอยดูสัญญาณที่ควรจะต้องไปพบแพทย์ เช่น น้ำคร่ำแตกเป็นสีเขียวหรือสีน้ำตาล ไม่รู้สึกถึงสัญญาณของลูกดิ้น เป็นต้น

ระยะที่ 2 ช่วงรอคลอด

ใกล้จะได้เจอลูกน้อยแล้ว ในช่วงรอคลอดนี้ คุณแม่จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มดลูกบีบตัวรุนแรงขึ้น ในช่วงที่ปวดท้องคลอด ว่าปวดท้องมากแล้ว ในช่วงรอคลอดจะปวดมากกว่าเดิมค่ะ โดยทั่วไปจะกินเวลา 40 ถึง 60 วินาที นอกจากนี้ยังจะปวดบ่อยขึ้นด้วย โดยจะรู้สึกปวดทุก ๆ 3 – 4 นาที
  • ปากมดลูกเปิด โดยในช่วงรอคลอด ปากมดลูกจะเปิดจาก 4 – 6 เซนติเมตร เป็นประมาณ 7 – 8 เซนติเมตร
  • อาการต่าง ๆ ที่เป็นในช่วงปวดท้องคลอด จะมีเหมือนเดิม แต่อาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่ควรทำในช่วงคลอดจริง

  • เมื่อไปถึงโรงพยาบาล พยาบาลจะทำการตรวจประเมินและเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด เมื่อทำการตรวจประเมินเสร็จแล้ว คุณแม่จะได้ไปอยู่ในห้องรอคลอด เพื่อเข้าเครื่องตรวจสอบความดันโลหิต การบีบตัวตัวของมดลูก
  • ฝึกการหายใจ การหายใจเป็นสิ่งสำคัญในการคลอดลูก หากหายใจได้ถูกวิธี ก็จะทำให้การคลอดลูกง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น คุณแม่สามารถสอบถามพยาบาลเพื่อฝึกการหายใจตั้งแต่รอคลอดได้เลยค่ะ
  • ดื่มน้ำและทานอาหารเบา ๆ หากแน่ใจแล้วว่าไม่ได้ผ่าคลอด คุณแม่สามารถทานอาหารเพื่อเพิ่มพลังงานในการคลอดได้ค่ะ
  • แจ้งพยาบาลทันทีหากรู้สึกผิดปกติ หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขี้น เป็นเพราะอะไร หรือผิดปกติไหม ให้รีบแจ้งพยาบาลทันทีค่ะ ไม่ควรรอให้อาการหนักแล้วค่อยแจ้ง เพราะเราจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่

ระยะที่ 3 ช่วงคลอดจริง

ช่วงเวลาแห่งการรอคอยมาถึงแล้ว ช่วงที่คุณแม่จะเจ็บปวดที่สุด แต่ก็มีความสุขที่สุด เพราะจะได้เจอหน้าตัวน้อยที่รอมาตลอด 9 เดือนแล้ว ช่วงเวลาของการคลอดบุตร ปากมดลูกของคุณแม่จะเปิดเป็น 10 เซนติเมตร อาการหดตัวของมดลูกจะรุนแรงขึ้น และจะปวดทุก ๆ 2-3 นาที ในช่วงนี้อาการปวดจะรุนแรงที่สุดจากที่เคยปวดมา แต่ก็ใช้เวลาน้อยที่สุดเช่นกัน โดยทั่วไปจะใช้เวลาตั้งแต่ 15 นาที – 1 ชั่วโมง (แม้ว่าบางครั้งอาจใช้เวลานานกว่านั้น เช่น ประมาณ 3 ชั่วโมง) ตลอดช่วงการคลอดจริง คุณแม่จะพบกับอาการดังต่อไปนี้

  • การหดรัดตัวของมดลูกที่แรงและเจ็บปวดมาก ไม่ว่าคุณแม่จะได้รับการแก้ปวดหรือไม่ก็ตาม คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงการหดรัดตัวของมดลูกที่รุนแรง และกินเวลานาน 60 ถึง 90 วินาที เนื่องจากการบีบตัวของมดลูกในช่วงนี้มีระยะห่างเพียงประมาณ 2 -3 นาที เท่านั้น จึงทำให้ดูเหมือนคุณแม่แทบจะไม่ได้ผ่อนคลาย เพราะเมื่อหายปวดการหดตัวครั้งต่อไปจะเริ่มขึ้นอีก
  • ปากมดลูกของคุณแม่จะขยายจากประมาณ 7 ถึง 8 เซนติเมตรจนถึง 10 เซนติเมตร
  • แรงกดที่หลังและหน้าท้อง คุณจแม่ะรู้สึกได้ถึงแรงกดที่หลังส่วนล่างและ/หรือฝีเย็บร่วมกับแรงกดทางทวารหนัก
  • รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว คุณแม่อาจจะรู้สึกเหงื่อออก หนาวสั่น ตัวสั่นหรือปวด ขาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างอาจชาได้อย่างสมบูรณ์
  • เหนื่อยล้าและง่วงซึม เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกเหนื่อยในตอนนี้ เพราะกว่าจะผ่านช่วงปวดท้องคลอด และรอคลอดมา ก็ทำให้คุณแม่หมดแรงได้ง่าย ๆ
คลอดลูก
คลอดลูก

สิ่งที่ควรทำในช่วงคลอดจริง

ในช่วงนี้ คุณแม่จะต้องใช้กำลังกายและกำลังใจอย่างมหาศาล เพื่อให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณแม่ก็จะรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่จะได้เจอหน้าลูกในท้องเช่นกัน บางครั้งจึงทำให้คุณแม่รู้สึก ทนไม่ไหว บางครั้งก็จะรู้สึกดี ดังนั้น ในระหว่างนี้ คุณแม่ควรทำสิ่งต่อไปนี้

  • อย่ากลั้นเมื่อมีลมเบ่ง การกลั้นจะทำให้มดลูกของคุณแม่บวมได้ และยังทำให้การคลอดเกิดความล่าช้าออกไปอีก คุณแม่ควรขอคำแนะนำในการควบคุมลมหายใจจากแพทย์หรือพยาบาลค่ะ
  • ควบคุมลมหายใจ พยายามผ่อนคลายระหว่างการหดตัวด้วยการหายใจเป็นจังหวะช้า ๆ ลึก ๆ
  • ต้องการอะไรให้แจ้งคุณพ่อ คุณหมอ หรือพยาบาล อะไรก็ตามที่คุณแม่รู้สึกดียิ่งขึ้น คุณแม่สามารถร้องขอได้เลยค่ะ
  • ขอยาแก้ปวด หากคุณแม่รู้สึกปวดจนทนไม่ไหว สามารถขอยาแก้ปวดได้ค่ะ
  • แม้ว่าปากมดลูกของคุณแม่จะเปิดถึง 10 เซนติเมตร แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคลอดโดยทันทีเลย คุณหมออาจจะให้คุณแม่รอจนกว่าให้ศีรษะของลูกลงต่ำ เมื่อถึงช่วงเวลานั้น คุณแม่จะรู้สึกถึงลมเบ่งที่ไม่สามารถกลั้นไว้ได้ นี่แหละค่ะ เป็นช่วงที่จะได้เบ่งคลอดอย่างแท้จริง
  • จับตาดูรางวัลจากการคลอด เมื่อคลอดแล้ว ความสุขที่สุดในชีวิตจะมาอยู่ในอ้อมแขนของคุณแม่ในไม่ช้า!!

สิ้นสุดกระบวนการคลอดแล้ว หากคุณพ่ออยู่ในห้องคลอด อย่าลืมที่จะถ่ายภาพครอบครัวภาพแรกเก็บไว้นะคะ ทีมแม่ ABK ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่าน ผ่านช่วงเวลาของการ คลอดลูกธรรมชาติ ไปได้โดยง่ายค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวมคลิปการคลอดลูก นี่แหละที่เรียกว่า “ความเจ็บปวดที่งดงาม”

รวมเคล็ดลับ วิธีช่วยให้แม่ท้องคลอดง่าย

ฉีกกฎทุกการรีวิว! คุณแม่แชร์ประสบการณ์ การคลอดลูก แบบไร้ความเจ็บปวด

หมอสูติฯตอบ! คลอดลูก “แบบผ่ากับคลอดเอง” อะไรดีกว่ากัน?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : whattoexpect.com, pobpad.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up